กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (1)


กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์

          1.  การศึกษาสถานภาพขององค์การ  ประกอบด้วย

                   1.1  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกขององค์การ  (External Environment)  เกี่ยวกับโอกาส  (Opportunities : O)  และอุปสรรค  (Treats : T)  การดำเนินงานของหน่วยงาน  ประกอบด้วย

                             1)  สภาพแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้องโดยตรง  (Task Environment)  เช่น  ชุมชน  ผู้ปกครอง  นักเรียน  สภาพการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

                             2)  สภาพแวดล้อมภายนอกทั่วไป  (General Environment)  ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการดำเนินงานขององค์การโดยรวม  ประกอบด้วย  4  ด้าน  “STEP”  ดังนี้

                                      (1)  ด้านเศรษฐกิจ  (Economic Component : E)  วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ  ได้แก่  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ  ดุลการชำระเงิน  อัตราดอกเบี้ย  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  อัตราการว่างงาน  การจ้างงาน  การลงทุนภาคเอกชน  ดัชนีราคา  ราคาน้ำมันดิบ

                                      (2)  ด้านสังคม วัฒนธรรม  (Sociocultural Component : S)  วิเคราะห์สภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม  ได้แก่  ระดับการศึกษาและอัตราการรู้หนังสือของประชากร  จำนวนประชากร  โครงสร้างของประชากร  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อ  ค่านิยมและวัฒนธรรม  แบบแผนการดำเนินชีวิตและพฤติกรรม  การประกอบอาชีพ  คุณภาพชีวิต  ลักษณะของชุมชนและการตั้งถิ่นฐาน  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การกระจายรายได้และความเป็นธรรมในสังคม  โครงสร้างพื้นฐาน  ระบบสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ  การคมนาคม  การติดต่อสื่อสาร

                                      (3)  ด้านเทคโนโลยี  (Technological Component : T)  วิเคราะห์สภาพการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำเนินงาน  ได้แก่  การผลิตคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ  ความรู้และวิทยาการแขนงต่าง ๆ  การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร  ความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่เกี่ยวข้อง  การเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการโดยใช้อุปกรณ์อัตโนมัติต่าง ๆ

                                      (4)  ด้านการเมือง – กฎหมาย  (Political Component : P)  วิเคราะห์นโยบายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ของภาครัฐ  ที่น่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การ  ได้แก่  นโยบายของรัฐบาล  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กฎหมาย  มติคณะรัฐมนตรีและกฎระเบียบต่าง ๆ  ความมั่นคงของรัฐบาล  บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มพลังทางการเมือง  ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง  พฤติกรรมทางการเมือง

          วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก  โดยสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์การและเก็บข้อมูลจากหลาย ๆ  แหล่ง  เช่น  ข้อมูลจากระบบข้อมูลและสารสนเทศของหน่วยงานทางการศึกษา  จากชุมชน  ผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษา  ผู้บริหารสถานศึกษา  คณะครู – อาจารย์  และนักเรียน  นักศึกษา

                    1.2  การวิเคราะห์สถานภาพภายในขององค์การ  (Organizational Analysis)  เพื่อตรวจสอบขีดสมรรถนะขององค์การที่จะบ่งบอกถึงจุดแข็ง  (Strengths : S)  และจุดอ่อน  (Weaknesses : W)  ในด้านต่าง ๆ  โดยการวิเคราะห์แยกเป็นประเด็นต่าง ๆ  เก็บข้อมูลจากหลายแหล่ง  จากประเด็นในการวิเคราะห์  ประกอบด้วย  6  ด้าน  ย่อว่า  2S + 4M  มีดังนี้

                             1)  ด้านโครงสร้างและนโยบาย  (Structure and Polity : S1)  วิเคราะห์โครงสร้างขององค์การมีความเหมาะสมหรือไม่  จัดโครงสร้างองค์การในแนวราบ  (horizontal)  และในการตั้งสายบังคับบัญชา  (Hierarchy)  เหมาะสมหรือไม่  นโยบายต่าง ๆ  มีความเหมาะสมหรือไม่  การนำไปใช้และการติดตามประเมินผล

                             2)  ด้านผลผลิตและการบริการ  (Products and Service : S2)  เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่มากน้อยเพียงใดมีผลลัพธ์ที่เป็นผลกระทบต่อสังคมอย่างไร

                             3)  ด้านบุคลากร  (Man : M)  วิเคราะห์เกี่ยวกับคุณภาพ  ได้แก่  การศึกษา  ความรู้  ความสามารถ  ทักษะ  ประสบการณ์  ขวัญกำลังใจ  โอกาสความก้าวหน้า  ค่าตอบแทน  สวัสดิการ  การพัฒนาบุคลากร  การบรรจุแต่งตั้ง  โยกย้าย  การประเมินผลงาน  การพิจารณาความดีความชอบ  วินัยและการลงโทษ

                             4)  ด้านการเงิน  (Money : M2)  เกี่ยวกับสถานะทางการเงิน  วงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ  การบริหารงบประมาณ  การติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณ

                             5)  ด้านวัสดุอุปกรณ์  (Materials : M3)  เกี่ยวกับเครื่องมือ  อุปกรณ์  สิ่งอำนวยความสะดวก  อาคาร  สถานที่

                             6)  ด้านการจัดการ  (Management : M4)  เกี่ยวกับการนำนโยบายมาปฏิบัติ  แผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการ  การอำนวยการ  การประสานงาน  การควบคุม

                   1.3  การกำหนดจุดตำแหน่งขององค์การ  โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง  จนเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านประเด็นต่าง ๆ  ของโอกาส  (O)  อุปสรรค  (T)  จุดแข็ง  (S)  และจุดอ่อน  (W)  รวมทั้งน้ำหนักคะแนนความมากน้อย  เพื่อจัดกลุ่มของสถานภาพขององค์การ  มี  4  รูปแบบ 

                             1)  แบบที่องค์การมีโอกาสและมีจุดแข็งในการดำเนินงาน

                             2)  แบบที่องค์การมีโอกาสแต่มีจุดอ่อนในการดำเนินงาน

                             3)  แบบที่องค์การมีอุปสรรคแต่มีจุดแข็งในการดำเนินงาน

                             4)  แบบที่องค์การมีอุปสรรคและมีจุดอ่อนในการดำเนินงาน

อ้างอิงจาก

เจริญวิชญ์  สมพงษ์ธรรม.  (2554).  การบริการและประเมินโครงการ = Project Management and

             Evaluation.  มปท. : มนตรี.

 

หมายเลขบันทึก: 457445เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผม อยากเห็นการประสบความสำเร็จ ที่เกิดขึ้น โดยใช้แผนนี้ ได้จริง

ผม อยากเห็นการประสบความสำเร็จ ที่เกิดขึ้น โดยใช้แผนนี้ ได้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท