แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)


การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชนตามสิทธิที่ระบบการเมืองและกฎหมายกำหนดให้กระทำ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐทั้งในทางการเมืองการปกครองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

การมีส่วนร่วมทางการเมือง 

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชนตามสิทธิที่ระบบการเมืองและกฎหมายกำหนดให้กระทำ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐทั้งในทางการเมืองการปกครองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการส่งเสริมสิทธิและพลังอำนาจของพลเมือง โดยประชาชนหรือชุมชน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ควบคุมการใช้และการกระจายทรัพยากรของชุมชน อันจะก่อให้เกิดกระบวนการและโครงสร้างที่ประชาชนในชนบทสามารถแสดงออกซึ่งความสามารถของตน และได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกการพัฒนา  โดยรัฐ มาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีบทบาทหลัก โดยมีการกระจายอำนาจในการวางแผนจากส่วนกลางมาสู่ส่วนภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อให้ภูมิภาคเป็นเอกเทศ ให้มีอำนาจทางการเมือง การบริหาร มีอำนาจต่อรองในการจัดการทรัพยากร โดยให้อยู่มาตรฐานเดียวกันและประชาชนสามารถตรวจสอบได้

            ฉะนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินใจกำหนดปัญหาความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการเสริมพลังอำนาจให้แก่ประชาชน/กลุ่ม/องค์กรชุมชนให้สามารถระดมขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากร การตัดสินใจ และการควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนยังสามารถกำหนดการดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความจำเป็นอย่างมีศักดิ์ศรี และสามารถพัฒนาศักยภาพของประชาชน/ชุมชนในด้านภูมิปัญญา ทักษะ ความรู้ ความสามารถและการจัดการและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้     

 ลักษณะการมีส่วนร่วมทางการเมือง

            ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมยึดหลักพื้นฐานว่า “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนสามารถใช้อำนาจได้เสมอ แม้ว่าได้มอบอำนาจให้กับผู้แทนของประชาชนไปใช้ในฐานะที่เป็นตัวแทนก็ตาม แต่ประชาชนก็สามารถเฝ้าดู ตรวจสอบ ควบคุมและแทรกแซงการทำหน้าที่ของตัวแทนของประชาชนได้เสมอ” ซึ่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ คือ

  1. การเรียกอำนาจคืนโดยการถอดถอน/ปลดออกจากตำแหน่ง เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของผู้แทนของประชาชนในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทนประชาชน ถ้าหากผู้แทนของประชาชนใช้อำนาจในฐานะ “ตัวแทน” มิใช่เป็นไปเพื่อหลักการที่ถูกต้องหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริง กลับเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ มีการทุจริตหรือกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สามารถเรียกร้องอำนาจที่ได้มอบไปนั้นคืนกลับมาโดยการถอดถอน/ปลดออกจากตำแหน่งได้
  2. การริเริ่มเสนอแนะ เป็นการทดแทนการทำหน้าที่ของผู้แทนของประชาชนหรือเป็นการเสริมการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ประชาชนสามารถเสนอแนะนโยบาย ร่างกฎหมาย รวมทั้งมาตรการใหม่ๆ เองได้ หากว่าตัวแทนของประชาชนไม่เสนอหรือเสนอแล้วไม่ตรงกับกับความต้องการของประชาชน
  3. การประชาพิจารณ์ เป็นการแสดงออกของประชาชนในการเฝ้าดู รวมทั้งตรวจสอบและควบคุมการทำงานของตัวแทนประชาชน ในกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเตรียมออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆก็ตาม อันมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถที่จะเรียกร้องให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและผลดีผลเสีย ก่อนออกหรือบังคับใช้กฎหมาย นโยบายหรือมาตราการนั้นๆ
  4. การแสดงประชามติ  ประชาชนสามารถแสดงประชามติได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำคัญหรือการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก เช่น การรับร่างรัฐธรรมนูญ การขึ้นภาษี การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า เป็นต้น ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย สามารถเรียกร้องให้รัฐรับฟังมติของประชาชนเสียก่อนที่จะตรากฎหมาย หรือดำเนินการสำคัญๆ โดยการจัดให้มีการลงประชามติเพื่อถามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ อันจะเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

จันทนา   สุทธิจารี.   “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในการเมืองการปกครองไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน.   กรุงเทพฯ,  2544, หน้า 410.

บุญเสริม  นาคสาร.   การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน: ผลในทางปฏิบัติเมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง, <http://www.pub-law.net/article/ac060347a.html>.2547. 

หมายเลขบันทึก: 461706เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2011 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท