"สพฐ."รับลูก"วรวัจน์"ผุดหลักสูตรแท่งใหม่


"สพฐ."รับลูก"วรวัจน์"ผุดหลักสูตรแท่งใหม่

  "สพฐ."รับลูก"วรวัจน์"ผุดหลักสูตรแท่งใหม่ เน้นสอนอาชีพในโรงเรียน โดยเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและมีการวางแผนในระดับมหภาค

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้มอบนโยบายองค์กรหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัดให้เน้นการจัดการศึกษาให้มีความเชื่อมโยงกับอาชีพนั้นว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เตรียมดำเนินการการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและสัดส่วนของเวลาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนภาคปฏิบัติเกี่ยวกับวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการให้นักเรียนมีเจตคติเกี่ยวกับวิชาชีพ ซึ่งจะเริ่มส่งเสริมตั้งแต่ระดับประถมศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้มีการจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติเกี่ยวกับวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นให้นักเรียนได้มีเจตคติ และทักษะเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในทุกระดับ โดยในระดับประถมศึกษา จะเน้นให้เด็กได้รับรู้ มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน และแสวงหาความชอบของตนเอง ส่วนระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเน้นการเตรียมความพร้อมสู่การประกอบอาชีพ ทั้งนี้ความเข้มข้นของการส่งเสริมในเรืองดังกล่าวจะมีความเข้มข้นมากที่สุดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะเน้นส่งเสริมทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สพฐ.จะเสนอให้เปิดหลักสูตรแท่งใหม่ที่เป็นการเตรียมตัวเพื่อการมีงานทำ(Career Prep.) โดยจะเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและจะต้องมีการวางแผนในระดับมหภาค ซึ่งต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในศธ.ด้วย เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะต้องมีหน้าที่ในการวิจัยศักยภาพของพื้นที่จังหวัดและลงมาช่วยการจัดหลักสูตรให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสิ่งเหล่านี้จะต้องมีความยึดโยงเชื่อมต่อกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลักสูตรCaree Prep ที่จะใช้นั้นนายวรวัจน์เห็นว่าควรจะต้องส่งเสริมให้เด็กได้ค้นหาตัวเองในเรื่องอาชีพในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ดังนั้นสพฐ.จะใช้หลักสูตรนี้ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งจะปรับเนื้อหา กิจกรรมเข้าไปในโครงสร้างหลักสูตรในปัจจุบันซึ่งอาจจะเป็นวิชาเสริมหรือวิชาเลือก โดยจะต้องทำนำร่องในโรงเรียนทั้ง 3 กลุ่มก่อน

"สำหรับโครงการเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพที่นายวรวัจน์ให้สพฐ.มาดำเนินการพิจารณานั้นจะมีการปรับแนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น โดยจะไม่เป็นรายการที่จัดให้เหมือนกันหมดทุกคนแต่จะให้นักเรียนและผู้ปกครองเลือกรายการที่ต้องการภายใต้เงินอุดหนุนที่จะจัดสรรให้นักเรียนแต่ละคนในอัตราเดียวกัน ทั้งนี้สพฐ.จะสำรวจความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองก่อนจากนั้นจะนำผลการสำรวจมาพิจารณาประกอบร่วมกับข้อมูลในปีที่ผ่านมาว่ารายการใดที่จัดสรรให้นักเรียนแล้วมีประโยชน์และส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนก็จะดำเนินการต่อ แต่หากมีผลน้อยก็จะต้องนำกลับมาทบทวน

 ที่มา สยามรัฐ

หมายเลขบันทึก: 457667เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท