ธรรม...ของผู้นำ


ในการยุทธกรรมใดๆ ซุนวู ให้แม่ทัพนายกองวินิจฉัยองค์ประกอบเบื้องต้น 5 ประการ และสิ่งแรกสุดใน 5 ประการนี้คือ “ธรรม” ของตนเองและของกองทัพ (อีกสี่ประการได้แก่ ดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ ขุนพล และระเบียบวินัย)

Biz Intelligence วันนี้ ตั้งใจจะกล่าวถึง “ธรรมะ” โดยเฉพาะธรรมะของผู้นำ ที่พึงมี แต่ขออ้างทฤษฎีฝรั่งเป็นเค้าโครง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเห็นว่าความคิดฝรั่งมังค่าดีกว่าความคิดไทย หรือเห็นว่าตะวันตกยิ่งใหญ่กว่าตะวันออก แต่มองว่าอะไรเป็นองค์ความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือกำเนิดมาจากไหน ก็ต้องรับเอามาใช้ประโยชน์ได้

เหมือนกับพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่า ก่อนจะ “รับ” ก็ต้อง “ปรับ เปลี่ยน” ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ผู้นำอหังการขึ้นเรื่อยๆ คงต้องระดมแนวคิดมาใช้ให้หลากหลาย...จึงจะทลายกำแพงแห่งอวิชาได้

Transaction Costs Theory: ทฤษฎีที่ว่าด้วย “สันดาน” มนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจ ต่างต้องเคยได้อ่านทฤษฎี Transaction Costs กันมาแล้วทั้งนั้น และต่างก็รู้ว่า ทฤษฎีนี้กล่าวถึงต้นทุน ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงินอันเกิดจากพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์สองประการคือ “ความโง่” และ “ความฉ้อ” ในภาษาเดิมใช้คำว่า “Bounded rationality” และ “Opportunism”

พฤติกรรมทั้งสองอย่างนี้ทำให้ต้องมีการวางระบบ โครงสร้าง ร่างสัญญา และกรอบการทำงาน เพื่อลดปัญหาอันเกิดจากทั้งความโง่ และความฉ้อ และต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงินนี้เองเรียกว่า Transaction Costs และยิ่งผู้คนที่มาร่วมกันทำธุรกรรมมีความโง่ และความฉ้อ มากเท่าใด Transaction Costs ก็จะมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการร่างกฎระเบียบยิบย่อย ร่างสัญญาฉบับแล้วฉบับเล่า ต้องจ้างนักกฎหมายมาร่างสัญญา ตรวจสัญญา ตีความความสัญญา ทำอะไรเป็นระมัดระวังไปหมด แทนที่จะเอาเงินทุน แรงงาน พลังสมอง ไปคิดสร้างสรรค์งาน ทำงานให้มีประสิทธิภาพ กลับต้องมาเสียไปกับเรื่องเหล่านี้

ทฤษฎี Transaction ไม่ได้บอกไว้ว่าความโง่ กับความฉ้อ อันไหนที่ทำให้เกิด Transaction Costs ได้มากกว่ากัน

แต่หากจะคิดกันคร่าวๆ โดยไม่ต้องตั้งสมการ เก็บข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ผล ก็พอจะบอกได้ว่า ความฉ้อฉลนั้นร้ายกาจกว่าหลายเท่า เพราะต้องเกิดจากการตกผลึกร่วมกันระหว่างความฉลาดเลิศกับความอธรรม ส่วนความโง่นั้น นับวันจะลดลงเพราะการศึกษาดีขึ้น ระบบข้อมูลข่าวสารพัฒนาแบบก้าวกระโดด สังคมกำลังกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้....ดีไม่ดี ความโง่ที่ลดลง อาจทำให้ความฉ้อ เพิ่มมากขึ้น เสียด้วยซ้ำ

ความ “ฉ้อ” ของผู้นำ

ความฉ้อ เกิดขึ้นได้หลายระดับ แต่ที่จะเลวร้ายที่สุดคือความฉ้อที่เกิดขึ้นในระดับ “ผู้นำ” ทั้งนี้ได้เคยกล่าวไว้ในบทความหนึ่งนานแล้วว่า “ผู้นำคือจิตวิญญาณขององค์กร” (Leader is the spirit of the organization) ผู้นำเป็นอย่างไร องค์กรก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างนั้น เพราะเอาอย่างกัน เออ-ออ ไปตามกัน

ในสภาวะที่ผู้นำมีแนวโน้มที่จะ “ฉ้อ” ก็จะทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบขององค์กร เพื่อดักทางไม่ให้ฉ้อได้ และถ้าสังคมหมดปัญญาที่จะหาคนที่ไม่ฉ้อมาเป็นผู้นำได้ ตราบนั้นก็ต้องมีการปรับกฎระเบียบที่ว่านั้นอยู่เรื่อยๆ และไม่ว่าจะมีกฎระเบียบแบบไหนก็รับรองได้ว่าคนก็ฉ้อได้ทั้งนั้น เพราะได้บอกไว้แล้วว่า จะฉ้อได้ต้องฉลาด

ความเลวร้ายอีกประการหนึ่งที่เกิดจากความฉ้อ คือการทำลายความน่าไว้ใจ (Trust) ทำให้เกิดความคลางแคลงใจทั่วไปในองค์กร ความระแวงซึ่งกันและกัน และความไม่ประสงค์ดีต่อกัน

ในการทำงานของผู้นำ ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจต่างๆ มากมาย ซึ่งการตัดสินใจบางอย่างสามารถอธิบายให้ทราบโดยทั่วกันได้ บางอย่างเป็นความลับ อธิบายไม่ได้...ผู้นำที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ว่าตัดสินใจอย่างไรคนก็ไม่เคลือบแคลง แม้จะไม่ได้รับการอธิบายอย่างครบถ้วน

ตรงกันข้ามกับผู้นำที่ติดภาพความขี้ฉ้อ เมื่อตัดสินใจทำอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้ว คนก็เคลือบแคลง แม้จะอธิบายจนยืดยาว หรือระดมให้ข้อมูลอย่างไร คนก็ยังติดใจสงสัย ทำให้ต้องเสียเวลาตรวจสอบ หรือทำให้ปฏิบัติตามอย่างไม่สบายใจ ซึ่งถือเป็น Transaction Costs อีกอย่างหนึ่ง

ความฉ้อของผู้นำ กับเสถียรภาพขององค์กร

ในสภาวะที่ Transaction Costs ขององค์กรเริ่มสูงขึ้น องค์กรจะอยู่ในสภาวะการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ เพราะต้องเสียเวลาและเสียเงินทองกับการสร้างระบบป้องกันความโง่ และป้องกันความฉ้อ แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น หากแก้ปัญหาที่สำนึกของคนที่จะมาเป็นผู้นำไม่ได้ ระบบดีอย่างไรก็เอาไม่อยู่ คนย่อมหาช่องโหว่ และสร้างช่องโหว่ให้ฉ้อได้อยู่ตลอดเวลา

หากดูจากจำนวนรัฐธรรมนูญที่ประเทศไทยเราฉีกทิ้งกันเป็นว่าเล่น แก้กันครั้งแล้วครั้งเล่า คราวก่อนแก้เพราะการมีรัฐบาลผสมทำให้ทำงานไม่ถนัด ปัดแข้งปัดขากันมาก มาคราวนี้รัฐบาลเสียงแข็งมาก ก็เปิดช่องให้บริหารตามอำเภอใจ ต้องปรับกฎกันใหม่อีก ก็พอจะบอกได้ว่าผู้นำที่เราได้มาเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะปรับอย่างไร และอีกกี่ครั้ง หากธรรมของผู้นำไม่ตั้งอยู่ในความฉ้อ ผู้นำก็จะได้รับความไว้วางใจ Transaction Costs ขององค์กรต่ำ ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น...องค์กรก็จะมีเสถียรภาพ

เพียงเท่านี้ก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่า...ผู้นำที่เรามีอยู่หมดความชอบธรรมที่จะบริหารแล้วหรือยัง

เรื่อง : ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร [email protected]

ขอขอบคุณที่มา : http://www.nationejobs.com/content/manage/concept/template.php?conno=562

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผุ้นำ
หมายเลขบันทึก: 458041เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2011 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท