ชุมชนนักปฏิบัติ


เศรษฐกิจพอเพียง

 

ชุมชนนักปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง

ความรู้ที่ชัดแจ้ง  แบบ Explicit  Knowledge

ความรู้ที่ สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้โดยผ่านวิธี ต่าง ๆ เช่นการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี และบางครั้ง เรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม การจัดการความรู้เด่นชัด จะเน้นไปที่การเข้าถึงแหล่งความรู้ ตรวจสอบ และตีความได้ เมื่อนำไปใช้แล้วเกิดความรู้ใหม่ ก็นำมาสรุปไว้ เพื่อใช้อ้างอิง หรือให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ต่อไป

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศไทย โดยพยายามเปลี่ยนจากรากฐานของ
ประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยขาดความพร้อมทั้งด้านความรู้
และภูมิปัญญาในด้านอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยไม่พร้อมที่จะรองรับความเสี่ยง
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ภายในประเทศ ทำให้เกิดผลเสียหายในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่มีการเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้จากพระราชดำริเศรษฐกิจ
พอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ประชาชนชาวไทย เพื่อนำมา
ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันนั้นในด้านสิ่งแวดล้อม ยังขาดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ดังนั้นเพื่อให้สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างถูกต้องในทุกภาค ส่วน
“สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม” จึงมีการจัดทำตัวชี้วัดด้านสิ่งแวด
ล้อมขึ้น โดยได้หยิบยกกรณีศึกษา ได้แก่ภาคการเกษตร ภาคการผลิตของวิสาหกิจขนาด
กลางและขนาดย่อม ภาคบริการ และภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนว
ทางศึกษาในการจัดทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นความเชื่อมโยงของปรัชญาเศรษฐ
กิจพอเพียงที่คำนึงถึงภูมิคุ้มกันพอประมาณ ความมีเหตุผลภายใต้เงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม

ข้อมูลพื้นฐานของกรณีศึกษา
กรณีที่ ๑ : การจัดการป่าชายเลนชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
การจัดการป่าชายเลน โดยชุมชนถือเป็นแนวทางฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทั้งระบบ โดยการประยุกต์
หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าไม้ชายเลนแล้ว ยังทำกิจกรรมอนุรักษ์
สัตว์บก สัตว์น้ำต่างๆด้วย มีมาตรการในการจัดการโดยชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันรักษาและนำสู่ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นกระบวนการที่สร้างฐานเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในระยะยาว

 

 

 

 กรณีที่ ๒ : การประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระดาษสา ต.ศรีษะเกษ จ.น่าน
อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษสาของ ต. ศรีษะเกษ ถือเป็นตัวอย่างของการผลิตที่ดำเนินไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่พึ่งพิงตนเอง ลดการพึ่งพิงภายนอก ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ของตน จะเห็นได้ว่าชุมชนมีมติว่าต้องการให้มีโรงงานเพียง ๒ แห่งเท่านั้น เพราะคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถในการรองรับของเสีย โดยธรรมชาติ วัตถุดิบและแรงงานที่ใช้ก็หาได้ในท้องถิ่น เทคโนโลยีการผลิตยังคงอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีการใช้ขี้เถ้าในกระบวนการต้มปอสา ไม่มีการใช้สีเคมีในการย้อมเยื่อสา แต่ใช้สีธรรมชาติจากดอกไม้ชนิดต่างๆ เจ้าของโรงงานมีความรู้ในการจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยทำบ่อพักน้ำเสียเพื่อให้ทำปฏิกิริยากับแสงแดด มีการวางแผนการผลิตให้เหมาะกับฤดูกาลและผลิตตามคำสั่งซื้อ ไม่มีการผลิตเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลัง ทำให้ไม่เกิดการลงทุนที่มากเกินไป คนในชุมชนก็มีการปฏิสัมพันธ์กันด้วยดีและอยู่กันอย่างสงบ

 

 

 

 

 กรณีที่ ๓ : การประกอบธุรกิจด้านบริการ“ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตและศูนย์กีฬาดำน้ำ”
“ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตและศูนย์กีฬาดำน้ำ” ถือ เป็นแบบอย่างของหน่วยธุรกิจ ที่ดัดแปลงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในธุรกิจโรงแรม เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินในยุควิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ผลของการประยุกต์แนวคิด “การพึ่งตนเอง” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำให้โรงแรมเล็กๆ แห่งนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนนับเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท ขณะเดียวกันยังเพิ่มประสิทธิภาพในการปกครองพนักงานได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ในเชิงธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ด้วยวิธีคิด “our loss is our gain”

 กรณีที่ ๔ : การประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรในกรณี “อรหันต์ชาวนา” และ “หมอดินอาสา”
พูนศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นเกษตรกรหนุ่มแห่งบ้านโนนยาง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตจากเดิมที่ทำงานก่อสร้างในเขตเมืองสู่อาชีพ การทำนาทำไร่แบบผสมผสานในเขตที่ดินของตนเองจำนวน ๑๖ ไร่ โดยยึดหลักแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และพยายามนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้ร่วมกันในการดำเนินชีวิตและทำนาโดยอาศัย การเกื้อกูลกันตามวัฏจักรของธรรมชาติและนำความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ในการประกอบอาชีพได้แบ่งที่ดินเป็นโซนทำนา ทำไร่ ทำสระเลี้ยงกบเลี้ยงปลาและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แบ่งให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่เหลือเอาไว้ขายและในการทำการเกษตรไม่มีการใช้สารเคมีนอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่การปฏิบัติให้แก่ชุมชนจนมีการขยายเครือข่ายเป็น กลุ่มและให้นิยามของการเป็นชาวนาที่ดำเนินชีวิตแบบพวกเขาว่า “อรหันต์ชาวนา” คือ ชาวนาที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ไม่โง่แล้วเป็นผู้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของระบบนายทุน หลุดผลจากวังวนของการใช้สารเคมี และการหลุดพ้นจากความจนจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

 

 

 

 คุณยวง เขียวนิล เกษตรกรแห่งตำบลราษฏร์นิยม อำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี เป็นผู้เผชิญกับวิกฤตชีวิตต้องล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร จากอาชีพรับราชการ อาชีพรับเหมาและได้หันสู่อาชีพเกษตรกรโดยเริ่มทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม มีการแบ่งเป็นพื้นที่ทำนา ทำสวน เลี้ยงปลา แต่ในระยะแรกพื้นที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหายทั้งหมด ต่อมาได้ปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ที่ยึดมั่นแนวทางตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริผสมผสานกับความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพ แสวงหาความรู้ใหม่ทางวิชาการอยู่เสมอ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมักจากเศษหญ้าไว้ใช้เอง ทำให้ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้เขาสามารถมีอาชีพที่เป็นนายของตัวเอง มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องและดูแลครอบครัวได้อย่างมีความสุข นอกจากนั้นยังพยายามรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้พืชผลขายได้อย่างมีราคามากขึ้น

 ตัวชี้วัดหลัก (Core indicator) ด้านสิ่งแวดล้อมจากกรณีศึกษา
วิธีการหาตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม เป็นกระบวนการศึกษาโดยทีมวิจัยของสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่ง แวดล้อม ได้ลงไปศึกษาในพื้นที่และเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้รู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงจากการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลการศึกษาได้นำกลับมาระดมข้อคิดเห็น ทำการกลั่นกรอง วิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อถอดออกมาเป็นตัวชี้วัดหลัก (Core indicator)ซึ่งเน้นตามหลักทฤษฏีของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผลการศึกษาดังนี้

๑. ทุนทรัพยากร ประกอบด้วยตัวชี้วัดดังนี้ คือ
ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าในทุกกรณีศึกษาได้ทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือเป็นการใช้ทุนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวด ล้อม ไม่โลภ ไม่ใช้เกินขีดความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับ จะเห็นได้จากสภาพของพื้นที่ในแต่ละกรณีศึกษาที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะกรณีป่าชายเลน ที่ยังพบปริมาณของพืชพันธุ์ สัตว์น้ำ และสมุนไพรที่ยังคงอยู่อย่างชุกชุมคุณภาพของทรัพยากรและปริมาณทรัพยากร พบว่าในแต่ละพื้นที่ศึกษาจะมีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อการ ดำรงชีวิต ด้วยการหมุนเวียนทุนทรัพยากรภายในพื้นที่ ดังเช่น กรณีกระดาษสาจังหวัดน่าน ถึงแม้จะทำในรูปแบบของธุรกิจที่ต้องมุ่งเน้นการผลิตเพื่อจำหน่าย แต่ในกลุ่มนี้ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่จะไม่มีการทำลายป่าและทรัพยากร ธรรมชาติ จากข้อพิสูจน์คือน้ำที่ต้มสานั้นจะไม่นำไปทิ้งทันทีแต่จะ
นำกลับมาใช้ซ้ำ โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง นอกจากนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีศึกษา ภาคเกษตรที่ทำไร่นาสวนผสม โดยใช้ทฤษฎีใหม่ทำการพลิกฟื้นคุณภาพดินจากสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถกลับมา เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถมีน้ำใช้สอยได้อย่างตลอด ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มพูนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งกรณีธุรกิจรีสอร์ตชุมพรคาบาน่าที่คำนึงถึงทุนทางทรัพยากรเข้ากับภูมิสังคม คือการทำนาข้าวเหลืองประทิว ซึ่งเป็นข้าวของภาคใต้

๒. ทุนมนุษย์ และภูมิปัญญา ประกอบด้วยตัวชี้วัด ดังนี้
กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการใช้ชีวิตบนฐานการคิดและรู้จักตนเอง รู้จักแหล่งทุนทรัพยากร ซึ่งเป็นส่วนของเงื่อนไขความรู้ คือเมื่อทำกิจกรรม จะทำการไตร่ตรองทั้งผลดี ผลเสียและหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยพยายามใช้สติปัญญาและความรู้ นำไปจัดการกับปัญหาตามศักยภาพของทุนที่มี ซึ่งแต่ละกรณีศึกษามีการเรียนรู้ สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของตนโดยอาศัยการคิดค้นและทดลองทำ เช่น กรณีธุรกิจรีสอร์ตชุมพรคาบาน่าที่ประสบปัญหา และสามารถสร้างภูมิปัญญาใหม่เพื่อเอาชนะปัญหาต่างๆ อาทิ การอนุรักษ์ข้าวเหลืองประทิว ซึ่งถือว่าอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง และการแก้ไขปัญหาความผันผวนราคากาแฟ การพลิกฟื้นให้ธุรกิจรีสอร์ตชุมพรคาบาน่ากลับมาเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน เหล่านี้ ถือว่าเป็นตัวชี้วัดในด้านของความสามารถในการจัดการองค์ความรู้ เช่น กรณีกระดาษสา จังหวัดน่าน ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงลดการใช้ปริมาณสารเคมีหันมาให้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเคยใช้มาจัดการ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นต้นจะเห็นได้ว่า ทุนมนุษย์ และภูมิปัญญา เป็นทุนที่มีความสำคัญที่สุด เพราะมนุษย์มีบทบาทในการเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย หากพื้นฐานทางด้านจิตใจขาดซึ่งภูมิคุ้มกันที่เป็นไปในทางที่ดี และมีคุณธรรมแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมในทุกๆด้าน

๓. ทุนการเงิน ประกอบด้วยตัวชี้วัด คือ
วิธีการจัดการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ภาระหนี้ , การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย, ลดต้นทุน และมูลค่าเพิ่ม
เป็นความพอเพียงในระดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น คือไม่เป็นหนี้และการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จะเป็นในลักษณะการรู้จักตนเอง ลดการพึ่งพิงและลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งพบว่าในทุกกรณีศึกษานั้น มีวิธีการจัดการเงินในรูปแบบต่างๆอาทิ กรณีของป่าชายเลนที่มีการออมในรูปของทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวชุมชน มีความรู้รักและหวงแหนทรัพยากรและใช้อย่างเพียงพอ สมถะเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ทำให้ลดปัญหาของการตัดไม้ทำลายป่า

๔. ทุนทางสังคม ประกอบด้วยตัวชี้วัดดังนี้
การก่อเกิดของตัวตนเแบบใหม่/ อัตลักษณ์ โดยจะพบว่าในทุกกรณีศึกษาซึ่งประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์หรือตัวตนใหม่ ที่สามารถดำรงอยู่ได้ภายในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นแบบอย่างให้กับ ชุมชนได้ ดังเช่น การได้รับรางวัลเชิดชูการดำเนินการในด้านต่างๆ ในทุกกรณีศึกษา หรือการที่ธุรกิจรีสอร์ตชุมพรคาบาน่า ที่ดำเนินธุรกิจ CSR รับผิดชอบต่อสังคม ในการพยายามลดผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินธุรกิจโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่มีการพิจารณาในหลักของการมีเหตุผล ความพอประมาณ รู้จักการพึ่งพาตนเอง คือการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความสำคัญให้ดำรงอยู่กับสังคมมนุษย์ในอนาคต ซึ่งเป็นการดำเนินวิถีชีวิตร่วมกับชุมชน สังคม ให้ร่วมกันเกิดความรู้สึกหวงแหนและร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยการให้อย่างพอเพียง ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งดังกรณีตัวอย่างของการร่วมกันรักษาดูแลทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชนที่ อำเภอประเหลียน จังหวัดตรังซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นป่าชุมชนแห่งแรกมีเครือข่าย เป็นการร่วมกลุ่มเป็นเครือข่ายองค์กร เพื่อให้เกิดพลังในการร่วมมือดำเนินกิจกรรมในสังคมเป็นการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในสังคมให้เป็นไปตามหลักของความพอเพียง อาทิ กรณีการทำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ของธุรกิจรีสอร์ตชุมพรคาบาน่า กรณีการทำชมรมแลกเปลี่ยนแรงงานในภาคเกษตรที่ส่งเสริมการใช้แรงงานของชุมชนใน ท้องถิ่นและเครือข่ายของกลุ่มอรหันต์ชาวนา 

๕. ทุนทางการเมือง ประกอบด้วยตัวชี้วัดดังนี้
การมีส่วนร่วม / แนวร่วมการมีประชาสังคม
เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มในสังคม ชุมชนที่มีความพอเพียง มาร่วมกันเพื่อแก้ไขและดูแลสิ่งแวดล้อม
ดังตัวอย่างของกิจกรรม การเสนอนโยบายร่วมของเครือข่ายและชุมชน ในการร่วมกันปลูกข้าวเหลืองประทิวหรือการมีมติประชาสังคม จำกัดจำนวนโรงงานไม่ให้เกินความสามารถในการรองรับของธรรมชาติที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

แหล่งที่มา  www.pamame.com

คำสำคัญ (Tags): #it
หมายเลขบันทึก: 456092เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2011 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาดูชุมชนนักปฏิบัติ

วิถีแห่งชาวบ้านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท