อิสระภาพ บนคราบน้ำตา (1)


ขบวนรถจำนวน 13 คัน เลื้อยตัวเข้ามาตามถนนเล็กๆ ลัดเลอะไปตามเนินเขาที่ไม่สูงนัก และขบวนรถก็สงบนิ่งอยู่กลางลานของหมู่บ้าน ชายฉกรรจ์มีอาวุธครบมือ ไม่ต่ำกว่า 30 คน ก็ล้อมหมู่บ้านอย่างเงียบ ๆ กองกำลังอีกส่วนหนึ่งก็เดินไปตามบ้านหลังต่าง ๆ “ ให้ผู้ชายไปรวมตัวกันที่บ้านของผู้นำหมู่บ้านเพื่อออกไปรับผ้าห่มที่อำเภอ “

        เมื่อรถยนต์กระบะโฟวิลจอดเทียบบ้านหลังหนึ่ง  ลักษณะบ้านยกพื้นสูงตัวบ้านประกอบด้วยไม้ทั้งหลังมุงกระเบื้องแบบทันสมัย  ดูแล้วภูมิฐานกว่าบ้านอื่น ๆ ในละแวกนั้น    น่าจะเป็นบ้านของผู้นำหมูบ้านหรือผู้มีอันจะกินแน่นอน  ผมก้าวเท้าออกจากรถด้วยความตื่นเต้น   เพราะหมู่บ้านแห่งนี้เคยรู้จักผ่านสื่อต่าง  ๆ และเพื่อน ๆ ในแวดวงที่เคยติดตามความเคลื่อนไหวเล่าให้ฟังถึงกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อยืนหยัดให้ได้อยู่ในผืนแผ่นดินถิ่นนี้  ทุกคนในหมู่บ้านแห่งนี้ล้วนมีบาดแผลจากการกระทำของรัฐ  ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาคือผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินนี้  ย่อมสามารถทำอะไรก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนต่างถิ่น    นอกจากความตื่นเต้นแล้วบรรยากาศรอบ ๆ ตัวขณะนี้ยังทำให้จิตใจผ่อนคลาย  เกิดความอบอุ่นอย่างแปลกประหลาด   ระว่างที่ยืนมองรอบ ๆ  บ้านนั้น  ลมได้พัดมาปะทะกายวูบหนึ่ง  ถึงแม้ลมนั้นจะพัดพาเอาความร้อนของไอแดดบริเวณนั้น  แต่ก็สร้างความสดชื่นได้ไม่น้อย  หลังจากที่นั่งอยู่ในรถเกือบ 3 ชั่วโมง  พวกเราก็ต่างพากันลุกลี้ลุกล้นขนเป้สำภาระลงจากรถ   “ ใจเย็น ๆ พักผ่อนก่อนก็ได้   ตอนนี้ชาวบ้านเขารวมตัวกันที่วัด  กำลังช่วยกันสร้างวิหาร  พวกเราไปดูกันมั้ย ”  เป็นเสียงของชายหนุ่มต่างถิ่นที่เขามาศึกษาหมู่บ้านแห่งนี้มานานแรมปี   และเป็นที่รู้จักดีของชาวบ้านในแถบนี้  ซึ่งเดินทางมาในขณะของเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญ พวกเราเรียกเขาว่า พี่อู๊ด  หนุ่มผู้มีอารมณ์ดีตลอดเวลา  คุยเก่ง  และรอบรู้พอสมควร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนแห่งนี้ที่เขาคลุกคลีอย่างลึกซึ้ง  เมื่อได้ฟังดังนั้น ผมก็มองดูเพื่อน ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะเอาอย่างไรดี?  ทุกคนก็พยักหน้า เห็นด้วย จึงได้พากันเดินตามทางขึ้นเนิน  ซึ่งวัดตั้งอยู่บนเนินสูง ท้ายหมูบ้าน  พวกเราต่างก้าวเดินบนดินที่ไม่มีพืชปกคลุมอยู่เลย  แม้กระทั่งหญ้าซักต้น  สันนิฐานน่าจะเป็นทางที่สร้างขึ้นมาเพียงไม่กี่ปีนี้เอง   และมีบ้านเรือนของชาวบ้านปลูกขนาบทั้งสองข้างทางถนน  ลักษณะการสร้างบ้านแบบง่าย ด้วยวัสดุอุปกรณ์ธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น   เสาบ้านเป็นไม้ที่มีขนาดเท่าทอนขาของผู้ใหญ่   มัดติดฝ่าบ้านด้วยไม้ไผ่ที่นำมาเฉาะให้เป็นแผ่น ๆ  แต่ยึดติดกันอย่างเหนี่ยวแน่น  มุ่งด้วยหญ้าคา แต่ถ้าบ้านหลังไหนที่มีฐานะหน่อยก็มุ่งหลังคาด้วยกระเบื้อง  และมั่นคงกว่าบ้านหลังอื่น    ระหว่างที่เราเดินขึ้นวัด  ก็แวะชมร้านค้าต่าง  ๆ ที่ขายของที่ระลึกชนเผ่าให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวปะหร่อง   สินค้าบางชนิดเป็นฝีมือของชาวบ้าน แต่บางอย่างก็รับมาจากในตัวเมืองมาขายอีกที  ซึ่งก็ได้ราคาดีพอควร  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเป็นฝีมือของชาวบ้านทุกชิ้น   มีร้านค้าในลักษณะนี้กระจ่ายรอบหมูบ้าน  บางคนก็ปลูกเรือนเล็กไว้สำหรับเป็นร้านค้าขายของโดยเฉพาะ   บางคนก็ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านใน การวางสินค้าเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวได้ชม   ของที่วางขายก็มีตั้งแต่  ผ้าซิ่นลายต่าง ๆ กำไลมือ  สร้อยคอ   แหวน หมวกชาวเขา  และอื่น ๆ ที่บงบอกถึงความเป็นวัฒนธรรมของเขา   จากการเดินสำรวจดูเกือบทุกร้านพบว่า สินค้าบางอย่างก็ไม่ได้แสดงถึงความเป็นชาวปะหร่องแต่อย่างใด  กลับตรงกันข้ามอาจจะเป็นสินค้าที่ผลิตจากกลุ่มชาติพันธ์อื่น  เช่น หมวก เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวม้ง    ซึ่งความหมายตรงนี้ชาวบ้านไม่ได้มองในแง่ของความเป็นตัวตนของเขา  แต่มองในมิติที่มันเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเขาเท่านั้น  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นของพี่น้องม้ง  หรือพี่น้องปกาเกอญอก็ไม่สำคัญ จากข้อสันนิษฐานของผู้เขียนอาจเป็นได้ว่า  วัฒนธรรมที่จับต้องได้ (หมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งของ เช่น  การแต่งกาย บ้านเรือน  สถาปัตยกรรม) ของชาวเขาเผ่าปะหร่อง  มีน้อยมาก ถ้าเทียบกับชนเผ่าอื่น ๆ ในประเทศไทย  จากการบอกเล่าของปราชญ์ในชุมชนนี้พบว่า  วัฒนธรรม  ความเชื่อของชาวเผ่าปะหร่องมีความคล้ายคลึงกับชาวล้านนาเกือบทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญ  วันดี  วันเสีย  รูปแบบของประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ แต่จนปานนี้ก็ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดยืนยันหรืออธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างชาวเขาเผ่าปะหร่องกับชาวล้านนา  ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในภาคเหนือ 

           เมื่อเราเดินขึ้นมาบนเนิน  ภาพของชาวบ้านที่กำลังช่วยกันก่อสร้างวิหารวัดก็ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน   ต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ   บางคนขึ้นไปมุ่งกระเบื้อง  บางคนก็ขนไม้มากองรวมกันไว้เตรียมประกอบโครงของวิหารต่อไป   เป็นภาพที่สะท้อนความสามัคคีในหมูบ้านได้เป็นอย่างดี   ชาวบ้านที่สูงอายุหน่อยก็นั่งมองด้วยความหวัง  และปลื้มปิติ   ตลอดถึงให้คำปรึกษา  เอาใจช่วย  ในการก่อสร้างวิหารหลังใหม่แห่งนี้    เมื่อพวกเราเดินไปถึงผู้คนเหล่านั้น   ก็มีชายรูปร่างสูงใหญ่   ผิวคลำ  ท่าทางใจดี  เดินเข้ามาพร้อมกับรอยยิ้ม   “วัดดีครับอาจารย์อูด”   เป็นคำทักทายที่อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่งและแสดงถึงความเป็นมิตร  ทำให้คนที่มาเยือนรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาอย่างแปลกประหลาด   ทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อลุงคำผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ประตูทางประวัติศาสตร์ชนเผ่าปะหร่องแห่งบ้านปางแดงใน   การต่อสู้กับภาครัฐเพื่อมีพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้   ภาพประวัติศาสตร์ของหมูบ้านก็ปรากฏเป็นฉาก ๆ เมื่อเราสอบถามถึงเหตุการณ์  และชะตากรรมของพี่น้องปะหร่องในอดีต  โดยลุงคำเป็นผู้ฉายภาพให้เราเห็น ด้วยแววตาเศร้า ๆ ปนความข่มขื่น  ซึ่งท่านยังจดจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้อย่างชัดเจนว่า  

     เดิมทีชาวปะหร่องบ้านปางแดงอยู่ในเขตชายแดนพม่า  เป็นรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า  เป็นชนเผ่าที่ไร้สังกัดประเทศใดประเทศประเทศหนึ่ง    เนื่องจากขาดการยอมรับจากรัฐทั้งสอง  วันดีคืนดีทหารพม่าขึ้นมาบุกค้นหมู่บ้าน   สองสามวันต่อมาฝ่ายทหารไทยก็ถือปืนเข้ามาขู่   เพื่อแสดงศักยภาพและบงบอกถึงอำนาจ  ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวาดผวา   ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงจะเกิดขึ้นตอนไหน  ข้าวปลาอาหารที่หามาได้  ด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน  ก็มีผู้มาขอแบ่งโดยมิได้ลงทุนลงแรงแต่อย่างใด   จำต้องยอมเพื่อให้ชีวิตตนอยู่รอด    นานวันเข้าความอดทนก็สิ้นสุดลง..........

        ลุงคำจึงตัดสินใจหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2525  ทั้งที่รู้ว่าถ้าถูกทางราชการจับได้จะเกิดอะไรขึ้นกับตนและครอบครัว    แต่ด้วยความจำเป็นและไม่มีทางเลือกจึงต้องหอบลูกหลานเข้ามาแสวงหาที่ทำกินในประเทศไทย   ระหกระเหินตามหุบป่า  ชายดอย  โดยมีผู้ติดตามมาจำนวนหนึ่ง  จนกระทั่งได้มาพบรักที่บ้านปางแดง  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่   และได้ลงจอบปลูกต้นไม้  ปลูกข้าว   สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ในปี 2527 เป็นกลุ่มบุคคลแรก ๆ  ที่บุกเบิกหมู่บ้านแห่งนี้  พร้อมพี่น้องอีกจำนวน  11 ครอบครัว  โดยได้รวบร่วมเงินจำนวน 2,000  บาท  เพื่อซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม   เป็นสัญญาการซื้อขายแบบง่าย ๆ  มีเพียงพยาน 3 – 4 คน เท่านั้นที่รับรู้การซื้อขายครั้งนี้  เมื่อพี่น้องปะหร่องที่อาศัยอยู่ประเทศไทยทราบข่าว ซึ่งยังไม่มีที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ก็อพยพมาขออยู่ด้วย     ผืนดินในแถบนี้เคยมีชนเผ่าต่าง ๆ เข้ามาบุกป่าทำไร่  ทำสวน และถางป่าจนกลายเป็นดอยหัวโล้น สภาพป่าในตอนนั้นก็มีความเสื่อมโทรม   เหลือเพียงต่อไม้ที่โดนตัดเป็นอนุสรณ์ดูต่างหน้า   ชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างบ้าน  ทำไร่  โดยทำในพื้นที่เดิมของชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยก่อน  ปลูกข้าวโพด  ทำนา  ปลูกถั่วลิสง  มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน 

         ด้วยการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายจึงไม่มีความเดือดร้อนใดๆ  วิถีประจำวันของชาวปะหร่องส่วนใหญ่จึงอยู่ในไร่  พอได้ผลผลิตก็ขายให้กับพ่อค้า และนำรายได้จากการขายพืช ผัก ซื้อเสื้อผ้า และของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต  ความงดงามอีกอย่างหนึ่งของชนเผ่าปะหร่องก็คือ ความมีน้ำใจที่เอื้ออาทรต่อกันอย่างไม่เคยเหือดแห้ง  แม้จะอยู่ในช่วงฤดูกาลไดของปีก็ตาม  ใครที่ขาดเหลือเรื่องอะไรก็สามารถแบ่งปันกันได้  เพราะทุกคนถือว่าเป็นเครือญาติเดียวกันทั้งหมู่บ้าน    ทำให้ผืนดินแถบนี้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่รกร้างว่างเปล่ามานานแรมปี

           เช้าตรู่วันที่ 26 มกราคม 2532 เสียงไก่ขันดังระงมทั้งหมู่บ้าน  เป็นสัญญาณปลุกให้ชาวบ้านตื่นจากภวังค์  โดยเฉพาะแม่บ้านเพื่อลุกขึ้นมาตำข้าว เตรียมไว้สำหรับครอบครัวในวันใหม่ ท่ามกลางความหนาวเหน็บที่แทรกซึมเข้ามาในผิวกาย   กลุ่มหมอกยังคงอ้อยอิงอยู่กับต้นไม้  ใบหญ้า ประดุจดังหนุ่มสาวที่คลอเคลียร์มิยอมห่างจากกัน  เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มทั่วป่าปลุกให้ชาวบ้านที่ยังไม่ลุกจากที่นอน  จำต้องลุกขึ้นมาดูแขกผู้มาเยือนในยามเช้า    ขบวนรถจำนวน 13  คัน  เลื้อยตัวเข้ามาตามถนนเล็กๆ  ลัดเลอะไปตามเนินเขาที่ไม่สูงนัก  และขบวนรถก็สงบนิ่งอยู่กลางลานของหมู่บ้าน  ชายฉกรรจ์มีอาวุธครบมือ  ไม่ต่ำกว่า 30  คน ก็ล้อมหมู่บ้านอย่างเงียบ ๆ  กองกำลังอีกส่วนหนึ่งก็เดินไปตามบ้านหลังต่าง ๆ  “ ให้ผู้ชายไปรวมตัวกันที่บ้านของผู้นำหมู่บ้านเพื่อออกไปรับผ้าห่มที่อำเภอ “   เป็นประโยคที่หลุดจากปากของผู้มาเยือนยามเช้าด้วยเสียงที่เย็นชา  ดวงตาแข็งกร้าว แฝงไว้ด้วยความลับอะไรบางอย่างที่ยากชาวบ้านซื่อบริสุทธิ์จะเดาความหมายได้  ชาวบ้านบางคนก็รับรู้ว่า ทางราชการจะแจกบัตรประชาชนให้   ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้รับบัตรประชาชน  เพราะหมายถึงพวกเขาจะได้เป็นคนไทยอย่างถูกกฎหมาย และสามารถใช้ชีวิตที่นี้ได้อย่างสบายใจ   ต่างคนก็ต่างเร่งรีบไปรวมตัวกันที่บ้านผู้นำ  เมื่อไปถึงก็เห็นชายฉกรรจ์จำนวนมาก  และรถยนต์เพื่อนำชาวบ้านไปรับบัตรประชาชนในอำเภอ  “ รีบ ๆ ขึ้นไปบนรถเร็ว  เหลือใครอีก เรียกกันมาให้ครบ “  เป็นเสียงที่แข็งกร้าว และดุดัน พร้อมทั้งหันไปมองรอบหมู่บ้าน เพื่อดูว่าจำนวนผู้ที่จะมานั้นครบหรือยัง   “ ลุงไม่ต้องไปเพราะเขาไม่ต้องการคนแก่ “ เมื่อลุงคำพยายามปีนขึ้นรถที่มีความสูงกว่ารถทั่วไป  พร้อมกันนั้นก็มีผู้มากระชากให้ลงจากรถ ด้วยความที่ต้องการอยากจะได้บัตรประชาชนเหมือนคนอื่น  จึงอ้อนวอนพร้อมทั้งยกมือไว้ขอไปด้วยคน  แต่ก็ยังได้รับคำยืนยันให้รออยู่ที่นี้   หลังจากนั้นลุงคำก็ได้ยินเสียงตะโกนจากลูกชาย  ให้กลับไปเอาแบบสำรวจที่บ้าน เพื่อสำรวจพวกที่ไปว่ามีกี่คน  เพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะพาไปไหนกันแน่  ลุงคำรีบวิ่งกลับไปเอาแบบสำรวจที่บ้านเท่าที่กำลังมีอยู่  เมื่อกลับมาอีกครั้งรถก็กำลังเคลื่อนออกไปจากหมู่บ้าน ลุงคำต้องวิ่งตามไปเพื่อยืนกระดาษสีขาวให้กับลูก..........ขบวนรถค่อยเคลื่อนตัวออกไปจนลับสายตาของทุกคนในชุมชน  ผู้หญิง  และเด็ก    ต่างก็พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะบางคนก็เริ่มเข้าใจความเป็นจริงบ้างแล้ว  ในบางคนก็ยังเข้าใจว่าพวกผู้ชายออกไปรับผ้าห่ม.... เมื่อความสงบเข้ามาปกคลุมอีกครั้ง  พบว่าในหมู่บ้านมีเพียงเด็กและผู้หญิงเท่านั้น  ลุงคำจึงเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไม่ได้ออกไปกับขบวนรถดังกล่าว  

         พระอาทิตย์เคลื่อนตัวสูงขึ้น  แสงแดดยามเช้าสว่างจ้าสร้างความอบอุ่นให้กับชาวบ้านในยามอากาศหนาวเหน็บอย่างนี้  แต่ในใจของเขากลับหนาวยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ  ข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้เพื่อทานด้วยกันในครอบครัว  ก็ถูกจัดว่างไว้กลางบ้านเรียบร้อย  แต่....จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นแม้เงาของใครซักคนกลับเข้ามาในหมู่บ้าน  “เขาไปไหน  ไปทำอะไร  ปานนี้เขาได้ทานข้าวหรือยัง ” เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของทุกคนที่คอยท่าอยู่บ้าน    บางคนเริ่มเข้าใจชะตากรรมของตนเองบ้างแล้ว  มีเพียงเสียงสะอื้นเบา ๆ ที่พยายามกลั้นเอาไว้เพื่อไม่ให้ทุกคนเห็นว่าตนอ่อนแอ   เมื่อใครซักคนนำข่าวมาบอกว่า  พวกเขาคงไม่กลับมาอีกแล้ว  ความเงียบก็ปกคลุมทั่วทั้งหมู่บ้าน  ต่างก็นั่งเหม่อลอยมองไปนอกบ้านอย่างไร้จุดหมาย  หยดน้ำใส่ ๆ รินไหลลงมาตามแก้มทั้งสองข้าง   สมองมันสับสนไปหมด  มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?  จับต้นชนปลายไม่ถูก 

            ผู้ชายในหมู่บ้านจำนวน 29 คน ก็ทยอยลงจากรถ ที่หน้าว่าการอำเภอเชียงดาว  พร้อมกับถูกแจ้งข้อหากระทำความผิด เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย  พร้อมกันนั้นก็ถูกดำเนินคดีในข้อหา บุกรุกที่สาธารณะในเขตป่าสวน  ทุกคนถึงกับอึ้งพูดอะไรไม่ออก  ได้แต่ก้มหน้ารับสภาพตนเอง  “ใช่สิเขาเป็นเจ้าของประเทศเขาย่อมถูกเสมอ   เราเพียงหนี้ร้อนมาพึงเย็นเท่านั้น   พวกคุณก็ไม่มีน้ำใจให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเลยหรือ “ คงเป็นเพียงแค่เสียงความคิดที่ก้องกังวานอยู่ในใจยามนั้น  จากที่เคยคิดว่า คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ  มีศีลธรรม  เป็นบ้านเมืองที่คอยปกป้องคุมภัยให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข  บัดนี้ศรัทธาได้มลายหมดสิ้น    เนื่องจากมีเหตุผลตรงหน้านี้มาหักล้าง   ทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังจำนวน  12  วัน  ก่อนขึ้นศาลเพื่อตัดสินคดี  “ อยู่ในนั้น 1 วัน เหมือนกับ 1 ปี “ เป็นเสียงบอกเล่าของนามแสง  ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น   และจดจำได้อย่างไม่มีวันลืม   เขายอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นบีบคั้นความรู้สึกของเขามาก  จนทำให้เขาหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เมื่อถึงวันตัดสินคดี  ปรากฏว่าศาลตัดสินให้ผู้กระทำผิดทั้ง 29 คน  จำคุก  11  ปี  ไม่รอลงอาญา

            เมื่อสิ้นเสียงของศาล ทุกคนเขาอ่อน  น้ำตาลูกผู้ชายไหลพรากมาเป็นสาย   ก้มหน้าสะอื้นด้วยความเจ็บปวด    ชายผู้หนึ่งนั่งคุกเขาพร้อมกับพนมมือไหว้พูดด้วยน้ำตานองหน้า  “เราไม่อยู่เมืองไทยแล้ว  เราจะกลับไปอยู่พม่า  ปล่อยเราไปเถิด “  หลังจากนั้นก็มีเสียงสวนกลับบอกว่า  “ไม่ได้เมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษ  มันช่างเป็นคำพูดที่กรีดหัวใจออกเป็นเสี่ยง ๆ  ทำไมหนอเขาช่างใจร้าย ใจดำเหลือเกิน  เขาเป็นมนุษย์หรือเปล่า  เขามีความสุขกระนั้นหรือที่เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันลำบาก  บัดนี้ใบหน้าของทุกคนเปื้อนน้ำตา  วินาทีนี้คงทำอะไรไม่ได้นอกจากร้องไห้  และเสียงสะอื้นคอยปลอบประโลมจิตใจให้สงบ  และช่วยระบายความอัดอั้นอะไรบางอย่างที่มันไม่สามารถพูดออกมาเป็นภาษามนุษย์ได้    

           ทุกคนถูกลากขึ้นรถที่มีตัวหนังสือเขียนข้างรถ  “กรมราชทัณฑ์ ” ซึ่งทุกคนถูกตรึงด้วยโซ่ ทั้งมือและเท้า มีชายฉกรรจ์ฉุด  กระชาก  ขึ้นรถ เพราะทุกคนไม่มีแรงที่จะก้าวแม้เพียงก้าวเดียว   นานแค่ไหนไม่ทราบได้  เพราะในห้วงความคิดมันสับสนวุ่นวายไปหมด เป็นห่วงลูกและเมียที่อยู่ทางบ้าน       อึดใจต่อมารถก็หยุดหน้าประตูทางเข้าตึก  พร้อมกับคำสั่งให้ทุกคนลงจากรถ  “ ต่อไปนี้เราจะหมดอิสรภาพแล้วหรือ ”   พร้อมตะวันก็ค่อย ๆ  ลับขอบฟ้า  มีเพียงความมืดที่มาเยือน  ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องการมันก็ตามเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่กำหนดมาเช่นนี้         
            ลุงคำ  คือผู้ชายคนเดียวที่ไม่ถูกทางการจับกุมตัว  เพราะต้องการให้เป็นผู้นำของผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้าน   เขาต้องอาศัยความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ  เพื่อประคับประคองให้ลูกบ้านที่เหลือได้สู้ชีวิตต่อไป   ถึงแม้ว่าภายในจิตใจจะร้องไห้ปานใด เขาก็ไม่เคยแสดงความอ่อนแอออกมา  มีเพียงสิ่งเดียวที่ยึดเหนียวจิตใจตอนนี้ก็คือ พระพุทธศาสนา ตอนนั้นบ้านปางแดงยังไม่มีวัด ต้องเดินด้วยเท้ามาปฏิบัติธรรมนอนวัด ที่ถ้ำห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 ก.ม. ทุกวันพระตอนกลางคืนบ้านปางแดงจะเงียบเชียบ  เพราะทุกคนไปนอนวัดไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม  ความศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งอื่นใด  มีเพียงสิ่งนี้ที่คอยชโลมจิตใจให้สงบ  พร้อมกับปฏิบัติตามศีล 5 อย่างเคร่งครัด  เพราะลุงคำเชื่อว่า  ความดีเท่านั้นที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองตนเองและชุมชนให้อยู่รอดปลอดภัย    ลุงคำเคยเล่าให้ฟังว่า มีคนมาชวนเข้าศาสนาหนึ่ง  แต่ลุงคำและชาวบ้านปฏิเสธ  สร้างความไม่พอใจให้บุคคลนั้นอย่างยิ่ง จนทำให้เขาบุกทำลายศาลเจ้าที่ของชาวบ้าน   ลุงคำประกาศอย่างชัดเจนว่า ถ้าใครต้องการจะเปลี่ยนศาสนาก็ได้  แต่ต้องย้ายออกจากชุมชนแห่งนี้  เพราะลุงคำเชื่อว่า การที่คนมีความเชื่อแตกต่างกันแต่อยู่ในสถานที่เดียวกันนั้น มันจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้  ทำให้การปกครองมีความยากลำบากยิ่งขึ้น   หลังจากเหตุการณ์วันนั้นผ่านไป   ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านก็ถูกกรมป่าไม้เกณฑ์ให้ปลูกป่า  ทดแทนป่าที่สูญเสียไป  รอบ ๆ หมู่บ้าน โดยได้รับค้าจ้างในเบื้องต้นเพียงวันละ  20   บาทเท่านั้น  โดยลุงคำรับหน้าที่ในการคุมลูกบ้านที่เป็นผู้หญิงระหว่างการทำงาน  เวลาว่างที่เหลือจากการปลูกต้นสักให้ทางป่าไม้  ชาวบ้านก็ออกไปทำไร่  ทำสวนตามปกติ  แต่ปีนี้บางครอบครัวต้องทำคนเดียว  บางครอบครัวก็มีแรงงานเหลืออยู่บ้าง   ซึ่งทุกคนก็ทำเท่าที่แรงกายเอื้ออำนวย    มีหน่วยงานของราชการมาถามว่า  ทำไมลุงคำไม่พาผู้คนเหล่านี้กลับไปประเทศพม่า  ลุงคำให้เหตุผลว่า ตอนนี้กลับไปที่เดิมก็ไม่มีที่ทำกินแล้ว เพราะที่เดิมก็จะถูกกลุ่มอื่นเข้ามาจับจองเป็นของเขา  และตอนนี้เขาก็เปรียบเหมือนกับคนที่ไม่มีแขนขา  เนื่องจากผู้ชายที่เป็นวัยแรงงาน และเป็นคนสำคัญในการสร้างบ้านเรือนก็ไม่เหลือเลย  ลำพังผู้หญิงคงไม่สามารถทำได้หรอก   ดังนั้นการออกจากหมู่บ้านแห่งนี้จึงเท่ากับการออกไปตาย  ลุงคำให้เหตุผลและยืนยันนักแน่นในการอยู่ที่นี้

            เคราะห์กรรมของชาวปางแดงในยังไม่หมดเพียงเท่านี้  เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองกลับเป็นผู้เบียดเบียน  แย่งชิงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด    หมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ บ้านปางแดงใน  ต่างทราบข่าวว่า ชุมชนแห่งนี้ไม่ (อ่านต่อภาค 2)

หมายเลขบันทึก: 460972เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2011 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรีดน้ำตา แล้วแหนหน้าสู้ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท