วิจัย เผยแจกคอมพ์เด็ก ไม่ทำให้ผลเรียน ‘ดีขึ้น’


คอมพิวเตอร์
วิจัย เผยแจกคอมพ์เด็ก ไม่ทำให้ผลเรียน ‘ดีขึ้น’

สกศ.เผยผลวิจัย One Laptop Per Child แจกแล้วไม่ทำให้เด็กเรียนดีขึ้น แต่เพิ่มความกระตือรือร้น เตือน รร.ปรับรูปแบบการเรียน

 

นายอานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลวิจัยโครงการนำร่องรูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (One Laptop Per Child) OLPC ว่า จากการศึกษาติดตามผล รร.ในกลุ่มนำร่องโครงการดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่นำร่องกับเด็กในระดับประถมศึกษาตอนปลาย 7 แห่ง ได้แก่ รร.บ้านสันกำแพง จ.เชียงใหม่, รร.บ้านขาแหย่ง จ.เชียงราย, รร.เทศบาลนครลำปาง 4 จ.ลำปาง, รร.บ้านสามขา จ.ลำปาง, รร.วุฒินันท์ จ.ระยอง, รร.ดรุณสิกขาลัย และ รร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยโครงการนี้เริ่มทดลองในปี 2551 และในปี 2552

ซึ่งผลการวิจัยไม่พบสัญญาณชัดเจนว่าผลการเรียนหรือเกรดของนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์พกพาประกอบการเรียนรู้ดีขึ้นหรือแย่ลง จะมีเพียงเรื่องการอ่านและการเขียนเท่านั้นที่มีรายงานว่านักเรียนมีพัฒนาการมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หากขยายมุมมองให้มากขึ้นกว่าผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการจะพบว่าเด็กมีทักษะที่ดีเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ความกระตือรือร้นในการทำงานมีค่อนข้างมาก สามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้ากับการเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูลได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามทฤษฎีใหม่ที่ต้องการเน้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองได้ เป็นทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมในยุคใหม่ต้องการ

นักวิชาการรายนี้กล่าวอีกว่า เป็นที่สังเกตว่าคอมพิวเตอร์พกพาจะเป็นเครื่องมือที่สร้างประโยชน์ทางการเรียนรู้แก่เด็กได้เฉพาะกับ รร.ที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามทฤษฎีใหม่ จะเห็นว่าทั้ง 7 รร.ที่ทำการศึกษานั้นล้วนปรับแนวทางการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Constructionism ซึ่งเน้นการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติผ่านการให้เด็กทำโครงงาน เน้นกระบวนการคิด แต่มีข้อคิดว่าถ้าใช้กับ รร.ธรรมดาทั่วไป ในระบบการศึกษาที่ไม่ได้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นแนวใหม่ การลงทุนดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะไม่คุ้มค่า ถ้าไม่มีการปรับการเรียนการสอนรองรับ เด็กจะแค่ตื่นเต้นกับการมีของเล่นใหม่ในชั้นเรียนแค่ช่วงสั้นๆ จากนั้นจะเริ่มเบื่อ ในที่สุดคอมพิวเตอร์พกพาก็จะกลายเป็นส่วนเกินของชั้นเรียน ของนักเรียนและครูผู้สอน เด็กจะเอาแต่เล่นคอมพิวเตอร์พกพานี้ ไม่สนใจครูผู้สอน ท้ายสุดครูก็จะสั่งห้ามนำคอมพิวเตอร์พกพาเข้าชั้นเรียน ซึ่งขณะนี้มี รร.ในบางประเทศสั่งห้ามแล้ว

นายอานันท์กล่าวต่อว่า การวิจัยยังพบว่านักเรียนบาง รร.เมื่อได้ใช้คอมพิวเตอร์พกพาไปในระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มเบื่อและเห็นเป็นภาระ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ ที่นักเรียนมีโอกาสได้ใช้มีสเปกการทำงานที่สูงและรวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์พกพาของโครงการ OLPC แต่ข้อดีของคอมพ์พกพาก็มีตรงที่สามารถให้นักเรียนใช้สืบค้นหาข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา

อย่างกรณี รร.เทศบาลนครลำปาง 4 มีรายงานว่าเมื่อนักเรียนได้รับคอมพ์พกพาใหม่ๆ จะนำกลับบ้านทุกวัน เมื่อมีคอมพ์ของตัวเองที่บ้านจะเริ่มทิ้งคอมพ์พกพาไว้ รร.ไม่นำกลับบ้าน นอกจากนี้การสรุปผลของ รร.ดรุณสิกขาลัย ก็บอกว่าเครื่องคอมพ์พกพาของโครงการไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนของ รร.ที่ตั้งในสังคมเมืองและมีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายอยู่แล้ว บรรยากาศห้องเรียนเต็มไปด้วยเทคโนโลยีหลากหลายที่เด็กคุ้นเคยและใช้งานได้รวดเร็วกว่า นักเรียนมีการบ้านต้องเรียนพิเศษมากจนไม่มีเวลาเรียนรู้เครื่องคอมพ์พกพาหลังเลิกเรียน

Source : thaipost/freesoftwaremagazine (Image)

 

คำสำคัญ (Tags): #คอมพิวเตอร์
หมายเลขบันทึก: 461883เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท