โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์


โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงให้การช่วยเหลือ อุปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์หรือทรงให้คำแนะนำ พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งโรงเรียนรัฐบาล และเอกชน

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ หมายถึงโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ และให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำ จึงเรียกโรงเรียนประเภทนี้ว่า โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชประชาสมาสัย และโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย

  

โรงเรียนจิตรลดา
  โรงเรียนราชวินิต
  โรงเรียนวังไกลกังวล
  โรงเรียนราชประชาสมาสัย
  โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท
  โรงเรียนร่มเกล้า
  โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
  โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน



โรงเรียนจิตรลดา

 โรงเรียนจิตรลดาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียน ดังพระบรมราโชบายที่พระราชทานแก่ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุญยคุปต์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรลดา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ความว่า

 "…ครูทุกคนต้องนึกว่าตนเป็นครู ต้องมีความยุติธรรม ต้องหนักแน่น ขอให้ครูฝึกฝนอบรมเด็กให้เป็นนักเรียนที่ดี มีระเบียบ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้จักทำตนให้ตรงต่อเวลา ฝึกให้มีสมาธิในการงาน รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัวและส่วนรวม รู้จักมีเมตตานึกถึงผู้อื่น รู้จักทำตัวให้เข้ากับส่วนรวม ครูจะต้องไม่ถวายสิทธิพิเศษแด่พระโอรสและพระธิดา…"

 ในตอนต้นได้พิจารณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนชั้นอนุบาลขึ้น ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอุดร บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาได้ทรงเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ อีก ๗ คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดา และพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนจิตรลดา" และได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เปิดสอนนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๐๗ ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา ๒๕๑๑ ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับนักเรียนทั่วไป ตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนแต่ละปีการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ตามพระบรมราโชวาท "ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์"

 นักเรียนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนจิตรลดา ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานอาหารว่างและอาหารกลางวันแก่คณะครูและนักเรียนด้วย ประการสำคัญที่สุด เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมด้านกำลังใจแก่นักเรียนที่ตั้งใจเรียนและมีความพยายาม คือ พระราชทานพระบรมราโชบายแก่โรงเรียนให้จัดรางวัลแก่นักเรียนทุกคนที่สอบได้คะแนนภาคเรียนที่สองสูงกว่าภาคเรียนที่หนึ่ง ๕ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป นอกเหนือจากการพระราชทานรางวัลสำหรับนักเรียนที่เรียนดีเด่นทั่วไป ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงกล่าวไว้ในบทพระอักษรเรื่อง "โรงเรียนจิตรลดา"

 "…พระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนจิตรลดานั้นมีมาก นอกจากจะทรงควบคุมนโยบายในการศึกษาด้วยพระองค์เอง นักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เมื่อก่อนนี้พระราชทานอาหารให้ทุกๆ คนด้วย เมื่อถึงโอกาสสิ้นปีการศึกษาจะเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม ทั้งคะแนนรวมและหมวดวิชาต่างๆ ยังมีรางวัลสำหรับผู้มีคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้มีความพยายาม พระราชทานพระบรมราโชวาทที่เหมาะสมแก่สถานภาพ…"

 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณดูแลโรงเรียนจิตรลดาตามพระราชประสงค์นับตั้งแต่ทรงสำเร็จอุดมศึกษามาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการวางนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนจิตรลดา ก้าวหน้าทัดเทียมโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในด้านวิชาการ ความประพฤติที่ดี ความคิดที่กว้างไกล การมีวินัย ความเสียสละ การรู้จักให้อภัย และภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย ตลอดจนมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 ประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของนักเรียนจิตรลดา โดยยกตัวอย่างบางตอนของคำกราบบังคมทูลถวายบังคมลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เนื่องในวาระสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๑ ความว่า

 "…เมื่อข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นเด็กเล็กได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาศึกษาในโรงเรียนนี้ สิ่งแรกที่กระทบความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างมากก็คือ พระกรุณาธิคุณในการที่ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุกๆ อย่าง ซึ่งรวมกันขึ้นเป็นโรงเรียนที่เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัย ในการสร้างความเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ความเป็นศิษย์ที่ดีของครู-อาจารย์และความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต ในเวลาต่อมาคำว่า "น้ำพระราชทาน ไฟพระราชทาน อาหารพระราชทาน" จึงมีความหมายสำหรับข้าพระพุทธเจ้าตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้…"

 "…ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาของความเป็นนักเรียนจิตรลดา ถึงแม้ว่าจะมีค่ามากเพียงใด ในความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าทุกคนก็ยังรู้สึกว่ามิได้มีค่ามากพอที่จะเปรียบเทียบกับค่าของน้ำพระราชหฤทัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่พระราชทานแก่นักเรียนจิตรลดาทุกคน…"



โรงเรียนราชวินิต

 โรงเรียนราชวินิตจัดตั้งตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงให้สำนักพระราชวังจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทโรงเรียนสหราษฎร์ระดับประถมศึกษา รับบุตรหลานของข้าราชการในราชสำนักโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน เปิดสอนชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ขอครูจากกระทรวงศึกษาธิการมาช่วย ใช้งบประมาณจากเงินสวัสดิการ ของกองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สร้างอาคารเรียน ในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ บริเวณสวนเพาะชำ วังสวนกุหลาบ โดยมีคุณหญิงพวงรัตน วิเวกานนท์ เป็นผู้บริหารคนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ดอกผลเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย ในวโรกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

 "…การศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประถมศึกษาถือว่าอยู่ในชั้นสำคัญ และจำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเล่าเรียนตามหลักสูตรที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยความรู้ความสามารถของครูที่เอาใจใส่ พยายามอบรมบ่มนิสัยให้เด็กมีความรู้ มีศีลธรรม เพื่อให้เป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปภายหน้าด้วย…"

 พระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นการเน้นพระราชประสงค์ในการจัดตั้งโรงเรียน ตลอดจนความหมายของชื่อโรงเรียนที่เป็นนามพระราชทาน "ราชวินิต" อันหมายถึง สถานที่อบรมสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นคนดีแห่งพระบารมีปกเกล้าฯ

 วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนหลังที่ ๓ และพระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เรียนดี ในปีต่อๆ มา ก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์เพื่อทรงประกอบพิธีต่างๆ อาทิ เปิดอาคารเรียน สระว่ายน้ำ ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนงาน "ราชวินิตร่วมใจ"

 ในปีการศึกษา ๒๕๒๐ โรงเรียนราชวินิตได้รับอนุมัติให้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบต้องหาสถานที่ตั้งใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานที่ดินซึ่งเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณราชตฤณมัยสมาคมจำนวน ๖ ไร่เศษ เพื่อสร้างโรงเรียนราชวินิตมัธยมศึกษาขึ้นใหม่ ดังนั้นในปีการศึกษา ๒๕๒๓ จึงได้โอนโรงเรียนราชวินิตระดับมัธยมศึกษามาอยู่ในสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนจึงได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน และอาคารประกอบการเรียนการสอนทางราชการ

 นอกจากนี้ ได้มีโรงเรียนราชวินิตอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแบบสหศึกษา โดยได้มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๓๐ ไร่ น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการสร้างอาคารเรียนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวง ในปี ๒๕๑๓ และได้รับพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว" และโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย



โรงเรียนวังไกลกังวล

โรงเรียนวังไกลกังวล ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล ซึ่งมีอยู่จำนวนมากแต่ไม่มีสถานที่เล่าเรียน มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ได้พระราชอุปการะค่าใช้จ่ายจากเงินพระราชกุศลเป็นรายปี

 โรงเรียนวังไกลวังกล เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กขึ้นไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพิ่มเติมด้วย โรงเรียนวังไกลกังวลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและได้มีการพัฒนาปรัปปรุงมาเป็นลำดับ อาทิ พ.ศ. ๒๔๙๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารที่พักกองรักษาการณ์วังไกลกังวลให้เป็นอาคารเรียนแทนอาคารไม้เก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมาก อาณาบริเวณนี้มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๗ ตารางวา ต่อมาได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการบริหารโรงเรียนวังไกลกังวล จากการบริหารโดยมีครูใหญ่เป็นผู้บริหารด้านวิชาการหัวหน้าแผนกวังไกลกังวล ปัจจุบันเรียกหัวหน้าส่วนวังไกลกังวลเป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการควบคุมดูแลทั่วไป เปลี่ยนมาเป็นการบริหารโดยคณะกรรมการเรียกว่า "กรรมการบริหารโรงเรียนวังไกลกังวล" ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการบริหารโรงเรียน และทางด้านวิชาการข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายบ้านเมืองตลอดจนเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักพระราชวังและของโรงเรียน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นโรงเรียนที่มีสมรรถภาพ สามารถประสิทธิ์ประสาทวิทยาการแก่นักเรียนได้ดีขึ้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อให้การศึกษาอบรมเลี้ยงดูแก่เด็กก่อนวัยเรียน ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนได้ประสานงานกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนสารพัดช่างวังไกลกังวล เพื่อเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น (๒๒๕ ชั่วโมง) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างฝีมือ (ปชม.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (วช.๑ หรือ วช.๒) วิชาที่เปิดสอนจะคำนึงถึงอาชีพของท้องถิ่นเป็นสำคัญ มีจำนวนถึง ๑๗ แผนกวิชา อันเป็นการสนองโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับศิลปาชีพพิเศษด้วย และในขณะเดียวกันนักเรียนของโรงเรียนวังไกลกังวลสามารถใช้ห้องฝึกงานของโรงเรียนสารพัดช่างเป็นที่ฝึกงานในชั่วโมงเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพได้อีกด้วย

 นอกจากนี้ในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการโดยการประสานงานจากนายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังเสนอให้กรมสามัญศึกษาจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อการเสริมสร้าง ยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตของปวงประชาราษฎร์อย่างทั่วถึงตลอดมา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการทำให้นักเรียนในส่วนภูมิภาคหรือชนบทห่างไกล ได้มีโอกาสรับประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานแล้ว ยังจะใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยได้ติดตั้งสถานีส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เพื่อออกอากาศการเรียนการสอนและรายการทางการศึกษา ณ โรงเรียนวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ดำเนินการออกอากาศรายการสอน ระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ตลอดจนรายการทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และติดตั้งสถานีรับสัญญาณในโรงเรียนมัธยมศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๓๘ จำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ โรงเรียน และขยายสถานีรับในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ปีละ ๘๐๐ แห่ง จนครบ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ในสิ้นปี ๒๕๔๔

 โรงเรียนวังไกลกังวลแม้จะมีนักเรียนจำนวนมาก แต่โรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำ รายได้ของโรงเรียนจึงไม่พอกับรายจ่าย ต้องขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ เมื่อแรกตั้งได้รับพระราชทานเงินงบพระราชกุศลปีละ ๓๐๐ บาท ต่อมาได้รับพระราชทานเพิ่มขึ้นตามจำนวนครูและนักเรียนที่ทวีขึ้น ในปัจจุบันโรงเรียนวังไกลกังวล ได้รับพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียน จากงบเงินใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมากกว่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อื่นใดทั้งสิ้น


 

 

 

โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท

 

 

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานโรงเรียนสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารและเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วยแล้ว พระองค์ยังมีพระเมตตาต่อเยาวชน พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมพระราชทานนามว่า "โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนถาวรสำหรับเด็กนักเรียนชาวเขา เป็นโรงเรียนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนภาคเหนือ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ทำให้เยาวชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้หนังสือไทย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมไทย เป็นการสร้างสำนึกของความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๐ โรง ต่อมาเมื่อท้องถิ่นนั้นมีความเจริญขึ้น หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ก็จะโอนให้กับส่วนราชการนั้นๆ รับไปดำเนินการต่อไป ปัจจุบันโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน มีจำนวน ๓ โรง เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ๒ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษาแล้ว ยังมีโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนเหล่านี้ ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา โครงการฝึกอาชีพนักเรียน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและโครงการสหกรณ์ในโรงเรียน ตชด.



โรงเรียนร่มเกล้า

 

 โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก คือ โรงเรียนร่มเกล้า บ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เดิมชื่อโรงเรียนบ้านหนองแคน เปิดทำการสอนครั้งแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพียงชั้นเดียวเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๖ โดยใช้ศาลาวัดบ้านหนองแคนเป็นสถานที่เรียน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะครูและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ๑ หลัง ในที่ดินซึ่งประชาชนได้บริจาคให้จำนวน ๑๐ ไร่ เป็นกระต๊อบยาว มุงด้วยหญ้าแฝก พื้นห้องเป็นดินเหนียวอัด และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๙๒,๐๖๓ บาท ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก ขนาด ๕ ห้องเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน เมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนร่มเกล้า" เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๔

 การก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก พลเอกพิศิษฐ์ เหมะบุตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก และแม่ทัพภาคที่ ๒ ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงเรียนและได้ปฏิบัติงานเสนอพระราชดำริพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเวลากว่า ๒๓ ปี ได้เล่าว่า ตำบลบ้านหนองแคน อำเภอดงหลวง เป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่มีผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาลมารวมกลุ่มกัน ในขณะนั้น ในตำบลหนองแคนนี้มีโรงเรียนตั้งอยู่หลายโรง เช่น โรงเรียนบ้านก้านเหลืองดง โรงเรียนบ้านมะนาว ฯลฯ โรงเรียนบางโรงต้องปิดไป เยาวชนส่วนใหญ่จะถูกชักจูงให้เข้าป่าไป พันเอกอาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ ๒๓ ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแคน เพื่อให้การศึกษาและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนถูกชักจูงเข้าป่าไปด้วยบ้านหนองแคนเป็นทางผ่านที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ใช้ขึ้นลงจากภูเขา (ภูพาน) อันเป็นแหล่งของ ผกค. มายังหมู่บ้านซึ่งชาวไทยภูเขาเผ่ากระโซ่และเผ่าภูไทส่วนใหญ่อาศัยอยู่

 การก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าเป็นไปอย่างยากลำบาก ระหว่างการก่อสร้างได้รับการขัดขวางจาก ผกค. ทำลายทางลำเลียงสิ่งของและเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง และมีการลอบยิงผู้เข้าไปสร้างโรงเรียนเป็นเวลา ๓-๔ เดือน ตลอดการก่อสร้างโรงเรียน ด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โรงเรียนได้ก่อสร้างจนเสร็จ ชาวบ้านได้หันกลับมาให้ความร่วมมือ เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานก่อสร้างโรงเรียน ได้พระราชดำเนินมาเปิดอาคารเรียนในทันทีที่สร้างแล้วเสร็จเพียง ๒ วัน ซึ่งในพื้นที่นั้นนอกจากทหารแล้ว ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปนับเป็นสิบปี

 วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นวันกำหนดพิธีเปิดอาคารเรียนร่มเกล้า ก่อนเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ถึงโรงเรียนร่มเกล้า ยังมีเหตุการณ์ยิงกันเป็นที่หวั่นวิตกแก่ทุกคนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จ โดยมีทหาร ลูกเสือชาวบ้านและประชาชนที่มาร่วมกันรักษาความปลอดภัยหลายพันคน นอกจากพระองค์ได้เสด็จมาเปิดอาคารเรียนแล้วยังได้ทรงเยี่ยมราษฎรและพระราชทานเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของใช้แก่ราษฎร และธงแก่ลูกเสือชาวบ้าน โดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า พระองค์เสด็จไปที่ไหน ความร่มเย็นบังเกิดขึ้นที่นั้น เป็นที่ประจักษ์มานับครั้งไม่ถ้วน

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายที่ล้ำลึก ที่ทรงให้สร้างโรงเรียนในดินแดนผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมือง เพื่อให้ลูกหลานในพื้นที่นั้นได้รับการศึกษา ขณะเดียวกันทรงนำการพัฒนาแบบครบวงจรมาใช้ขจัดความยากไร้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไป โดยมีสายพระเนตรที่ยาวไกลอย่างคาดไม่ถึงที่ทรงนำการศึกษาและการพัฒนามาใช้แทนการต่อสู้ด้วยวิธีการรุนแรง เป็นผลให้สถานการณ์การก่อการร้ายลดน้อยลงตามลำดับ

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยการศึกษาของเยาวชนของชาติที่ขาดโอกาสทางการศึกษา พลตรี เรวัต บุญทับ รองแม่ทัพภาค ๒ เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ และพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ได้เล่าว่าเมื่อก่อตั้งโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรกไปแล้ว มีพระราชดำริโปรดให้สร้างโรงเรียนร่มเกล้าในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและในพื้นที่เป็นของปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองในอีกหลายจังหวัด เพื่อให้ลูกหลานราษฎรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันในเมืองทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยไม่ต้องลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหมู่บ้านมาก และได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่สามารถส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองได้ ทรงห่วงใยประชาชนเปรียบได้ด้วยความห่วงใยที่มีต่อลูกหลาน ดังมีพระราชกระแสรับสั่งกับพลตรี เรวัต บุญทับ ความตอนหนึ่งว่า ขอให้นึกถึงประชาชนเหมือนลูก ขอให้ทหารช่วยดูแลประชาชน นอกเหนือจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการป้องกันประเทศ

 นับถึงปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทางกองทัพภาคที่ ๒ และภาคที่ ๓ สร้างโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นหลายแห่ง แห่งแรกที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ต่อมามีการดำเนินการตามพระราชดำริก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ในระยะแรกโรงเรียนเปิดสอนในระดับประถมศึกษา และต่อมาได้ขยายถึงระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย

 นอกจากนี้ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยความสนับสนุนของกองทัพบก ได้จัดตั้งโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาและความมั่นคงของประเทศชาติ และการก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในอีกหลายจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนร่มเกล้า จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนราธิวาส

 การดำเนินการโรงเรียนร่มเกล้า นอกจากจะเน้นทางด้านวิชาการแล้ว ยังเน้นทางด้านคุณธรรม จริยธรรม การใฝ่เรียน ทักษะการทำงาน โดยเฉพาะด้านวิชาชีพ โรงเรียนร่มเกล้าส่วนใหญ่จะมีโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน และในโรงเรียนร่มเกล้าบางแห่งจะมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรียนอยู่ในโรงเรียน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา และถ้าหากมีความประพฤติดี มีผลการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี อาจจะได้รับทุนการศึกษาจนกระทั่งจบระดับอุดมศึกษา เช่น โรงเรียนร่มเกล้าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมีมูลนิธิติณสูลานนท์ ซึ่งก่อตั้งโดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจนโดยพิจารณาผลการเรียนความประพฤติ และการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวมประกอบกัน นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนร่มเกล้าออกไปสามารถนำความรู้ความสามารถและทักษะไปใช้ในการประกอบอาชีพในการพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชนของตนเอง นักเรียนส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ดังตัวอย่างเช่น

 เรืออากาศเอกวงษ์ ชาลีพร ผู้บังคับหมวดช่างประจำเครื่องบิน ฝูงบินที่ ๑๐๓ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนร่มเกล้าบ้านตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ขณะที่เรียนได้รับทุนการศึกษาทุกปี ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ก็ยังได้รับทุนการศึกษา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ตนได้รับโอกาสทางการศึกษาว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ก่อสร้างโรงเรียนเพื่อให้การศึกษา ถ้าพระองค์ท่านไม่พระราชทานตรงนี้ให้ ชีวิตของตนก็คงเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่มีโอกาสในชีวิตอย่างนี้ แรงจูงใจเกิดจากการได้รับการศึกษาจะทำให้พิจารณาตนเองต่อไป แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยตรง แต่ก็ยังได้รับราชการทหารรับใช้ประเทศชาติสนองพระราชดำริราชประสงค์ของพระองค์ท่าน

 โรงเรียนร่มเกล้าได้พัฒนาทั้งในด้านการจัดการศึกษา และในการจัดกิจกรรมสนองตามพระราชดำริ และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เป็นสำคัญตลอดมาจนปัจจุบัน



โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาสงเคราะห์เด็กยากจนขาดที่พึ่งและเด็กในถิ่นกันดาร ให้ได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ เพื

หมายเลขบันทึก: 457463เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท