ศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก


ให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาให้ได้, ให้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ให้ได้,



ศีลธรรมของเยาวชน
คือสันติภาพของโลก



 



ปัจจุบันปัญหาสังคมไทยได้ทวีความรุนแรงและมีความหลากหลายมากขึ้น
หากติดตามข่าวสารทางสื่อ มวลชน จะเห็นว่ามีคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นแทบทุกวัน
 จนเกือบจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ของเยาวชนไทยลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย
สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการสื่อสารไร้พรมแดนในแนวทางโลกาภิวัตน์ ซึ่งต่างมุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ทำให้คนนิยมทางวัตถุมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมในเด็กวัยรุ่น อาทิ   ปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาท
ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด   ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน  ปัญหาที่เกิดดังกล่าว พบว่า รากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริงคือ
การที่เยาวชนได้รับการกล่อมเกลาทางจิตใจไม่เพียงพอและในบางกรณีถูกละเลยจากสถานศึกษาที่ปลูกฝังในเรื่องศีลธรรมจริยธรรม
จนทำให้ขาดความสำนึกในหน้าที่ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดการใช้สติพิจารณายั้งคิด
และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอกที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งสภาพแวดล้อมรอบตัว  ที่ยุยงส่งเสริม ชักจูงและโน้มน้าวอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบที่มีการพัฒนาอย่างหลากหลายทำให้ยากต่อการควบคุมป้องกัน
เว้นแต่เยาวชนเหล่านั้นจะถูกจัดระเบียบทางความคิด จนมีจิตใจที่ใฝ่ดีและมีพลังใจที่เข้มแข็งสามารถเป็นภูมิคุ้มกันต้านทานปัจจัยในทางเสื่อมที่จะเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิตที่ดีงามได้โดยอาศัยหลักของการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม



การที่เยาวชนมีศีลธรรม รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง
เป็นเครื่องประกันได้ว่าจะช่วยให้สังคมดำรงอยู่ สันติสุข เพราะศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก
แต่การจะทำให้เด็กและเยาวชนมีศีลธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกัลยาณมิตรให้การศึกษา
กล่าวคือให้การเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา รู้จักคบคนและเข้าร่วมสังคมกับกัลยาณชนที่จะมีอิทธิพลชักนำให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม
จิตใจ และปัญญา ที่สำคัญขอให้บังคับตัวเองให้ได้
เพื่อประโยชน์สัก 4-5 อย่างก็พอ
คือ ให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาให้ได้, ให้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ให้ได้,
ให้เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนให้ได้, ให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติให้ได้,
ให้เป็นพุทธบริษัทหรือพุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้าให้ได้
นี้เรียกว่า “5 ดี”     เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดสนใจที่จะแก้ปัญหาของตัวในวัยรุ่น
ก็จงจำ 5 คำนี้  ไว้ให้ได้
แล้วก็จำคำที่ว่า ได้หรือไม่ มันอยู่ที่การบังคับตัวเองได้หรือไม่ได้
ถ้าบังคับตัวเองได้มันก็ต้องดีบังคับไม่ได้มันก็ดีไม่ได้

               สรุปสั้นๆ สำหรับปัญหาวัยรุ่น คือบังคับตัวเองไม่ได้ นี่คือความล้มเหลวของวัยรุ่น
  จำแต่คำนี้คำเดียวไว้ก่อนว่า
มันบังคับตัวเองไม่ได้   บังคับให้เป็นนักเรียนที่ดีไม่ได้   เพราะเหตุอะไรบ้าง
ก็มีหลายอย่าง เช่น คบเพื่อนชั่ว ทำให้บังคับตัวเองไม่ได้ แล้วไม่พยายามจะบังคับ คืออย่าทำเลวก็บังคับไว้ไม่ได้
พออยากสูบบุหรี่ สูบ, อยากดูหนัง ดู, ฉะนั้น การที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จะหันมาศึกษาธรรมะของพุทธองค์อย่างถูกต้อง
ซึ่งธรรมะเป็นสัจธรรม ท้าให้พิสูจน์และไม่บังคับอย่างไร้เหตุผล
ถือว่าเป็นการสร้างเหตุปัจจัยดีให้ เพื่อพร้อมจะหมุนไปตามวัฏจักรของเหตุการณ์

แม้ว่าการศึกษาปฏิบัติธรรมะนั้น อาจจะยังไม่ทำให้ตัวผู้ศึกษาและสังคมดีขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ
แต่การทำเช่นนั้นเป็นเสมือนเหตุปัจจัยใหม่ที่พร้อมจะหมุนพาสังคมสู่ความสุขศานติได้ด้วยความร่วมมือของเยาวชน
ดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า"ศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก"



หมายเลขบันทึก: 460443เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท