กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน


เป็นการนำเอาหลักสูตรระดับชาติมาใช้โดยพิจารณาถึงลักษณะท้องถิ่นเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเน้นให้เหมาะสมกับลักษณะพิเศษของแต่ละท้องถิ่นและลักษณะของผู้เรียนและเป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริง

              เนื่องจากหลักสูตรที่ใช้ในประเทศไทยเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากส่วนกลาง และได้ใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนทั่วประเทศ มีมาตรฐานทางด้านการศึกษาอยู่ในระดับเดียวกัน การพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้กว้างขวางในระดับประเทศเช่นนี้จึงมีเนื้อหาสาระกว้าง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นอยู่มาก กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นได้โดยการปรับ เพิ่ม ขยาย หรือสร้างหลักสูตรย่อยในระดับท้องถิ่นขึ้นมาเสริมหลักสูตรแม่บท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น ในความหมายของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนั้นได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านดังนี้

 

              สุนทร สุนันท์ชัย (2518:5) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นว่า "หมายถึงหลักสูตรที่ท้องถิ่นขยาย ตัด หรือเพิ่มเนื้อหากิจกรรมโดยยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นแม่บท และไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของท้องถิ่น หรือศึกษาหลักสูตรที่ท้องถิ่นจัดทำขึ้นบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น"
                 สุมิตร คุณานุกร (2523:97) ได้กล่าวถึงความหมายของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นไว้ว่า "การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นหมายถึงการขยายและปรับปรุงหลักสูตรระดับชาติ คำว่าขยายหมายถึงการนำเอาทั้งจุดมุ่งหมายและเนื้อหามาขยายความคือขยายเนื้อหาให้เพิ่ม มีรายละเอียดที่ครูจะนำไปสอนได้ ส่วนปรับก็คือการนำเอาจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวิชามาปรับให้ในแต่ละเขตการศึกษา
                 อรสา ปราชญ์นคร (2525:121) ได้กล่าวว่า "เป็นการนำเอาหลักสูตรระดับชาติมาใช้โดยพิจารณาถึงลักษณะท้องถิ่นเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเน้นให้เหมาะสมกับลักษณะพิเศษของแต่ละท้องถิ่นและลักษณะของผู้เรียนและเป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริง"
                 วิชัย วงษ์ใหญ่ (2527:18) ได้ให้หัวข้อสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นไว้ว่า "การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หมายถึงการนำเอาหลักสูตรแม่บท (ระดับชาติ) มาปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของท้องถิ่นในแต่ละระดับ เช่น ภาค จังหวัด อำเภอ และกลุ่มโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน"
                 กรมวิชาการ (2536: 37) ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นไว้ว่า "การพัฒนาหลักสูตรในระดับท้องถิ่นเป็นกระบวนการของการนำหลักสูตรแม่บทไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียนให้ได้ผลยิ่งขึ้น นับตั้งแต่การจัดทำรายวิชาขึ้นใหม่ การปรับใช้รายวิชาจากหลักสูตรแม่บท ตลอดจนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและกระบวนการสอน การวัดผลและการประเมินผล เพื่อให้จัดการเรียนการสอนเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอันเป็นแนวนโยบายของชาติ"
                 ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539:107) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นว่า "หมายถึงมวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานและบุคคลในท้องถิ่นจัดให้แก่ผู้เรียนตามสภาพปัยหา และความต้องการของท้องถิ่นนั้น ๆ"
                 จากความหมายของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่นักการศึกษาได้ให้ไว้ดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่าการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง "การนำหลักสูตรแม่บทมาปรับ ขยาย หรือการสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นมาเสริมหลักสูตรแม่บท โดยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น เพื่อผู้เรียนจะได้นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตจริง หรือเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน"
                 1. เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
                 ถึงแม้ว่าจะมีหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทแล้ว แต่ยังต้องมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้คือ (ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ 2539:109-110)
                1.1 หลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทได้กำหนดจุดหมายเนื้อหาสาระ และกิจกรรมอย่างกว้างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้คล้ายคลึงกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนมุ่งเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่เป็นหลักการทั่วๆ ไปไม่สามารถประมวลรายละเอียดเกี่ยวกับสาระความรู้ตามสภาพแวดล้อม สังคม เศษฐกิจ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นในแต่ละแห่งได้ทั้งหมด จึงต้องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นให้มากที่สุด
                 1.2 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลกระทบโดยตรงต่อทรรศนะและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งในเมืองและชนบท จึงต้องมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อปรับสภาพของผู้เรียนให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังกล่าวโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภูมิลำเนาท้องถิ่นของตน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาตน ครอบครัว และท้องถิ่นตลอดจนดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นสุข
                 1.3 การเรียนรู้ที่ดีควรจะเรียนรุ้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปยังสิ่งที่ไกลตัวเพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถดูดซับได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงควรมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงตามสภาพเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นตน แทนที่จะเรียนรู้เรื่องไกลตัว ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชีวิต ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพัน รวมทั้งภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน
                 1.4 ทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทของไทยมีอยุ่มากมายและมีค่าบ่งบอกถึงความเจริญมาเป็นเวลานาน หลักสูตรแม่บทหรือหลักสูตรแกนกลางไม่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หลักสูตรท้องถิ่นสามารถบูรณาการเอาทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าด้านอาชีพ หัตถกรรม เกษตรกรรม ดนตรี การแสดงวรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนได้รู้จักท้องถิ่นของตน เกิดความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตน และสามารถใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการประกอบอาชีพได้
                 2. ลักษณะการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
                 2.1 ประเภทของหลักสูตรท้องถิ่น
                 หลักสูตรท้องถิ่นสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
                 2.1.1 หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยท้องถิ่นเองทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริการัฐแต่ละรัฐสามารถจัดทำหลักสูตรของตนเองตามความต้องการของรัฐนั้นๆ ได้ แต่ต้องไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง (Federal Government) ที่ได้กำหนดไว้อย่างกว้างๆ
                 2.1.2 หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นจากหลักสูตรแม่บทที่ส่วนกลางจัดทำ กล่าวคือ ส่วนกลางของรัฐจัดทำหลักสูตรแม่บท และเว้นที่ว่างให้ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น เช่น หลักสูตรประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุงพ.ศ. 2533 ในประเทศไทย เป็นต้น หลักสูตรท้องถิ่นประเภทนี้จะพัฒนาได้เป็น 2 กรณี คือ
                           ก. หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยปรับบางส่วนของหลักสูตรแม่บท กล่าวคือ เป็นการปรับองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท เช่น ปรับรายละเอียดของเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น
                           ข. หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นเป็นรายวิชาใหม่ หรือการสร้างหลักสูตรย่อย เพื่อเสริมหลักสูตรแม่บท โดยให้สอดคล้องกับสภาพ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น
                  2.1.3 หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาสำหรับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานในท้องถิ่นพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะกิจและเป็นหลักสูตรระยะสั้นๆ เพื่อใช้กับชุมชนหรือท้องถิ่นตามความต้องการและความสมัครใจของผู้เรียน รวมทั้งความสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น อาทิ หลักสูตรซ่อมมอเตอร์ไซด์ หลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า ที่จัดโดยกรมศึกษานอกโรงเรียนหรือกรมอาชีวศึกษาในประเทศไทย เป็นต้น

              2.2 ลักษณะของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
ในหลักสูตรประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533 ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2534 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2536:8-9) ได้กำหนดให้ท้อองถิ่นคือ โรงเรียน กลุ่มโรงเรียน จังหวัด เขตการศึกษา กรมต้นสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นได้ โดยเปิดโอกาสให้ดำเนินการ 5 ลักษณะดังนี้คือ (กรมวิชาการ, 2536)

              2.2.1 ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริม เป็นการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริมที่เหมาะสมกับสภาพและความเป็นไปของท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ เนื้อหา และคาบเวลาเรียนเปลี่ยนแปลงไป ท้องถิ่นสามารถกระทำได้กับทุกกลุ่มประสบการณ์ในหลักสูตรประถมศึกษา และในรายวิชาบังคับและวิชาเลือกเสรีทุกรายวิชาและทุกกลุ่มวิชาในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
                 ในการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริม คณะทำงานหรือผู้ใช้หลักสูตรจะต้องศึกษาคำอธิบายรายวิชาของหลักสูตรแม่บท ซึ่งในส่วนของกิจกรรมจะระบุถึงแนวการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนกว้างๆ เช่น ใช้คำว่า "ศึกษา" ซึ่งคณะทำงานจะต้องกำหนดกิจกรรมหรือวิธีการศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่นและผู้เรียน

หมายเลขบันทึก: 461719เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2011 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

Ico64

 แวะเข้ามาอ่าน 'กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน' แล้วไม่ชัดเจนเพราะข้ามเนื้อหาสำคัญก่อนที่จัดทำหลักสูตรท้องถิ่น สถานศึกษาจะต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาก่อน แล้วจึงยืดหยุ่นเวลาเพิ่มหลักสูตรท้องถิ่นลงไปในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆและข้อมูลน่าจะเก่าไปสำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ นะคะ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท