คำพูดที่พูดยาก แต่เป็นคำที่สำคัญมากในการเป็นหัวหน้างาน


  คำพูดที่พูดยาก แต่เป็นคำที่สำคัญมากในการเป็นหัวหน้า

          การที่เราได้เป็นหัวหน้างานในระดับต่าง ๆ ขององค์กร มักจะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเองว่าเราก็เป็นคนเก่งคนหนึ่ง ที่องค์กรให้ความเชื่อมั่นในการทำงาน และเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ แต่ความเชื่อมั่นตรงนี้ ถ้ามีมากเกินไป ก็จะเกิดผลเสียในการบริหารงานภายในทีมงานได้

          มีคำพูดอยู่ 2 คำที่เป็นคำพูดที่ยาก จะออกจากปากของหัวหน้าที่มีความเชื่อมั่นใจตนเองแบบสูงมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไปหน่อย ก็จะทำให้เขาเกิดทิฐิ และไม่ค่อยกล้าที่จะพูดคำพูดสองคำนี้ เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าตนเองเสียหน้า ขายหน้า และไม่กล้าสู้หน้าลูกน้องตนเอง แต่จริง ๆ แล้วคำพูดสองคำนี้กลับมีความสำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมงานของเราเอง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ได้ในอนาคต

  • คำแรก  ที่ไม่ค่อยได้ออกจากปากหัวหน้าที่เชื่อมั่นในตนเองสูงมาก ๆ ก็คือคำว่า “ขอโทษ” เวลาที่หัวหน้าทำอะไรไม่ถูกต้อง หรือ ตัดสินใจผิดพลาดไปบ้าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความเงียบ หรือไม่ก็เปลี่ยนเรื่องไปเป็นเรื่องอื่นมากกว่าที่จะบอกกับทีมงานว่า “ผมขอโทษในสิ่งที่ผมตัดสินใจผิดไป” ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ทีมงานรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไร เหมือนกับหัวหน้าไม่ค่อยยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้าคนอื่นในทีมทำผิดเมื่อไร หัวหน้าก็จ้องจะเล่นงานทันที
  • คำที่สอง  ก็คือคำว่า “ผม(ดิฉัน)ผิดเอง” คำนี้ยิ่งออกจากปากหัวหน้าที่มีความมั่นใจสูง ๆ ยากกว่าคำแรก เพราะการที่พูดว่า “ผม(ดิฉัน)ผิดเอง” นั้น มันเหมือนกับการเสียหน้า เพราะบางครั้งหัวหน้าเองก็ตัดสินใจด้วยความมั่นใจที่สูงมาก และไม่ฟังเสียงทัดทานของลูกทีมเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลรองรับก็ตาม แต่หลังจากที่ตัดสินใจไปแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้น มักจะโทษสภาพแวดล้อมข้าง ๆ ไปเรื่อย โดยไม่เคยคิดจะยอมรับความผิดพลาดของตนเองเลย แต่ถ้าเรายอมรับความผิดพลาดด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้ลูกน้องของเรารู้สึกถึงความตรงไปตรงมาของเรา และจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวหัวหน้ามากขึ้นได้

ดังนั้น สองคำนี้  จึงเป็นคำที่พูดยาก แต่กลับเป็นคำที่มีความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหัวหน้า เพราะถ้าเราทำอะไรผิดพลาด แล้วเราขอโทษด้วยความจริงใจ เรายอมรับผิดด้วยความเต็มใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป ลูกน้องจะยิ่งเกิดความมั่นใจในตัวหัวหน้ามากขึ้น เพราะเขากล้าที่จะยืดอกรับผิดในสิ่งที่เขาทำ โดยไม่โวยวายไปต่าง ๆ นานา

  แต่ถ้าหัวหน้าทำผิดตลอดเวลา และพร้อมที่จะกล่าวคำขอโทษอยู่เสมอ แบบนี้ก็ไม่ค่อยดี เพราะลูกน้องก็อาจจะไม่เกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่หัวหน้าทำสักเท่าไร ดังนั้นก็คงต้องเดินทางสายกลางเข้าไว้เป็นดีที่สุด

ให้เป็นชีวิตที่จะถูก  " รีไซเคิล " ตลอดเวลา

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 456905เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท