กลวิธีแก้ความเบี่อในชีวิต


ความเบื่อ

                กลวิธีแก้ความเบื่อในชีวิต

                ในชีวิตประจำวัน คนเรามักหลีกหนีความเบื่อไปไม่พ้น ความเบื่อเกิดขึ้นง่ายพอ
ๆ กับการเป็นหวัดคัดจมูก ในช่วงฤดูฝน คนที่เบื่อไม่ใช่คนเป็นโรคจิต
การบำบัดรักษาจากจิตแพทย์จึงไม่จำเป็น แต่เราจะปล่อยให้เบื่ออยู่นานๆ ก็ไม่ได้ เพราะความเบื่อมีส่วนบั่นทอนความสุขในชีวิตของมนุษย์เรา
 แล้วทำอย่างไรความเบื่อ
จึงจะถูกลบหายไปจากหัวใจ ?     ความเบื่อนั้นมีความเข้มข้นและเจือจางแตกต่างกันไป
นั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมบางคน เบื่อมากแต่บางคนเบื่อน้อย ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ก่อให้เกิดความเบื่อ
มีความหนักเบาต่างกัน เมื่อวิเคราะห์แยกแยะถึงสาเหตุเหล่านั้น เราจะพบความเบื่อ 3 ระดับ คือ          

                1) ระดับแรกคือ ความเบื่อชั่วขณะ เพราะมีเวลาว่างมาก และไม่มีสิ่งถูกใจให้จับทำ เวลาคนอยู่ว่าง เขามักจะคิดฟุ้งซ่าน
คิดหนักเข้าก็เกิดอาการเบื่อตัวเอง บางทีเวลาว่างนั้นเกิดขึ้นโดยสถานการณ์บังคับ
เช่น ต้องรอรถเมล์นานเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง
เราจะหยิบอะไรขึ้นมาทำระหว่างรอก็ไม่ได้ ยิ่งรอก็ยิ่งเบื่อ ใครที่มีความเบื่อระดับแรกนี้ก็ควรหาอะไรทำแก้เบื่อ
ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ชมโทรทัศน์   การไม่ปล่อยตัวเองให้มีเวลาว่าง
นอกจากจะแก้เบื่อแล้วยังกำจัดความวิตกกังวล และกิเลสอีกหลายประการ คนเรายิ่งมีเวลาว่างมากก็ยิ่งคิดมาก
และตามปกติก็มักคิดถึงอารมณ์ที่เพิ่มพูนกิเลสของตัว การจับอะไรขึ้นมาทำจึงช่วยลดกิเลสได้มาก
บางคนกล่าวไว้น่าฟังว่า "งานเท่านั้นที่จะฆ่ากิเลสทั้งหลายให้ตายไปได้"
การทำงานจึงช่วยลดกิเลสและแก้เบื่อไปในตัว 
บางท่านจึงกล่าวว่า "การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม"         

                 2) ระดับที่สอง
ความเบื่อเกิดมาจากสภาพจำเจ
เช่น ทำงานเดิมทุกวัน เรียนที่เดิมทุกวัน
หรือพบคนหน้าเดิมทุกวัน เหล่านี้สร้างความเบื่อหน่ายและเบื่ออย่างร้ายกาจ
เพราะขัดกับสภาพในใจของเราที่ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ ตามปกติใจของคนเราชอบสิ่งแปลกใหม่
สิ่งใดที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว ก็แล้วกันไป เรามองข้ามของเก่าและสอดสายตาหาของใหม่ต่อไปด้วยอำนาจตัณหา
ไม่มีใครฟังคำเตือนที่ว่า "นกตัวเดียวในกำมือ ดีกว่านกสองตัวบนต้นไม้"น้อยคนจะสนใจสิ่งใกล้มือ
ส่วนมากมักพยายามไขว่คว้าสิ่งไกลเกินเอื้อม สิ่งใดที่หามาได้โดยง่าย สิ่งนั้นดูจะมีค่าน้อย
 บางคนพอรู้สึกเบื่อสิ่งใดก็อยากหนีสิ่งนั้น
นั่นก็เป็นวิธีแก้เบื่อที่ได้ผลชะงัด แต่ในทางปฏิบัติ เราทำได้ยาก ถึงเราจะเบื่อแสนเบื่อกับงานที่ซ้ำซากจำเจ
เราก็ต้องทนทำเพื่อเงินเดือน หรือเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในงาน   เมื่อหนีความจะเจไปไม่ได้
เราก็ไม่ควรทนอยู่ด้วยความเบื่อ แต่ควรจะอยู่ด้วยไม่รู้สึกเบื่อหรือเบื่อ วิธีการก็คือ
 ปรับใจให้ยอมรับและพอใจกับสิ่งจำเจนั้น มองหาเสน่ห์ในความจืดชืด
คิดเสียว่า "เมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบก็ต้องชอบสิ่งที่เรามี
             

                3) ระดับที่สาม ความเอียน  นั่นคือความเบื่อโลก หรือเอียนชีวิต
ตรงกับคำว่า นิพพิทา หรือความหน่ายโลก ใครที่เอียนชีวิตจะมีความเบื่อชนิดถาวร
มองเห็นโลกไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย ถ้าไม่ออกบวชหรือฆ่าตัวตาย
ก็มีชีวิตอย่างหมดชีวิตชีวา ความเอียนชีวิตเกิดมาจากสาเหตุที่ว่า เป้าหมายในชีวิตได้พังทะลายลงอย่างกะทันหัน
บางครั้งเป้าหมายหรืออุดมคติในชีวิตได้พังทลายลง เพราะว่านิยมของเราเปลี่ยนแปลงไปเอง
เป้าหมายที่เราเคยตั้งไว้กลายเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่า ตัวอย่างคือ เจ้าชายสิทธัตถะ เคยมองตำแหน่งจักรพรรดิว่าเป็นสิ่งชวนไขว่คว้า
ต่อมาเมื่อทรงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต พระองค์ทรงมองไม่เห็นคุณค่า ของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีกต่อไป
เป้าหมายชีวิตเดิมได้พังทะลายลง ความเอียนชีวิตได้ครอบงำพระทัยของพระองค์ ดังนั้น จึงทรงหาเป้าหมายใหม่ให้กับชีวิต
คือ "ทรงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า"  

                ดังนั้น คนเราจะต้องประคองตัวให้ดีอย่าให้ความผิดหวังหรือความเอียนทำลายอนาคตหรือดับชีวิตของเรา
  แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะเสียไปแล้ว
อนาคตก็ยังอยู่ และสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายที่สุดอย่างที่เราคาดคิดในวันอารมณ์เสีย ทั้งสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีที่สุดอย่างที่เราคาดคิดในวันอารมณ์ดี
จากนั้นจึงสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับชีวิต   ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า
เราไม่ปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามยถากรรม เพราะถ้าขืนปล่อยไปเช่นนั้น
สถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เราต้องรีบสร้างเป้าหมายใหม่ของชีวิต
มาทดแทนสิ่งที่พังทะลายไป เหมือนอย่างพระพุทธองค์ ทรงเลือกโพธิบัลลังค์
แทนราชบัลลังค์      ส่วนมากคนเราไม่กล้าเลือกแนวทางชีวิตใหม่
เพราะกลัวว่าทางใหม่จะเลวร้ายกว่าทางเก่าแล้วผิดหนักกว่าเก่า ความจริงนั้นเรามีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือก
 ดังนั้น เราต้องใช้เสรีภาพในการเลือกแนวทางใหม่ของชีวิต
แม้ภายหลังการณ์จะปรากฎว่า เราเลือกทางผิด เราก็ไม่เสียใจ
คนที่ลังเลไม่ยอมตัดสินใจเป็นคนน่าสงสาร  มีลักษณะเหมือนคนผู้หลงทางกลางป่า
แต่ไม่กล้าเลือกเดินไปตามทางสายใดสายหนึ่ง เพราะกลัวจะไปพบทางตัน คนชนิดนี้จะติดอยู่ในป่าจนตายคนที่ขาดเป้าหมายใหม่ให้กับตัวเองก็จะเบื่อจนตายเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 460441เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท