โรคมือ ปากเท้า ในเด็ก กับยาไทย ยาเขียวหอม มหานิลแท่งทอง ประสะจันทน์แดง


เมื่อได้บันทึก ยาห้าราก กับ ไข้มือปากเท้า ในเด็ก

เดิมคิดว่า  ยาห้าราก จะมีตัวยาน้อย ได้ผลสูง  ราคาไม่แพง  แต่ก็มีปัญหาว่า หาซื้อไม่ได้ทั่วไป

จึงต้องทบทวนใหม่ว่า กลุ่มอาการโรคไข้ไวรัส แบบนี้  จะใช้ยาไทยตำรับ อะไรที่น่าจะได้ผล ใกล้เคียงกัน

ในรายการบัญชียาไทย ล่าสุด นี้  มียาไทย ที่ใช้รักษา ไข้หัด สุกใส  และ มีคนใช้ได้ผลจริงๆ แม้จนถึงทุกวันนี้  เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของประชาชน แต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของแพทย์   ผู้อ่านก็เลือกเอาเองว่าจะเชื่อใคร

ได้แก่

ยาเขียว(หอม)

ยามหานิลแท่งทอง

ยาประสะจันทน์แดง

หากหายาอื่นไม่ได้  อาจจะใช้  จันทน์ลีลา ก็ยังพอไหว หากเริ่มใช้ในระยะแรกๆ

ชุดตำรับนี้เป็นยาเย็น  เหมาะกับไข้พิษร้อน ที่มีลิ้นแดงจัด   ทั้งสี่ตำรับ นี้ มีตัวยาที่เหมือนกัน คือ แก่นจันทน์แดง  

แก่นจันทน์แดง เป็นยาเย็น เหมาะกับไข้เพื่อปิตตะ หรือไข้เพื่อดี

ในการแพทย์ไทย และ จีน มองว่า ไข้ที่มีผื่นแดงขึ้น จะมีผลกระทบ ต่อระบบตับและน้ำดี   ซึ่งเป็นจริงๆกับกรณีของไข้เลือดออก ที่เชื้อไวรัสไข้เลือดออกจะบุกรุกเซลล์ตับ และรายที่มีอาการหนัก จะพบตับเสื่อมตับวายจริงร่วมด้วย

ไข้ มือปากเท้า ก็มีลักษณะตุ่มน้ำแดง การรักษาก็ใช้ยาที่รักษาไข้สุกใสมาแทนได้  นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการไข้มือปากเท้า จนเสียชีวืตในต่างประเทศ จะมีโรคแทรกซ้อนต่อหัวใจ    ซึ่งยาไทยกลุ่มที่ใช้รักษา โรคสุกใส หัด หลายตำรับ จะเข้ายาที่ช่วยบำรุงรักษาหัวใจไว้ด้วย  คือ ยาที่เข้า เกสร หรือ ดอกไม้

ดังตัวอย่าง

ตำรับยาเขียวหอม ตำรับยาลดไข้สำหรับเด็ก ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม เปราะหอม แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ  ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง

ยามหานิลแท่งทอง เป็นยาใช้รักษาหัด สุกใส ที่ไม่มีพิกัดยาเกสรผสมต่างจากยาลดไข้อื่นๆ

บางทีเด็กที่อ่อนแอ  หรือ มีธาตุเจ้าเรือน วาตะ( เกิดช่วง มิย-กย )เมื่อมีไข้  ใช้ยาลดไข้ ที่เข้าเกสร ด้วย ก็คงจะช่วยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

 

ตัวอย่าง ในปี 2542 มีประกาศกระทรวง สธ เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

http://www.samunpri.com/modules.php?file=yasamon1&name=Herbs

ได้แนะนำ ว่า

ยาบรรเทาหัด อีสุกอีใส    ได้แก่

              1 ยามหานิลแท่งทอง  ยาเขียวหอม  ที่มีส่วนประกอบ วิธีทำ สรรพคุณ ขนาดรับประทาน ขนาดบรรจุตามรายละเอียดในข้อ 3 แห่งประกาศฉบับนี้

               2 ตำรับยาที่มีตัวยาดังต่อไปนี้ตัวหนึ่งตัวใดหรือหลายตัวเป็นตัวยาสำคัญ คือ จันทน์เทศ จันทน์แดง ใบพิมเสน ใบหญ้านาง  ใบมะระ รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากหญ้านาง รากคนทา รากท้าวยายม่อม ผักกระโฉม ใบสันพร้าหอม ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง มหาสดำ ไคร้เครือ  เนระพูสี ลูกมะคำดีควาย รากมะนาว รากมะกรูด รากมะปราง รากมะเฟือง  โดยสูตรส่วนประกอบ วิธีทำ สรรพคุณ ขนาดรับประทาน และขนาดบรรจุ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยา

 

สำหรับข่าวของโรคนี้ ที่แพทย์แจ้งประชาชนว่า เป็นโรคไข้ไวรัส ยังไม่มียารักษาโดยตรง   ก็อาจจะต้องตีความว่า ไม่มียาฝรั่ง  แต่หากเป็นยาไทยก็ยังคงไม่มีงานวิจัยยืนยัน การใชยาไทยรักษา

แต่ก็มีการใช้ได้ผลจริง และมีการศึกษาวิจัย สมุนไพรอื่น เทียบเคียงกัน ในการช่วยให้เพิ่มฤทธิ์ เม็ดเลือดขาว และภูมิต้านทาน   จึงอาจจะกล่าวได้ว่า  ยาไทยใช้ทั้งลดไข้ และเพิ่มภูมิต้านทาน ตลอดจน ลดการอักเสบที่รุนแรง ได้จริง  กินแล้วก็หายแล้วจริง อย่างนี้เราจะเรียกบอกว่า  มียาใช้บรรเทาอาการให้ทุเลาหายเร็วขึ้น  จะเป็นการกล่าวจริง หรือกล่าวเกินเลย ก็ต้องพิสูจน์กันเอาเอง  เชื่อก็ใช้   ไม่เชื่อยาไทยก็ใช้ ยาพารา  ก็คงไม่มีใครว่าทาน   และ คงไม่มีสถาบันวิจัยไหน จะสนใจวิจัยหาคำตอบให้ ยิ่งเป็นการวิจัยกับเด็ก    เรื่องหมูๆ กล้วยๆ  อย่างนี้ บางทีชาวบ้าน รู้มากกว่าแพทย์ เพราะใช้มามาก เห็นมามากกว่าแพทย์     พอเรื่องยากๆ ก็งงว่า สมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ไม่ได้แนะนำให้กินสมุนไพรเลย

งานนี้ วัดใจ คนไทยครับ  ว่าจะใช้ดุลยพินิจกัน  ใช้สติ และปัญญา กันอย่างไร  

หมายเลขบันทึก: 456325เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2011 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท