ความเรียบง่ายงดงาม (ORIGINALITY)


ยิ่งเรื่องนั้นมีความสำคัญเท่าไร นิสิตยิ่งสนใจทำมาก พอทำออกมา 10 คนจะได้ผลงานที่มีความคล้ายคลึงกัน โดยไม่เกิดประโยชน์อันใด และแต่ละส่วนก็ไม่ค่อยมีคุณภาพเนื่องจากไม่สามารถทุ่มเททรัพยากรไปวิเคราะห์อย่างถึงแก่น

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

(www.siamintelligence.com)

 

 

 

ผลงานชั้นดีมีความเลิศหรูเป็นเครื่องประดับ ผลงานอัจฉริยะมีความเรียบง่ายเป็นแก่นแท้

 

“ความเรียบง่าย” ในบทความนี้ไม่ได้เป็นความเรียบง่ายในความหมายทั่วไป
แต่เป็นคำที่ใช้แทนลักษณะร่วมบางประการที่เกิดขึ้นกับผลงานอัจฉริยะ

 



1. ความชัดเจน

 

งานเขียนบางชิ้น ให้ข้อมูลมากมาย การวิเคราะห์ในแต่ละส่วนทำได้ลึกซึ้ง
หากเมื่ออ่านจบแล้วเราไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้
เพราะแต่ละส่วนมีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่มีความเชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่
ผู้อ่านอาจรู้สึกซาบซึ้งกับหนังสือเล่มนี้
แต่ย่อมรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไป

 

งานระดับอัจฉริยะจำนวนมาก สร้างความนึกฝันในความหฤโหดให้ผู้คน
แต่เมื่อได้ลองอ่านกลับพบว่า “ภาษาที่ใช้เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ของตนเอง
ความคิดลึกซึ้งแต่สามารถทำความเข้าใจได้” น่าแปลกที่งานระดับ Classic
เหล่านี้มีความเรียบง่ายบางอย่างร่วมกัน

 

 

แน่นอนว่า งานอัจฉริยะบางชิ้นมีความยากหิน แต่เมื่อผู้อ่านสามารถเข้าใจในวิถีของมัน ก็กลับพบความงาม เรียบง่าย และประสานสอดคล้องอย่างบอกไม่ถูก

ความชัดเจนยังมีคุณประโยชน์ที่สำคัญ คือ ทำให้มนุษย์ซึ่งมีขีดจำกัดตามธรรมชาติสามารถพัฒนาคุณภาพของงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียพลังงานและทรัพยากรไปอย่างสะเปะสะปะ เพราะมีแนวทางพัฒนาที่ชัดเจนให้สามารถทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนประสิทธิผลย่อมตามมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ซึ่งคนจำนวนมากไม่เข้าใจหัวใจสำคัญ งานวิจัยในเมืองไทยส่วนมากจึงมักเป็นงานที่ดีหรือธรรมดา (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดแล้วไม่อาจเรียกเป็นงานวิจัยได้เลย) ไม่อาจเข้าถึงความดีเลิศได้ เพราะแม้คนทำงานวิจัยจะมีความสามารถมากเพียงใด แต่หาก “คำถามหลัก” ไม่มีความชัดเจน ผู้วิจัยจะทำงานอย่างสะเปะสะปะ ไม่สามารถทุ่มเทความสามารถและพลังทั้งหมดลงไปพัฒนาแก่นแท้ได้ แต่กลับต้องค้นคว้าในส่วนปลีกย่อยที่ไม่เกี่ยวข้อง พูดให้เห็นภาพคือ นำงบพัฒนาระดับจังหวัด ไปพัฒนาระดับประเทศ

นักศึกษาเวลาคิดหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ มักจะระบุแบบกว้างว่าต้องการทำเรื่องนี้ แต่ไม่ยอมระบุว่าในประเด็นใด และประเด็นนี้สำคัญแตกต่างจากประเด็นอื่นอย่างไร เนื่องเพราะการตั้งคำถามแบบกว้างจะง่ายกว่าการลงในรายละเอียด หากถึงที่สุดแล้ว การลงในรายละเอียดจะง่ายกว่า เพราะทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อจะได้ทุ่มทรัพยากรทั้งหมดลงไปในประเด็นนั้นอย่างเจาะลึกได้ สิ่งใดที่ไม่เกี่ยวข้อง สิ่งนั้นจะถูกตัดออกไป ทุกอย่างจึงรวมศูนย์ไปจัดการกับปัญหาเฉพาะนั้น แทนที่จะกระจายอย่างไร้พลังไปกับหัวข้อกว้างๆ

ยิ่งเรื่องนั้นมีความสำคัญเท่าไร นิสิตยิ่งสนใจทำมาก พอทำออกมา 10 คนจะได้ผลงานที่มีความคล้ายคลึงกัน โดยไม่เกิดประโยชน์อันใด และแต่ละส่วนก็ไม่ค่อยมีคุณภาพเนื่องจากไม่สามารถทุ่มเททรัพยากรไปวิเคราะห์อย่างถึงแก่น

ขณะที่หากทำวิจัยเป็น 10 คนนี้จะทำเรื่องเดียวกัน แต่มีประเด็นที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อทำอย่างมีคุณภาพแล้ว งานทุกชิ้นจะให้มุมมองที่แตกต่างในเรื่องเดียวกัน ซึ่งถือว่ามีความเกี่ยวพันแบบสนับสนุนไม่ใช่คอยขัดแข้งขากันเหมือนกับการทำงานในแบบแรก และในที่สุดสามารถสร้างงานวิจัยอีก 1 ชิ้นซึ่งสามารถสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 10 ที่มีคุณภาพในมุมที่ต่างกันของเรื่องเดียวกัน เป็นงานวิจัยชิ้นใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงงานทั้งสิบชิ้น เป็นป่าผืนใหญ่ที่สามารถเป็นแหล่งอาหาร ที่อาศัยให้ร่มเงาแก่สัตว์ป่า และคุณประโยชน์นานัปการ แทนที่จะเป็นต้นไม้อันแคระแกรน ที่ปลูกอย่างสะเปะสะปะ ดูดซึมแย่งอาหารกัน และให้ประโยชน์ต่อโลกได้น้อยเต็มที

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ ความฉาบฉวยที่ต้องการความง่ายในระยะแรก โดยไม่รู้ว่ากลับทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากในภายหลัง สาเหตุของปัญหานี้อยู่ที่นิสิตไม่เข้าใจในหลักการของ Literature Review ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยนิสิตได้มากในการวิจัย แต่กลับถูกมองข้ามไปจนถึงกลับถูกกล่าวหาอย่างลับๆว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญในการทำวิทยานิพนธ์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่านิสิตขาดความเข้าใจในแก่นแท้ของ Literature Review ซึ่งต้องการสร้างความชัดเจนให้กับการทำวิจัย นิสิตจะมองเพียงแต่ว่า Literature Review ทำขึ้นเพื่อแสดงให้อาจารย์เห็นว่า งานของตนไม่ได้ซ้ำกับงานของคนอื่น จึงกลายเป็นภาระงานที่ไม่มีสาระประโยชน์ในตัวมันเอง ควรรีบทำให้เสร็จไปเพื่อจะได้มุ่งไปที่เนื้อหาซึ่งตนต้องการวิจัย

แท้จริงแล้ว Literature Review เป็นส่วนสำคัญของวิทยานิพนธ์ เป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับงานวิจัย เพราะการพิจารณางานของคนอื่นที่เคยทำในเรื่องเดียวกันมาก่อน จะทำให้ทราบถึงความสำคัญของปัญหา รายละเอียดที่ต้องใคร่ครวญ รวมถึง ทฤษฎี มุมมอง และระเบียบวิธีที่ใช้ มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร  ในที่สุดจะสามารถสังเคราะห์เป็นประเด็นที่เราสนใจ ประเด็นที่ยังขาดอยู่ ทฤษฎีและวิธีการที่เราคิดว่าเหมาะสมในการวิจัยในประเด็นของเรา สรุปได้ว่า เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การทำวิทยานิพนธ์ของคนอื่นในเรื่องเดียวกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับวิทยานิพนธ์ของตนเองในประเด็นที่ต่างออกไป โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ หากเป็นการต่อยอด

 

ดังนั้นหากทำ Literature Review อย่างถูกต้อง
ประเด็นที่เราต้องการศึกษาจะปรากฏออกมาชัดเจน
ไม่ทำให้เราต้องสับสนและเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สิ่งที่แย่ยิ่งกว่า คือ
นิสิตที่ฉลาดกว่าพวกแรก กลับใช้ Literature Review เช่นเดียวกับงานตัดแปะ
คือ
นำมาแก้ไขดัดแปลงโดยนำประเด็นที่ตนต้องการศึกษาไปใส่แทนประเด็นที่คนอื่น
ศึกษามาก่อน โดยไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเลย
แต่ด้วยความรู้สึกผิดและกลัวอาจารย์จะรู้ว่างานของตนเป็นแค่งานตัดแปะ
จึงพยายามหาประเด็นที่แตกต่างออกไปเล็กน้อยหลายๆประเด็นมาผสมรวมเข้าไป

 

เมื่อพิจารณาอย่างคร่าวๆจึงอาจดูเหมือนมีสาระใหม่เพิ่มเข้ามา
แต่การตัดแปะไม่ว่าจะมากหรือน้อยมีแง่มุมที่ต่างไปเพียงใดย่อมมีคุณค่าไม่
มากนัก ที่ถูกต้องคือ จะต้องนำงานต่างๆที่ได้ review
มาสังเคราะห์เชื่อมโยงกับประเด็นที่เราต้องการว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร
ส่วนใดที่เหมือน ส่วนใดที่ขัดแย้ง
และนำบทสังเคราะห์นี้มากำหนดวิธีการในการศึกษาของเรา
ว่าจะต้องเดินไปในแนวทางใด
ซึ่งจะมีความชัดเจนและสามารถทุ่มทรัพยากรทั้งหมดลงไปในแนวทางที่กำหนดจากการ
สังเคราะห์ Literature ได้

 

ที่นำประเด็นนี้มากล่าวยืดยาว
มีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของการนำบทเรียนทางประวัติศาสตร์มาสร้าง
เป็นความรู้ใหม่
ในตอนแรกอาจดูยุ่งยากเพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับผลงานของคนอื่นมากมาย
หากไม่เพียงนำความรู้ของคนอื่นมาตัดแปะเชื่อมต่อ
แต่นำมาสังเคราะห์เชื่อมโยงผ่านภูมิปัญญาของตนเอง
ในท้ายที่สุดจะช่วยให้กำหนดแนวทางการทำงานได้อย่างชัดเจน
จนสามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 


ดังนั้นความเรียบง่ายชัดเจนสำหรับผลงานของอัจฉริยะนั้นจึงไม่ใช่ความเรียบ
ง่ายชัดเจนแบบ Copy  Cut and Paste
แต่เป็นการใช้ภูมิปัญญามาสังเคราะห์เชื่อมโยงบทเรียนของผู้อื่นทั้งในอดีต
และปัจจุบัน จนเกิดแนวทางการสร้างผลงานที่ชัดเจนของตนเองขึ้นมา
และหากทำได้ดีในระดับหนึ่งจะกลายเป็นผลงานที่มี Originality

 

มีผลงาน “ดีเด่น” จำนวนมากที่โดดเด่นไม่เพียงพอต่อการขึ้นสู่ทำเนียบอัจฉริยะ ส่วนหนึ่งย่อมเนื่องมาจากความผิดพลาดโง่เขลาของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเดียวกันที่ไม่เห็นคุณค่า หากทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ Originality

 

คำนี้นิยามได้ยาก Harold Bloom นักอ่านและนักวิจารณ์ระดับโลกมักใช้
Originality เพื่อประกอบการอธิบายถึงความสามารถของนักเขียนชั้นเลิศ
ในบทความ On Creativity ของ  David Bohm ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
อาจมีบางคนที่มีความเหนือล้ำยิ่งกว่า Einstein
ในความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ทำให้ผลงานของ Einstein
ได้รับชัยชนะเหนือนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น คือ Originality

 

David Bohm ได้พูดถึง Originality ควบคู่กับ Creativity
เท่าที่สรุปได้คือ ความสามารถในการ “ข้ามพ้น” กรอบคิดเก่า
เพื่อสร้างกรอบคิด ระบบ และเครื่องมือชิ้นใหม่ในรูปแบบของตนเองขึ้นมา

 

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้ความเรียบง่ายของอัจฉริยะ
แตกต่างจากความเรียบง่ายของคนธรรมดา จึงน่าจะอยู่ที่ความเป็น Originality
และไม่ใช่แตกต่างในรายละเอียด แต่ต่างถึงรากฐานของระบบโครงสร้าง
ผลงานอัจฉริยะจึงมีความชัดเจนที่โดดเด่นแตกต่างออกมาจากงานธรรมดาซึ่งมีความ
ชัดเจนอยู่บนระบบเดียวกัน
จึงไม่อาจสร้างความชัดเจนแตกต่างได้อย่างถึงรากฐาน

 

คนที่มีความสามารถดีเด่นอาจสร้างระบบใหม่ได้เช่นกัน
แต่การจะได้รับตราประทับแห่ง Originality
ยังต้องขึ้นอยู่กับการเชื่อมประสานระบบที่สร้างขึ้นใหม่ให้มีความสอดคล้อง
เป็นหนึ่งเดียวกัน
จนเกิดคุณค่าใหม่ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้คุณค่าจากระบบเก่า
หากก้าวมาถึงขั้นนี้ผลงานดีเด่นย่อมถูกยกระดับเป็นผลงานอัจฉริยะได้อย่างไม่
ยากเย็น

 



2. ลิขิตของปัจเจก

 

บางคนอาจเกิดความสงสัยว่า ถ้าทุกคนสร้างระบบใหม่ให้กับผลงานของตนแล้ว
จะไม่เกิดความวุ่นวายสับสนเนื่องจากมีระบบใหม่เกิดขึ้นมากมายจนยากจะเรียน
รู้ แต่ความเป็นจริงแล้ว คนที่สามารถสร้างระบบใหม่ที่ร้อยรัดลงตัว
มีคุณภาพโดดเด่น มีอยู่นับจำนวนได้
และคนที่อัจฉริยะในหลายสาขายิ่งมีน้อยกว่าน้อย

 

David Bohm เชื่อว่า Originality เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ แต่แน่นอนคงไม่ง่ายนัก

 

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งการแข่งขันดุเดือดรุนแรงยิ่ง
ธุรกิจจึงต้องสร้างความแตกต่างเพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถแย่งลูกค้าไปจากตน
เองได้ ยิ่งถ้าความแตกต่างนั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ทดแทนได้ยาก
ยิ่งทำให้สินค้านั้นสามารถตั้งราคาสูงและทำกำไรมหาศาลได้

 

Originality
ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่แตกต่างจากระบบอื่นอย่างถึงรากฐานจึงทวีความสำคัญ
ยิ่งยวด แต่การที่คนอื่นจะเลียนแบบไม่ได้นั้น
แสดงว่าระบบจะต้องมีลักษณะเฉพาะดังนั้นหน้าที่ของปัจเจกที่ต้องการสร้าง
Originality คือ
การค้นหาและพัฒนาความถนัดเฉพาะของตนให้กลายเป็นระบบใหม่ที่มีคุณภาพโดดเด่น

 

ความกล้าหาญและพลังที่ควบคุมได้ เป็นปัจจัยสำคัญของ Originality

 

3. ความเป็นหนึ่งเดียว

 

ระบบที่สมบูรณ์จำต้องมีองค์ประกอบมากมาย ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนใคร
ยิ่งต้องใช้ความพยายามในการสร้างและพัฒนาเพื่อให้ส่วนย่อยเชื่อมร้อยเป็น
หนึ่งเดียวจนเป็นระบบที่ชัดเจน เพราะ
หากแต่ละส่วนย่อยไม่มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
ย่อมทำให้ยากในการสื่อสารระบบใหม่ให้เป็นที่เข้าใจต่อคนทั่วไปเพราะยังไม่
เคยชินกับระบบที่เกิดขึ้นใหม่

 

ดังนั้น งานระดับอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการสร้างระบบใหม่ขึ้นมา
จึงต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวที่เรียบง่าย
เพื่อจะได้สามารถสื่อสารให้คนทั่วไปรับรู้ในคุณค่าของผลงานได้

 

นอกจากนี้ความเป็นหนึ่งเดียวที่เรียบง่ายยังทำให้ง่ายในการพัฒนา
เพราะสามารถทุ่มเทขุมกำลังเพื่อพัฒนาในเรื่องเดียวอย่างเต็มที่
ไม่ต้องแบ่งแยกทรัพยากรมีค่าไปใช้อย่างสะเปะสะปะเป็นเบี้ยหัวแตก
ซึ่งสุดท้ายความหลากหลายที่ต้องทุ่มเททรัพยากรไปจะกลายเป็นความล้มเหลวหรือ
กึ่งดิบกึ่งดีไปหมด ในการดูแลรักษาเช่นกัน
จะมีความง่ายและประหยัดหากส่วนย่อยมีความเป็นหนึ่งเดียว
ไม่หลากหลายจนยากจะใช้วิธีการเดียวกันในการดูแลในส่วนที่แตกต่าง

 

การพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพเหนือธรรมดาเป็นเรื่องยาก
และต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปมากมาย ดังนั้น หากสามารถทำได้เรียบง่ายที่สุด
โดยมีผลลัพธ์เท่ากัน
ย่อมสร้างความได้เปรียบในการนำทรัพยากรไปทุ่มเทในส่วนที่ขาด
ไปเสริมในส่วนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

 

อารยธรรมกรีก ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นระดับ Classic
อาจไม่ได้โดดเด่นแตกต่างจากอารยธรมอื่น แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง
รายละเอียดที่ร้อยรัดกันอย่างลงตัว
เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะหลายศตวรรษ
ภูมิปัญญาและความพยายามไม่ย่อท้อของมนุษย์จึงสามารถสร้างอารยธรรมที่ยิ่ง
ใหญ่เช่นนี้ขึ้นมาได้
และเมื่อความกล้าหาญและพลังไฟได้หมดไปจากดินแดนกรีกโบราณ ความเป็น Classic
จึงได้สูญเสียความล้ำเลิศไป กว่าที่จะสามารถพัฒนามาเป็นอารยธรรม
Renaissance ต้องกินเวลาอีกยาวนานเพียงใด และองค์ประกอบที่มีคล้ายกันคือ
ความมานะพยายาม การสร้างระบบใหม่

 

ขณะที่การประดิดประดอยจนเกินงามอย่าง ศิลปะ Rococo หรือ Baroque นั้น
ในท้ายที่สุดไม่สามารถสร้างความโดดเด่นและพลังงานได้เท่ากับ Classic และ
Renaissance
การเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่ได้เป็นการเหยียดหยามประเมินค่าอารยธรรมยุคหนึ่ง
ต่ำเกินไป เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับนักวิชาการยุคก่อน
โดยเฉพาะการเหยียดหยามยุคกลางในยุโรปว่าเป็น “ยุคมืด” ขณะเดียวกัน
การพยายามทำให้ทุกอารยธรรม ทุกยุคทุกสมัยมีความเลิศล้ำเท่ากันหมด
ได้กลายเป็นการประเมินอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ต่ำเกินไป
อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะผิดพลาดอีกต่อไป ทุกอารยธรรมมีความสำคัญ
เพราะเป็นการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญา ด้วยความยากลำบากของมนุษย์
แต่ต้องยอมรับว่ามนุษย์แต่ละยุคสมัยและสถานที่มีความสามารถไม่เท่าเทียมกัน

 

ทำไมธรรมชาติจึงนิยมความว่างเปล่า ?
หากใช้ปรัชญาเต๋ามาอธิบายจะเห็นว่าความว่างเปล่าไม่ได้ว่างจริง
แต่คือศักยภาพในการพัฒนาสิ่งใหม่ เพราะหากสิ่งของอยู่เต็มโลก
ก็ยากจะหาที่วางสิ่งของได้อีก ในที่สุดจะล้นโลก
หากในย่านนี้มีร้านค้าอยู่มากแล้ว
ก็ย่อมไม่มีที่ว่างของส่วนแบ่งการตลาดและกำไรเหลือพอให้บริษัทอื่นสามารถ
เข้าไปใช้ประโยชน์ได้

 

เพราะมีที่ว่าง จึงมีศักยภาพในการให้กำเนิดสิ่งใหม่
ที่สำคัญความว่างที่สมดุลกับความเต็มยังทำให้สิ่งของได้ใช้อย่างมีคุณภาพสูง
สุดซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกในระยะยาว

 

ความจำกัดของทรัพยากร การแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้ผู้แสวงหาความเป็นเลิศ
ต้องทุ่มเทพลังไปที่สิ่งสำคัญ และดึงทรัพยากรออกจากจุดที่ไม่สำคัญ

 

กฎเกณฑ์แบบ 80/20 ที่พูดถึงความสำคัญน้อยของส่วนใหญ่
กับความสำคัญมากของส่วนน้อย อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่เป็นความจำเป็นของวิถีจักรวาล
เนื่องจากส่วนใหญ่แม้จะมีความสำคัญน้อยแต่อาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
เพื่อจะสนับสนุนส่วนน้อยที่สำคัญมาก แต่ในระยะยาวของส่วนใหญ่จะถูกกำจัดไป
เพื่อเปิดทางให้ของส่วนใหญ่ผู้รับใช้คนใหม่ได้เข้ามาเสริม

 

หากเราไม่พิจารณาแยกแยะให้ถ่องแท้
เราจะติดกับไปเลือกส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญน้อย
เนื่องจากความคล้ายคลึงอย่างผิวเผินของส่วนน้อยและส่วนใหญ่
และเนื่องจากของธรรมดามีมากกว่า
โอกาสที่มนุษย์จะประเมินผิดพลาดย่อมมีสูงกว่า

 

อย่างไรก็ตาม การทุ่มเทพลังลงไปนั้น จะต้องมั่นใจในหนทาง
ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางถอย การกระจายความเสี่ยงไปยังแนวทางอื่น
อาจมีความจำเป็น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

 

ถ้ายอมรับว่าความสามารถของมนุษย์มีจำกัด ความจริงที่เราเคยเชื่อว่าจริง
ในอนาคตกลับพบว่าเป็นความผิดพลาด
บางทีสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ว่าสิ่งใดมีความสำคัญ คือ “เวลา”
ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแสดงวิถีจักรวาล
โดยได้สะท้อนปัจจัยทุกประการไว้แล้ว เราไม่สามารถรู้ได้ว่า
ทำไมสิ่งที่มีความน่าจะเป็นสูงสุดตามการวิเคราะห์ของเรากลับไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่ไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้นแทน แต่ที่สามารถรู้ได้คือ
มีสิ่งใดบ้างที่ดำรงอยู่
เป็นผู้ชนะในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและพัฒนาตนเอง
และสิ่งนั้นย่อมมีความสำคัญหรือความจำเป็นบางอย่างในการดำรงอยู่ในช่วงเวลา
นี้

 

ตัวละครเอกในนิยายเรื่อง Norwegian Wood ได้เคยนิยามการใช้เวลาที่มีค่าไว้ดังนี้

 

เขาก็วางกฎ ขีดเส้นแบ่งไว้ชัดเจนว่าจะไม่อ่านหนังสือเล่มใดที่นักประพันธ์เสียชีวิตไปยังไม่ถึง 30 ปี…
‘นั่นเป็นหนังสือประเภทเดียวที่ฉันจะวางใจได้’…ฉันเพียงแค่ไม่อยากเสียเวลาอันมีค่าของฉันไปกับการอ่านนิยายที่ไม่ผ่านการไถ่บาปด้วยกาลเวลา

 

สำหรับเครื่องมือที่ต้องพัฒนาเพื่อใช้ตรวจจับการเผยแสดง คือ
ความรู้สึกที่เปี่ยมล้นด้วยสติ
แม้ว่าบ่อยครั้งมักหลอกลวงเราหรือมนุษย์หลอกตัวเอง
แต่ความรู้สึกเป็นเครื่องมือที่มีความเป็นองค์รวมที่สุดในการเข้าถึงสัจจะ
เพราะความคิด คือ การแบ่งแยก เพื่อให้เกิดความชัดเจนและง่ายในการวิเคราะห์
แต่ความรู้สึกนั้นสะท้อนภาวะทุกอย่างไว้ในตัวมัน เรารู้สึกชอบคนนี้
เพราะโดยรวมแล้วคนนี้ให้ความรู้สึกที่ดีกับเรา
คนนี้อาจมีทั้งปัจจัยลบและบวก แต่เราตัดสินให้เป็นบวกมากกว่าลบ
ซึ่งการบวกลบเชิงคุณภาพนั้น การคิดไม่สามารถทำได้
จึงตกเป็นหน้าที่ของความรู้สึก

สิ่งที่ช่วยให้ความรู้สึกมีความแม่นยำและผิดพลาดลดลง คือ
สติที่ข้ามพ้นตัวตน (Transcend) ไม่ตกอยู่ในอารมณ์ทุกประการ
พยายามหาสมมติฐานที่เราแอบตั้งไว้ในส่วนที่ลึกที่สุด
เพื่อเข้าถึงการมองโลกด้วยความว่างเปล่าที่เต็มเปี่ยมด้วยความสามารถในการ
สร้างสรรค์ เท่าที่ขีดจำกัดของมนุษย์จะยอมให้

 

ดังนั้น การมีความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมด้วยสติที่ข้ามพ้นตัวตน
ฉับไวต่อความเคลื่อนไหวของโลก
ไม่ยึดติดศรัทธาในคำตอบใดมากจนขาดเหตุผลอันสมควร
อาจช่วยให้ค้นพบเส้นทางที่ถูกต้อง
ค้นพบสิ่งไม่คาดฝันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีคุณค่าในอนาคต และยังค้นพบว่า
“สิ่งใดเกินความจำเป็น” และไม่ควรให้ความสำคัญ

 

หลักการ INTUITION คือ การใช้ปัญญา เหตุผล
และความคิดโต้แย้งจากผู้คนในอดีตและปัจจุบัน
รวมถึงปัญญาที่อยู่ภายในตัวของเรา เพื่อสังเคราะห์ “ยุทธศาสตร์”
ที่จะบอกได้ว่า สิ่งใดสำคัญ สิ่งใดเกินจำเป็น

 

อาศัยเพียงความรู้สึกที่สะท้อนสถานการณ์ภายนอกทั้งมวล
แม้จะพยายามมีสติและเปิดรับต่อปัจจัยต่างๆให้มากที่สุด
แต่เนื่องจากมนุษย์มีความจำกัด ดังนั้น
จึงต้องใช้ปัญญาเข้าช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งความจริงแล้ว
ปัญญาเป็นแหล่งสะสมของการลองผิดลองถูกในอดีต
ดังนั้นจึงเท่ากับหลอมรวมปัจจัยต่างๆที่มีส่วนกำหนดพลวัติประวัติศาสตร์เข้า
มาในการแก้ปัญหาของเรานั่นเอง

 

เราจะเห็นว่าหากไม่มีปัญญา
เราจะสามารถมีเทคโนโลยีที่ช่วยทุ่นแรงทำให้มีเวลาสร้างสรรค์คุณค่าให้โลกใบ
นี้ได้อย่างไร เราจะสามารถจัดระเบียบสังคมและบ่มเพาะอารยธรรมของได้อย่างไร
งานบางชิ้นมีความยุ่งยากในการแก้ปัญหา
แต่หากใช้ปัญญาเพื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองกลับเกิดความมหัศจรรย์ซึ่งช่วยให้
สามารถทำงานให้ลุล่วงได้และคุณภาพสูงกว่าเดิม

 

การเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงเป็นเรื่องยาก
แต่มนุษย์ย่อมมีความสามารถในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าถึงปัญญา
คือ การไม่ถูกครอบงำ
เพราะปัญญาที่ได้มาจากภายนอกนั้นมักแฝงเร้นด้วยการครอบงำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ดังนั้น
ปัญญาจึงควรครอบคลุมทั้งในเรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ทั้งตะวันตกและตะวันออก ทั้งพวกเขาและพวกเรา ที่สำคัญ ปัญญาภายใน
ของเรานั่นเองจะเป็นตัวกำหนดว่าจะผสมผสานปัญญาภายนอกที่ได้มาอย่างไรจึงจะ
สามารถเข้าถึงแก่นแท้ได้ เราจึงต้องหมั่นลับปัญญาภายในของเราให้เฉียบคม
โดยพยายามลดการครอบงำจากอคติและอารมณ์ จนเกิดความว่างเปล่า
ด้วยการใช้สติที่ข้ามพ้นตัวตน (Transcend) ดังได้กล่าวไว้แล้ว

 

หลักการของ Intuition กับ หลักการ Synchronicity มีความคาบเกี่ยวกัน
หากพิจารณาหนังสือเรื่อง Intuition ของท่าน Osho ในบทที่ว่าด้วย
“เปลี่ยนจากคิดมาเป็นความรู้สึก”
มีความคล้ายคลึงกับที่ผู้เขียนนำเสนอในส่วนของ Synchronicity
แต่ที่ผู้เขียนแยกออกมาเป็นหลักการใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะ
Intuition ในความหมายของผู้เขียนเป็นมากกว่าการคิดด้วยความรู้สึก
แต่ต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย
รวมถึงการคิดในเชิงตรรกะที่ต้องอาศัยปัญญาภายนอกมาเป็นส่วนประกอบ

 

ท้ายที่สุด คือ ความเชื่อมั่นและทุ่มเททั้งชีวิต
เพราะด้วยความจำกัดของมนุษย์อีกนั่นแหละ
ที่ทำให้เราไม่อาจมั่นใจว่าอะไรถูกอะไรผิด
จนกว่าเราจะได้ลองอย่างสุดความสามารถ

ที่เก็บประเด็นนี้ไว้เป็นเรื่องสุดท้าย
ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่เหนือพ้นทุกสิ่ง
มีเพียงศรัทธาเท่านั้นที่กำหนดให้เราทุ่มเทให้กับสิ่งนี้มากกว่าสิ่งนั้น
อย่างไรก็ตามการถ่วงดุลศรัทธาด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมสติ
และปัญญาทั้งภายในภายนอก
น่าจะช่วยให้ศรัทธาที่ทุ่มเทให้กับสิ่งที่เชื่อว่ามีความสำคัญนั้น
มีพลังของความยืดหยุ่น มีความฉลาดในการพลิกแพลง จนได้พบสัจธรรมด้วยตนเองว่า
สิ่งใดสำคัญ สิ่งใดเกินความจำเป็น

 

ขอให้ทุกคนค้นพบ “มีดโกน” ของตนเอง

 



หนังสืออ่านประกอบ

 

1.“มีดโกนของออคคัม” บทความของ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์

 

2.Synchronicity ของ Joseph Jaworski แปลโดย สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์ ในชื่อ “รหัสอภิมนุษย์”

 

3.Intuition ของ Osho แปลโดย ประพนธ์ ผาสุขยืด ในชื่อ “ปัญญาญาณ”

 

4.On Creativity ของ  David Bohm

 

5.The Political Economy of  Plural world ของ Robert Cox

หมายเลขบันทึก: 461920เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณอาจารย์ "วิรัตน์ คำศรีจันทร์" ที่ให้กำลังใจนะครับ

ผมรู้สึกอบอุ่นอย่างยิ่งที่เข้ามาขีดเขียนบทความที่นี่ครับ

เรียง่าย และลึกซึ้งมากเลยค่ะ

มีหลายประเด็นที่ทำให้ชุกคิคต่อด้วยนะค่ะ

ปล. ได้อ่านหนังสือปัญญาญาณ เหมือนจะทำให้คมมีดตัวเองมันคมและชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ ^^

ขอบคุณครับ ยินดีที่มีส่วนช่วยกระตุ้นความชุกคิดให้กับคุณมะปรางเปรี้ยวนะคะ

สำหรับหนังสือปัญญาญาณและท่านอาจารย์ประพนธ์นั้น ผมได้เคยสัมภาษณ์และสนทนาจนกระทั่งตกผลึกออกมาเป็นบทความนี้ครับ

http://www.siamintelligence.com/when-siu-meets-master-zen/

ขอบคุณครับ ยินดีที่มีส่วนช่วยกระตุ้นความชุกคิดให้กับคุณมะปรางเปรี้ยวนะคะ

สำหรับหนังสือปัญญาญาณและท่านอาจารย์ประพนธ์นั้น ผมได้เคยสัมภาษณ์และสนทนาจนกระทั่งตกผลึกออกมาเป็นบทความนี้ครับ

http://www.siamintelligence.com/when-siu-meets-master-zen/

สวัสดีค่ะ มีหลายๆ หัวเรื่อง จุดประกายให้ได้คิดต่อ

Originality ควบคู่กับ Creativity :) ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท