เรียนฟรี! สร้างอนาคตเด็ก 12 ล้านคน


เรียนฟรี! สร้างอนาคตเด็ก 12 ล้านคน

เปิด รายงาน สศช. สรุปภาวะประเทศ เสนอ ครม.ยิ่งลักษณ์ แนะนำให้ปรับคุณภาพการศึกษา เพิ่มไอคิว-อีคิวเด็กปฐมวัย ส่วนภาคแรงงานสายอาชีวะต้องการมาก แต่คนเรียนน้อยขณะที่ "งานวิจัย" มีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ถูกไปใช้ในเชิงพาณิชย์น้อยมาก

      วันที่ 29 ส.ค.54 ผู้สื่อข่าวรายงาน ผลสรุปภาวะประเทศที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระบุสถานการณ์ด้านการศึกษาในปัจจุบัน ว่าคนไทยมีศักยภาพ และโอกาสด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นจากการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 12,471,611 ล้านคน แต่จะต้องเร่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา เนื่องจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ ในวิชาหลักของนักเรียน ไม่ถึงร้อยละ 50 ขณะที่พบสถานศึกษาที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ 

     ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากนี้ ต้องมีการยกระดับสติปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของกลุ่มเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมาผลสำรวจระดับเชาวน์ปัญญา และพัฒนาการของเด็กไทย ชี้ตรงกันว่า มีพัฒนาการล่าช้า และระดับเชาวน์ปัญญาค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาทุนมนุยษ์ที่สำคัญที่สุด กลับพบว่า เด็กวัย 6-12 ปี จำนวนมากกว่าร้อยละ 25 มีค่าไอคิวต่ำกว่า 90 (ค่าความฉลาดปานกลางอยู่ที่ 90-110) ส่วนเด็กร้อยละ 40 มีไอคิวปกติระหว่าง 90-109 ส่วนการวัดอีคิว ผลปรากฎว่า เด็กในวัย 3-5ปี และ 6-11ปี มีความคิด การปรับตัวต่อปัญหา และความกระตือรือร้น ทั้งหมดมีคะแนนลดลง

     ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องขยายโอกาสการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากจำนวนผู้เรียนนอกระบบโรงเรียนได้เพิ่มสูงขึ้น มาอยู่ที่ 5.6 ล้านคน ในปีการศึกษา 2552 ส่วนจำนวนเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการและเด็กพิเศษนั้น ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพิ่มมากขึ้น จาก 3 ล้านคน มาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน อย่างไรก็ดี จะต้องมีการเพิ่มช่องทางการเรียนรู้นอกห้องเรียน และส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกล ของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาการจัดบริการ เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตยังอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ และห้องสมุดหรือสื่อต่างๆ ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชน ก็ยังไม่เปิดกว้าง

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รัฐบาลยังต้องพบปัญหาการผลิตและพัฒนากำลังคน ที่ปัจจุบันยังขาดแคลนกำลังคนระดับกลางและสูง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แม้ว่าสัดส่วนแรงงานไทยที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความต้องการเรียนต่อในสายอาชีวศึกษายังต่ำกว่าความต้องการกำลังคน ระดับกลางของประเทศ ซึ่งมีจำนวนความต้องการถึง ร้อยละ 60 ของความต้องการแรงงานทั้งหมด

     ขณะที่ปัญหาด้านกำลังคนระดับสูง ยังคงมีสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่ำกว่าบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขณะที่บุคลากรด้านวิจัยเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ และแม้ว่าจะมีการสร้างองค์ความรู้เพิ่มขึ้น แต่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ยังต่ำ และยังขาดงานวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทไทย

ที่มา - สยามรัฐออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 459901เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท