น้ำท่วมยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง


ปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเป็นข่าวใหญ่ออกทำนองวิกฤตการณ์รุนแรงถ้าเราตั้งสติพิจารณากันให้ดี ๆ จะพบว่าน้ำท่วมมันไม่เคยเป็นปัญหาของคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน หากมองย้อนไปให้ดี ๆ จะเห็นว่าพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาเลือกตั้งกรุงที่หนองโสน เกาะกลางแม่น้ำที่น้ำท่วมทุกปี เพราะคนไทยสมัยก่อนรู้ดีในวิธีปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารบ้านเรือนที่ใต้ถุนสูงหรือการเปิดทางให้น้ำกระจายออกไปทุกทิศทุกทางเพื่อลดระดับของน้ำและทำให้ไหลลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น

ฟังนักการเมืองและข้าราชการกรมชลประทานหลายฝ่ายให้ความเห็นถึงการสร้างเขื่อนและการสร้างพนังกั้นน้ำตามริมแม่น้ำสายสำคัญ ๆ แล้วก็ทำให้นึกกังวลใจนี่คงเป็นเหตุเพราะผู้ร่ำเรียนวิชามาสูงส่งกลับไม่เข้าใจภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศของไทยเราดีพอโดยเฉพาะในภาคกลาง

จริงหรือไม่ที่การพัฒนาห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราหันหลังให้แม่น้ำและหันหน้าเข้าหาถนน จริงหรือไม่ที่เราปฏิเสธสภาวะน้ำท่วมทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งปฏิเสธไม่ได้ จริงหรือไม่ว่าการสร้างอาคารบ้านเรือนและการตั้งเมืองตั้งชุมชนของเราขัดแย้งต่อสภาพทางภูมิศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งในการเพาะปลูกจริงหรือไม่ที่เราใช้พันธุ์พืชพันธุ์ข้าวที่ไม่สอดคล้องกับสภาพน้ำท่วมสูงในช่วงใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว

ครับ เราสร้างบ้านตั้งเมืองขวางทางน้ำ เราสร้างเรือนนอนที่น้ำจะท่วมไม่ได้อีกต่อไปเพราะจะเสียหาย เราปลูกข้าวต้นสั้นไม่ไวแสง ไม่รีดน้ำ เราสร้างถนนแบบมักง่าย ไม่มีสะพานให้น้ำได้ไหลรอด แถมเรากลับเอาถนนมาเป็นพนังกันน้ำเพื่อความสะดวกสบายของคนบางกลุ่มและเก็บกักความเดือดร้อนให้คนบางกลุ่ม น้ำที่ท่วมสูงจึงสูงในบางที่ ไม่มีทางไป ไหลลงทะเลได้ช้า

น้ำท่วมที่เคยเป็นเหมือนเครื่องเยียวยาตามธรรมชาติสำหรับการกำจัดโรคภัยและโรคระบาดนานาในสมัยก่อนจึงกลายเป็นน้ำท่วมขัง ที่กักโรคเก็บภัยต่าง ๆ นานามากมาย ผมฝันเห็นนักวิชาการ ข้าราชการและนักการเมืองผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่เข้าใจสิ่งนี้แล้วหันมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถูกต้องจริงจังกันเสียที

ไม่ใช่มาเที่ยวบอกว่า ใครอาศัยอยู่เริมแม่น้ำ ต้องเป็นผู้ยอมรับชะตากรรม ทั้งที่เขาสร้างบ้านอาศัยอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ในขณะที่พวกอยู่ไกลแม่น้ำแล้งขัดแย้งกับธรรมชาติกลับได้รับการปกป้อง การณ์ เป้นต้องกลับกันละครับว่าใครรู้ตัวว่าปลูกบ้านในเขตที่น้ำจะบ่าท่วมใครปลูกข้าวในเขตน้ำจะบ่าท่วม ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับธรรมชาติ บ้านต้องใต้ถุนสองหรือไม่ก็ต้องมีสองชั้นและยอมรับการที่จะต้องถูกน้ำท่วมบ้านบ้าง ในขณะที่ใครปลูกข้าวในท้องนาที่น้ำท่วมถึงก็ควรปรับปรุงพันธุ์ข้าวของตนให้รีดน้ำหนีน้ำได้ นี่ละคือภูมิปัญญาครับ มิฉนั้นเราจะสูญเงินภาษีของเราไปกับน้ำปีละไม่ใช่น้อย ด้วยการซื้อทราย ดิน และหินคลุก มาถมเทเพื่อกันน้ำท่วม เฮ้อ !!!!!

คำสำคัญ (Tags): #oh
หมายเลขบันทึก: 459766เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท