การพัฒนากฎหมายเชิงบูรณาการในมาตรการบำบัดและฟื้นฟู


กฎหมายบังคับบำบัดฯ

การพัฒนากฎหมายเชิงบูรณาการในมาตรการบำบัดและฟื้นฟู 

 

สืบเนื่องจากปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  พ.ศ. ๒๕๔๕  

ก่อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติหลายประการ เช่น ปัญหาการคัดกรองผู้เสพ ปัญหาการตรวจพิสูจน์และรอการตรวจพิสูจน์ ปัญหาการติดตามฟื้นฟูฯ และปัญหาการหลบเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้พ้นจากระบบบำบัดฟื้นฟูที่เข้มงวด สำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม : การพัฒนากฎหมายเชิงบูรณาการในมาตรการบำบัดและฟื้นฟูขึ้น เมื่อวันที่ ๘-๙ กันยายน ๒๕๕๔  โดยผลการประชุมโดยสังเขป มี ๒ ประเด็นสำคัญประกอบด้วย

                   ๑. ปัญหาด้านกฎหมาย

                   ปัญหาของการบังคับใช้ พรบ.ฟื้นฟูฯ ประกอบด้วยปัญหาจากฐานคิดของกฎหมาย ปัญหาจากตัวกฎหมาย และปัญหาการบริหารจัดการ ดังนี้

                   ๑) ฐานคิดของกฎหมาย ได้แก่

                   -การติดยาเสพติดสามารถบำบัดให้หายได้แม้ว่าจะใช้วิธีการบังคับ

                   -การบำบัดยาเสพติดสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้อย่างเด็ดขาด ภายใน ๖ เดือน – ๓ ปี

                   -เชื่อว่าวิธีการบำบัด (ตามระบบบังคับบำบัด) และแผนการฟื้นฟูฯ เป็นวิธีที่ถูกต้องและได้ผล

                   -ระหว่างบำบัดผู้เสพสามารถหยุดยาได้โดยทันที

                   -การที่ศาลสั่งห้ามผู้เสพยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดสามารถมีสภาพบังคับได้จริง

                   ซึ่งฐานคิดดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

                   ๒) ปัญหาจากตัวกฎหมาย

                   -ปัญหาหลักส่วนหนึ่งอยู่ที่ พรบ. มาตรา  ๑๙  เช่น กลุ่มเป้าหมายที่นำเข้าสู่ระบบบังคับบำบัดมี ๔ ฐานความผิด ได้แก่ เสพ  เสพและครอบครองเพื่อเสพ  เสพและครอบครองเพื่อจำหน่าย ตลอดจนเสพและจำหน่าย โดยปริมาณยาเสพติด (กล่าวถึงเฉพาะยาบ้าซึ่งเป็นตัวยาปัญหาหลัก) ที่ยังอยู่ในฐานเสพ คือไม่เกิน ๕ หน่วยการใช้ (เม็ด)  หรือสารบริสุทธิ์ ไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม  ในกลุ่มเป้าหมายนี้ผู้เสพต้องได้รับการบำบัด พนักงานสอบสวนไม่สามารถฟ้องคดีเพื่อลงโทษได้ 

นอกจากเรื่องกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีประเด็นถ้อยคำตามกฎหมาย คำว่า “ผู้ใด” “ต้องหา”

ว่ากระทำความผิด  .... ซึ่งคำว่าผู้ใด แปลว่า รวมไปถึงบุคคลต่างด้าวที่กระทำความผิด และ “ต้องหา” หมายความว่า “ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด”  ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการรอตรวจพิสูจน์ เช่น ปัญหาสถานที่ควบคุมตัวเพื่อรอการตรวจพิสูจน์ เนื่องจากกลุ่เมป้าหมายมีจำนวนมาก เป็นต้น  

                   ๓) ปัญหาจากการบริหารจัดการ

                   -การจำแนกผู้ป่วย (ผู้เสพ) ของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ไม่สอดคล้องกับสถานที่บำบัด เนื่องจากข้อจำกัดปริมาณสถานที่รองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ควบคุมตัวเข้มงวด ส่งผลให้คณะอนุกรรมการฯ ต้องตัดสินส่งตัวผู้ป่วยตามสถานะของศูนย์บำบัดฯ ที่ว่างพอรับผู้ป่วย โดยอาจไม่ตรงกับความจำเป็นของการบำบัด เช่น ผู้ป่วยรุนแรงซึ่งต้องควบคุมตัวเข้มงวด อาจต้องส่งไปบำบัดในรูปแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด หรือไม่ควบคุมตัว

                   -ในความเป็นจริงผู้ป่วยไม่ต้องการเข้าบำบัดฟื้นฟู ซึ่งอาจต้องยาวนานถึง ๔ เดือน ในขณะที่หากถูกฟ้องในคดีอาญา ส่วนใหญ่ที่ข้อหาไม่ร้ายแรงศาลมักสั่งให้รอการลงโทษ ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ และไม่ต้องบำบัด

                   -ผู้ที่ได้รับโอกาสเข้ารับการบำบัดคือผู้เสพ ซึ่งในทางปฏิบัติกลับมีผู้จำหน่ายปนอยู่ด้วย

                   ๒. ข้อเสนอด้านกรอบคิด (ปรับทั้งระบบ)

                   -ควรแยกกระบวนการทางกฎหมาย กับกระบวนการทางการแพทย์ออกจากกัน โดยดำเนินการทางกฎหมายให้เสร็จสิ้น และให้แพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขเป็นผู้คัดกรอง พยากรณ์โรคแก่ผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่เหมาะสม

                   -กลุ่ม “ผู้เสพ” และ “เสพและครอบครองเพื่อเสพ” ควรให้สาธารณสุขเป็นผู้ดูแล โดยใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนด ๑ – ๓ ปี (ไม่ใช้จำนวนครั้งเป็นตัวกำหนด)  ในขณะที่กลุ่มเสพและครอบครองเพื่อจำหน่าย และ เสพและจำหน่ายต้องใช้มาตรการบังคับบำบัด (รวมถึงกลุ่มที่ผ่านการบำบัดตามสาธารณสุขแล้ว ๑-๓ ปี แต่ไม่ได้ผล)

                   -ควรรวมกฎหมายด้านการบำบัด โดยตัดข้อกฎหมายด้านบำบัดจากกฎหมายฉบับต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน และเกิดการบูรณาการ ไม่ขัดแย้งกัน

                   ๓. ข้อเสนอด้านตัวกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้

                   ๓.๑ ปรับหรือทำความชัดเจน ข้อกฎหมายมาตรา ๑๙ 

                    “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีความในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ .....”

                    จากข้อความตามกฎหมาย มีปัญหาที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย

-คำว่า “ผู้ใด” (คำนี้ส่งผลให้กฎหมายมีสภาพบังคับกับชาวต่างชาติ ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทยในระยะยาว)  “ต้องหา” ความชัดเจนเรื่องกลุ่มเป้าหมายฐานความผิด เรื่อง “เสพ” และ  “เสพ ครอบครอง  จำหน่าย”

                   -ข้อความ  “ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีความในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล”  ปัญหาของข้อความนี้คือ เมื่อผู้ต้องหามีความผิดฐานอื่น ศาลต้องวินิจฉัยยกคำร้องของพนักงานสอบสวน (กรณีบังคับบำบัด) เพื่อให้นำผู้ต้องหาไปรับโทษทางอาญาจากความผิดฐานอื่น  ซึ่งท้ายที่สุดผู้ต้องหาอาจได้รับการตัดสินรอการลงโทษ ทำให้ผู้เสพกลับสู่ชุมชนโดยไม่ได้รับการบำบัด 

                  -การเร่งรัดของกระบวนการ เช่น การส่งตัวผู้ต้องหาไปศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง กรณีเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่นำส่งไม่ทันศาลมักยกคำร้อง ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะเป็นการตัดสิทธิผู้ต้องหาที่จะได้รับการบำบัดฟื้นฟู

               -ความยืดเยื้อของกระบวนการ เช่น การใช้ดุลพินิจให้ประกันตัวโดยคณะอนุกรรมการฯ ส่งผลให้คณะอนุกรรมการฯ ต้องมีการประชุมทั้งคณะจึงจะให้ความเห็นการประกันตัวได้ อันเป็นกระบวนการที่เกิดภาระโดยไม่จำเป็น

                -การสร้างภาระแก่พนักงานสอบสวน เช่น กรณีผู้ต้องหาฟื้นฟูแล้ว      ไม่ผ่าน พนักงานสอบสวนต้องไปรับตัวจากสถานบำบัดเพื่อส่งฟ้องใหม่ โดยก่อนหน้านั้นต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกคำร้องเดิมก่อน

                   ๓.๒ น้ำหนักของตัวยาเสพติดที่กำหนดฐานความผิดที่แยกระหว่างผู้เสพ และผู้จำหน่ายรายใหญ่ ในกรณียาบ้า ๕ เม็ด หรือสารบริสุทธิ์ ๕๐๐ มิลลิกรัม  ซึ่งกรณีเมทแอมเฟมามีนชนิดเกล็ด (ไอซ์) ใช้ฐานการคำนวณปริมาณ ๕๐๐ มิลลิกรัมเช่นเดียวกัน (แต่ความรุนแรงของสารกรณียาบ้าผง ๕๐๐ มิลลิกรัม และ     เมทแอมเฟตามีนผง ๕๐๐ มิลลิกรัมไม่เท่ากัน)  

                   ๓.๓  การกำหนดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจให้มีแนวทางเดียวกันระหว่างหน่วยงาน เช่นพนักงานสอบสวนเป็นผู้จับกุม แต่เมื่อถึงชั้นศาล การกำหนดยี่ต๊อกของศาลอันเป็นมาตรฐานการลงโทษอาจส่งผลต่อประสิทธิผลของกระบวนการ             

                   ๓.๔  พรบ.ฟื้นฟูฯ ไม่ได้จำกัดจำนวนครั้งของกระบวนการตรวจพิสูจน์ และการเข้าฝากตัวในเรือนจำ ส่งผลให้ผู้รอการตรวจพิสูจน์เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับนักค้าในเรือนจำ

                   ๓.๕  การแก้ไขรายละเอียดของ พรบ. และกฎกระทรวง ในการให้อำนาจหน้าที่แก่ผู้บัญชาการเรือนจำในด้านการตรวจพิสูจน์

                   ๓.๖  การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจ  อันประกอบด้วย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองท้องถิ่น อัยการ โดยการใช้ดุลพินิจร่วมกันตั้งข้อหา และมีทางเลือกในการส่งต่อที่หลากหลายตามข้อตัดสินของดุลยพินิจ (รวมถึงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗)

หมายเลขบันทึก: 460282เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท