ประเภทของการประเมินผล


ประเภทของการประเมินผล

การประเมินผลสามารถจำแนกได้หลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ว่าจะยึดอะไรเป็นหลักในการแบ่งประเภท การประเมินผลสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. จำแนกตามระบบการวัด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.1 การประเมินแบบอิงตน (self referenced evaluation) เป็นการประเมินเพื่อที่จะดูว่าตนเองมีความก้าวหน้าหรือไม่ อย่างไร เช่น การสอบก่อนเรียน-สอบหลังเรียน

1.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (criterion referenced evaluation) เป็นการประเมินผลโดยเอาคะแนนที่ได้จากการสอบไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แล้วพิจารณาตัดสินไปตามนั้น

1.3 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (norm referenced evaluation) เป็นการประเมินผลโดยเอาคะแนนที่ได้จากการสอบไปเปรียบเทียบกับความสามารถของกลุ่ม

2. จำแนกตามจุดประสงค์ของการประเมิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

2.1 การประเมินผลก่อนเรียน (pre-assessment or pre-evaluation) เป็นการประเมินผลเพื่อค้นหาข้อบกพร่องของความรู้พื้นฐานของผู้เรียน ทั้งนี้เพราะว่าทุกคนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล การประเมินผลก่อนเรียนนี้มีประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน หรือจัดสถานการณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละบุคคล

2.2 การประเมินผลระหว่างเรียน (formative evaluation) การประเมินผลวิธีนี้ มี จุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุง หรือแก้ไขการเรียนการสอนระหว่างเรียนเพื่อให้นักเรียนบรรลุหน่วยการเรียนใด ๆ หรือจุดประสงค์ของเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้อาจจะทำโดยการสอนซ่อมเสริม

2.3 การประเมินผลหลังสิ้นสุดการเรียนหรือการประเมินผลรวม (summative evaluation) เป็นการประเมินผลภายหลังที่ครูได้สอนจบกระบวนการเรียนการสอนทั้งวิชาแล้ว หรือที่เรียกว่า การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินผลการเรียน

อาจกล่าวได้ว่าการประเมินผลการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะตรวจสอบคุณภาพการเรียน การสอนว่านักเรียนบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้หรือไม่ ถ้าหากพบว่านักเรียนมีข้อบกพร่องก็จะพิจารณาว่าบกพร่องในเรื่องใด เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

 
     

ธรรมชาติของการวัดผลการศึกษา

คุณลักษณะที่สำคัญของการวัดผลการศึกษาที่ครูจะต้องเข้าใจ และพึงระลึกอยู่เสมอ มีดังนี้ (เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง. 2522 : 24-26)

1. การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม การวัดผลการศึกษาหรือจิตวิทยานั้นเราไม่สามารถวัดได้โดยตรงเหมือนกับการวัดทางกายภาพ เช่น เราจะวัดความเข้าใจแต่ความเข้าใจไม่ใช่สสาร ดังนั้นเราจึงไม่สามารถวัดได้โดยตรง เราจำเป็นต้องตีความหมายหรือ แปลความหมายของความเข้าใจออกมาเป็นสิ่งที่วัดให้ได้เสียก่อนแล้วจึงแปลผลออกมา เช่น ใช้แบบทดสอบวัดความเข้าใจจากนั้นจึงนำผล (คะแนน) ที่ได้มาแปลความหมายอีกทีหนึ่งว่าเขามี
ความสามารถมากน้อยเพียงใด ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการแปลความหมายที่ถูกต้องแน่นอน

2. การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ ในแต่ละวิชาที่มีการเรียนการสอนนั้นมีปัญหามากมายที่จะถามนักเรียน แต่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่ครูจะถามทุกคำถามเพื่อให้ครอบคลุมในเนื้อหาวิชานั้นๆได้ ดังนั้น ครูจึงเลือกคำถามเป็นบางส่วนเท่านั้นที่คิดว่าวัดความรู้ครอบคลุมในเนื้อหาวิชา เช่น วิชาภาษาไทยบทหนึ่งอาจมีคำศัพท์ 1,000 คำ แต่ครูไม่สามารถนำมาถามนักเรียนได้ทั้งหมด ครูจึงนำคำศัพท์บางคำมาถามนักเรียน โดยมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่นำมาถามนั้นเป็นตัวแทนของปัญหา (คำศัพท์) หรือพฤติกรรมทั้งหมดได้

3. การวัดผลการศึกษาเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (relation) การวัดผลการศึกษานั้นข้อมูล หรือ คะแนนเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่มีความหมายใด ๆ มากนัก เช่น สมบัติสอบวิชา ท 101 ได้ 20 คะแนน ไม่สามารถบอกได้ว่าได้คะแนนมาก-น้อย เก่ง-อ่อน เพียงใด แต่ถ้าหากจะให้คะแนนนี้มีความหมายต้องนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลอย่างอื่น ซึ่งโดยทั่วไปนิยมนำไปเปรียบเทียบ 3 แบบ คือ (สมนึก ภัททิยธนี. 2537 : 2)

- นำคะแนนที่ได้ไปเปรียบเทียบกับคะแนนเต็ม เรียกว่า ระบบเปอร์เซ็นต์ เช่น สมบัติสอบได้ 20 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนนหรือได้ 40% แสดงว่าทำคะแนนได้ค่อนข้างน้อย

- นำคะแนนที่ได้เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มเรียกว่า ระบบอิงกลุ่ม เช่น สมบัติสอบได้ 20 คะแนน คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มเท่ากับ 13 คะแนน แสดงว่าสมบัติทำคะแนนได้ค่อนข้างสูงกว่าความสามารถของกลุ่ม

- นำคะแนนที่ได้เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเรียกว่า ระบบอิงเกณฑ์ เช่น สมบัติสอบได้ 20 คะแนน ผู้สอนตั้งเกณฑ์การผ่านไว้ว่าต้องได้ตั้งแต่ 18 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าทำคะแนนได้ผ่านเกณฑ์

4. การวัดผลการศึกษานั้นไม่สามารถวัดได้ละเอียดถี่ถ้วน ในการวัดผลการศึกษานั้นใช้คะแนนในการจำแนกนักเรียน คะแนนที่ออกมาเท่ากันนั้นอาจเป็นการเท่ากันโดยประมาณก็ได้ เช่น ถ้าข้อสอบมีคะแนนเต็มน้อย ๆ นักเรียนสองคนอาจได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนเต็มมากขึ้นและวัดได้ถี่ถ้วนขึ้น นักเรียนสองคนเดิมอาจได้คะแนนไม่เท่ากันก็ได้ จึงเห็นว่ากระบวนการวัดนั้นไม่ละเอียดถี่ถ้วน

5. การวัดผลการศึกษามีความผิดพลาด ถ้าเราใช้ตาชั่งอันหนึ่งชั่งน้ำหนักของเราน้ำหนักที่เราได้นั้นเป็นน้ำหนักจริง ๆ ของเราหรือเปล่า เราคงตอบไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของตาชั่ง ลักษณะการวางของตาชั่ง และองค์ประกอบอื่น ๆ ในการวัดผลการศึกษาก็เช่นเดียวกัน คะแนนที่ได้เป็นส่วนประกอบของคะแนน 2 อย่าง คือ คะแนนจริง (true score) และคะแนนที่ผิดพลาด (error score) (รัตนา ศิริพานิช. 2533 : 27) ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

คะแนนที่สอบได้ (X) = คะแนนจริง (T) + คะแนนที่ผิดพลาด (E)

ในการทดสอบถ้ามีคะแนนผิดพลาดน้อยจะทำให้คะแนนมีความน่าเชื่อถือ องค์ประกอบที่ทำให้การวัดผลเกิดความคลาดเคลื่อนพอสรุปได้ 2 ประเด็น คือ (สมนึก ภัททิยธนี. 2537 : 11)

5.1 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากตัวผู้ถูกวัดหรือตัวนักเรียน ได้แก่ สุขภาพไม่ดี มีความกังกล เตรียมตัวไม่พร้อม ทุจริตในการสอบ เป็นต้น

5.2 ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากสิ่งภายนอก ได้แก่ สภาพห้องเรียนไม่ดี มีเสียงรบกวน ข้อสอบผิดพลาดมาก วิธีวัดไม่ดี เป็นต้น

6. การวัดผลการศึกษาเป็นการวัดที่ไม่มีศูนย์แท้ หรือศูนย์สมบูรณ์ (absolute zero) การวัดทางกายภาพนั้นมีศูนย์แท้ เช่น เตียงสูง 0 เซนติเมตร แสดงว่าไม่มีความสูงเลย โต๊ะสูง 50 เซนติเมตร เก้าอี้สูง 25 เซนติเมตร แสดงว่าโต๊ะสูงเป็น 2 เท่าของเก้าอี้ แต่การวัดผลทางการศึกษาไม่มีศูนย์แท้ มีแต่ศูนย์สมมติ (arbitrary zero) เช่น สอบได้ 0 คะแนน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นเลย เพียงแต่สิ่งที่เขารู้ข้อสอบไม่ได้ถาม หรือสมบัติสอบได้ 40 คะแนน สมศรีสอบได้ 20 คะแนน ไม่ได้หมายความว่า สมบัติเก่งเป็น 2 เท่าของสมศรี เพราะการวัดผลการศึกษานั่นไม่มีศูนย์แท้

http://netra.lpru.ac.th/~phaitoon/UNIT1/unit1/unit14.html

หมายเลขบันทึก: 455472เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท