ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ชายรักชายในคืนฟ้าสีรุ้ง : ตอน ทลายพรมแดน ให้หัวใจของเราใกล้ชิดกัน


“ต้องลองพัฒนาให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินงานป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายรักชายมาก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าต้นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ แนวทาง และรูปแบบการทำงาน รวมถึงกลไกต่างๆ ที่โครงการเคยทำมานั้น สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ได้”

เริ่มต้น บลอกนี้ 

หลังจากที่ได้มาทำงาน ณ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 

ในฐานะผู้จัดการภาคกลาง ย่างเข้าเดือนที่ 8 

 

ก่อนจะเล่าอะไร ผมก็ขอนำเอาบทความ "ชายรักชายในคืนฟ้าสีรุ้ง

ที่เขียนส่ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นสรุปเรื่องเล่า

ภายใต้ โครงการรณรงค์ป้องกันเอดส์ เพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่

และส่งเสริมการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย  

ชายบริการทางเพศ สาวประเภทสอง และสาวประเภทสองบริการทางเพศ   

(โครงการเครือข่าย MSM ชาติ)

 

มาเผยแพร่ให้อ่านกันก่อน จะได้เข้าใจเนื้อหาของบันทึกต่อๆ ไป  ดังนี้ 

 

ทลายพรมแดน  ให้หัวใจของเราใกล้ชิดกัน 

Ico64_heart

“จากเขตแดนต่างๆ ที่เราเคยปักและกีดกัน กันเองในตอนแรก  

โครงการนี้ได้เข้ามาเป็นสะพานเชื่อมใจของพวกเราให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และเป็นการปักเป้าหมายร่วมให้แก่ทุกองค์กรเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 

 แม้เราจะเจออุปสรรคบ้างในการทำงาน แต่พวกเราก็ได้หนุนเสริมกำลังใจ  

และให้การสนับสนุนกันเป็นอย่างดี เพื่อจะร่วมกันทำงานรณรงค์ป้องกันเอดส์  

รวมถึงการช่วยเหลือเพื่อน MSM ในประเทศไทยให้มีพื้นที่ยืนในสังคม

 

ดนัย ลินจงรัตน์

ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 

 

ในอดีต การทำงานขององค์กรที่ทำงานป้องกันเอดส์ในกลุ่ม MSM จะทำงานกับแบบตัวใครตัวมันไม่มีโอกาสได้รวมตัวกันทำงาน มีการแบ่งเขตการทำงานกัน ไม่ค่อยแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ถ้าหากการช่วยเหลือกันจะเกิดขึ้นก็เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของคนทำงานในองค์กรที่ต้องรู้จักกันไม่ได้เกิดขึ้นในภาพรวม

 

จุดเริ่มต้นที่สามารถรวมตัวกันได้ในช่วงเริ่มแรกเกิดจากโจทย์ที่ได้รับจากศูนย์ประสานงานพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์ป้องกันเอดส์ ที่เน้นสนับสนุนการทำงานป้องกันเอดส์อย่างเป็นเครือข่าย จนทำให้เริ่มต้นและมีการประชุมเพื่อพัฒนาและจัดทำโครงการในปีแรก โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้ทำการประสานและรวบรวมเพื่อนองค์กรที่ทำงานป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายบริการทางเพศ สาวประเภทสอง และสาวประเภทสองบริการทางเพศที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศให้มารวมตัวกัน และเป็นการรวมตัวกันเป็นครั้งแรกของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) (MSM คือ Men who have Sex with Men หรือ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งตอนแรกนั้นเป็นการรวมกันเฉพาะกิจ เพื่อประชุมหาแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะดำเนินโครงการร่วมกัน ดังเรื่องราวต่อไปนี้   

 

ปักปันเขตแดน 

ก่อนหน้าโครงการนี้ เราไม่เคยมีการทำงานร่วมกันมาก่อน ทำให้มีการทำงานที่ทับซ้อนกันทั้งในประเด็นการทำงาน กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ ทำให้พวกเรากระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง และสื่อสารกันอย่างไร้ความเมตตา

(หมายเหตุผู้เขียน : ตามประสากลุ่มผู้มีความหลายทางเพศ เวลาพูดกันจะมีดอกไม้สารพัด และมีสารพัดสัตว์มาร่วมในบทสนทนา)

 

การมาทำงานโครงการนี้ ตอนแรกเหมือนบังคับให้เราต้องมานั่งโต๊ะเดียวกัน พูดคุยต่อรองกัน และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างลึกซึ้ง ทำให้พวกเราลดความขัดแย้งต่างๆ ลงและหันมาให้ความช่วยเหลือเกื้อหนุนกันมากขึ้น เช่น พื้นที่เชียงใหม่ m-plus กับ ฟ้าสีรุ้งเชียงใหม่  พื้นที่กรุงเทพ สวิง ฟ้าสีรุ้ง กรุงเทพและ บางกอกเรนโบว์ และในบางพื้นที่เช่นที่พัทลุง จากกลุ่มฟ้าสีรุ้งพัทลุง และกลุ่มพลังสีม่วง ได้รวมตัวกันจนกลายเป็น กลุ่มฟ้าสีรุ้งพลังสีม่วงพัทลุง และร่วมกันทำงานโดยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

จากเขตแดนต่างๆ ที่เราเคยปักและกีดกัน กันเองในตอนแรก โครงการนี้ได้เข้ามาเป็นสะพานเชื่อมใจของพวกเราให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และเป็นการปักเป้าหมายร่วมให้แก่ทุกองค์กรเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แม้เราจะเจออุปสรรคบ้างในการทำงาน แต่พวกเราก็ได้หนุนเสริมกำลังใจ และให้การสนับสนุนกันเป็นอย่างดี เพื่อจะร่วมกันทำงานรณรงค์ป้องกันเอดส์ รวมถึงการช่วยเหลือเพื่อน MSM ในประเทศไทยให้มีพื้นที่ยืนในสังคมโดยไม่ถูกกีดกัน ตีตรา และมีสุขภาวะทางเพศที่ดีต่อไป

 

ความท้าทายในการรวมเครือข่ายปีต่อเนื่อง  

จากเขตแดนที่หายไป ร่วมกันทำงานกลับกลายมาเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งอีกครั้งสำหรับโครงการต่อเนื่อง ที่จะต้องดำเนินการ ด้วยโจทย์จากศูนย์ประสานงานพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์ป้องกันเอดส์ว่า “ต้องลองพัฒนาให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีการดำเนินงานป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายรักชายมาก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าต้นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ แนวทาง และรูปแบบการทำงาน รวมถึงกลไกต่างๆ ที่โครงการเคยทำมานั้น สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ได้”

จากโจทย์ที่ท้าทายอีกครั้งนี่เอง ที่ทำให้สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานอีกครั้ง โดยเลือกจังหวัดที่ไม่เคยมีการทำงาน MSM มาก่อน และเป็นจังหวัดใหม่ที่จะดำเนินการในโครงการกองทุนโลก ปีที่ 2 (GF 8 ปี 2) เพื่อเป็นการเตรียมคนทำงานของพื้นที่ และได้เลือก 4 จังหวัดคือ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งในพื้นที่ไม่มีองค์กร และไม่มีแกนนำ MSM เลย จึงต้องไปเริ่มต้นด้วยการประชุมกับ จนท.สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และค่อยๆ ค้นหาว่ามี MSM ที่พอจะเป็นแกนนำได้อยู่ที่ใดบ้าง ผ่านคนในพื้นที่ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

หมายเลขบันทึก: 457239เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2011 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท