การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์กับการสร้างภาคีการพัฒนาแนวนิเวศ


การวิจัยกับพันธกิจการสร้างความสมานฉันท์กับผู้คนและสังคม

ผศ.ดร. ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน

ศูนย์วิจัยทางสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการวิจัยและการพัฒนามนุษย์และสังคม  ระหว่างนักวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ นักคิด นักวิชาการทางสังคมศาสตร์  นักศึกษากับชุมชนและประชาชนทั่วไป   ด้วยความมุ่งหวังเกิดให้พื้นที่ใหม่ๆในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนที่มีรากฐานมาจากจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ในการรับใช้ประชาชน    ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยทางสังคมสงเคราะห์ มีความมุ่งมั่นที่จะริเริ่มกิจกรรม ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์กับชุมชนในละแวกมหาวิทยาลัย (community outreach project) ด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม   หรือการร่วมสร้างความรู้กับชุมชน ด้วยเป้าหมายการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในฐานะพลเมืองของสังคม นั้นถือเป็นอุดมการณ์หลักอีกประการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพันธกิจการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์อย่างยากที่จะละเลยได้     

ท่ามกลางความพยายามที่จะพัฒนาสังคมและการเมืองไทยสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น   เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่องว่างระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงยังดำรงอยู่   อย่างชัดแจ้ง  ด้วยเหตุที่ว่าในความเป็นจริง ผู้ กำหนดวาระในการพัฒนาและมีอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจกลับกลายเป็นชนชั้นนำทั้งที่อยู่ในคณะรัฐบาลทุกสมัยร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่น้อยที่  อาจมิได้ให้ความสำคัญหรือความมุ่งมั่นในดำเนินนโยบายการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) เท่าใดนัก  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นที่น่ายินดียิ่งก็คือขณะนี้ประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เคยตกเป็นเหยื่อของนโยบายการพัฒนาประเทศที่ยึด “ผลกำไรทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางและเห็นทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นทุนที่ใช้ได้แบบไม่มีวันหมดสิ้น”  กลับกลายเป็นผู้มีความรู้ความตระหนักและมีสำนึกในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างน่าชื่นชม   อาจกล่าวได้ว่าประชาชนคือผู้ตื่นและตระหนักแล้วว่าเพราะเหตุใดเขาจึงต้องทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติให้พ้นจากภัยอันเกิดจากภาคการเมืองที่ถูกขับเคลื่อนโดยอุดมการณ์เศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ (neo-liberal economics)    การเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้อุบัติขึ้นที่ในเขตพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้  เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการ Southern Seaboard อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของภาครัฐต่อเนื่องมาหลายรัฐบาลคือสัญญาณที่บ่งชัดว่า ภาคประชาชนกำลังผนึกกำลังกันอีกครั้งในการ ทวงคืนสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในระดับนโยบาย (policy decision making) ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอนาคตของลูกหลานผู้ยังต้องฝากชีวิตไว้กับผืนป่า ขุนเขาและท้องทะเล  อันเป็นสิทธิที่ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

เพื่อเป็นการแสดงความสมานฉันท์ (solidarity) และเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและยกเลิก Mega Project ว่าด้วยการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม  ศูนย์วิจัยทางสังคมสงเคราะห์  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์กับการสร้างภาคการพัฒนาแนวนิเวศ”  เพื่อให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิด เห็น ทัศนะ ต่อประเด็นดังกล่าวและเพื่อแสวงหาทิศทางและแนวทางในการประสานความร่วมมือในการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์  อีกทั้งเป็นน่าจะเป็นการช่วยให้มโนทัศน์ “พันธกิจการบริการทางวิชาการแก่สังคม” ของมหาวิทยาลัยมีทิศทางที่ชัดเจนมีความเป็นรูปธรรม มากยิ่งขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 456744เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2011 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท