ครูเพื่อศิษย์ ภาคพื้นอุดรธานี (๒): สำคัญที่จุดเปลี่ยน และ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ


เขาเห็นบริบทชีวิตที่กว้างขึ้น วิธีการสอนและแนวคิดชีวิตจึงเปลี่ยนไป, นิสัยเอาแต่ใจตนเองของเด็ก ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการเลือกกินอาหาร เกิดขึ้นจากสาเหตุการเลี้ยงดูอบรมจาก “บ้าน"

ครูเพื่อศิษย์ ภาคพื้นอุดรธานี (๒): สำคัญที่จุดเปลี่ยน และ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ

 

คณะเพื่อนใจจากโรซ่าพาแซ่บ ออกตระเวณเยี่ยมยามถามไถ่สาระทุกข์สุกดิบกับพี่น้องครูและเด็ก มา ๓ วันแล้ว นอกจากจะได้พบเจอเพื่อเสริมแรงใจซึ่งกันและกันแล้ว พวกเรายังแสดงเจตนารมณ์ของเพื่อนจากโรซ่าให้รู้ว่า "เราเอาจริงนะ" และเราก็พบเจอเรื่องเสริมแรงใจให้กับพวกเราเองโดยบังเอิญ และอาจจะช่วยเสริมแรงพลังให้กับใครสักคน ที่อาจจะกำลังโรยล้าอ่อนแรงใจอยู่...

 

“ก็ด้วยความเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ และอยากให้เด็กเรียนเก่ง จึงต้องเข้มงวดมากๆ ใครไม่ส่งการบ้านก็ต้องทำโทษ” นั่นเป็นความเดิมความหลังของชีวิตครูหนุ่มคนหนึ่ง แต่จุดเปลี่ยนและพลิกผันก็เกิดขึ้น เมื่อเด็กน้อยที่เป็นโรคธาลัสซิเมีย ผู้หนึ่งที่แข็งขันและมุ่งมั่นในการเรียน แต่วันนั้นไม่มีการบ้านมาส่ง บทลงโทษที่เคยกระทำเรื่อยมาจึงเริ่มเปลี่ยนไป ครูหนุ่มได้ซักถามสืบความถึงสาเหตุที่ทำไมจึงไม่มีการบ้านมาส่ง เขาได้พบความจริงที่ว่าการไม่ส่งการบ้าน ไม่ใช่เรื่องที่จะมองเพียงความเป็นไปตรงหน้าปัจจุบันเท่านั้น  พิจารณาด้วยปัญญา สติ และจิตใจแห่งความเป็นครู พบเจอปัจจัยอื่นๆ อีกเยอะแยะที่ทำให้เกิดการบั่นทอนต่อการเรียนของเด็ก เขาเห็นบริบทชีวิตที่กว้างขึ้น วิธีการสอนและแนวคิดชีวิตจึงเปลี่ยนไป... 

 อีกเรื่องราวที่เป็นประกายความคิดในแนวทางการจัดการการศึกษาของเขา เรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่กระแทกฝาหม้อกับข้าวด้วยเสียงอันดังด้วยความไม่พอใจ มีการว่ากล่าวเชิงสอนสั่งแก่เด็กให้เห็นค่าถึงอาหารการกินที่มีประโยชน์ เขาขอให้การกระทำเช่นนี้เป็นครั้งสุดท้าย หากไม่..จะเรียกผู้ปกครองมารับทราบเรื่องราวและตัดผมที่ยาวสลวยของเด็ก ได้ผลครับ..เป็นเรื่องและสร้างความไม่พอใจถึงผู้ปกครองทันที “คุณเป็นใครจะมาว่าและตัดผมหลานฉัน” แต่เมื่อได้พูดคุยทำความเข้าใจถึงการสอนสั่ง ทั้งครูและผู้ปกครอง ได้พบความจริงร่วมกันว่าเด็กที่พ่อแม่ต้องมีภาระการงานในถิ่นฐานไกลบ้าน ไม่ได้ดูแลอบรมลูก ย่อมนำพานิสัยที่ไม่งามตาเกิดขึ้นในเด็ก  นิสัยเอาแต่ใจตนเอง ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการเลือกกินอาหาร เกิดขึ้นจากสาเหตุการเลี้ยงดูอบรมจาก “บ้าน” และเมื่อทั้งสองฝ่ายพบความจริงเช่นนี้ การอบรมสอนสั่งและดูแลเด็กๆ จึงเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ส่งผลถึงพฤติกรรมที่ดีงามของเด็ก และการไม่เลือกกินอาหารที่ส่งผลถึงสุขภาพกายและใจของเด็ก ดีขึ้นอย่างมากด้วย...ท้ายที่สุดของเรื่อง ผู้ปกครองที่ไม่เคยสนใจในกิจของโรงเรียน ได้ร่วมบริจาคเงินมากมายเพื่อสร้างอาคารสถานที่ให้โรงเรียน

 

 

ทั้งเรื่องราวเด็กหญิงธาลัสซิเมีย และเด็กหญิงกระแทกฝาหม้ออาหารกลางวัน เป็นแรงใจและวิถีนำทางในการมาทำงานและรับตำแหน่งของ ผอ.สุพัฒน์ มาชัย อดีตครูสอนคณิตศาสตร์ระดับมัธยม เขาเชิญชวนให้ผู้ปกครองและชุมชนได้เข้าร่วมการประชุมสร้างความเข้าใจ “ร่วมกัน” ต่อแนวทางการสอนสั่งลูกศิษย์ของเขาและลูกหลานของชุมชน การประชุมได้สร้างบรรยากาศเกื้อกูลกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนได้เป็นอย่างดี ภาระการดูแลและส่งเสริมสุขภาพกายและใจของเด็กจึงมีชุมชนเป็นเพื่อนใจช่วยดูแลอีกแรงหนึ่ง และแม้จำนวนเด็กเพียงแค่ ๘๐ กว่าคนในโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่มากมายนัก แต่ภาระงานของครูก็เยอะแยะมากล้น  วันนี้กิจกรรมดูแลและส่งเสริมสุขภาพของเด็กๆแบบเน้นคุณภาพของโรงเรียนบ้านสุขสมบูรณ์อาจยังไม่ได้เริ่มขยับตัวมากนัก แต่เรื่องราวอันเป็นจุดเปลี่ยนแต่หนหลังของผอ.สุพัฒน์ ที่สร้างสมความเป็นครูนักสอนและผู้บริหารนักพัฒนา จะเป็นฐานพลังและต้นทุนที่แข็งแกร่งในการทำงานส่งเสริมสุขภาพร่วมกับครูในโรงเรียนและหน่วยชุมชนได้เป็นอย่างดี กอรปกับการมีทีมงานที่มีการแบ่งงานด้านดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบ เช่น ครูหนึ่งคนกับการทำงานแบบเบ็ดเสร็จในกิจกรรม ทั้งกิจกรรมรณรงค์การกินผัก กิจกรรมลดหวานมันเค็ม สำรวจเมนูอาหารผักผลไม้ที่นักเรียนชอบ (เป็นการเปิดพื้นที่ร่วมคิดร่วมทำกับนักเรียนได้เยี่ยมมาก) กิจกรรมประกวดด้านสุขภาพ และการออกกำลังกาย ที่ครบถ้วนในการก้าวไปสู่การที่เด็กจะมีสุขภาพที่ดี และอาจได้มีของขวัญของรางวัลเป็นแรงใจกับการเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร เฉกเช่นเดียวกับการได้ระดับทองดังที่ผ่านมา..

 

แต่ผมว่า ผอ.สุพัฒน์ น่าจะชอบใจที่จะเกิดผลของการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพไปในมุมของการมุ่งหวังให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตทั้งด้านการเรียนและสุขภาพที่ดีในรั้วโรงเรียนเล็กๆ น่ารักๆ สงบเงียบแห่งนี้ มากกว่ามองด้วยมุมอื่น... ด้วยว่าเขาอาจจะข้ามพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ไปเป็น “ครูนักพัฒนาที่สูงเกียรติ” ในมุมความรู้สึกของผมไปแล้วก็เป็นได้...

 

 

ธนะภูมิ ชาญประไพ

อุดรธานี / ๓๑ ส.ค. ๒๕๕๔

การเข้าเยี่ยมครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๘ ส.ค. - ๒ ก.ย. ๕๔  ตามโครงการ "โฮมฮักลูกหลานโภชนาการดี" สนับสนุนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพปี ๒๕๕๔

สนับสนุนโดย บริษัทไฮคิว อุตสาหกรรม จำกัด  ร่วมกับ  สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 457389เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 04:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาลงชื่อว่าติดตามอ่านอยู่นะค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท