ทุนพระราชทาน


ทุนพระราชทาน

          ทุนพระราชทาน

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะทรงถือว่า "การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์" ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมทั้งที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีความตามลำดับดังนี้

 

"…การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล…"

 

"…ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของทั้งชีวิตและส่วนรวม คือ การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคล และประเทศชาติ…"

 

"…การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ ให้เป็นทรัพยากรทางปัญญาที่มีค่าของชาติ…"

 

พระบรมราโชวาทที่เชิญมานี้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้เห็นว่าประเทศชาติจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ ก็ด้วยการพัฒนาบุคคลของชาติให้มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา ดังพระบรมราโชวาทที่นำมาเน้นเป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

 

"…งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้น ด้วยว่าพลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมโทรมลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไปเราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้วต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน… เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…" (พระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2510)

 

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นว่า การให้การศึกษาเป็นงานใหญ่และกว้างขวางที่ไม่ใช่จะทำสำเร็จได้โดยใครแต่ลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคน ส่วนใหญ่ในทุก ๆ ด้าน การจัดการศึกษาของประเทศ จึงจะเป็นผลสำเร็จได้ ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ และพระราชดำรัสแก่สมาชิกสโมสรไลออนส์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มีความตามลำดับดังนี้

 

"…ในประเทศไทยนี้ถ้าดูจากสถิติก็มีพลเมืองเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพลเมืองของประเทศไทยนี้อยู่ในวัยเรียนอยู่เป็นส่วนมากทุก ๆ ปี การที่ส่วนรวมคือ ประชาชนทั้งประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีแล้ว จึงต้องช่วยกันจัดการให้เยาวชน ให้ประชาชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี เราจะไปอาศัยรัฐบาลหรืออาศัยทางราชการที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความเจริญด้านเดียวไม่ได้ เพราะว่าในสมัยนี้ถือว่าเป็นสมัยประชาธิปไตย ทุกคนมีส่วนในงานของประเทศชาติ…"

 

"…การให้การศึกษาแก่คนนี้เป็นปัญหาของคนทุกคน ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ระหว่างผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีเจตนาดีต่อสังคมและผู้มีทุนทรัพย์…"

 

จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่เชิญมากล่าวข้างต้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงมองซึ้งถึงปัญหาและแนวทาง ตลอดจนพร้อมที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนับสนุนการศึกษาในทุก ๆ ด้าน ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญาที่จะเล่าเรียน แต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ และอีกประการหนึ่งก็คือทรงตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมามีบทบาทและอิทธิพลต่อแนวคิด จิตใจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก การจะก้าวให้ทันวิวัฒนาการและความเจริญสมัยใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดการพัฒนาในวิทยาการต่าง ๆ ของประเทศ พร้อมกับจัดเตรียมความรู้ขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ที่จะเข้ามารองรับความรู้เหล่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาขั้นหลายทุนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งการให้ทุนแต่ละทุนได้มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ดังนี้

 

๑. ทุนมูลนิธิ "ภูมิพล"

 

ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งเป็นทุน "ภูมิพล" ขึ้น เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผู้เรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์ ทุนนี้จะให้แก่นักศึกษาคนละ ๒๐๐ บาท ต่อเดือน เป็นเวลา ๑ ปี (พระเจ้าอยู่หัวของเราฯ (๑๓), หน้า ๓๒)

 

นอกจากนี้ได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมกำลังใจ และการศึกษาของนิสิตนักศึกษาให้มีความมานะอุตสาหะต่อการศึกษามากขึ้น และยังได้พระราชทานเป็นรางวัลด้านอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ การแต่งหนังสือ การแต่งเรียงความ ต่อมาได้พระราชทานทุนขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ดังในคราวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรเดิม) เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ตั้งเป็นทุนมูลนิธิ "ภูมิพล) และได้ตราระเบียบลงวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑ แบ่งเป็นทุน ๒ ประเภท ได้แก่

 

(ก) ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา

 

(ข) ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์หรือการวิจัย

 

นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานทุนมูลนิธิ "ภูมิพล" แก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานทุนนี้หลังจากสำเร็จการศึกษากลับสู่ประเทศไทยแล้ว ได้ออกปฏิบัติงานด้านพัฒนาเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก (นวองค์บดี "ภูมิพล" . กรุงเทพ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๓. หน้า ๓๐)

 

๒. ทุนมูลนิธิ "อานันทมหิดล"

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าประเทศไทยเราต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในวิชาเทคนิคชั้นสูง เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงควรส่งเสริมนิสิตนักศึกษา ที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมให้มีโอกาสไปศึกษาต่อในวิชาชั้นสูงบางวิชา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จแล้วได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนมาต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการด้วยการพระราชทาน "ทุนอานันทมหิดล" ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แก่นักศึกษาแพทย์ตามรอยพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ต่อมาทรงเห็นว่าได้ผลสมพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดล เป็น "มูลนิธิอานันทมหิดล" เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยพระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท มีผู้ได้รับพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ๓ ราย และต่อมาเนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่นมีมากขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายงานของมูลนิธิฯ พระราชทานทุนการศึกษาสาขาวิชาอื่นต่อไป (ฉัตรมงคลรำลึก ๒๕๒๐ (๔๗), หน้า ๔๖–๔๘) ปัจจุบันทุนมูลนิธิ "อานันทมหิดล" ได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ คือ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และอักษรศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการประจำแต่ละสาขาคัดเลือกบัณฑิตที่มีความสามารถยอดเยี่ยมแต่ละสาขาดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ได้ศึกษามาตามพระราชประสงค์ แต่ทั้งนี้ไม่มีสัญญาผูกมัดว่าผู้ได้รับพระราชขทานทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งตามเวลาที่กำหนด เพราะมีพระราชประสงค์จะให้ผู้รับทุนได้เกิดความสำนึกรับผิดชอบเอง แต่ผู้รับทุนทุกรายก็ได้กลับมาปฏิบัติงานเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองสมพระราชประสงค์ด้วยดี

 

นอกจากนี้ยังมีทุนพระราชทาน เรียกว่า "ทุนส่งเสริมบัณฑิต" โดยคณะกรรมการสาขาแพทยศาสตร์ พิจารณาเห็นว่า แพทย์ผู้ใดเป็นแพทย์ผู้สละเวลาและอุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตน ก็จะขอพระราชทานเงินทุนส่งเสริมบัณฑิตให้เดือนละ ๖,๐๐๐ บาท เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้นั้น ทุนส่งเสริมบัณฑิตนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นทุนมูลนิธิอานันทมหิดลได้ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางแพทย์เฉพาะด้าน เช่น การวิจัยเกี่ยวกับโลหิตวิทยา การวิจัยโรคระบบประสาท การวิจัยกระดูกและข้อและการวิจัยฮอร์โมน เป็นต้น

 

๓. ทุนเล่าเรียนหลวง

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟู "ทุนเล่าเรียนหลวง" (King's Scholarspip) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ริเริ่มพระราชทานทุนให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยการจัดสอบแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็นพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยุติไปใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมีพระราชปรารภฟื้นฟูการให้ "ทุนเล่าเรียนหลวง" ขึ้นใหม่ โดยการประกาศใช้ "ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง พ.ศ. ๒๕๐๘" ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยมปีละ ๙ ทุน คือ แผนกศิลปะ ๓ ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ ๓ ทุน และแผนกทั่วไป ๓ ทุน ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมารับราชการ

 

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีผู้ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชาการระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ ๕๐ ทุน ดังนี้ คือ ศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน ๔๓ ทุน ประเทศอังกฤษ จำนวน ๖ ทุน ประเทศฝรั่งเศส จำนวน ๑ ทุน

 

ส่วนทุนเล่าเรียนหลวงในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีนั้น ได้จัดให้มีขึ้น พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกเฉลิมฉลองครบ ๒๕ พรรษาแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดกิจกรรมเพื่อสนองพระราชประสงค์เกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวง โดยจัดตั้งทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกแก่นักศึกษาที่เป็นคนไทย และชาวต่างประเทศที่มีผลการเรียนดีเด่นเป็นพิเศษของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ในปัจจุบันพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียปีละ ๑๖ ทุน ๆ ละ ๒๒๐,๐๐๐ บาท ต่อปี

 

๔. ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" โดยมีพระราชดำริให้ตั้งทุนเพื่อหาดอกผลสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูรวมทั้งช่วยเหลือราษฎรผู้ซึ่งประสบสาธารณภัยทั่วประเทศด้วย หลังจากที่ได้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนในเหตุการณ์เฉพาะหน้าในมหาวาตภัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และสร้างสถานสงเคราะห์รับอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ๆ ที่กลายเป็นเด็กอนาถาไร้ที่พึ่ง เนื่องจากบิดามารดาและญาติพี่น้องเสียชีวิตไปนั้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗

 

จากพระราชดำริประเดิมทุน ๓ ล้านบาท ก่อตั้งมูลนิธิที่พระราชทานนามว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" ในความหมายว่า "พระราชา" และ "ประชาชน" อนุเคราะห์ ซึ่งกันและกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนว่า ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน "พระบรมราชูปถัมภ์" โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ (มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ "พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๐๖". จันทรเกษม, ฉบับที่ ๑๐ พ.ค. – มิ.ย. ๑๔ หน้า ๖๗–๗๔.)

 

งานสำคัญของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็คือ การช่วยสร้างอาคารเรียน หรือสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ และขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์" โดยโรงเรียนแรกกำเนิดที่บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีเลขหมาย เพราะเหตุว่าแหลมตะลุมพุกเป็นต้นเหตุเกิดการพระราชทานมูลนิธิฯ ขึ้น ต่อมาจึงได้มีหมายเลข ปัจจุบันมีอยู่ ๓๐ โรง (ดังได้กล่าวรายละเอียดในส่วนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์) นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทุนการศึกษาสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาและประสบสาธารณภัยหรือได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่นที่ทางราชการอาจเข้าไปไม่ถึงหรือขัดต่อระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ อันเป็นวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ น้อมเกล้าฯ นำมาแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกระแสแก่คณะกรรมการบริหารที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

 

๕. ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณต่อราษฎรของพระองค์เท่าเทียมกันทั่วทุกคน แม้แต่ผู้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โรคเรื้อนกำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกได้ตกลงกันว่าจะพยายามขจัดให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยในระยะเวลา ๑๒ ปี และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จะกำจัดโรคเรื้อนให้หมดภายในเวลา ๑๐ ปีได้ ถ้ามีสถาบันค้นคว้าและวิจัย ซึ่งต้องใช้เงิน ๑ ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ และเสด็จพระราชดำเนินไปประประกอบพิธีเปิดสถาบันเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓ พระราชทานนามสถาบันนั้นว่า "ราชประชาสมาสัย" รวมทั้งพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการก่อสร้างจำนวน ๒๑๗,๔๕๒ บาท ให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถาบันต่อไป ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอพระราชทานนำเงินดังกล่าวไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย และได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระราชกระแสตอบมาเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่า ถ้าจะขอให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิจะต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ขึ้นอีกข้อหนึ่งว่าจะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด ดังพระบรมราชาธิบายที่พระราชทานถึงการก่อตั้งโรงเรียน และพระราชดำรัสในพิธีทรงเปิดโรงเรียนราชประชาสมาสัย เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ มีความตามลำดับ ดังนี้

 

"…เด็กเหล่านี้มีสิทธิที่จะเล่าเรียนเช่นเด็กอื่น เพราะขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งเด็กที่ยังมิได้ป่วยให้เข้าเรียนในโรงเรียนในนิคม หรือในโรงพยาบาลโรคเรื้อน เนื่องจากเกรงว่าจะติดโรค และกระทรวงศึกษาธิอการก็ยังไม่ยอมรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าเรียนในโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเกรงว่าจะไปแพร่เชื้อโรคเรื้อนแก่เด็กผู้อื่น ขณะนี้กรมประชาสงเคราะห์ของกระทรวงมหาดไทยมีโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่มีผู้อุปการะแล้ว แต่ก็ไม่สามารถรับเด็กเหล่านี้ได้เพราะเป็นเด็กผู้มีบิดามารดา…"

 

"…การที่ดำริสร้างสถานศึกษานี้ขึ้น ก็เพื่อจะได้ช่วยเหลือเด็กผู้พลอยประสบเคราะห์กรรมให้มีสถานที่เล่าเรียน ซึ่งโดยธรรมชาติควรมี่สิทธิที่จะกระทำสิ่งใดได้เช่นผู้อื่น การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่โชคชะตาบันดาลให้ต้องเกิดมาในภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นกุศลและเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ เพราะเด็กเช่นว่านี้เมื่อได้รับการศึกษา อบรมด้วยดีเติบโตขึ้นก็จะเป็นพลเมืองที่ดีเป็นประโยชน์แก่ตนเองและชาติบ้านเมืองในอนาคต…" (มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปภถัมภ์ "ฝ่ายการศึกษาของมูลนิราชประชาสมาสัย". กรุงเทพ : วีระการพิมพ์, ๒๕๒๑. หน้า ๘-๙.)

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มูลนิธิราชประชาสมาสัย จัดสร้างโรงเรียนประจำรับเด็กเหล่านั้นมาเลี้ยงดูอบรม และโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาสมาสัยในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อน และให้การบริหารโรงเรียนขึ้นต่อมูลนิธิราชประชาสมาสัย ซึ่งต่อมาได้ขอพระบรมราชานุญาต แยกจากมูลนิธิเดิมมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปวถัมภ์ (ดังรายละเอียดในส่วนโรงเรียนราชประชาสมาสัย)

 

พระราชกรณียกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาบารมีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ที่แผ่ไพศาลไปทั่ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนถึงบุตรผู้ป่วยที่ยังไม่รับเชื้อโรคเรื้อน

 

๖. ทุนนวฤกษ์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาริเริ่มก่อตั้ง "ทุนนวฤกษ์" ในมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา ด้วยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่ม ๕๑,๐๐๐ บาท และจากผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน ก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท ทั้งระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าให้มีสถานที่สำคัญสำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษาที่ไม่ขัดต่อพระวินัยและอบรมศีลธรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาแก่เด็กที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคตต่อไป

 

นอกจากนั้น ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรในครอบครัวที่เดือดร้อนมากหรือขาดผู้อุปการะ เช่น กำพร้าบิดามารดา โดยทรงรับเด็กเหล่านั้นไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งแต่ละปีนักเรียนดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

๗. ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี

 

๗.๑ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา เป็นทุนที่ทางกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานจัดให้แก่นักเรียนชาวเขาได้ศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นต้นมา เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างชาวเขาและชาวไทย และส่งเสริมให้ชาวเขาส่งบุตรหลานมาศึกษาในโรงเรียนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น และกับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตน ในการคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับทุนพระราชทานนี้ จะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนพระราชทาน และดูแลรับผิดชอบการใช้เงินทุนพระราชทานของนักเรียนผู้นั้นไปจนสำเร็จการศึกษา แล้วทุนพระราชทานนี้ก็จะสิ้นสุดลงตามผู้รับทุนด้วย โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความตั้งใจ ความสนใจที่จะเรียนและความประพฤติของนักเรียน จำนวนเงินทุนพระราชทานนี้มีอัตราไม่เท่ากันแตกต่างกันไปตามระดับชั้นของนักเรียนผู้ได้รับทุนพระราชทาน เช่น นักเรียนทุนพระราชทานระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น ทุนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อปี นักศึกษาทุนพระราชทานระดับวิทยาลัยครูและวิทยาลัยเกษตรกรรมทุนละ ๔,๐๐๐ บาทต่อปี ต่อมาได้เพิ่มเป็นทุนละ ๑,๒๐๐ บาท และ ๔,๕๐๐ บาท ตามลำดับ นักศึกษาแพทย์ทุนพระราชทานทุนละ ๘,๐๐๐ บาทต่อปี และส่วนใหญ่ผู้ได้รับทุนพระราชทานนี้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนชาวเขาหรือทำงานเกี่ยวกับชาวเขา

 

๗.๒ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา เป็นทุนการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งจัดตั้งเป็นทุน และให้มีการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นรายโรงเรียนไป เพื่อให้มีดอกผลเพิ่มขึ้นสามารถจัดสรรเป็นทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนดีเยี่ยม นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนในพระองค์ และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนราชประชาสมาสัย แล้วเสด็จฯ ไปพระราชทานทุนเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง พระราชทานทุนละ ๕๐๐ บาท ๗๐๐ บาท หรือ ๙๐๐ บาท ตามแต่ระเบียบว่าด้วยทุนพระราชทานที่คณะกรรมการบริหารทุนโรงเรียนเหล่านั้นกำหนดไว้ ทุนการศึกษาพระราชทานนี้จึงมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสศึกษาต่อ พร้อมทั้งตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีผลการเรียนดีเยี่ยมในแต่ละระดับชั้นตามกำลังความสามารถของตน และจะต้องเป็นคนดี มีความประพฤติเรียบร้อย เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้เป็นพลเมืองดี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

 

๗.๓ รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภพระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อนหลวงปิ่น มาลากุล) เมื่อคราวเสด็จฯ ทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ความว่า

 

"…มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี นักเรียนและโรงเรี่ยนที่มีคุณ๊สมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับพระราชทานรางวัล"

 

กระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดทำรางวัลพระราชทานให้แก่นักเรียนที่สอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.๕) ได้คะแนนสูงสุดทั้ง ๓ แผนก และโรงเรียนที่นักเรียนสอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้คะแนนมากที่สุด ๙ โรงเรียนแรกได้พระราชทานโล่ชมเชยเป็นรางวัล เมื่อนำความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนตามหลักเกณฑ์แห่งร่างระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียน พุทธศักราช ๒๕๐๗ เพื่อทดลองดูผลไปก่อน และโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มหลักเกณฑ์รางวัลพระราชทานสำหรับระดับประถมศึกษา เพิ่มรางวัลชมเชยเป็น ๑๒ รางวัล พระราชทานแก่นักเรียนในภาคศึกษาทั้ง ๑๒ ภาค ภาคละ ๑ คน รางวัลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา เพิ่มโล่รางวัลสำหรับพระราชทานแก่โรงเรียนที่ได้รับพระราชทานติดต่อกันถึง ๓ ปี การพระราชทานรางวัลนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ จนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับปรุงแก้ไขตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียน พุทธศักราช ๒๕๒๕ คือให้มีรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย และแก่โรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามเขตการศึกษาต่าง ๆ ส่วนจำนวนและมูลค่าของแต่ละรางวัลสำหรับนักเรียน และจำนวนรางวัลรวมทั้งการจำแนกขนาดและประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปตามประกาศและการประเมินของกระทรวงศึกษาธิการที่พิจารณาตัดสินให้รับพระราชทานรางวัลด้วย (กระทรวงศึกษาธิการ. พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเกี่ยวกับการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม, กรุงเทพ, ๒๕๓๘. หน้า ๒๘๓-๔.)

คำสำคัญ (Tags): #ทุนพระราชทาน
หมายเลขบันทึก: 457462เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท