การวางแผนกลยุทธ


แผนกลยุทธ

การวางแผนกลยุทธ์

                กลยุทธ์ เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในความหมายของศิลป์และศาสตร์เกี่ยวกับยุทธการทางทหารซึ่งคำศัพท์ “กลยุทธ์” หรือ “Strategy” นั้นมาจากคำสองคำรวมกันคือ “Stratos” ซึ่งหมายถึง “ กองทัพ” และ “ Legei” ซึ่งหมายถึง “ การนำหรือผู้นำ” กล่าวอีกนัยหนึ่ง กลยุทธ์ หมายถึง เรื่องของการวางแผนยุทธศาสตร์บัญชาการรบเพื่อนำกองทัพเข้ารุกศัตรูเพื่อชัยชนะ โดยการใช้สรรพกำลังและเทคนิควิธีอันชาญฉลาดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั่นเอง  ต่อมานี้ได้ถูกนำมาใช้ในการวางแผนบริหารองค์การ โดยหมายถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ 

                การวางแผนกลยุทธ์ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแผนที่ช่วยให้ผู้นำสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ด้วยวิธีการกำหนดทิศทางอย่างรู้เท่าทันล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ การวางแผนกลยุทธ์เป็นการวางแผนเพื่อสร่างอนาคตโดยให้ความสำคัญกับวิธีการที่จะทำให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆหรือสถานการณ์ที่อาจล้าหลัง โดยมองข้ามกิจกรรมรายละเอียดของงานประจำที่ทำอยู่ปิดสร้างภาพอนาคตที่ดีกว่า ที่เหมาะสมกว่า และที่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในอนาคต ทั้งนี้อาจด้วยวิธีการที่ประหยัดทรัพยากรมากที่สุด โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเหตุการณ์และความเป็นไปของสภาพแวดล้อมภายนอก จากการวิเคราะห์ว่าอะไรคือโอกาสและข้อจำกัดโดยการตรวจสอบทรัพยากรที่มีอยู่ว่ามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งในด้านใด และอะไรบ้างซึ่งจากความสามารถรู้เขาคือรู้สภาพแวดล้อมภายนอก และรู้เราคือรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตน ผู้บริหารก็จะสามารถวางแผนกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์การได้

ความหมายของการวางแผนกลยุทธ์

                กลยุทธ์ (Strategy) เป็นคำที่มีความหมายกว้างและมักจะใช้ในความหมายที่แตกต่างกันไป ตามวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่องค์การ การที่จะวางแผนกลยุทธ์ได้เหมาะสมจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่าการวางแผนกลยุทธ์ให้ชัดเจน ซึ่งได้มีนักวิชาการนำเสนอความหมายไว้ต่างๆ ดังนี้

                การวางแผนกลยุทธ์เป็นการะบวนการกำหนดเป้าหมายระยะยาวขององค์การ( Long Range Goals) การเลือกวิถีทาง (Means) เพื่อให้บรรลุจุดหมายนั้น

                การวางแผนกลยุทธ์เป็นกระบวนการ 1) วิเคราะห์สภาพแวดล้อม  2) ระบุธรรมชาติขององค์การ  3) กำหนดจุดหมายและ  4) จำแนก ประเมิน และเลือกแนวการปฏิบัติสำหรับองค์การ

                การวางแผนกลยุทธ์เป็นแผนของผู้บริหารระดับสูง มีขอบเขตเวลาระยะยาวที่เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแผนของผู้บริหารหรือแผนงานระดับล่าง ซึ่งมีขอบเขตเวลาสั้นกว่าแผนกลยุทธ์โดยทั่วไปแล้วจำแนกเป็นแผนระยะยาว  ระยะปานกลาง และระยะสั้น ทรัพยากรและเทคโนโลยีกับกิจกรรมที่กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น

                กล่าวโดยสรุป การวางแผนกลยุทธ์เป็นระบวนการปรับเปลี่ยนสมมติฐานพื้นฐาน และจัดการใหม่เกี่ยวกับภาพหรือทัศนะของเราที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม กล่าวคือการวางแผนกลยุทธ์ เป็นการวางแผนที่ให้ความสำคัญกับการมองไปสู่อนาคตภายใต้การพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ความสามารถขององค์การ เพื่อระดมทรัพยากรมาใช้และการพิจารณาถึงทางเลือกต่างๆอย่างรอบคอบและชัดเจนว่าจะสามารถนำองค์การไปสู่ภารกิจและเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนั้นการวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทุกปัจจัยที่คาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและที่จะมีผลกระทบต่อองค์การทั้งในแง่โอกาสและอุปสรรคเพื่อจะบอกถึงทิศทางที่องค์การกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อการปฏิบัติในอนาคต

ลักษณะพื้นฐานของแผนกลยุทธ์

                การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นคำที่ใกล้เคียงกับคำที่นิยมใช้กันมานานอีก 2 คำ คือการวางแผนกิจการ(Corporate Planning) และนโยบายธุรกิจ (Business Policy) ซึ่งการวางแผนกลยุทธ์นับว่าเป็นภารกิจด้านการวางแผนของผู้บริหารระดับสูงสุด โดยจะมีขอบเขตการวางแผนที่ครอบคลุมตลอดทั่วทั้งองค์การ และเชื่อมโยงไปถึงสภาพแวดล้อมภายนอกอีกด้วย ลักษณะของ “การวางแผนกลยุทธ์” เป็นงานของผู้บริหารระกับสูงที่มีการวางแผนเชิงรวมเพื่ออนาคตในระยะยาว และเป็นการวางแผนให้กับองค์การปรับตัวได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อการบริหารที่สามารถนำองค์การให้สำเร็จผลในทางต่างๆ

                ลักษณะของการวางแผนกลยุทธ์(Strategic Planning) มีวิวัฒนาการพื้นฐานมาจากวิเคราะห์หลายด้านที่เกี่ยวข้องกับข้อได้เปรียบ (Advantages) ภัยคุกคาม (Threats) ที่เกิดจากสภาวะกดดันของสิ่งแวดล้อม พลังสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ (Environment Forces) ความต้องการของผู้รับบริการ (Customer Demands) รวมถึงสิ่งชี้วัด (Indictors) และวิธีการ (Ways) ตรวจสอบความสำเร็จของจุดมุ่งหมายขององค์การ ดังนั้นแผนที่กำหนดออกมาจึงมีลักษณะช่วยการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงในองค์การเกี่ยวกับนโยบาย (Policy) และการปฏิบัติ (Operations) ที่ต้องมีความสอดคล้องกับกรอบแนวทางการดำเนินงานระดับองค์การ(Corporate Guidelines) อย่างไรก็ตามกรอบแนวทางการดำเนินงานนี้ควรมีลักษณะยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

                ลักษณะการวางแผนการโดยทั่วไปอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แผนกลยุทธ์(Strategic Plans) และแผนดำเนินงาน (Operating Plans) ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นประเภทขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละองค์การ เช่น แผนประจำ (Standing Plans) แผนใช้เฉพาะครั้ง (Single-Use Plans) เป็นต้น

                แผนทุกประเภทต่างก็จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกันเป็นแผนกลยุทธ์ที่อยู่ในขอบข่ายของแนวนโยบายและเป้าหมายเดียวกัน ฉะนั้น การวางแผนกลยุทธ์จะเป็นระบบการวางแผนของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมิใช่เป็นการจัดทำแผนดำเนินงานหรือโครงการต่างๆโดยตรง แต่เป็นเพียงแนวคิดพิจารณาแผนงานขององค์การทั้งหมด ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องคือการพิจารณากำหนดและอนุมัติโครงการ รวมทั้งการจัดลำดับก่อนหลังของการปฏิบัติพิจารณาจัดสรรทรัพยากร ตลอดถึงการพิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อนโยบายและวัตถุประสงค์ในปัจจุบันประกอบกันไปกับการที่จะต้องพิจารณาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และนโยบายนั้นๆที่จะยึดถือปฏิบัติสำหรับองค์การในระยะยาวอีกด้วย

                ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การวางแผนกลยุทธ์ที่มีลักษณะโดยทั่วไปคือ 1) เป็นแผนระยะยาว(Long-Rang Plan) แบบหนึ่งที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆทั้งหมดขององค์การ อันหมายถึงแผนงานระยะยาวที่กำหนดทิศทางและแนวทางสำหรับแผนงานและโครงการในระยะสั้นอย่างครบถ้วนทั้งหมด 2) เป็นแผนงานตามหน้าที่ (Functional Plans) และโครงการ (Projects) ต่างๆเอามารวมไว้ด้วยกัน ในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดงามเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับองค์การ และ 3) เป็นแผนที่มีความคิดเห็นและเป็นที่ยอมรับร่วมกันทั้งองค์การ เพื่อให้องค์การพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัด และอยู่ในฐานะที่พร้อมจะทำประโยชน์จากโอกาสภายนอกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การจัดทำแผนกลยุทธ์ระดับสถานศึกษา

                การจัดทำแผนกลยุทธ์(Strategic Plans) เป็นกิจกรรมแรกที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาจะต้องจัดทำ เพราะแผนกลยุทธ์เป็นแผนงานหลักที่แสดงถึงภาระงาน แนวโน้มของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดการศึกษาของตนเอง ปัจจุบันสถานศึกษามีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สถานศึกษาจะต้องจัดทำแผนกลยุทธ์ ซึ่งมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ธรรมนูญสถานศึกษา (School Charter) แผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา (School Improvement Plan: SIP) คู่มือคุณภาพ (Quality Plan) ซึ่งเอกสารเหล่านี้สามารถเรียกเป็นแผนกลยุทธ์ระดับสถานศึกษาได้ทั้งสิ้น หากเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการจัดทำเป็นขั้นตอนที่เริ่มจากวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในภายนอกที่เป็นจุดแข็ง(Strengths) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission Statement) เป้าหมาย (Goals) มีการกำหนดภารกิจ (Assigned Mission) และมีการคิดอย่างเป็นกลยุทธ์และเป็นระบบ

                การจัดทำแผนกลยุทธ์ระดับสถานศึกษา สถานศึกษาควรกำหนดให้บุคลากรหลักจำนวนอย่างน้อย 30 คน ไม่ควรเกิน 50 คน เป็นผู้จัดทำแผนกลยุทธ์ และสถานศึกษาต้องหาวิธีการที่จะให้แผนที่จัดทำขึ้นเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทุกคน โดยการจัดประชุมสัมมนาหรือการจัดทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น

กระบวนการจัดทำแผนกลยุทธ์

ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ สถานศึกษาควรดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1    การสำรวจสภาพของสถานศึกษา เป็นวิธีของการดำเนินงานเพื่อกำหนดจุดอ่อน  จุดแข็ง หรือสิ่งที่เป็นมาตรฐาน และสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานของสถานศึกษา

ขั้นตอนที่ 2 
 การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์และเป้าหมาย เป็นการกำหนดความมุ่งหวัง ทิศทาง และความสำเร็จในอนาคต

ขั้นตอนที่ 3  การกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เป็นการกำหนดมาตรการของการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

ขั้นตอนที่ 4 
 การกำหนดภารกิจของสถานศึกษา เป็นการกำหนดงาน / โครงการ / กิจกรรม ให้สอดคล้องกับภารกิจและสภาพปัญหา หรือสิ่งที่ต้องพัฒนา

 

 

คำสำคัญ (Tags): #แผนกลยุทธ์
หมายเลขบันทึก: 456560เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท