arm aree
นางสาว อารีย์ อาร์ม วงเขียว

ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโครงการ


การเขียนโครงการ

ความหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

1. โครงการ  

ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. 2525  หมายถึง  แผนหรือเค้าโครงตามที่กะ  กำหนดไว้        แผน เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงอนาคตต่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อแสดงให้รู้ว่า  ใครเป็นผู้ทำ ทำอะไร ทำที่ไหน  ทำเมื่อไร   ทำไมต้องทำ  และทำอย่างไร  ใช้งบประมาณเท่าไร จึงจะบรรลุผลตามที่ต้องการ  

คำว่า .โครงการ. ภาษาอังกฤษใช้คำว่า .Project. ซึ่งหมายถึง แผนงานย่อยที่ประกอบด้วย

กิจกรรมหลายกิจกรรม หรืองานหลายงานที่ระบุรายละเอียดชัดเจน อาทิ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินการ วิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินงาน พื้นที่ในการดำเนินงาน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานตลอดจนผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ  แผนงานที่ปราศจากโครงการย่อมเป็นแผนงานที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นการเขียนโครงการขึ้นมารองรับแผนงาน ย่อมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งเพราะจะทำให้ง่ายในการปฏิบัติ และง่ายต่อการติดตามและประเมินผลเพราะถ้าโครงการบรรลุผลสำเร็จ นั้นหมายความว่า แผนงาน และนโยบายนั้นบรรลุผลสำเร็จด้วย

โครงการจึงเปรียบเสมือนพาหนะที่นำแผนปฏิบัติการไปสู่การดำเนินงานให้เกิดผลเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงจากแผนงาน ไปสู่แผนเงิน และแผนคนอีกด้วย

 

2. ชื่อโครงการ 

การตั้งชื่อโครงการต้องมีความชัดเจน เหมาะสม   และเฉพาะเจาะจง    เป็นที่เข้าใจได้

โดยง่ายสำหรับผู้นำโครงการไปใช้หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ชื่อโครงการจะบอกให้ทราบว่า

จะทำสิ่งใดบ้าง โครงการที่จัดทำขึ้นนั้นทำเพื่ออะไร ชื่อโครงการโดยทั่วไปควรจะต้องแสดงลักษณะ

งานที่ต้องปฏิบัติ ลักษณะเฉพาะของโครงการ และจุดมุ่งหมายของโครงการ เช่น โครงการพี่สอนน้องก่อนสอบ โครงการผักสวนครัว รั้วกินได้ โครงการสานสัมพันธ์น้องพี่รามคำแหง โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการวางแผนเขียนโครงการ โครงการแข่งขันจรวดขวดน้ำอัดลมเป็นต้น

3.  หลักการและเหตุผล

                ส่วนนี้บางตำราเรียนว่า  “ภูมิหลัง”  เป็นส่วนที่แสดงถึงปัญหา  ที่ความจำเป็น  หรือความเป็นไปได้ของโครงการและจะเป็นส่วนที่จะตอบคำถามว่า  “ทำไมต้องทำ (WHY)”  มีเหตุผลใดที่มีปัญหาหรือความจำเป็นจะต้องแก้ไข  ตลอดจนชี้แจงถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ  หากเป็นโครงการที่จะดำเนินการตามนโยบาย  หรือสอดคล้องกับแผนหรือนโยบายของมหาวิทยาลัย หรือแผนอื่น ๆ  บางครั้งต้องอ้างกฎหมายหรือทฤษฎีต่าง ๆ มาสนับสนุนโครงการให้สมเหตุสมผล บอกรายละเอียดความจำเป็นที่ต้องทำ  และระบุว่าหากไม่ดำเนินโครงการนี้  จะเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง   เพื่อให้ผู้อนุมัติโครงการเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ของโครงการ    ส่วนนี้จึงนับว่าเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการเขียนโครงการ  เพราะหากส่วนนี้เขียนอย่างไม่รอบคอบและไม่สามารถเร้าความสนใจของผู้มีอำนาจสั่งการให้อนุมัติโครงการ  ได้เห็นประโยชน์และความจำเป็นแล้วอาจไม่ได้รับอนุมัติโครงการก็ได้  

การเขียนหลักการและเหตุผล

  • ส่วนแรก หรือย่อหน้าที่ 1 โดยทั่วไปมักจะกล่าวอ้างถึงนโยบาย ในระดับมหาวิทยาลัยก็จะอ้างถึงนโยบายของอธิการบดี หรืออ้างถึงวัตถุประสงค์ขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจอะไร หรือจะกล่าวอ้างถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาก็ได้ นอกจากนี้แล้วในกรณีเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้แก่นักศึกษาแล้วควรต้องกล่าวอ้างถึงคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
  • ส่วนที่สอง หรือย่อหน้าที่ 2 มักจะกล่าวถึงสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ ซึ่งหากไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงแล้วย่อมจะทำให้ "ส่วนแรก" เกิดความเสียหายได้
  • ส่วนที่สาม หรือย่อหน้าที่ 3 มักจะกล่าวถึงกิจกรรมที่โครงการนี้ควรดำเนินการ และหากดำเนินการแล้วจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร และเกิดประโยชน์กับใคร

 

4. วัตถุประสงค์ 

                4. วัตถุประสงค์ เป็นการบอกให้ทราบว่า การดำเนินงานตามโครงการนั้นมีความต้องการให้อะไรเกิดขึ้นวัตถุประสงค์ที่ควรจะระบุไว้ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้และวัดและประเมินผลได้ โดยเขียนวัตถุประสงค์เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม  คือเขียนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเขียนเป็นนามธรรม  การทำโครงการหนึ่ง ๆ อาจจะมีวัตถุประสงค์  มากกว่า 1 ข้อได้ แต่ทั้งนี้การเขียนวัตถุประสงค์ไว้มาก ๆ อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติมองไม่ชัดเจน และอาจ  จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน-ปฏิบัติได้-วัดได้ เพียง 1-3 ข้อโดยทั่วไปการเขียนวัตถุประสงค์  ควรพิจารณาลักษณะที่ดี  5  ประการ  ที่เรียกว่า  “SMART”  ดังนี้
        S   =  SENSIBLE  (เป็นไปได้)  :  วัตถุประสงค์ที่ดีต้องมีความเป็นไปได้ในการดำเนินงานโครงการ
        M  =  MEASURABLE  (สามารถวัดได้)  :  วัตถุประสงค์ที่ดีจะต้องระบุสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจน

       A = achievable สามารถบรรลุ หรือสำเร็จได้
        R  =  REASONABLE  (เป็นเหตุเป็นผล)  :  วัตถุประสงค์ที่ต้องการต้องมีเหตุผลในการทำ
        T  =  TIME  (เวลา)  :  ต้องมีขอบเขตด้านเวลาไว้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีคำที่ควรหลีกเลี่ยง   ในการใช้เขียนวัตถุประสงค์ของโครงการ     เพราะเป็นคำ

ที่มีความหมายกว้าง ไม่แสดงแนวทางการปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ ยากต่อการวัดและประเมินผลการดำเนินงานได้ คำดังกล่าวได้แก่คำว่า เข้าใจ ทราบ คุ้นเคย ซาบซึ้ง รู้ซึ้ง เชื่อ สนใจ เคยชิน สำนึก และยอมรับ เป็นต้น ดังตัวอย่างประโยค ต่อไปนี้

- เพื่อให้เข้าใจถึงการดำเนินงาน

- เพื่อให้สามารถทราบถึงความเป็นมาของปัญหาการปฏิบัติการ

- เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งในพระศาสนา

 

5. ตัวชี้วัด 

มหาวิทยาลัยกำหนดให้ผู้รับผิดชอบโครงการระบุตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จหรือแสดงให้เห็นว่าบรรลุจุดมุ่งหมาย  เป็นการการคาดหวังล่วงหน้าในสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่สิ้นสุดโครงการสามารถเขียนได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตัวชี้วัดเชิงปริมาณจะระบุตัวเลขตามหน่วยที่ต้องการ เช่น ความถี่ ร้อยละ อัตราส่วน หรือเป็นจำนวนตัวเลขธรรมดาก็ได้ ส่วนตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเช่นความรู้ ความสามารถความสะอาด เรียบร้อย ความสวยงาม ความคงทนถาวร ความสมบูรณ์ 

 

(1) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ หมายถึง ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่สามารถวัดได้ในเชิงตัวเลขกับความสำเร็จ เช่น มีบุคลากรเข้าร่วมสัมมนา  50  คน  ซ่อมห้องน้ำจำนวน 20 ห้อง ฯลฯ

                        (2) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ หมายถึง การวัดความสำเร็จที่ปรากฏเป็นเชิงปริมาณข้างต้นว่ามี คุณภาพระดับไหน  อย่างไร เช่น ระดับความพึงพอใจ   ระดับความสำเร็จของกิจกรรม  ฯลฯ

(3)   ตัวชี้วัดเชิงเวลา หมายถึง การวัดความสำเร็จและระยะเวลาในการดำเนินโครงการว่าตรงตามเป้าหมายที่กำหนดของโครงการหรือไม่ เช่น   ซ่อมห้องน้ำ  20  ห้องใช้เวลา  8  เดือน

                (4)  ตัวชี้วัดเชิงค่าใช้จ่าย หมายถึง ตัวชี้วัดผลการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการว่าเป็นไปตามแผนงาน/โครงการที่กำหนดหรือไม่ เช่น โครงการปรับปรุงห้องน้ำ 20 ห้อง กำหนดงบประมาณไว้เป็นจำนวน 6 แสนบาท ตัวชี้วัดเชิงค่าใช้จ่าย คือ การตรวจสอบว่างบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงห้องน้ำ 20 ห้องนั้น ได้ใช้จ่ายไปไม่เกินจำนวนงบประมาณที่กำหนด (6 แสนบาท)

 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ  

  • มุ่งที่จะจะวัดความสำเร็จแต่ละโครงการภายใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ความรู้ความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย 2) ความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย 3) การนำความรู้ไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย  

การกำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัด 

  • ตัวชี้วัด (Indicator) คือสิ่งบ่งบอกให้รู้ว่าคุณสมบัติที่ต้องการมีอยู่หรือไม่
  • เช่น ความรวดเร็วเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงาน
  • ความถูกต้องของงานที่ทำเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงาน   
  • ความพึงพอใจเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการบริการ
  • ความรู้เกี่ยวกับโครงการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการถ่ายทอดข้อมูล
  • พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นตัวชี้วัดประสิทธิผลของโครงการรณรงค์

 

6. ค่าเป้าหมาย

หมายถึง ตัวเลข หรือค่าของตัวชี้วัดความสำเร็จ ที่หน่วยงานต้องการบรรลุขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนของการกำหนด หรือ ระบุว่า ในแผนงานนั้น ๆ หน่วยงานต้องการทำอะไร ให้ได้เป็นจำนวนเท่าไร และภายในกรอบระยะเวลาเท่าใด จึงจะถือว่าบรรลุเป้าหมาย เช่น จำนวนนักศึกษาเพิ่มเป็นจำนวน 2,250 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

7.ผลผลิต

                หมายถึง กิจกรรม งาน หรือบริการที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อส่งให้ผู้รับบริการ งานทุกอย่าง

ต้องมีผู้รับบริการ ผู้รับบริการอาจจะเป็นคนในองค์กร หรือนอกองค์กร แล้วแต่ลักษณะของงาน หรือผลผลิตหมายถึง สิ่งของ หรือบริการที่เป็นรูปธรรม รับรู้ได้ หรือผลิตโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้

บุคคลภายนอกได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำ เราผลิต และควบคุมได้

 

8.ผลลัพธ์

                หมายถึง เหตุการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้น หรือเงื่อนไขที่เกิดขึ้นนอกโครงการ และมีความเกี่ยวข้อง

โดยตรง ต่อผู้ใช้บริการ และสาธารณะ หรืออีกนัยหนึ่ง ผลลัพธ์ หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิต และผลกระทบที่มีต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมในการใช้ประโยชน์ จากสินค้าและบริการที่จัดทำ หรือผลิตขึ้นมาโดยหน่วยงานของรัฐ 

ที่มา : www.surin.ru.ac.th/UserFiles/File/DocKM/Project.doc

คำสำคัญ (Tags): #โครงการ
หมายเลขบันทึก: 457163เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2011 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท