ตัวแบบนโยบายสาธารณะ(1)


ตัวแบบนโยบายสาธารณะ

     ดาย (Dye)ได้กล่าวว่า ตัวแบบ (model) หมายถึง กรอบสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งตัวแบบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ

     ประการแรก ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับการเมือง และนโยบายสาธารณะได้ง่ายและกระจ่างชัด

     ประการที่สอง ระบุลักษณะสำคัญของปัญหานโยบาย

     ประการที่สาม ช่วยในการสื่อความหมายกับผู้อื่น โดยมีจุดเน้นที่ลักษณะสำคัญของชีวิตการเมือง

     ประการที่สี่ มุ่งสร้างความเข้าใจนโยบายสาธารณะให้ดีขึ้น โดยเน้นว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญ

     ประการสุดท้าย เพื่อช่วยอธิบายนโยบายสาธารณะและการพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

     ตัวแบบที่นำมาใช้ในการศึกษานโยบายสาธารณะมีหลายตัวแบบ แต่ที่นิยมและถูกกล่าวบ่อยครั้งมีทั้งหมด 8 แบบ จะมีจุดเน้นที่สัมพันธ์กับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์อย่างใกล้ชิด

 

     1. ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model)  ตัวแบบสถาบันนี้วิเคราะห์นโยบายสาธารณะภายใต้ฐานคติหลัก คือ การเตรียมนโยบายการอนุมัตินโยบาย หรือการประกาศเป็นนโยบาย หรือนำนโยบายไปปฏิบัติ ต่างมีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันการเมืองของรัฐ เช่น สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ ระบบราชการและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ จึงมีสาระสำคัญ คือ

     ประการแรก เพื่อให้นโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นมานั้นมีความชอบธรรม

     ประการที่สอง นโยบายที่กำหนดโดยสถาบันและองค์กรของรัฐดังกล่าวมีลักษณะที่ใช้ได้ทั่วไป

     ประการที่สาม นโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นมาโดยสถาบันดังกล่าวมีลักษณะผูกขาดบังคับ เฉพาะสถาบันองค์การของรัฐเท่านั้นที่มีความชอบธรรมที่จะลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือละเมิดนโยบาย

     การศึกษาถึงสถาบันที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะอาจจะศึกษาได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ประเด็นที่มุ่งศึกษาตามตัวแบบคือสถาบันใดบ้างมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและในเรื่องใดบ้าง

     สถาบันนิติบัญญัติ โดยทั่วไปจะหมายถึงรัฐสภา ประเทศใช้ระบบรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มักจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี 

     ประเทศใช้ระบบประธานาธิบดีตัวประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน นอกจากจะเป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้นจึงมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ในขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือประธานาธิบดีเท่านั้น

     สหรัฐอเมริกาให้อำนาจศาลสูงเป็นผู้มีอำนาจในการตีความกฎหมายรัฐธรรม ศาลสูงตีความอย่างใดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องถือปฏิบัติตาม จึงถือว่าศาลสูงสุดมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

     การวิเคราะห์นโยบายโดยตัวแบบสถาบันนี้ จะศึกษาถึงอำนาจหน้าที่ และกระบวนการกำหนดนโยบายของสถาบันทางการเมืองต่างๆ

     ตัวแบบสถาบันนี้รัฐศาสตร์นิยมนำมาใช้ในการศึกษานโยบายสาธารณะ เนื่องจากง่ายและมีความสะดวกในการศึกษาจะมีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนในการทำงาน กฎ ระเบียบวิธีปฏิบัติทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

     จุดอ่อนของตัวแบบนี้ว่า เป็นการศึกษาที่เน้นเฉพาะโครงสร้าง โดยไม่สนใจถึงภาระหน้าที่ หรือพฤติกรรมของสถาบันทางการเมือง จึงทำให้การศึกษาอาจเกิดความผิดพลาดได้

     2. ตัวแบบกระบวนการ (Process Model)  ศึกษาถึงกระบวนการทางการเมือง และพฤติกรรมทางการเมืองเป็นจุดสนใจศึกษา วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในแนวทางดังกล่าว คือ การค้นหารูปแบบการดำเนินกิจกรรมหรือ “กระบวนการ”

     1. การระบุปัญหา

     2. การกำหนดข้อเสนอนโยบาย

     3. การอนุมัติให้ความเห็นชอบนโยบาย

     4. การนำนโยบายไปปฏิบัติ

     5. การประเมินผลนโยบาย

     ตัวแบบกระบวนการนี้ได้เน้นขั้นตอนและพฤติกรรมที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย ซึ่งนักพฤติกรรมศาสตร์นิยมนำมาใช้ในการศึกษานโยบายสาธารณะมาก ตัวแบบนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีจุดอ่อน กล่าวคือการเน้นขั้นตอนและความสัมพันธ์ของแต่ละขั้นตอนมากเกินไปจนละเลยเนื้อหาสาระของตัวนโยบายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษานโยบายสาธารณะ

     3. ตัวแบบกลุ่ม (Group Model)  แนวความคิดของนักทฤษฎีการเมืองที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ เดวิด ทรูแมน (David Truman) และอารเธอร์ เบนท์เลย์ (Arthur Bentley) หัวใจของการเมือง คือ การต่อสู้แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมเพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อการที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งหน้าที่ของกระบวนการเมืองในการจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสามารถทำได้โดย

     1. การตั้งกฎ กติกา สำหรับการแข่งขันต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ

     2. การประนีประนอม และสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์

     3. การแสดงผลของการประนีประนอมในรูปของนโยบายสาธารณะ

     4. การบังคับใช้ข้อตกลงหรือนโยบายสาธารณะดังกล่าว

     ตามทฤษฎีกลุ่ม นโยบายสาธารณะจะเป็นสิ่งที่สร้างดุลยภาพสำหรับกลุ่มต่างๆ ในสังคมกลุ่มใดที่มีอิทธิพลมากย่อมได้เปรียบ เนื่องจากนโยบายสาธารณะย่อมโน้มเอียงไปตามการเรียกร้องของกลุ่ม อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอิทธิพลจะมีมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่ม จำนวนสมาชิกในกลุ่ม ความมั่นคั่ง ความแข็งแกร่งขององค์การ ภาวะผู้นำ ความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ความสามัคคีภายในกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงใดๆ ขององค์ประกอบของกลุ่ม ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายสาธารณะด้วย

     ตัวแบบกลุ่มนี้นิยมนำมาใช้อธิบายลักษณะการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในระบบการเมืองแบบพหุสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีกลุ่มต่างๆ ในสังคมมีหลากหลายและมากมาย เมื่อประชาชนแต่ละคนมุ่งหวังประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเข้าไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ และพยายามสำแดงพลังหรืออิทธิพลและสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายให้รับรู้การเรียกร้องของตน

     นโยบายสาธารณะในระบบการเมืองดังกล่าว จึงเป็นผลมาจากการต่อรอง การประนีประนอม ระหว่างข้องเรียกร้อง การต่อสู้แข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอิทธิพลในระบบสังคมการเมือง ทั้งนี้เพื่อจะได้จัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

     จุดเด่นของทฤษฎีกลุ่มคือ การสะท้อนให้เห็นถึงโลกของความเป็นจริงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กลุ่มต่างๆ ในสังคม และระบบการเมืองได้พยายามที่จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายสาธารณะ กลุ่มพยายามแสวงหาหนทางเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจของกลุ่ม เพื่อให้นโยบายสาธารณะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด

     สำหรับจุดอ่อนของทฤษฎีกลุ่มคือ การถือว่านโยบายสาธารณะเป็นผลมาจากการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นั้นเท่ากับมองข้ามความสำคัญของผู้มีอำนาจในการตัดสินนโยบายไป ซึ่งบ่อยครั้งที่รัฐบาลอาจตัดสินใจในนโยบายโดยอาจไม่ได้เป็นผลมาจากการต่อรองของกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็ได

     4. ตัวแบบเชิงระบบ (System Model)  ระบบการเมืองระบบหนึ่งๆ จะดำรงอยู่ได้โดยการมีสถาบันและกระบวนการต่างๆ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดสรรคุณค่าต่างๆ ให้สังคม สิ่งนี้เองที่ถือว่าเป็นนโยบายของระบบการเมืองนั้น ซึ่งหากนโยบายนั้นเหมาะสม ก็ย่อมจะก่อให้เกิดการสนับสนุนต่อการตัดสินใจของระบบการเมืองด้วย ส่วนครอบคลุมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันในเชิงคำถาม

     สำหรับคำว่า “ระบบ”(System)หมายถึง ชุดของสถาบันและกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถระบุได้ในสังคมซึ่งมีหน้าที่ในการแปลงการเรียกร้องประชาชน ไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมทั้งหมด

     นอกจากนี้คำว่า “ระบบ”ยังหมายถึงระบบย่อยต่างๆ ของระบบใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และระบบใหญ่สามารถตอบสนองต่อการเรียกร้องของกำลังต่างๆ จากภายนอก เพื่อให้ระบบนั้นคงอยู่ต่อไปได้

     1. สภาพแวดล้อม สิ่งต่างๆ ที่อยู่แยกจากระบบ

     2. สิ่งที่นำเข้าสู่ระบบ ข้อเรียกร้อง ความต้องการในการรับ บริการทรัพยากรด้านต่างๆ แบแรงสนับสนุนจากนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐและมวลชนต่างๆ

     3. กระบวนการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างที่เป็นทางการของหน่วยราชการทั้งหมด กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและวิธีปฏิบัติ ตลอดจนวัฒนธรรมทางการบริหารที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่นำเข้าให้เป็นนโยบาย

     4. นโยบายอันเป็นผลผลิต

     5. ผลของการให้บริการ

     6. ทิศทางของการย้อนกลับ

     จุดเด่นของตัวแบบเชิงระบบ การกำหนดนโยบายค่อนข้างจะเป็นระบบ คือนโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของระบบการเมือง ซึ่งนโยบายสาธารณะแต่ละนโยบายจะมีเหตุผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยนำเข้าของระบบ ได้แก่ การเรียกร้องและการสนับสนุนของประชาชน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของระบบเองในการปรับ เปลี่ยนปัจจัยนำเข้า โดยการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และการนำสิ่งที่ตัดสินใจไปปฏิบัติ

     จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ตัวแบบนี้ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมของระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ว่าจะส่งผลในเชิงบวกหรือเชิงลบต่อการปฏิบัติงานของระบบให้มีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด

     จุดอ่อนตัวแบบเชิงระบบ นี้ยังไม่สามารถตอบคำถามที่สำคัญและจำเป็นหลายคำถาม ได้แก่

     1. ปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญมีประการใดบ้างที่ช่วยเอื้ออำนวยให้มีการเรียกร้องต่อระบบการเมือง

     2. ระบบการเมืองที่มีคุณลักษณะเช่นใดจึงจะสามารถแปลงการเรียกร้องให้เป็นนโยบายและมีความต่อเนื่อง

     3. ปัจจัยนำเข้ามีผลต่อคุณลักษณะของระบบการเมืองได้อย่างไร

     4. คุณลักษณะของระบบการเมืองมีผลต่อเนื้อหาสาระของนโยบายได้อย่างไร

     5. ปัจจัยแวดล้อมนำเข้ามีผลต่อเนื้อหาสาระของนโยบายสาธารณะได้อย่างไร

     6. นโยบายสาธารณะสงผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณลักษณะของระบบการเมืองได้อย่างไร

 

     5. ตัวแบบผู้นำ(Elite Model)  ประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังไม่เจริญเต็มที่การปกครองมักอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิด และความต้องการของกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมืองนั้นๆ เนื่องจากว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจต่อกิจกรรมบ้านเมือง ทำให้ผู้นำสามารถที่จะเปิดเผยหรือปิดบังข่าวสารข้อมูลตามที่ผู้นำต้องการได้ โดยเหตุนี้จึงไม่เป็นเรื่องยากที่จะปกครองประชาชน

     จุดเด่นของตัวแบบผู้นำคือ สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมในปัจจุบันหลายประการ เช่น ประเทศปกครองโดยชนกลุ่มน้อย มิใช่การปกครองโดยคนกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้ยังมักปรากฏว่านโยบายที่ผู้นำบ่อยครั้งมักกำหนดมาเพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นผู้นำเอง หรือกลุ่มที่สนับสนุนผู้นำ

     จุดอ่อนของตัวแบบผู้นำ ได้แก่ การละเลยความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายของข้าราชการและประชาชน ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าข้าราชการประจำแม้จะไม่มีอำนาจในการตัดสินปัญหานโยบาย แต่ก็มีบทบาทในการริเริ่มหรือเสนอและนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นเรื่องเทคนิคซึ่งข้าราชการประจำมีความเชี่ยวชาญมากกว่าผู้กำหนดนโยบาย

     ตัวแบบผู้นำสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมในปัจจุบันหลายประการ เช่น ประเทศมีการปกครองโดยชนกลุ่มน้อย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ เฉื่อยชาทางการเมือง จุดอ่อนของตัวแบบดังกล่าวคือ ละเลยความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของข้าราชการและประชาชน และขัดกับลักษณะสำคัญของนโยบายที่ว่านโยบายไม่ได้ตัดสินกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่มีการพัฒนามาเป็นสำคัญ

 

     6. ตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผล (Rational Model)  ลักษณะสำคัญของตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผลก็คือ นโยบายที่ยึดหลักเหตุผลนั้นเป็นนโยบายที่มุ่งเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสังคม คำว่า “ผลประโยชน์สูงสุดของสังคม”นั้นหมายถึง รัฐบาลควรจะตัดสินใจเลือกนโยบายที่จะให้ผลประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าค่าใช้จ่ายไปให้มากที่สุด และสมควรหลีกเลี่ยงการเลือกนโยบายที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่า ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับมาใช้

     ขั้นตอนที่สำคัญประกอบด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการตัดสินใจ และผลผลิตปัจจัยนำเข้าประกอบด้วยทรัพยากรทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับกระบวนการตัดสินใจที่ยึดหลักเหตุผลสมบูรณ์แบบ รวมทั้งข้อมูลทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับกระบวนการตัดสินใจที่ยึดหลักเหตุผล

     ส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจ ประกอบด้วยขั้นตอนของการตัดสินใจ 6 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่

     1. การกำหนดเป้าหมายปฏิบัติการ

     2. การเตรียมทรัพยากรและสิ่งที่มีคุณค่าอื่น ๆ

     3. การเตรียมทางเลือกของนโยบายทั้งหมด

     4. การเตรียมการพยากรณ์ผลประโยชน์- ต้นทุนของแต่ละทางเลือก

     5. การคำนวณผลประโยชน์สุทธิของแต่ละทางเลือก

     6. การเปรียบเทียบและระบุทางเลือกที่ให้ผลประโยชน์สุทธิสูง

     จุดเด่นของตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผล ได้แก่การมีข้อมูลที่สมบูรณ์ มีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ และการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการตัดสินนโยบาย

     จุดอ่อนของตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผล

     1. โดยทั่วไปไม่มีผลประโยชน์ใดทางสังคมส่วนรวมที่สามารถตกลงกันได้อย่างแน่ชัด

     2. หากมีความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์และต้นทุนจำนวนมากจะมาสามารถเปรียบเทียบหรือให้น้ำหนักกันได้

     3. ผู้กำหนดนโยบายขาดการกระตุ้นที่จะทำการตัดสินใจที่ยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของเป้าประสงค์ทางสังคม

     4. ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ถูกกระทำกระตุ้นให้คิดคำนึงถึงผลประโยชน์สุทธิทางสังคมที่สูงสุด

     5. เมื่อประเทศมีนโยบายหรือการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งอาจเป็นต้นทุนจม

     6. ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทางเลือกนโยบาย และผลลัพธ์ของแต่ละทางเลือกจะใช้เวลามาก

     7. การขาดความสามารถในการทำนายสังคมและพฤติกรรมศาสตร์

     8. การคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ไม่สามารถทำอย่างเที่ยงตรง

     9. ความไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของทางเลือกนโยบายต่าง ๆ ปิดกั้นไม่ให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาเลือกทางเลือกใหม่

     10. นโยบายจำแนกออกเป็นด้านต่าง ๆ ในระบบราชการขนาดใหญ่ ทําใหเกิดความยากลําบากในการประสานการตัดสินใจ

 

      7. ตัวแบบส่วนเพิ่ม (Incremental Model)  ลักษณะสำคัญของตัวแบบส่วนเพิ่มนั้นมองนโยบายว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่องของรัฐบาลที่มีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวแบบนี้เสนอโดย ลินด์บลอม(Lindblom) กล่าวว่าในโลกของความเป็นจริงนั้นผู้ตัดสินใจไม่ได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ เช่นในตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผล จากอดีตว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ในปีต่อไปจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ตัวแบบนี้ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมในการตัดสินใจมากกว่าเชิงสร้างสรรค์

     จุดเด่นของตัวแบบส่วนเพิ่ม ได้แก่ ความง่ายและสะดวกในทางปฏิบัติ เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายจะดูเพียงของเดิมในอดีต และพิจารณาว่าจะเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน เพียงใด โดยคำนึงถึงงบประมาณ คน วัสดุ อุปกรณ์ และเวลาที่มีอยู่เป็นสำคัญ จากการตัดสินใจดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้ทางการเมือง การเงิน การบริหารและทางเทคนิคสูง

     จุดอ่อนของตัวแบบส่วนเพิ่ม ได้แก่การไม่ช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์ ผลก็คืองานใหม่ ๆ หรือนโยบายใหม่ ๆ มักถูกขัดขวางจากผู้ตัดสินใจที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง

 

     8. ทฤษฎีเกม (Game Theory)  ทฤษฎีเกมเป็นเกมการศึกษาการตัดสินใจที่มีเหตุผลในสถานการณ์ที่ผู้มีส่วนในการตัดสินใจเพียงสองคน สองกลุ่ม หรือสองฝ่าย หรือมากกว่านั้น มีทางเลือกที่จะทำการตัดสินใจ และผลของการตัดสินใจขึ้นอยู่กับการเลือกที่แต่ละฝ่ายจะเลือก ทฤษฎีนี้ได้นำมาใช้กับการกำหนดนโยบาย ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเลือกได้อย่างอิสระ และในกรณีที่ผลของการตัดสินใจที่ดีที่สุดของฝ่ายหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่ง

     ความคิดเกี่ยวกับเกมคือ การตัดสินใจต่างเกี่ยวพันกับการเลือกที่ต่างพึ่งพากันและกัน เพราะการตัดสินใจของฝ่ายหนึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ทฤษฎีนี้ได้มีการนำไปใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์การเจรจาระหว่างประเทศ การต่อรอง

     1. จะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย 2 คน

     2. ต้องมีเป้าหมายที่ผู้เล่นแต่ละคน

     3. มีทรัพยากร

     4. มียุทธวิธี

     5. ผลตอบแทน

     6. ต้องมีกติกา

     จุดเด่นของทฤษฎีเกมคือ มักนิยมใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสงครามและสันติภาพเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การต่อรองและการสร้างแนวร่วมในรัฐสภาและใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์มากกว่าเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย

     จุดอ่อนของทฤษฎีเกมมีหลายประการที่สำคัญคือ ไม่เหมาะสมสำหรับความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่เหมาะสมเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ยากที่จะคำนวณประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับและพยากรณ์ทางเลือกของฝ่ายตรงข้าม มีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายที่ไมเอื้อต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รวมทั้งข้อสันนิษฐานหรือฐานคติที่ว่าทุกคนตัดสินใจโดยอาศัยหลักเหตุผลนั้นไม่เป็นจริงเสมอไป

 

อ้างอิงจาก  :  แหล่งที่มา

http://www.sas.mju.ac.th/office/sas2/boxer/16847.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 458871เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2011 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ ได้ความรู้เพื่มเติมในส่วนที่ขาด ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท