โลกกว้างคือห้องสมุด การท่องเที่ยวคือการอ่านหนังสือ ตอนชมของเก่าและอารยธรรมโบราณในเมืองอเล็กซานเดรีย ตอนที่6


เมื่อตอนที่ 5 เราได้ทราบประวัติคร่าวๆของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไปแล้วนะคะ ในตอนที่ 6 นี้ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมของเก่าและอารยธรรมโบราณในเมืองอเล็กซานเดรียกันค่ะ

การชมของเก่าและอารยธรรมโบราณในเมืองอเล็กซานเดรียทุกวันนี้มีให้เลือกน้อยมาก อันดับแรกที่เราจะไปเที่ยวชมคือ Catacomps หรือสุสานโบราณที่อยู่ใต้ดิน นิยมสร้างกันในสมัยโรมัน ในเมืองอเล็กซานเดรียมีอยู่หนึ่งแห่งเดิมทีเป็นกองขยะ เผอิญวันหนึ่งมีลาเดินมากินขยะ เสร็จแล้วก็ตกลงไปในหลุมตื้นๆแต่ลากินขยะจนโอเวอร์ไซส์ ก้นหลุมจึงยุบโครมลงไป เจ้าของลร้องไอ๋หยา หาทางปีนลงไปดูลาของตูข้าว่าตายหรือยัง? ปีนไปปีนมาปรากฎว่าหลุมลึก 20 เมตร ข้างใต้ขยายเป็นห้องหับสลับซับซ้อน น่าจะเป็นสุสานขนาดยักษ์ เขาจึงรีบวิ่งแจ้นมาแจ้งให้ทางการทราบ ข้างในสุสานมีห้องน้อยใหญ่คล้ายรังปลวกใต้พื้นดิน มีทางเดินแยกไปซอกนั้นนี้ ตามผนังมีช่องตื้นๆเอาไว้ใส่กระดูกและไห น่าเสียดายในสุสานไม่มีภาพวาดมีแต่ลายสลักเป็นเทพเจ้าอียิปต์ปนโรมัน และที่น่าอีกอย่างคือเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในสุสานนะซี

จาก Catacomps เราไปต่อกันที่ Pompey's Pillar เสาหินยักษ์แห่งอเล็กซานเดรีย สร้างโดยโรมันในศตวรรษที่ 3 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือพวกกบฎในอเล็กซานเดรีย

เสาสลักจกหินแกรนิตสูง 20.46 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.71 เมตร น้ำหนักเกือบ 400 ตัน ถือเป็นหนึ่งในเสาใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างจากหินชิ้นเดียว แถมยังตั้งตรงคงอยู่คู่เวลามาเกือบ 2,000 ปี เสาต้นนี้ยังมีฐานหินรองรับ ทำให้สูงรวม 26.85 เมตร เทียบกับเสาอื่นในโลกนับว่าใกล้เคียงกับเสาโอบิลิสก์ในวาติกัน กรุงโรม หรือในปารีส แต่อ้วนกว่าหน่อย หากนับช่วงเวลาที่เสาต้นนี้ยังอยู่ ขณะที่อีกหลายเสาข้างเคียงล้มทลายไปเพราะแรงแผ่นดินไหว

ทางการอียิปต์สงวนพื้นที่รอบเสาให้เป็นแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ มีลานจอดรถ ห้องขายตั๋ว และร้านขายของที่ระลึก ยังมีทางเดินพาเราไปดูเสาต้นยักษ์ตระหง่านฟ้า รวมถึงเทวรูปโบราณหลายชิ้นที่นำมาวางโชว์

แมลงสคารับที่ Pompey's Pillar

แหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของอเล็กซานเดรียคือป้อมเก่า Kaupay Fortress ตั้งอยู่ริมทะเล ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์นาวี แต่ป้อมแห่งนี้มีชื่อเสียงเพราะเดิมทีเคยเป็น "ประภาคารแห่งอเล็กซานเดรีย" หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ

ในยุคนั้นเมืองท่าทุกแห่งล้วนอยู่ติดทะเล การขนส่งอาศัยการเดินเรือล่องไปมาโดยปราศจากเข็มทิศหรืออุปกรณ์นำทาง อาศัยแค่ความชำนาญกับการดูสภาพภูมิประเทศชายฝั่งของกัปตัน ทำให้การขนส่งทางเรือจำกัดในวงแคบ จวบจนเมื่อ 2,300 ปีก่อน ที่เมืองอเล็กซานเดรียผู้คนมีแนวคิดจะสร้างประภาคารที่จะคอยบอกทางให้เรือทุกลำรับรู้ โดยใช้เกาะ Pharos อันเป็นเกาะจิ๋วอยู่ปลายแหลมริมทะเล การก่อสร้างดำเนินไปในยุคของฟาโรห์ปโตเลมี จนได้ประภาคารสูงถึง 140 เมตร กลายเป็นสิ่งก่อสร้างสูงเป็นอันดับสองรองจากมหาปิระมิด แสงไฟจากประภาคารเกิดจากการส่องไฟและใช้โลหะขัดมันฉายแสงสะท้อนมองเห็นห่างออกไปถึง 47 กิโลเมตร หากคิดถึงยุคนั้นแล้ว นี่คือความมหัศจรรย์อย่างไม่ต้องกังขา จนมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าประภาคารแห่งนี้สามารถยิงแสงไปเผาทำลายกองเรือใดที่บังอาจคิดมาทลายอเล็กซานเดรีย อย่าเพิ่งขำนะคะลองคิดถึงความคิดคนเมื่อเกือบ 2,300 ปีก่อน นครวัดนครธมยังไม่ได้สร้าง กำแพงเมืองจีนก็เพิ่งวางหินก้อนแรก คนที่เห็นประภาคารสูงตระหง่านฟ้า ไม่ร้องไอ๋หยาให้มันรู้ไป

น่าเสียดายที่โลกไม่อาจเห็นความมหัศจรรย์เช่นนี้อีกแล้ว เมื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 956 ประภาคารพังทลายกลายเป็นกองหิน ผู้ปกครองชาวอาหรับจึงสร้างป้อมบนตำแหน่งนั้นโดยใช้หินจากประภาคารที่พังทลายลงมานั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 460315เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท