กลุ่มทฤษฎีองค์การสมัยใหม่


ทฤษฎีและแนวความคิดทางการบริหาร

3.  กลุ่มทฤษฎีองค์การสมัยใหม่

                 ในการบริหารงานนั้น  หลังจากที่ได้มีการนำเอากลุ่มทฤษฎีองค์การในยุคคลาสสิคและกลุ่มทฤษฎีองค์การยุคพฤติกรรมศาสตร์  ได้มีการนำมาใช้ในการบริหารงาน  ซึ่งทฤษฎีทั้ง  2  กลุ่มดังกล่าวต่างก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวของทฤษฎีเอง  เช่น  ทฤษฎีองค์การในยุคคลาสสิค  จะเน้นไปในเรื่องของการกำหนดวิธีการทำงาน  เพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุด  (One  Best  Ways)  ในการทำงาน  หรือเน้นไปที่เรื่องของการจัดโครงสร้างองค์การและหลักการบริหาร  เพื่อให้ทั้งวิธีการทำงาน  โครงสร้างองค์การและหลักการบริหาร  เป็นสิ่งที่ช่วยในการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกองค์การในการปฏิบัติงาน  โดยไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องพฤติกรรม  ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน 

                ดังจะเห็นได้จากการทำการวิจัยทดลองของเมโย  (Mayo)  ที่เมืองฮอว์ธอร์น  (Hawthorne)  และในทางตรงกันข้ามกันก็จะเห็นได้ว่าทฤษฎีองค์การในยุคพฤติกรรมศาสตร์ที่เน้นและให้ความสำคัญไปที่คน  โดยการมุ่งค้นหาคำตอบโดยการวิเคราะห์ให้ทราบถึงความต้องการของคน  และพยายามแสวงหาสิ่งจูงใจที่ตอบสนองความต้องการของคน  และพยายามแสวงหาสิ่งจูงใจที่จะตอบสนองความต้องการของคน เพื่อที่จะทำให้คนปฏิบัติงานให้กับองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แต่ทฤษฎี ยุคพฤติกรรมศาสตร์ก็มีจุดอ่อนที่ไม่ให้ความสนใจในเรื่องของวิธีการทำงาน การจัดโครงสร้างองค์การและหลักการบริหารงานทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน

                 ดังนั้นเพื่อให้ปัญหาในการบริหารงานหมดไป อันเนื่องมาจากความสลับซับซ้อนใน การบริหารงานมีมากขึ้น ตลอดจนสิ่งแวดล้อมขององค์การสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  จึงได้มีการนำเสนอทฤษฎีองค์การยุคสมัยใหม่  ซึ่งได้มีการผสมผสานและบูรณาการเอาทฤษฎีในยุคคลาสสิค และทฤษฎีองค์การในยุคพฤติกรรมศาสตร์มาปรับประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงาน

          3.1  ทฤษฎีการบริหารแบบการตัดสินใจ

                   เฮอร์เบิร์ต เอ.ไซมอน (Herbert A. Simon) คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีการตัดสินใจได้กล่าวว่า “การบริหารก็คือการตัดสินใจนั่นเอง” ทั้งนี้เนื่องจากว่าคนที่เป็นผู้บริหารจะต้องเผชิญกับภาวะที่จะต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งจากทางเลือกหลาย ๆ ทางที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกในการกำหนดแผนในการทำงาน หรือว่าทางเลือกในการแก้ไขปัญหาถ้านักบริหารสามารถที่จะเลือกทางเลือกที่ดีมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาได้ ก็จะสามารถทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าเลือกทางเลือกที่ไม่ดีมา ก็ทำให้การทำงานล้มเหลว ดังนั้นในลักษณะการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดี จะต้องมีขั้นตอนของการตัดสินใจที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้ คือ  (ธงชัย  สันติวงษ์,  2542,  หน้า  196)

                3.1.1  การพิจารณาถึงตัวปัญหา ในขั้นตอนแรกนี้ก็คือ นักบริหารที่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ จะต้องสามารถระบุให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน ในขั้นตอนนี้เหมือนกับการที่หมอทำการวินิจฉัยโรค ถ้าหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกก็จะทำให้กระบวนการรักษาที่ตามมาได้ผล แต่ถ้าวินิจฉัยโรคผิดกระบวนการรักษาโรคที่ตามมาก็จะผิดไปด้วย ทำให้การรักษาโรคล้มเหลว

                3.1.2  การพิจารณาค้นหาทางเลือก ทางเลือกในการแก้ปัญหาอาจจะมีหลายทาง มีกี่ทางเลือก เราจะต้องนำมาพิจารณาให้หมดเพราะจะทำให้เรามีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น

                3.1.3 การประเมินผลทางเลือก คือการทำการพิจารณาทางเลือกแต่ละทางว่ามีข้อดีอย่างไรบ้าง ข้อเสียอย่างไรบ้าง ในขั้นตอนของการประเมินผลทางเลือก ถ้าจะให้ดีควรที่จะมีการนำเอาเทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณมาช่วยในการประเมินผลทางเลือกด้วย เพราะจะทำให้การตัดสินใจเลือกทางเลือกทำได้ง่ายขึ้น

                3.1.4 การตัดสินใจเลือกทางเลือกและการนำทางเลือกไปปฏิบัติ เลือกทางเลือกที่ดีที่สุด และนำไปปฏิบัติเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา แล้วตรวจสอบประสิทธิผลของการนำทางเลือกนั้นไปปฏิบัติ จากข้อมูลย้อนกลับ ของกระบวนการในการตัดสินใจ

หมายเลขบันทึก: 458799เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท