แนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี


แนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี  15  ปี  อย่างมีคุณภาพ

      ความเป็นมา  ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐  มาตรา ๔๙ ได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ วรรค ๑ บัญญัติว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”  ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวในปีแรก โดยกำหนดไว้ใน ข้อ ๑.๓ การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ข้อ ๑.๓.๑ ว่า “ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี ๑๕ ปี  โดยสนับสนุนตำราในวิชาหลักให้แก่ทุกสถานศึกษา จัดให้มีชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา ๒๕๕๒ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อชดเชยรายการต่าง ๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากผู้ปกครอง” อีกทั้งนโยบายของรัฐด้านการศึกษา ข้อ ๓.๑.๔ กำหนดว่า“จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี ๑๕ ปี ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาและชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน”

     กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้น โดยจัดทำโครงการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี  อย่างมีคุณภาพ ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มตามศักยภาพ ซึ่งการดำเนินการนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอาชีพแล้ว ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑  เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพมหานคร  และครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ณ โรงเรียนชลกันยานุกูลจังหวัดชลบุรี

     วัตถุประสงค์  เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

     สาระสำคัญของนโยบาย  คณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน (เพิ่มเติมสำหรับการศึกษาของเอกชน)หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามแผนงานเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๑๕ ปี สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

     ค่าหนังสือเรียน ๔,๒๐๓,๓๗๐,๘๐๐ บาท

     ค่าอุปกรณ์การเรียน ๑,๕๓๑,๙๘๓,๘๐๐ บาท

     ค่าเครื่องแบบนักเรียน ๓,๑๕๘,๖๗๘,๑๐๐ บาท

     ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ๒,๑๑๗,๕๐๖,๔๐๐ บาท

     รวมทั้งสิ้น ๑๑,๐๑๑,๕๓๙,๑๐๐ บาท

     ซึ่งในแต่ละรายการมีรายละเอียด ดังนี้

     หนังสือเรียน  มีรายละเอียดดังนี้

๑. ระดับก่อนประถมศึกษา ใช้หนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย

๒. ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ใช้หนังสือเรียนทั้ง ๘ กลุ่มสาระ ทุกระดับชั้น  โดยมีอัตราค่าหนังสือดังนี้

     ก่อนประถมศึกษา ๒๐๐.๐๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ๔๘๓.๒๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ๓๔๗.๒๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ๓๖๕.๖๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ๕๘๐.๐๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๔๒๔.๐๐ บาท/คน

     ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ๔๙๖.๐๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ๗๓๙.๒๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ๕๖๔.๘๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ๕๖๐.๐๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ๑,๑๖๐.๘๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ๘๐๕.๖๐ บาท/คน

     ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ๗๖๓.๒๐ บาท/คน

อุปกรณ์การเรียน  อุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ประกอบด้วยแบบฝึกหัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ (ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วยคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) สมุด ปากกา ดินสอ ยางลบไม้บรรทัด เครื่องมือเรขาคณิต วัสดุฝึก ICT (CD) สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และกระดาษ A4 สีเทียน

     ดินน้ำมันไร้สารพิษ สำหรับผู้เรียนระดับก่อนประถมศึกษาในอัตรา ดังนี้

     ก่อนประถมศึกษา ๑๐๐ บาท/ภาคเรียน

     ประถมศึกษา ๑๙๕ บาท/ภาคเรียน

     มัธยมศึกษาตอนต้น ๒๑๐ บาท/ภาคเรียน

     มัธยมศึกษาตอนปลาย ๒๓๐ บาท/ภาคเรียน

เครื่องแบบนักเรียน  เครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วย เสื้อ/กางเกง/กระโปรงคนละ ๒ ชุด/ปี ในอัตราก่อนประถมศึกษา ๓๐๐ บาท/คน

     ประถมศึกษา ๓๖๐ บาท/คน

     มัธยมศึกษาตอนต้น ๔๕๐ บาท/คน

     มัธยมศึกษาตอนปลาย ๕๐๐ บาท/คน

     กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถซื้อเข็มขัดรองเท้า ถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ชุดกีฬา ได้ กรณีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่ต่างไปจากชุดนักเรียนปกติและราคาสูงกว่าที่กำหนดวงเงินดังกล่าวอาจซื้อได้เพียง ๑ ชุด

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สถานศึกษาจัดขึ้น ประกอบไปด้วย ๑. กิจกรรมวิชาการ ๒. กิจกรรมคุณธรรม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด ๓. ทัศนศึกษา ๔. การบริการารสนเทศ/ICT ทั้งนี้ในการพิจารณากำหนดกิจกรรมทั้ง ๔ กิจกรรมต้องให้ภาคี ๔ ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียน) และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการพิจารณา โดยที่ผลการพิจารณาต้องไม่เป็นการรอนสิทธิ์ของเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่พึงจะได้รับ  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๑. กิจกรรมวิชาการ เป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมจากการเรียนปกติในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ ส่งเสริมเด็กเก่งให้มีความเป็นเลิศและแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนเรียนอ่อนให้มีศักยภาพสูงขึ้น เช่น ค่ายวิทย์-คณิตคิดสนุกค่ายทักษะชีวิต ค่ายภาษาพาเพลิน (แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) เป็นต้น โดยกำหนดให้ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวปีละ ๑ ครั้ง

๒. กิจกรรมคุณธรรม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาดเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

     กิจกรรมคุณธรรม เช่น ค่ายเด็กดีของชุมชน ค่ายรักษ์โลกค่ายรักษ์สัตว์ ค่ายยุวชนคนดี กิจกรรมอาสาพัฒนา เป็นต้น

     ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด เป็นกิจกรรมภาคปฏิบัติในการเรียนลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกทักษะการจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ เช่น การเดินทางไกล การอยู่ค่ายพักแรม การผจญภัย (ไต่เขาปีนต้นไม้ ฯลฯ) โดยกำหนดให้ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว ปีละ ๑ ครั้ง

๓. ทัศนศึกษา เป็นกิจกรรมศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียนที่เพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวางโดยกำหนดให้ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว ปีละ ๑ ครั้ง

๔. การบริการสารสนเทศ/ICT เป็นกิจกรรมการให้บริการICT/คอมพิวเตอร์ แก่นักเรียนเพิ่มเติมจากการเรียนคอมพิวเตอร์พื้นฐานตามหลักสูตรปกติ เช่น การให้บริการสืบค้นความรู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตการให้บริการคอมพิวเตอร์ในการจัดทำสื่อ รายงานการนำเสนอข้อมูลการออกแบบสร้างสรรค์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดให้ดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว ๔๐ ชั่วโมง/ปี/คน

     ทั้งนี้งบประมาณกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อนักเรียน๑ คน ดังนี้ก่อนประถมศึกษา ๒๑๕ บาท/ภาคเรียน

     ประถมศึกษา ๒๔๐ บาท/ภาคเรียน

     มัธยมศึกษาตอนต้น ๔๔๐ บาท/ภาคเรียน

     มัธยมศึกษาตอนปลาย ๔๗๕ บาท/ภาคเรียน

แนวทางการจัดสรรงบประมาณ

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปจัดซื้อหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

๑. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดสรรงบประมาณ ภาคเรียนที่๑/๒๕๕๒ โดยใช้ข้อมูลนักเรียนรายบุคคล  ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ในการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้  ชั้นอนุบาล ๑, ป.๑, ม.๑, ม.๔ จัดสรรให้เบื้องต้นร้อยละ ๘๐ ของนักเรียน เนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนนักเรียนที่แน่นอน สำหรับชั้นอื่น ๆ  จัดสรรให้ร้อยละ ๑๐๐ โดยคิดนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๑ เลื่อนชั้นไปอีกระดับชั้นหนึ่ง และในกรณีที่มีข้อมูลผู้ขอสละสิทธิ์ไม่รับเครื่องแบบนักเรียนและ/หรืออุปกรณ์การเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะไม่จัดสรรรายการดังกล่าวให้ตามจำนวนผู้ขอสละสิทธิ์

๒. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งจัดสรรงบประมาณนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ เป็นรายสถานศึกษาจำแนกตามระดับการศึกษาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบและแจ้งให้สถานศึกษาทราบ เพื่อเตรียมการจัดซื้อจัดหา/จัดกิจกรรมต่อไป

๓. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนงบประมาณดังกล่าวทั้ง ๔ รายการข้างต้น เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้สถานศึกษาดำเนินการให้เสร็จสิ้นสถานศึกษาได้รับหนังสือเรียน ภายในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ นักเรียนได้รับหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๒

แนวทางการจัดซื้อจัดหา

     หนังสือเรียน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินงบประมาณค่าหนังสือเรียน ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจัดซื้อหนังสือเรียนโดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

     ก. การคัดเลือกหนังสือเรียนครูผู้สอน เป็นผู้เลือกหนังสือเรียน เสนอให้คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการภาคี๔ ฝ่าย (ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียน) ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ครบทั้ง ๘ กลุ่มสาระ โดยให้พิจารณาคัดเลือกหนังสือเรียนให้ตรงตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และมีเนื้อหาสาระตรงตามความต้องการของครูผู้สอนโดยสามารถเลือกจากทุกสำนักพิมพ์ตามรายการในบัญชีหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูได้จากเว็บไซด์ http://210.1.20.39/new2551/node/107 สำหรับหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยให้ใช้แนวทางการเลือกหนังสือตามเอกสารหมายเลข ๒ ในภาคผนวก โดยเลือกหนังสือเรียนที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา และมีผู้ขายไม่ต่ำกว่า ๓ ราย

ข. การจัดซื้อ

     ๑. ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดซื้อโดยถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        ๑.๑ วิธีตกลงราคา ให้คำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา และให้ต่อรองราคาจากผู้ขาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

        ๑.๒ วิธีสอบราคาและวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประกาศกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาหนังสือเรียนเป็นรายวิชาต่อชั้น เพื่อจะได้หนังสือเรียนที่หลากหลายจากทุกสำนักพิมพ์และตรงตามความต้องการที่จะใช้ในการเรียนการสอนของสถานศึกษาและไม่จัดซื้อหนังสือเรียนเป็นชุด

     ๒. ให้สถานศึกษาเตรียมดำเนินการหาผู้ขายไว้ เพื่อให้พร้อมที่จะทำสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับแจ้งอนุมัติการโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา

     ๓. เมื่อได้รับเงินงบประมาณให้ตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับแจ้งการโอนเงิน และจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของธนาคารว่ามีจำนวนเงินที่ถูกต้องตรงกัน

     ๔. ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการในนามของสถานศึกษา ตามจำนวนเงินที่ได้รับ ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

     ๕. เมื่อดำเนินการจัดซื้อหนังสือเรียนเรียบร้อยแล้วให้สถานศึกษาลงบัญชีวัสดุหนังสือเรียน เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ

    ๖. การจัดซื้อควรแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาจากประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการจัดซื้อ(ถ้ามี)และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุอย่างน้อย ๑ คน

     ๗. จัดระบบการยืมหนังสือเรียน ให้แก่นักเรียนทุกคนและสามารถส่งต่อไปยังนักเรียนรุ่นต่อไป

     ๘. การจัดซื้อหนังสือเรียน จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจ สอบได้ และให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ทั้งนี้ได้กำหนดปฏิทินการดำเนินงานมาให้ด้วยแล้ว

     ๙. เงินเหลือจากการดำเนินการจัดซื้อ สามารถนำไปใช้จ่ายในรายการโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันของภาคี ๔ ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

เครื่องแบบนักเรียน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินงบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นเงินงบอุดหนุนทั่วไป เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาจ่ายเงินสดให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อไปจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียนคนละ ๒ ชุด  ในกรณีต้องใช้เครื่องแบบนักเรียนที่แตกต่างไปจากเครื่องแบบปกติและราคาสูงกว่าวงเงินที่ได้รับ อาจจัดซื้อได้เพียง ๑ ชุด และหากมีเครื่องแบบนักเรียนปกติเพียงพอแล้ว อาจนำเงินที่ได้รับไปจัดซื้อเข็มขัด รองเท้าถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ชุดกีฬาได้ โดยดำเนินการตาม

ขั้นตอน ดังนี้

๑. เมื่อได้รับเงินงบประมาณให้ตรวจสอบ จำนวนเงินที่ได้รับแจ้งการโอนเงิน และจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของธนาคารว่ามีจำนวนเงินที่ถูกต้องตรงกัน

๒. ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการ ในนามของสถานศึกษา ตามจำนวนเงินที่ได้รับ ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

๓. แต่งตั้งผู้จ่ายเงินอย่างน้อย ๒ คน เพื่อร่วมกันจ่ายเงินให้กับนักเรียน

๔. จ่ายเงินให้นักเรียน โดยลงลายมือชื่อรับเงิน กรณีนักเรียนไม่สามารถลงลายมือชื่อรับเงินได้ ให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อรับเงินแทนเพื่อไว้เป็นหลักฐานการจ่าย ตามตัวอย่างเอกสารหมายเลข ๑ ในภาคผนวก

๕. แจ้งให้นักเรียน ผู้ปกครอง เลือกซื้อเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความต้องการ และให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน

๖. ติดตามใบเสร็จรับเงินจากนักเรียน/ผู้ปกครอง

๗. ดูแลให้นักเรียนมีเครื่องแบบนักเรียนจริง

๘. สถานศึกษาตรวจสอบ หากพบว่านักเรียนไม่มีเครื่องแบบนักเรียน โดยที่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ผู้ปกครองจะต้องคืนเงินให้กับทางราชการ

๙. เงินค่าเครื่องแบบนักเรียนที่เหลือจากการดำเนินการแล้วสามารถนำไปใช้จ่ายในรายการโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันของภาคี ๔ ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

อุปกรณ์การเรียน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินงบประมาณค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นเงินงบอุดหนุนทั่วไป เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาจ่ายเงินสดให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อนำไปเลือกซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนได้ตามความต้องการให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น ดังนี้

๑. ระดับก่อนประถมศึกษา เช่น กระดาษ สีเทียน ดินน้ำมันไร้สารพิษ เป็นต้น

๒. ระดับประถมศึกษา เช่น แบบฝึกหัด สมุด ดินสอ ยางลบ  ปากกา ไม้บรรทัด ไม้โปรแทรกเตอร์ วัสดุฝึก ICT เป็นต้น

๓. ระดับมัธยมศึกษา เช่น สมุด ยางลบ ปากกา ดินสอไม้บรรทัด ไม้โปรแทรกเตอร์ เครื่องมือเรขาคณิต วัสดุฝึก ICT เป็นต้น

     วิธีปฏิบัติในการจ่ายเงิน การควบคุม ติดตาม และตรวจสอบให้ปฏิบัติเหมือนกับการจ่ายเงินค่าเครื่องแบบนักเรียน

กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะโอนเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินงบอุดหนุนทั่วไป เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน ดังต่อไปนี้

๑. กิจกรรมวิชาการ ปีละ ๑ ครั้ง

๒. กิจกรรมคุณธรรม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด ปีละ ๑ ครั้ง

๓. กิจกรรมการทัศนศึกษา ปีละ ๑ ครั้ง

๔. การให้บริการสารสนเทศ/ICT ปีละ ๔๐ ชั่วโมง/คน  โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

     ๑. เมื่อได้รับเงินงบประมาณให้ตรวจสอบ จำนวนเงินที่ได้รับแจ้งการโอนเงิน และจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของธนาคารว่ามีจำนวนเงินที่ถูกต้องตรงกัน

     ๒. ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการ ในนามของสถานศึกษา ตามจำนวนเงินที่ได้รับ ส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

     ๓. กำหนดกิจกรรมที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการภาคี ๔ ฝ่าย

     ๔. การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ต้องดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน

     ๕. เงินที่เหลือจากการดำเนินการแล้ว สามารถนำไปใช้จ่ายในรายการโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันของภาคี ๔ ฝ่ายและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

การติดตาม ควบคุม และกำกับ

๑. พัฒนาระบบการควบคุมภายในโรงเรียนโดยให้ภาคี ๔ ฝ่ายประกอบด้วย ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนกรรมการนักเรียน ถ้าเป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก (มีนักเรียนน้อยกว่า๓๐๐ คน) ให้มีได้ไม่น้อยกว่าฝ่ายละ ๑ คน สำหรับสถานศึกษาขนาดใหญ่(มีนักเรียน ๓๐๑ คนขึ้นไป ให้มีได้ไม่น้อยกว่าฝ่ายละ ๒ คน โดยการเสนอชื่อของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ ดูแล สนับสนุนและแก้ปัญหา

๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานภายในเขตพื้นที่การศึกษา

๓. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดตั้งคณะกรรมการติดตามขั้นตอนการบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ปฏิทินการดำเนินงาน

     เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดปฏิทินการดำเนินงาน ดังนี้

๑. สำรวจจำนวนนักเรียน วันที่ ๒๐-๓๑ ม.ค. ๒๕๕๒

๒. เชิญสำนักพิมพ์หารือ/แจ้งแนวทางการจัดซื้อ วันที่ ๑๒-๑๖ ก.พ. ๒๕๕๒

๓. กำหนดแนวทางการจัดซื้อ วันที่ ๑๖-๒๐ ก.พ. ๒๕๕๒

๔. ชี้แจงผู้ปกครอง ปชส.ผ่านสื่อมวลชน วันที่ ๒๕-๒๘ ก.พ. ๒๕๕๒

๕. แจ้งกรอบวงเงินงบประมาณแก่ สพท./สถานศึกษา วันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๒

๖. ชี้แจง ผอ.สพท./สถานศึกษา วันที่ ๒๓-๒๘ ก.พ. ๒๕๕๒

๗. แจ้งเพื่อสละสิทธิ์ (เครื่องแบบ/อุปกรณ์) วันที่ ๒๐ ก.พ.-๖ มี.ค. ๒๕๕๒

๘. แจ้งรายการจัดซื้อ/แนวทางการจัดซื้อ วันที่ ๒๓-๒๔ ก.พ. ๒๕๕๒

๙. สถานศึกษารายงานจำนวนผู้ขอสละสิทธิ์ วันที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๒  (เครื่องแบบนักเรียน/อุปกรณ์)

๑๐. สพฐ.โอนเงินให้โรงเรียน วันที่ ๖-๑๓ มี.ค. ๒๕๕๒

๑๑. สถานศึกษาดำเนินการจัดซื้อ วันที่ ๖-๓๑ มี.ค. ๒๕๕๒

๑๒. สถานศึกษาทำสัญญาจัดซื้อ ภายในวันที่ ๖ เม.ย. ๒๕๕๒

๑๓. ส่งของ/ตรวจรับ วันที่ ๓๐ เม.ย. ๒๕๕๒

๑๔. จัดหนังสือให้ผู้เรียน ภายในวันที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๕๒

     หมายเหตุ กำหนดการนี้ สพท. และสถานศึกษาอาจปรับได้ตามความเหมาะสมแต่ทั้งนี้ต้องให้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑. นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการสนับสนุนรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนเครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

๒. นักเรียนมีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียนครบทุกคน

๓. สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๔. ผู้ปกครองนักเรียนได้รับการบรรเทาภาระค่าครองชีพเนื่องจากลดค่าใช้จ่ายในเรื่องหนังสือแบบเรียน อุปกรณ์การเรียนเครื่องแบบนักเรียน กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในเรื่องอื่น ๆ ได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

อ้างอิงจาก  :  แหล่งที่มา

http://thainews.prd.go.th/small_head/ourthaigov/pic/free.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 458771เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท