หมอดู กับ KPI


ความสำเร็จของการทำธุรกิจคือการสร้างศรัทธาในตัวพนักงานต่อคำทำนายของผู้บริหาร คนที่เชื่อมั่นในเกจิอาจารย์ใบ้หวยดังๆ ยังยอมขายบ้านขายรถเอาเงินไปแทงหวย เพราะเขาเชื่อว่ามันจะออกเลขตามนั้นจริงๆ (ซึ่งอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกตรงตามนั้นได้ยังไง)

เวลาเราดูดวงส่วนใหญ่ก็จะถามถึงอนาคต หมอดูเขาก็ทำนายตรงบ้างไม่ตรงบ้าง

คำถามคือมันยังไม่เกิดขึ้นแล้วเขารู้ได้ยังไง

 

การที่เรารู้ว่าอนาคตมันจะเป็นไปตามที่หมอดูบอกมั๊ย ก็คือเมื่ออนาคตนั้นมาถึงแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หมอดูทายถูกก็คือตัวเราเองที่มำให้อนาคตเป็นอย่างนั้น

เพราะอะไร...

 

เมื่อเราเชื่อสิ่งที่หมอดูบอก เราก็จะมุ่งมั่นปฏิบัติตัวตามที่หมอดูบอก ด้วยความเชื่อ ศรัทธา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จะรวมเรียกว่าการสร้างความน่าจะเป็นหรือโอกาสที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เป็นไปตามคำทำนาย เหมือนคนที่มั่นใจว่าจะสอบได้ก็จะมุ่งมั่นอ่านหนังสือเพราะเขาเชื่อว่าเขาทำได้ พอเราสร้างโอกาสให้เกิดขึ้น ความเป็นไปได้ที่สิ่งที่ตั้งไว้จะสำเร็จก็ยิ่งมีสูง

 

เวลาเราตั้งเป้าหมาย (Objective) ก็เหมือนเราดูดวงแล้วหมอดู (ผู้บริหาร) บอกว่าอนาคตเราจะเป็นยังไง ต่างกันตรงที่เราไม่ได้อยากจะรู้หรอกว่าอนาคตตรงนั้นจะเป็นยังไงเพราะมันเป็นอนาคตที่หมอดูเขาอยากได้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรา อนาคตที่ว่าก็คือเป้าหมาย หรือตัวชี้วัด (KPI) ที่ หมอดู (ผู้บริหาร) บอกเราว่านี่คืออนาคตของคุณ หรือแผนกของคุณ

 

พอเราไม่ได้ศรัทธาหรือเชื่อมั่นในตัวชี้วัดเหล่านั้น มันก็เลยไม่เกิดความมุ่งมั่นให้เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างเช่น

 

1. หมอดูบอกว่า คุณจะได้แต่งงานอายุ 35 คุณก็จะพยายามมีแฟน หรือมองหาใครซักคน เก็บเงินให้พร้อม มีบ้าน มีรถ ให้ทันอายุ 35 สิ่งเหล่านี้คือความมุ่งมั่นที่เกิดจากศรัทธาต่อเป้าหมาย และสุดท้ายก็ส่งผลให้เป้าหมายนั้นบรรลุในที่สุด (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงที่สุด)

 

2. ผู้บริหารบอกว่า เราต้องเพิ่มยอดขายให้ได้มากกว่าปีก่อน 10% เป้าหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตพนักงาน เขาก็จะทำไปวันๆ ไม่มุ่งมั่น ไม่ทุ่มเท เพราะเขาไม่ศรัทธาต่อเป้าหมาย ดังนั้นมันก็เลยทำให้สุดท้าย KPI ก็ไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด

 

เพราะฉะนั้นการที่หมอดูที่ชื่อผู้บริหาร จะเป็นหมอดูแม่นๆได้ ก็ต้องสร้างให้พนักงานที่มาดูดวงศรัทธากับเป้าหมายเสียก่อน โดยทำให้เขาเห็นว่า KPI นั้นๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตของพนักงาน และความเกี่ยวข้องนั้นคุ้มค่าต่อชีวิตของพวกเขา เช่นตอบสนองความต้องการขึ้นพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow's 5 Basic Needs) ยกตัวอย่างก็เช่น ทำให้ชีวิตของพนักงานดีขึ้น มีความมั่นคง มีอนาคตที่ดี แค่นี้พนักงานก็จะเชื่อมั่น และมุ่งมั่นทำงานให้ได้ตามเป้าหมายแล้ว

 

ความสำเร็จของการทำธุรกิจคือการสร้างศรัทธาในตัวพนักงานต่อคำทำนายของผู้บริหาร คนที่เชื่อมั่นในเกจิอาจารย์ใบ้หวยดังๆ ยังยอมขายบ้านขายรถเอาเงินไปแทงหวย เพราะเขาเชื่อว่ามันจะออกเลขตามนั้นจริงๆ (ซึ่งอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกตรงตามนั้นได้ยังไง) 

 

ความเชื่อทำให้เกิดศรัทธา ศรัทธาก่อให้เกิดความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่นก่อให้เกิดปาฏิหารย์ ไม่ว่า KPI จะยากเย็นยังไง ถ้าพนักงานศรัทธาซะอย่าง ยังไงก็ทำได้ครับ

คำสำคัญ (Tags): #ความเชื่อ
หมายเลขบันทึก: 459881เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท