ความรู้เบื้องต้นของธุรกิจ ตอน 2


การประกอบธุรกิจเบื้องต้น,การเป็นผู้ประกอบการ

วัตถุประสงค์ของการประกอบธุรกิจ (Business Goals)
                    ผู้ประกอบธุรกิจแทบทุกประเภทมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอย่างเดียวกัน คือ ต้องการกำไร แต่ธุรกิจไม่ควรมุ่งกำไรสูงสุด เพราะธุรกิจควรมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย  กล่าวคือการประกอบธุรกิจแสดงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม อาทิ การบริจาค การช่วยเหลือ การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  

บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ
                     บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลัก ๆ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจ  นั้น อาจจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
                     1. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือ ผู้ที่ยอมทุ่มเทเวลา ความพยายาม และเงินทุน เพื่อเริ่มและดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหวังผลกำไรที่เกิดจากธุรกิจ เป็นผลประโยชน์ตอบแทนความเสี่ยงในการลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งบางครั้งธุรกิจนอกจากจะไม่มีกำไรเป็นค่าตอบแทนความเสี่ยงแล้ว ยังอาจประสบกับภาวะขาดทุนด้วยก็ได้
                     ***ข้อสังเกต ผลตอบแทนความเสี่ยง (Risk) จากการลงทุนทำธุรกิจประเภทต่าง ๆ นั้น จะเป็นไปตามหลักการที่ว่า High Risk, High Returns กล่าวคือ ถ้ามีระดับความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็มักต่ำ ถ้ามีระดับความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็มักจะสูง เช่น การซื้อล็อตเตอรี่มักจะมีความเสี่ยงสูง เพราะโอกาสที่จะถูกรางวัลมีน้อยมาก แต่ว่าถ้าถูกรางวัลใหญ่ ๆ แล้วผลตอบแทนจะสูงมาก เป็นต้น

                      2. ผู้ให้สินเชื่อ (Creditors) คือ ผู้ที่ให้เงินแก่ผู้ประกอบการกู้ยืมไปลงทุน โดยต้องการผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและการส่งคืนเงินต้นจากกิจการ ซึ่งผู้ให้สินเชื่ออาจจะเป็นบุคคลหรือสถาบันการเงินก็ได้

                      3. พนักงานภายในองค์การธุรกิจ (Employees) คือ พนักงานทุกระดับนับตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการ (คนงาน) หัวหน้างาน ผู้จัดการ จนกระทั่งถึงผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจและมีบทบาทมากในการสั่งการทุก ๆ อย่างภายในองค์การธุรกิจ
ข้อสังเกต ผู้บริหารสูงสุด  มีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและการวางแผนกลยุทธ์ภายในบริษัท

                       4. ลูกค้าของกิจการ (Customers) คือ บุคคลทั่วไปที่ให้การสนับสนุนกิจการโดยการซื้อสินค้าและบริการ กิจการทุกกิจการจะอยู่ไม่ได้เลยหากไม่มีลูกค้า ดังนั้นลูกค้าจึงเปรียบเหมือนหัวใจที่สำคัญที่สุดของกิจการ บางครั้งถึงขนาดมีการกล่าวกันว่า "ลูกค้าเปรียบเหมือนพระราชา" (Customers is the King) หมายความว่า เวลากิจการจะทำอะไรต้องยึดความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาวิชาธุรกิจ
                       พอสรุปได้ว่า เมื่อได้ศึกษาและมีความรู้ทางธุรกิจแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน คือ
                      1. เป็นผู้บริโภคและผู้ลงทุนที่ดี คือ การศึกษาถึงระบบธุรกิจจะทำให้ผู้ที่เป็นลูกค้าและผู้ลงทุนได้รับข้อมูลมากขึ้น เป็นผลให้เขาเหล่านั้นมีความฉลาดรอบรู้ที่จะตัดสินใจซื้อหรือจ่ายเงินเพื่อลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม
                      2. เป็นลูกจ้างที่ดีขึ้น คือ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาธุรกิจจะช่วยให้เลือกอาชีพที่ถูกใจได้ดีขึ้น
                      3. ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การได้รู้ซึ้งถึงสภาพอันแท้จริงของธุรกิจ ช่วยในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง และช่วยในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น

**การประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยความรู้ทางด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ
                    1. ด้านบัญชี (Accounting)

                    2. ด้านเศรษฐศาสตร์ (Economics) 
                    3. ด้านสังคม (Sociology)

                    4. ด้านจิตวิทยา (Psychology)
                    5. ด้านการเมือง (Politic)

                    6. ด้านสถิติ (Statistic)
                    7. ด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Law)

                    8. ด้านภาษาธุรกิจ (Business Knowledge)

เศรษฐกิจในรูปของธุรกิจเอกชน
                    เมื่อพูดถึงระบบเศรษฐกิจในรูปของธุรกิจเอกชน มีหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ คือ
                    1. การเป็นเจ้าของในทรัพยากรการผลิต
                    2. ความมีโอกาสอย่างเสรีที่จะเลือกได้ตามความพอใจ

                    เนื่องจากการเป็นเจ้าของส่วนตัวในทรัพยากรการผลิต บางครั้งจึงเรียกระบบนี้ว่า ระบบทุนนิยม หรืออาจเรียกว่า ระบบการประกอบกิจการเสรี เพราะประชาชนสามารถเลือกได้ว่าอะไรที่ตนจะทำ แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว เอกชนและผู้ประกอบการในระบบนี้ไม่ได้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ต่อการที่จะเลือกได้เองตามความพอใจ ดังนั้นจึงน่าจะใช้คำว่าการประกอบกิจการส่วนตัว  เหมาะสมกว่าที่จะใช้คำว่า ทุนนิยม หรือการประกอบกิจการเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม เช่น ประเทศไทย เป็นต้น

สิทธิขั้นพื้นฐานของระบบธุรกิจเอกชน คือ
                1. สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ (Right to Property Ownership)
                2. สิทธิในการได้มาซึ่งผลกำไร หรือแรงกระตุ้นกำไร (Profit Incentive)
                3. สิทธิในการแข่งขันซึ่งกันและกัน หรือโอกาสในการแข่งขัน (Opportunity to Compete)
                4. สิทธิในการมีเสรีภาพในการเลือกและการตกลงทำสัญญา (Freedom of Choice and Contract)


ปัจจัยในการผลิต 

                กระบวนการบริหารงานที่ถือว่าเป็นหลักสากลนั้น จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ปัจจัยนำเข้า (Inputs) , กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Outputs) สำหรับการผลิตก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้โดยการผลิต (Production) หมายถึง กระบวนการ (Process) ในการแปลงสภาพวัตถุดิบ (Inputs) ซึ่งก็คือทรัพยากรให้เป็นผลผลิต (Outputs) คือ สินค้าหรือบริการตามความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจัยในการผลิต ประกอบด้วย
                1. ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ได้แก่ ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ และพลังงานต่าง ๆ
                2. แรงงาน (Labor) หมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ แรงงานฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ
                3. ทุน (Capital) หมายถึง โรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร และเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน
                4. ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) หรือการประกอบการ หมายถึง ความเต็มใจที่จะเสี่ยง รวมทั้งความรู้และความสามารถที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

    ***สรุปได้ว่า ปัจจัยในการผลิตที่สำคัญก็คือ คน (Man) , เงิน (Money) , วัตถุดิบ (Material) , เครื่องจักร (Machine) และข้อมูลข่าวสาร (Information) ต่าง ๆ นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #ปัจจัยการผลิต
หมายเลขบันทึก: 457171เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2011 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท