เครื่องมือใหม่ในการจัดการคุณภาพ


เครื่องมือใหม่ในการจัดการคุณภาพ

   เครื่องมือใหม่ในการจัดการคุณภาพ 

 1. เทคนิคบัตรความคิด
          เป็นเครื่องมือช่วยก่อให้เกิด "ความคิด" โดยให้สมาชิกแต่ละคนเขียน
"ความคิด" ของตนเองใส่ลงในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ได้อย่างไม่จำกัด
ทำให้แต่ละคนสามารถแสดง "ความคิด" ออกมาได้เป็นจำนวนมาก อย่างอิสระ ไม่มีแรงกดดันความเกรงใจ หรือ การอภิปรายโต้แย้ง มาเป็นอุปสรรคขวางกั้นกระบวนการก่อเกิด "ความคิด"และ ยังช่วยให้สามารถรวบรวม "ความคิด" อันหลากหลายของสมาชิกทุก ๆ คนที่เขียนอยู่ในบัตรแล้ว มาเรียบเรียงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ เช่น แผนผังกลุ่มเชื่อมโยง แผนผังความสัมพันธ์แผนผังต้นไม้ เป็นต้น

ประโยชน์ของเทคนิคบัตรความคิด
     วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล และคณะ (2543 : 40) ได้สรุปประโยชน์ของเทคนิคบัตรความคิดไว้ดังนี้

1. ช่วยให้สมาชิกทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาได้โดยอิสระโดยผ่านการเขียนใส่ "บัตรความคิด"
2. ช่วยก่อให้เกิดความคิดเห็นเป็นจำนวนมากได้ภายในเวลาอันสั้น เนื่องจากทุก ๆ คน สามารถคิดและเขียนใส่บัตรได้พร้อม ๆ กัน ไม่ต้องรอฟังผู้อื่นพูดจนจบก่อนแล้วค่อยพูดทีละคนเหมือนการประชุมทั่วไป
3. ช่วยให้สมาชิกแต่ละคนมองเห็นประเด็นความคิดที่ได้รับการเสนอขึ้นมากจากหลาย ๆ คนจากมุมมองต่าง ๆ อย่างรอบด้าน มองเห็นประเด็นความคิดอื่น ๆ นอกเหนือจากความคิดของตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจหัวข้อเรื่องที่กำลังระดมสมองได้ละเอียดลึกซึ้งและรอบด้านยิ่งขึ้น
4. อาจก่อให้เกิดความคิดที่แปลกใหม่และแหวกแนวได้
5. สามารถนำความคิดที่อยู่ในสมองของสมาชิกทุกคนมารวมกันได้ ทำให้สมาชิทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของความคิดกับผู้อื่น
6. เป็นพื้นฐานในการสร้างเครื่องมือบริหารคุณภาพอื่น ๆ

วิธีการสร้าง "บัตรความคิด"

1. กำหนดหัวข้อเรื่องที่ต้องการจะระดมสมอง เช่น จะเพิ่มยอดขายสินค้า A ได้อย่างไร, อยาก ได้หัวหน้าเป็นคนอย่างไร, ปัญหาในสถานที่ทำงานของเรามีอะไรบ้าง, คุณภาพชีวิตในสถานที่ทำงานของเราประกอบด้วยอะไรบ้าง, ข้อร้องเรียนของลูกค้าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง เป็นต้น
2. สมาชิกแต่ละคนเขียนความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องนั้น ใส่กระดาษชิ้นเล็ก ๆที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า (เรียกว่า "บัตรความคิด") 1 ความคิดต่อบัตร 1 แผ่น
3. นำ "บัตรความคิด" ของทุก ๆ คนมารวมกัน คัดใบที่มีข้อความหรือความหมายซ้ำกันทิ้งให้เหลือเพียงใบเดียวต่อ 1 ความคิด ในกรณีที่ข้อความนั้นมีความหมายกำกวมให้เขียนใหม่ทดแทนด้วยข้อความที่มีความหมายรัดกุม
4. จัดเรียง "บัตรความคิด" เหล่านั้นให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น ใบรายการตรวจสอบหรือผังก้างปลา หรือแผนผังความใกล้ชิด แผนผังความสัมพันธ์ แผนผังต้นไม้อนึ่ง ในกรณีที่ต้องการระดมสมองด้วยตนเองเพียงคนเดียว ก็สามารถเขียน "บัตรความคิด" ใส่กล่องเก็บสะสมไว้จำนวนมาก ๆ ก็สามารถทำได้

สรุปเทคนิคบัตรความคิด

1. เทคนิคบัตรความคิด เป็นเครื่องมือช่วยก่อให้เกิด "ความคิด"
2. ทำให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดอย่างอิสระ
3. สามารถรวบรวม "ความคิด" อันหลากหลายของสมาชิกทุก ๆ คน

สรุปประโยชน์ของบัตรความคิด

1. จัดระเบียบข้อมูลที่เป็นคำพูด
2. ช่วยให้สมาชิกทุกคนสามารถแสดงความคิดของตนได้โดยอิสระ
3. ช่วยก่อให้เกิดความคิดเห็นเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันสั้น
4. ช่วยให้สมาชิกแต่ละคนมองเห็นประเด็นความคิดอื่น ๆ นอกเหนือจากความคิดของตน
5. อาจก่อให้เกิดความคิดที่แปลกใหม่
6. สามารถนำความคิดของสมาชิกทุกคนมารวมกันได้
7. เป็นพื้นฐานในการสร้างเครื่องมือบริหารคุณภาพอื่น ๆ


สรุปวิธีสร้างบัตรความคิด

1. กำหนดหัวเรื่องที่ต้องการจะระดมสมอง
2. สมาชิกแต่ละคนเขียนความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับหัวเรื่องนั้น 1 ความคิดต่อ 1 บัตร
3. นำบัตรความคิดของทุก ๆ คนมารวมกัน คัดใบที่มีข้อความหรือความหมายซ้ำกันทิ้ง ให้เหลือเพียงใบเดียวต่อ 1 ความคิด
4. จัดเรียงบัตรความคิดเหล่านั้นให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการได้

รายละเอียดเครื่องมือใหม่ 7 แบบ

2. แผนผังกลุ่มเชื่อมโยง (Affinity Diagrams)
          แผนผังกลุ่มเชื่อมโยง เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยแก้ไขความสับสนและการนำปัญหามาสร้างเป็นภาพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหา สาเหตุ วิธีการ มาตรการ แนวทาง กลยุทธ์ แผนภูมินี้ทำได้โดยการรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหลาย ความเห็น และความคิดเห็นในรูปแบบของข้อมูลที่เป็นคำพูด และสังเคราะห์เข้าด้วยกันเป็นแผนภูมิเดียวบนฐานของการเชื่อมโยงตามธรรมชาติ

ข้อดีของแผนผังกลุ่มเชื่อมโยง

ข้อดีหลักของแผนภูมิกลุ่มเชื่อมโยง มีดังนี้
1. ทำให้สามารถขุดปัญหาขึ้นมากลั่นกรองข้อมูลที่เป็นคำพูดจากสถานการณ์อันยุ่งเหยิงและจัดแยกออกเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ
2. ช่วยทำให้เกิดความคิดแหวกแนว (Breakthrough) และกระตุ้นให้เกิดความคิดเห็นใหม่ ๆ
3. เปิดทางให้ปัจจัยสำคัญ (Eessence) ของปัญหาถูกเจาะ (Pin) ได้อย่างแม่นยำ และแน่ใจได้ว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องสังเกตเห็นปัญหาอย่างชัดเจน
4. โดยการรวบรวมความเห็นของสมาชิกกลุ่มทุกคนเข้าด้วยกัน แผนภูมินี้จะช่วยโอบอุ้มวิญญาณแห่งกลุ่ม (Tram Spirit) ยกระดับการรับรู้ของทุกคนและกระตุ้นกลุ่มให้ลงมือทำ

ประโยชน์ของแผนภูมิกลุ่มเชื่อมโยง

1. ช่วยรวบรวมความคิดเห็นอันหลากหลายของสมาชิกทุกคนในกลุ่มเข้าด้วยกันเป็นหมวดหมู่ทำให้มองเห็นภาพรวมและความใกล้ชิดกันของความคิดต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน
2. ใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสร้างต้นไม้


วิธีการสร้างแผนผังกลุ่มเชื่อมโยง

1. กำหนดหัวข้อเรื่องแล้วสร้าง "บัตรความคิด" ให้ได้จำนวนมากที่สุด
2. จัดเรียง "บัตรความคิด" ที่มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือใกล้เคียงกันให้อยู่ใกล้กันเป็นกลุ่มหมวด หมู่
3. เขียน "บัตรความคิด" เพิ่มเติมเพื่อให้เป็นตัวแทนชื่อของกลุ่มความคิดแต่ละกลุ่มในข้อ 2เช่น กรณีระดมสมองเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับ ลักษณะของข้อร้องเรียนของลูกค้า อาจมีกลุ่มของข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับ คุณลักษณะ, เกี่ยวกับ การส่งมอบ, เกี่ยวกับ การบริหาร หลังขาย เป็นต้น
4. ขีดเส้นล้อมรอบ กลุ่ม หมวด หมู่ ของ "บัตรความคิด" ข้างต้น

สรุปแผนผังกลุ่มเชื่อมโยง

1. แผนผังกลุ่มเชื่อมโยง เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลสูง สำหรับช่วยแก้ไขความสับสนและนำมาสร้างเป็นภาพที่ชัดเจน
2. แผนผังกลุ่มเชื่อมโยง เป็นทางที่จะจัดวางและจัดโครงสร้างปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ที่จุกจิก ตัดสินไม่ได้

สรุปประโยชน์ของแผนผังกลุ่มเชื่อมโยง

1. ช่วยรวบรวมความคิดเห็นอันหลากหลายของสมาชิกทุกคนในกลุ่มด้วยกัน
2. ใช้เป็นขั้นตอนในการสร้างผังต้นไม้

สรุปวิธีการสร้างผังกลุ่มเชื่อมโยง

1. กำหนดหัวเรื่องและสร้างบัตรความคิดให้ได้จำนวนมากที่สุด
2. จัดเรียงบัตรความคิดที่คล้ายคลึงกันให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน
3. เขียนบัตรความคิดเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นตัวแทนชื่อของกลุ่มความคิดแต่ละกลุ่มในข้อ 2
4. ขีดเส้นล้อมรอบในข้อ 3

3. แผนผังความสัมพันธ์ (Relations Diagrams)

          แผนผังความสัมพันธ์ เป็นที่รู้จักกันในนามของแผนผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interrelationship Diagrams) เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขเรื่องที่ยุ่งเหยิงและยากโดยการคลี่คลายการเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล (Logical Cennections) ระหว่างเหตุและผลซึ่งเกี่ยวข้องกัน(หรือวัตถุประสงค์และ
กลยุทธ์ที่จะบรรลุความสำเร็จในเรื่องนี้) เมื่อประยุคใช้เทคนิคนี้กลุ่มจะสร้างและทบทวนแผนผังนี้ซ้ำ ๆหลายครั้งแล้วค่อย ๆ สร้างความเห็นพ้องต้องกัน เทคนิคนี้มีประโยชน์ในการเปลี่ยนความคิดอ่านของคนโดยจับประเด็นความยุ่งยากของปัญหา และเปิดทางไปสู่การแก้ไข
          รูปแบบของแผนผังความสัมพันธ์ มี 4 แบบ มีชื่อเรียกตามรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ แบบรวมศูนย์ (Contralized) แบบมีทิศทาง (Directional) แบบแสดงความสัมพันธ์ (Relational) และแบบตามการประยุกต์ใช้ (Applied)
          แผนผังความสัมพันธ์ มีลักษณะคล้าย "ผังก้างปลา" หลาย ๆ ตัวที่นำหัวและก้างปลามาต่อ ๆ กัน
ทำให้สามารถวิเคราะห์หลาย ๆ ปัญหากับหลาย ๆ สาเหตุพร้อมกันได้ แต่มีข้อจำกัดว่า "ผังก้างปลา" ในด้านการวิเคราะห์เจาะลึกลงถึงรายละเอียดในระดับปฏิบัติการ จึงเหมาะสำหรับพนักงานระดับผู้บริหารใช้
ในการวิเคราะห์ปัญหาเชิงภาพรวมขององค์การหรือของหน่วยงานมากกว่าการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาในระดับพื้นปฏิบัติการ

ข้อดีของแผนผังความสัมพันธ์

ข้อดีหลักของแผนผังความสัมพันธ์มีดังต่อไปนี้
1. แผนผังความสัมพันธ์ช่วยทำให้ปัญหาที่มีความสัมพันธ์ทางเหตุและผลหลาย ๆ แขนง ได้รับการแยกออกมาอย่างมีเหตุผล แผนผังนี้มีประโยชน์ในขั้นการวางแผนเพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างในสถานการณ์โดยรวม
2. แผนผังนี้ช่วยทำให้เกิดความคิดเห็นที่ตรงกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มง่ายขึ้น
3. แผนผังนี้ไม่ผูกติดกับรูปแบบใดโดยเฉพาะ จึงสามารถช่วยเปลี่ยนและพัฒนาการนึกคิดของผู้คน
4. แผนผังนี้ช่วยทำให้สามารถบ่งชี้ลำดับความสำคัญได้อย่างแม่นยำ และยังช่วยทำให้ปัญหาเป็นที่ประจักษ์ยอมรับ โดยทำให้ความสัมพันธ์ในกลุ่มต้นเหตุของปัญหาชัดเจนขึ้น


ประโยชน์ของแผนผังความสัมพันธ์

1. ทำให้เห็นภาพความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างหลาย ๆ ปัญหากับหลาย ๆ สาเหตุที่อยู่ในระบบใหญ่
2. ช่วยชี้ให้เห็นประเด็นที่เป็นปมหลักของปัญหาและสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของเรื่องราวที่กำลังระดมสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ทำให้สามารถเลือกประเด็นปัญหาหรือสาเหตุที่จะนำไปแก้ไขปรับปรุงตามลำดับก่อนหลังได้อย่างเหมาะสม

วิธีการสร้างแผนผังความสัมพันธ์

1. กำหนดหัวข้อปัญหาที่ต้องการวิเคราะห์ เช่น ทำไมพนักงานขาดงานบ่อย, ทำไมสายการผลิตA ทำงานไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย, ทำไมพนักงานขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน, ในบริษัทของเรามีปัญหาอะไรบ้าง เป็นต้น
2. คิดค้นหาสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดโดยใช้เทคนิค "บัตรความคิด"
3. นำ "บัตรความคิด" ที่เป็น "สาเหตุ" และ "สาเหตุของสาเหตุ" มาเรียบเรียงพร้อมโยงความ สัมพันธ์กันด้วยเส้นลูกศร (–>) ลากจาก "เหตุ" ไปหา "ผล" และอาจตั้งคำถาม "ทำไม" ในการหาสาเหตุ และเขียน "บัตรความคิด" เพิ่มเติมลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดความคิดเห็น

สรุปแผนผังความสัมพันธ์ (Relations Diagrams)

1. แผนผังความสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขเรื่องที่ยุ่งเหยิงและยาก โดยการคลี่คลายการเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล (Logical Connections) ระหว่างเหตุและผลที่เกี่ยวข้องกัน
2. รูปแบบของแผนผังความสัมพันธ์มี 4 แบบ ได้แก่
     2.1 แบบรวมศูนย์ (Contralized)
     2.2 แบบมีทิศทาง (Direction)
     2.3 แบบแสดงความสัมพันธ์ (Relational) และ
     2.4 แบบตามการประยุกต์ (Applied)

4. แผนผังต้นไม้ (Tree Diagrams)

      แผนผังต้นไม้ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อแผนผังระบบ (Systematic Diagrams) หรือ Dendrograms เป็นเครื่องมือสำหรับเรียบเรียงความคิด (ที่อยู่ในรูปของ "บัตรความคิด") คือการประยุกต์วิธีการที่แรกเริ่ม พัฒนาขึ้นสำหรับการวิเคราะห์หน้าที่งานในวิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) วิธีนี้เริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์ (เช่น เป้า (Target) เป้าหมาย (Goal) หรือผลงาน (Result)) และดำเนินการพัฒนากลยุทธ์สืบ
ต่อมาเรื่อย ๆ เพื่อการบรรลุผลสำเร็จ โดยนำมาจัดเรียงให้มีรูปร่างลักษณะคล้ายต้นไม้ที่มี "บัตรความคิด"เป็น กิ่ง ก้าน สาขา ดอก ใบ ทำให้มองเห็นภาพแผนผังระบบที่เป็นระบบหลาย ๆ ความคิดเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

ข้อดีของแผนผังต้นไม้

ข้อดีหลักของแผนผังต้นไม้ มีดังต่อไปนี้
1. แผนผังทำให้มีกลยุทธ์สำหรับแก้ปัญหาที่เป็นระบบหรือเป็นตัวกลางในการบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งถูกพัฒนาอย่างมีระบบและมีเหตุผล ทำให้รายการที่สำคัญอันใดอันหนึ่งไม่ตกหล่นไป
2. แผนผังทำให้การตกลงภายในสมาชิกกลุ่มสะดวกขึ้น
3. แผนผังนี้จะบ่งชี้และแสดงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน


วิธีการสร้างแผนผังต้นไม้

สาธิตด้วยกรณีการสังเคราะห์ กลยุทธ์ มาตรการ วิธีการ
1. กำหนดหัวข้อ (เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์) ของการระดมสมอง เช่น "จะเพิ่มยอดขายสินค้าA ได้อย่างไร" เขียนไว้ที่ขอบด้านซ้ายตรงระดับกึ่งกลางของกระดาษรองพื้น ขนาดประมาณ A0
2. ระดมสมองโดยใช้เทคนิค "บัตรความคิด" เพื่อให้ได้ วิธีการ มาตรการ หรือกลยุทธ์ ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ (เพิ่มยอดขาย) ให้ได้จำนวนความคิดให้มากที่สุด
3. รวบรวมหลาย ๆ วิธีการ (ใบ) ที่มีลักษณะร่วมกันให้อยู่ด้วยกัน ถือเป็นหนึ่ง มาตรการ (สาขา)อาจต้องเขียนบัตรขึ้นใหม่เพื่อแสดงชื่อเรียกมาตรการนั้นเพิ่มเติมลงไป
4. รวบรวมหลาย ๆ มาตรการ (สาขา) ที่มีลักษณะร่วมกันให้อยู่ด้วยกัน ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์
(ก้าน) อาจต้องเขียนบัตรขึ้นใหม่เพื่อแสดงชื่อเรียกกลยุทธ์นั้นเพิ่มเติมลงไป
5. รวบรวมหลาย ๆ กลยุทธ์ (ก้าน) ที่มีลักษณะร่วมกันให้อยู่ด้วยกัน ถือเป็นหนึ่ง แนวทาง(กิ่ง) อาจต้องเขียนบัตรขึ้นใหม่เพื่อแสดงชื่อเรียกแนวทางนั้นเพิ่มเติมลงไป
6. จัดเรียงให้มีรูปร่างคล้ายกับต้นไม้ โดยมี เป้าหมาย หรือ วัตถุประสงค์ หรือ ทิศทาง เป็น(ลำต้น)

สรุปแผนผังต้นไม้

1. แผนผังต้นไม้ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อแผนผังระบบ (Systematic Diagrams)
2. แผนผังต้นไม้เป็นเครื่องมือสำหรับเรียบเรียงความคิด เริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์ และดำเนินการพัฒนากลยุทธ์สืบต่อมาเรื่อย ๆ เพื่อการบรรลุผลสำเร็จ

สรุปข้อดีของแผนผังต้นไม้

1. ทำให้มีกลยุทธ์สำหรับแก้ปัญหาที่เป็นระบบ
2. ทำให้การตกลงภายในสมาชิกกลุ่มสะดวกขึ้น
3. แสดงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน

5. แผนผังแมทริกซ์ (Matrix Diagram)

      แผนผังแมทริกซ์ คือเครื่องมือสำหรับการทำปัญหาให้กระจ่างชัดโดยการคิดแบบหลาย ๆ มิติแผนผังแมทริกซ์ประกอบด้วยแถวตั้ง (Columns) และแถวนอน (Row) ซึ่งจุดที่ตัดกัน (Intersection) ใช้พิจารณาเพื่อตัดสินตำแหน่งและลักษณะของปัญหาพร้อมกับแนวความคิดที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหา การค้นพบแนวความคิดที่สำคัญจะพิจารณาจากความสัมพันธ์ซึ่งแสดงโดยช่องของแมทริกซ์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลในการผลักดันกระบวนการแก้ปัญหา (วิฑูรย์ สิมะโชคดี. 2541 : 21)มีรูปแบบของแผนผังแมทริกซ์หลัก ๆ อยู่ 5 แบบ มีชื่อตามรูปร่างของมัน นั่นคือ แมทริกซ์รูปตัว L แมทริกซ์รูปตัว T แมทริกซ์รูปตัว X และแมทริกซ์รูปตัว Y

ข้อดีของแผนผังแมทริกซ์

ข้อดีของแผนผังแมทริกซ์มีดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้สามารถนำข้อมูลจากความคิดเห็นที่มีฐานจากประสบการณ์อย่างกว้างขวาง (นั่นคือข้อมูลที่เป็นคำพูด) ออกมาได้อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ข้อมูลนี้บางครั้งสามารถนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งกว่าข้อมูลที่เป็นตัวเลข
2. ทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่ปัจจัยที่แตกต่างของสถานการณ์กระจ่างชัดเจน และทำให้โครงสร้างของปัญหาโดยรวมปรากฏชัดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด
3. จากการผสมผสานแผนผังที่แตกต่างกัน 2-4 แบบ แผนผังนี้จะช่วยกำหนดตำแหน่งของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น

ประโยชน์ของแผนผังแมทริกซ์

1. ใช้วิเคราะห์และแสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่าง "คุณลักษณะ" ต่าง ๆ ของข้อมูลตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไป
2. เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง โครงสร้างของ ปัญหา ที่ประกอบด้วยหลายคุณลักษณะ (ข้อมูลชุดที่ 1) กับโครงสร้างของ สาเหตุ ที่ประกอบด้วยหลาย ๆ ปัจจัย (ข้อมูลชุดที่ 2) ตลอดจน โครงสร้างของวิธีการและมาตรการ แก้ไขปัญหา (ข้อมูลชุดที่ 3) ให้เห็นเป็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. ในกรณีที่ใช้แผนผังแมทริกซ์ในการวิเคราะห์และประเมินความสามารถแข่งขันของสินค้าและบริการ นิยมเรียกชื่อเฉพาะว่า "บ้านแห่งคุณภาพ (The House of Quality : HOQ)", ในกรณีที่ใช้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "ข้อกำหนดทางเทคนิคของสินค้าและบริการ" กับ "ดัชนีวัดคุณภาพหรือหัวข้อ
ควบคุมภายในกระบวนการ" ของแต่ละขั้นตอนปฏิบัติงาน มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ตารางกระจายหน้าที่ด้านคุณภาพ (Quality Function Deployment : QFD)

วิธีสร้างแผนผังแมทริกซ์

1. เลือกรูปแบบของตารางผูกสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการนำมาใช้งานจากรูปแบบทั้ง
4 เช่น ถ้าต้องการคิดค้นมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เลือกตารางผูกสัมพันธ์รูปตัว L ซึ่งมี 2 แกน ให้"แถวตั้ง" แสดงการแจกแจงคุณลักษณะ (หรือโครงสร้าง) ของค่าใช้จ่าย "แนวนอน" แสดงการแจกแจงของโครงสร้างของมาตรการลดค่าใช้จ่าย ดังภาพ
2. เขียนคุณลักษณะโดยเรียบเรียงให้เป็นโครงสร้างแบบ "ผังต้นไม้" ลงในแกนทั้ง 2
3. ระบุความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่าง ๆ ที่อยู่ใน "แถว" กับที่อยู่ใน "แถวตั้ง" ลงใน"ช่อง" ที่เป็นจุดตัดกันระหว่าง "แถวนอน" และ "แถวตั้ง" นั้น ถ้าเป็นไปได้ให้ระบุ ปริมาณมากน้อยของความสัมพันธ์คู่นั้น เช่น การวางแผนจัดส่งให้ทันเวลา สามารถลดค่าปรับได้เป็นเงิน 3,000 บาท/เดือน หรือระบุระดับความสัมพันธ์มากน้อยเป็น 4 ระดับโดยใช้สัญลักษณ์ ดังนี้

  เกี่ยวข้องกันมาก
  เกี่ยวข้องกันปานกลาง
  เกี่ยวข้องกันน้อย
  (ว่าง) ไม่เกี่ยวข้องกัน

หรือระบุเพียงว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ด้วยสัญลักษณ์ "ก" ก็พอ ทั้งนี้ห้ามมิให้ไม่ระบุความสัมพันธ์กันเลย เพราะเท่ากับไม่ได้สร้าง "แผนผังแมทริกซ์" นั่นเอง

สรุปแผนผังแมทริกซ์

1. แผนผังแมทริกซ์ คือ เครื่องมือสำหรับการทำปัญหาให้กระจ่างชัดโดยคิดแบบหลาย ๆ มิติ
2. รูปแบบของแผนผังแมทริกซ์มี 5 รูปแบบ ได้แก่ แมทริกซ์รูปตัว L แมทริกซ์รูปตัว T แมทริกซ์รูปตัว X และแมทริกซ์รูปตัว Y

6.  แผนผังลูกศร (Arrow Diagrams)
แผนผังลูกศร คือเครื่องมือสำหรับจัดทำกำหนดการที่เหมาะสม และการควบคุมกำหนดการ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (วิฑูรย์ สิมะโชคดี. 2541 : 24)
แผนผังลูกศรเป็นผังกำหนดการประเภทหนึ่งที่ใช้ใน PERT (เทคนิคประเมินและทบทวนโปรแกรม) ที่แสดงกิจกรรมต่าง ๆ ต่อโยงกันด้วย "จุดเชื่อมต่อ (Nodes)" เพื่อแสดงลำดับหรือการควบขนาดของกิจกรรมการทำงานต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คณะจัดทำโครงการและกลุ่มคุณภาพมักจะพบว่าจำเป็นต้องเขียนควบคุมกำหนดการในการแก้ปัญหา เมื่อสมาชิกทุกคนของทีมมาช่วยกันสร้างแผนผังลูกศรโดยใช้บัตรการควบคุมการดำเนินงานจะมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

ข้อดีของแผนผังลูกศร

ข้อดีของแผนผังลูกศรมีดังต่อไปนี้
1. ทำให้ชิ้นงานทั้งหมดมองเห็นได้และสามารถระบุอุปสรรค (Snag) ที่อาจจะมีก่อนที่จะเริ่มทำงาน
2. สามารถเขียนเครือข่ายนำไปสู่การค้นพบการปรับปรุงที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจถูกมองข้ามไป
3. ทำให้ติดตามความก้าวหน้าของงานง่ายขึ้น สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงแผนงานได้ทันที และมุ่งไปสู่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
4. ปรับปรุงการสื่อสารในระหว่างสมาชิกกลุ่ม ส่งเสริมความเข้าใจและเอื้ออำนวยต่อการตกลงกัน PERT : เทคนิคการวางแผนและการกำหนดการ พัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1957 เทคนิคนี้ช่วยทำให้วงจรการพัฒนาขีปนาวุธ Polaris สั้นลงไปสองปี แผนผังลูกศรได้ดัดแปลงมาจากเทคนิคนี้

ประโยชน์ของผังลูกศร

วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล. (2543:57) ได้กล่าวไว้ ดังนี้
1. ใช้วางแผนกิจกรรมและกำหนดตารางเวลาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการหนึ่ง ๆ
2. ใช้ประมาณการจัดกำลังคนและการควบคุมระยะเวลาของโครงการ
3. ใช้ประเมินความเหมาะสมของแผนดำเนินโครงการทั้งด้านกำหนดเวลาและกำลังคน
4. ช่วยสร้างความเข้าใจภาพรวมของแผนดำเนินโครงการให้เกิดแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ง่าย
5. ช่วยให้การตรวจติดตามความคืบหน้าของโครงการสะดวกง่ายดายขึ้น และสามารถเปลี่ยนแปลงแผนงานให้เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว

วิธีการสร้างผังลูกศร

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. เขียนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการรวมทั้งเวลาที่ต้องใช้สำหรับแต่ละกิจกรรมลงในแผ่นกระดาษ กิจกรรมละ 1 แผ่น
3. จัดเรียงกิจกรรมตาม (แผ่นกระดาษ) ตามลำดับที่จะต้องทำ อย่างสมเหตุสมผล พยายามโยกย้ายให้กิจกรรมที่สามารถทำพร้อมกันไปได้มาอยู่ควบขนานกัน
4. ลากเส้น "ลูกศร" และกำหนด "จุดเชื่อมต่อ" กิจกรรมต่าง ๆ
5. ทบทวนและประเมินค่า แผนที่วางไว้นั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยใช้ ทรัพยากร เวลา แรงงาน และงบประมาณน้อยที่สุดหรือไม่

สรุปแผนผังลูกศร

1. แผนผังลูกศร เป็นเครื่องมือสำหรับจัดทำกำหนดการที่เหมาะสม และการควบคุมกำหนดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2. แผนผังลูกศรเป็นผังกำหนดการประเภทหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากเทคนิค PERT

7.  แผนภูมิขั้นตอนการตัดสินใจ (Process Decision Program Charts : PDPC)

          แผนภูมิขั้นตอนการตัดสินใจ เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการทางออกที่เป็นไปได้หลาย ๆ แบบในการวางแผนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นงานประจำและงานใหม่ ด้วยการเขียนแผนภูมิแสดงลำดับขั้นตอนการดำเนินงานและตระเตรียมทางเลือกต่าง ๆ ไว้อย่างรัดกุม เพื่อช่วยทำให้ทีมงานและ
ผู้เกี่ยวข้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองว่ามีความสัมพันธ์กับงานของผู้อื่นอย่างไร เช่น กระบวนงานถัดไปคือใคร งานที่ทำในขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อขั้นตอนงานถัดไปอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาและหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการวางแผนที่ไม่รัดกุมพอ และแผนภูมินี้ใช้วางแผนสำหรับกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้แผนภูมินี้ยังถูกนำมาใช้เพื่อนำกิจกรรมเข้าสู่แนวทางให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนำเหตุการณ์ไปสู่ทิศทางที่ต้องการได้ในทุก ๆ ครั้ง ที่ปัญหาที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ผลักดันให้กระบวนการออกนอกทางที่กำหนดไว้
          รูปแบบของ PDPC มี 2 แบบ ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างที่ตรงข้ามกันคือ แบบก้าวหน้า (Progressive) (รู้จักกันในชื่อรูปแบบที่ I ด้วย) และแบบเชื่อมโยงย้อนกลับ (Reverse-Linked Type) (รู้จักกันในชื่อรูปแบบที่ II)

ข้อดีของ PDPC

ข้อดีของ PDPC สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ประสานการพยากรณ์และช่วยให้สามารถนำประสบการณ์ในอดีตมาใช้ในการคาดการณ์กรณีฉุกเฉินที่ซับซ้อนต่าง ๆ และรู้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า
2. ช่วยให้สามารถชี้จุดที่เป็นปัญหา และยืนยันส่วนที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกได้
3. จะแสดงให้เห็นวิธีที่จะนำเหตุการณ์เหล่านี้ไปสู่ข้อสรุปที่ประสบผลสำเร็จ แผนภูมิจะช่วย ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจความประสงค์ของผู้ทำการตัดสินใจ
4. เป็นเครื่องมือในการวางแผนที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งยอมให้มีการดัดแปลงแผนได้อย่างง่ายดายโดยการรวบความเห็นของทุก ๆ คน
5. แผนภูมิเข้าใจได้ง่าย และส่งเสริมความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างกัน  วิธี PDPC ถูกพัฒนาขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) เพื่อเป็นเทคนิคในการแก้ ปัญหาและ การตัดสินใจโดยศาสตราจารย์ เจ คอนโด แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อครั้งที่มหาวิทยาลัยเผชิญกับการปฏิวัติในวิทยาลัย (Campus Revolt)


สรุปแผนภูมิขั้นตอนการตัดสินใจ

1. แผนภูมิขั้นตอนการตัดสินใจ เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการทางออกที่เป็นไปได้หลาย ๆ แบบ
2. รูปแบบของแผนภูมิขั้นตอนการตัดสินใจมี 2 แบบ ได้แก่
     2.1 แบบก้าวหน้า (Progressive)
     2.2 แบบเชื่อมโยงย้อนกลับ (Reverse-Linked Type)

หมายเลขบันทึก: 458368เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2011 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท