ครูเพื่อศิษย์ ภาคพื้นอุดรธานี (๑): คำตอบอยู่ที่ครูจริงมั๊ยฮึ?


ไม่ว่าจะเหนื่อยหนักเพียงใด พ่อพิมพ์แม่พิมพ์แห่งชาติของที่นี่ หมึกยังเต็มอยู่เสมอไม่จืดจางกลางทางแน่นอน

ครูเพื่อศิษย์ ภาคพื้นอุดรธานี (๑): คำตอบอยู่ที่ครู..จริงมั๊ยฮึ?

 

ไม่บ่อยครั้งที่ผมจะกล้าก๋ากลั่น อาจหาญเรียกคนทำอาชีพครู ด้วยคำว่า “พี่” โดยเฉพาะครูคนนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  แต่ก็ด้วยความที่ว่า ผอ.ประวิทย์ บึงไสย์ ได้เอื้อเฟื้อและยื่นไมตรีมาให้ผมก่อนด้วยคำว่า “น้อง” บทสนทนาในการเยี่ยมยามเช้ากึ่งสายวันนี้ จึงเต็มไปด้วยความเมตตาของคนรุ่นพี่หรือคนรุ่นก่อน กับคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นน้องอย่างผมและชาวคณะ ที่ต่างมีมุมมองในการพัฒนาการศึกษาและปั้นแต่งศิลปะการใช้ชีวิตให้เด็กน้อยวัยเรียนและวัยซน ไปในทิศทางเดียวกัน..ที่นี่!! โรงเรียนชัยพรมิตรภาพที่ ๖๗ อุดรธานี ครับ

 

เมื่อสองวันที่ผ่านมา ได้เห็นภาพของความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในกลุ่มก้อนพื้นที่ใกล้เคียงกัน สถานภาพโรงเรียนอยู่ในระดับพอๆ กัน  ได้ผุดความคิดที่จะจับมือร่วมใจ ก้าวไกลไปด้วยกันบนเส้นทางดูแลสุขภาพของเด็กน้อยในบรรทัดฐานของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มก้อนเล็กๆ ที่จะรวมตัวในแวดวงเดียวกัน และไปด้วยกัน...แต่ที่นี่ โรงเรียนชัยพรมิตรภาพที่ ๖๗ ที่มีสถานะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนถึงชั้นสูงสุดที่ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้คิดอ่านและเตรียมการที่จะขยับขยายการดูแลสุขภาพของเด็กๆ ในโรงเรียน ให้อยู่ในอ้อมกอดดูแลของหน่วยสังคมอื่นๆ ในตำบลหนองหมื่นท้าว โดยแม้ว่าเบื้องต้นและภารกิจหลักในการดูแลส่งเสริมสุขภาพเด็กน้อย แต่ก็ต้องการเห็นความร่วมมือจากหน่วยอื่นๆ ในสังคมตำบลนี้ร่วมแรงใจกันอย่างจริงจังไปด้วยกันด้วย...งานใหญ่แน่นอนครับ

 

การดูแลฟันและสุขภาพในช่องปากของเด็กๆ มองผิวเผิน (อย่างผมมองในครั้งแรก) เป็นกิจกรรมที่ทำเฉพาะเรื่องเฉพาะที่ ไม่ได้ดูแลสุขภาพเด็กๆ ในภาพรวมทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงอย่างทะลุทะลวงตลอดเรื่อง ได้พบเห็นระบบการส่งเสริมสุขภาพของเด็กๆ ได้อย่างชาญฉลาดยิ่งนัก ครูในโรงเรียนและหมอแพท พยาบาลสาวจาก รพสต.หนองหมื่นท้าว ที่เที่ยวไปมาในโรงเรียนแห่งนี้ราวกับเป็นครูอีกคน สองแรงแข่งขันช่วยทำให้ผลการตรวจฟันของเด็กๆ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นว่า ฟันผุได้มาเพราะอาหารการกินที่เด็กได้รับ และนิสัยการกินที่ติดตัวเด็กมาจากที่บ้านและเสริมแรงจากวงเพื่อนเด็กๆ ด้วยกัน เรื่องฟันผุจึงไม่ได้ตีกรอบเพื่อแก้ปัญหาเพียงเพื่อแค่ฟันไม่ผุ แต่ได้แผ่ผลบุญไปทำลายวงจรที่บั่นทอนสุขภาพในส่วนอื่นๆ ของเด็กด้วย เพราะเมื่อไม่อยากฟันผุ นอกจากจะต้องฝึกนิสัยให้รักการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกกินให้ควบคู่ไปกับการแปรงฟัน จึงนำพาไปสู่การเลือกเฟ้นอาหารกลางวันของโรงเรียนให้ถูกหลักโภชนาการและส่งเสริมสุขภาพเด็กอย่างเต็มที่ เรียกว่าได้ทั้งการดูแลสุขภาพช่องปาก และได้แผ่ผลถึงการมีภาวะโภชนาการที่ดีของเด็กอีกด้วย...เยี่ยมยอดหรือไม่ครับอย่างนี้

 

มาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไปได้เริ่มนำมาใช้เพื่อเสริมให้การเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกกินแต่สิ่งมีประโยชน์ของเด็กๆ เป็นไปได้ด้วยดี จุดแรกที่ชื่นชมอย่างแรง คือสหกรณ์โรงเรียนที่ไม่มีน้ำอัดลมจำหน่าย และเริ่มจะปรับเปลี่ยนของกินเล่นในสหกรณ์โรงเรียน ให้เป็นชนิดขนมที่ไม่บั่นทอนสุขภาพของเด็ก อีกทั้งทีมงานแม่ครัวใจบุญ (คิดค่าตัวแค่วันละหนึ่งร้อยบาทเอง) ก็ช่วยคัดเลือกเมนูอาหารให้มีประโยชน์พร้อมกับทำสมดุลในเรื่องรสชาติที่ชวนกินด้วย พี่ๆ ระดับมัธยมที่มีหน้าที่คอยกวาดล้างชามช้อนและเศษอาหาร ให้ปากคำว่าไม่ค่อยมีเศษอาหารเหลือจากน้องๆ ประถมเลย..แค่ยกแรกก็น่าชื่นใจแล้วนะครับ และได้ข่าวว่ายกที่สอง เรื่องการเสริมไอโอดีนอย่างสมดุลให้กับอาหารการกินของเด็กๆ และผู้คนในสังคมของหมอแพท ที่กำลังทำในพื้นที่นำร่อง จะมาเสริมแรงโภชนาการให้กับเด็กที่นี่ด้วย

 และในส่วนของการสร้างสรรค์ทีมงานเด็กแกนนำส่งเสริมสุขภาพ ก็เจื้อยแจ้วถ่ายทอดเนื้อหาสาระดีๆ จากค่ายโรซ่าและการค้นหาเพิ่มเติมจากหนังสือ ผ่านช่องทางเสียงตามสายและการเข้าบอกคำเชิญชวนถึงประโยชน์ในการเลือกกินอาหารในแบบประชิดถึงตัวต่อตัว และก็มีวี่แววที่จะหาช่องทางใหม่ๆ ในการเป็นนักสื่อสาร ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรักสุขภาพของเด็กน้อยเด็กใหญ่ในโรงเรียนอย่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ฝากฝั่งของโรงเรียนและ รพสต. พูดอย่างแน่นหนักแล้ว ว่าจะขยับขยายอ้อมกอดแห่งการดูแลและฟูมฟักสุขภาพเด็กๆ ในโรงเรียนและเด็กๆ ในชุมชน ให้กว้างขึ้นและมีคุณภาพขึ้นจากทุกหน่วยของสังคมให้ได้ ซึ่งผมก็ว่าน่าจะสดใสและรุ่งโรจน์ในเร็ววันนะครับ  แว่วข่าวว่าหน่วยงานบริหารปกครองระดับท้องถิ่น ก็ไฟเขียวต่อการร่วมไม้ร่วมมือที่จะช่วยกระเพื่อมบทบาทร่วมกันดูแลสุขภาพเด็กๆ ให้เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องใส่ใจและมีหน้าที่ต้องช่วยกัน...เรื่องดีๆ อย่างนี้ผมว่าต้องติดตามและคอยส่งแรงใจให้กัน เพราะงานใหญ่เปี่ยมบุญอย่างนี้ต้องใช้พลังเยอะ

 

 

ส่วนคำพูดประเภทแซวอำในสังคมครู ก็มักพูดกันว่า “อะไรก็ครู” เรียนดีไม่ดี..ก็ครู นิสัยดีไม่ดี..ก็ครู สุขภาพดีหรือไม่..ก็ครูอีก  เหล่านี้สะท้อนบทบาทและภารกิจที่ยุ่งเหยิงของครูในยุคสมัยนี้ได้เด่นชัด  แต่ด้วยหัวใจของความเป็นครูของเด็กๆ ที่ไม่ได้ย่อท้อหรือยอมจำนนต่อความท้าทายที่ทั้งพร้อมใจกันเข้ามาหรือทยอยเข้ามาถาโถมสู่โรงเรียน โดยส่วนตัว ผมอยากเห็นครูมีบทบาทการสอนสั่งและอบรมได้อย่างมีคุณภาพ โดยมอบหมายภาระดูแลและส่งเสริมสุขภาพเด็กๆ ให้เป็นของทุกหน่วยของสังคม (ซึ่งก็หมายรวมถึงครูด้วยอีกนั่นแหละ) ก็อาจเป็นทางออกที่ดีของชุมชนกับการดูแลสุขภาพของลูกๆ หลานๆ ตนเอง...วันนี้ ผมคงต้องเปลี่ยนคำล้อเล่นในแวดวงครู เพื่อให้กำลังใจกัน ว่า “แม้ว่าอะไรๆ ก็ครู แต่เอาเหอะ อะไรก็ Cool ได้แน่นอน” เรียกว่าเย็นใจได้เลย ไม่ว่าจะเหนื่อยหนักเพียงใด พ่อพิมพ์แม่พิมพ์แห่งชาติของที่นี่ หมึกยังเต็มอยู่เสมอไม่จืดจางกลางทางแน่นอน..เชื่อผมเนาะ ผมไปเห็นมาแล้ว!

 

 

 

ธนะภูมิ ชาญประไพ

อุดรธานี / ๓๑ ส.ค. ๒๕๕๔

การเข้าเยี่ยมครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๘ ส.ค. - ๒ ก.ย. ๒๕๕๔  ตามโครงการ "โฮมฮักลูกหลานโภชนการดี" สนับสนุนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  ๒๕๕๔   

สนับสนุนโดย บริษัทไฮคิว อุตสาหกรรม จำกัด  ร่วมกับ  สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 457386เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 04:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท