KMay
นางสาว สุเมษา จำรูญศิริ

การพัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิตตามนโยบายห้องสมุด 3 ดี โดยใช้หลัก 6 Es ::: ตอนที่ 1


ห้องสมุดโรงเรียนท่าลี่วิทยาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานิสัยรักการอ่าน และภาระหน้าที่ในการดำเนินงานห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต และได้มาตรฐานตามนโยบายห้องสมุด 3 ดี แต่ด้วยบริบทของโรงเรียน งบประมาณ และบุคลากรห้องสมุดที่มีภาระหน้าที่ในการสอน จึงได้หาวิธีปฏิบัติที่จะทำให้สามารถดำเนินงานห้องสมุดได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจากประสบการณ์การปฏิบัติงานทำให้เกิดแนวคิดในการดำเนินการโดยใช้หลักการ 6 Es

1.  ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ  

        การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญมากประการหนึ่งของมนุษย์ เพราะการอ่านทำให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิด จนสามารถก่อเกิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ต่อยอดวิวัฒนาการขึ้นมาจากบรรพบุรุษได้ จนมีผู้กล่าวว่านวัตกรรมที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของมนุษยชาติเรานั่นก็คือ การผลิตเครื่องพิมพ์

        การอ่านหนังสือนั้นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนเราอย่างยิ่ง ดังที่ จินตนา ใบกาซูยี (2543 : 23) ได้สรุปบทบรรยายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า 1) การอ่านหนังสือทำให้ได้เนื้อหาสาระความรู้มากกว่าการศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟัง 2) ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่สามารถนำไปไหนมาไหนได้ 3) หนังสือเก็บได้นานกว่าสื่ออย่างอื่นซึ่งมักมีอายุการใช้งานจำกัด 4) ผู้อ่านสามารถฝึกการคิดและสร้างจินตนาการได้เองในขณะอ่าน 5) การอ่านส่งเสริมให้มีสมองดี มีสมาธินานกว่าและมากกว่าสื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะขณะอ่าน จิตใจจะต้องมุ่งมั่นอยู่กับข้อความพินิจพิเคราะห์ข้อความนั้นๆ 6) ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดการอ่านได้ด้วยตนเอง จะอ่านคร่าวๆ อ่านละเอียด อ่านข้ามหรืออ่านทุกตัวอักษรเป็นไปตามใจของผู้อ่านหรือจะเลือกอ่านเล่มไหนก็ได้ เพราะหนังสือมีมาก  สามารถเลือกอ่านเองได้ 7) หนังสือมีหลากหลายรูปแบบและราคาถูกกว่าสื่ออย่างอื่น จึงทำให้สมองของผู้อ่านเปิดกว้าง สร้างแนวคิดและทัศนคติได้มากกว่า ทำให้ผู้อ่านไม่ติดยึดอยู่กับแนวคิดใดๆโดยเฉพาะ และ 8) ผู้อ่านเกิดความคิดเห็นได้ด้วยตนเองวินิจฉัยเนื้อหาสาระได้ด้วยตนเอง รวมทั้งหนังสือบางเล่มสามารถนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดี

       อย่างไรก็ตาม ทั้งที่การอ่านมีความสำคัญและเป็นรากฐานของการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยส่วนใหญ่กลับละเลยจากการอ่าน ไม่มีนิสัยรักการอ่านเป็นพื้นฐานของชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศในภาพรวม จนประเทศไทยต้องผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการทุ่มเทงบประมาณในการพยายามพัฒนาให้เยาวชนไทยมีนิสัยรักการอ่าน

       ห้องสมุดโรงเรียนมีความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการหลักของโรงเรียน ช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งมีส่วนในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และการรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์    

       ห้องสมุดโรงเรียนในปัจจุบันจำเป็นต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าโดยการผสมผสานกับความมีชีวิตชีวา สดชื่น แจ่มใส หรือที่เรียกว่า ห้องสมุดมีชีวิต มิใช่เป็นเพียงห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้ให้บริการการอ่านแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำหนังสือให้มีชีวิต มีการจัดกิจกรรมที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีการจัดอาคารสถานที่ให้น่าเข้าใช้ มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ และมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ ให้เหมาะสมกับสภาพห้องสมุดของแต่ละสถานศึกษา (สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2549)

       นอกจากการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิตแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้กำหนดนโยบายการพัฒนาห้องสมุดของสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชนได้อย่างสมบูรณ์ โดยได้กำหนดแนวทางให้เป็น “ห้องสมุด 3 ดี” ที่เน้นการพัฒนาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หนังสือดี บรรยากาศดี บรรณารักษ์ดี ทั้งนี้เนื่องจากห้องสมุดในโรงเรียนเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา เป็นแหล่งรวมความรู้ทุกแขนง ทุกศาสตร์ และห้องสมุดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ห้องสมุดจึงเปรียบเสมือนโลกใบใหญ่แห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งบันเทิงประเทืองปัญญา ห้องสมุดจึงควรที่ดำเนินการให้สนองความต้องการของผู้ใช้ บรรณารักษ์เป็นมิตรกับผู้ใช้ วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทันสมัย นำสนใจใคร่เรียนรู้ สถานที่ และบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ มีหนังสือและสื่อหลากหลายประเภทอย่างเพียงพอ และตรงกับความต้องการ (สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2553)

       ห้องสมุดโรงเรียนท่าลี่วิทยาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานิสัยรักการอ่าน และภาระหน้าที่ในการดำเนินงานห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต และได้มาตรฐานตามนโยบายห้องสมุด 3 ดี แต่ด้วยบริบทของโรงเรียน งบประมาณ และบุคลากรห้องสมุดที่มีภาระหน้าที่ในการสอน จึงได้หาวิธีปฏิบัติที่จะทำให้สามารถดำเนินงานห้องสมุดได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจากประสบการณ์การปฏิบัติงานทำให้เกิดแนวคิดในการดำเนินการโดยใช้หลักการ 6 Es ประกอบด้วย

       1) Economical (ประหยัด) คือ การใช้งบประมาณอย่างประหยัด

       2) Enough (เพียงพอ) คือ การจัดหาทรัพยากรห้องสมุดให้เพียงพอต่อความต้องการ

       3) Easy (สะดวก) คือ มีอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ และการใช้บริการที่สะดวกสบาย       4) Encourage (เร้าใจ) คือ มีบรรยากาศห้องสมุดที่มีสีสัน เร้าใจให้อยากเข้ามาใช้บริการ

       5) Expert (เชี่ยวชาญ) คือ บรรณารักษ์มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในการดำเนินงานห้องสมุด เพื่อให้ทำงานได้รวดเร็ว ตลอดจนมีความรอบรู้ เชี่ยวชาญในการแสวงหาความรู้

       6) Enjoy (สนุก) คือ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ที่สนุกสนาน

 

2.  จุดประสงค์และเป้าหมาย ของการดำเนินงาน

       2.1 เพื่อพัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิตตามนโยบายห้องสมุด 3 ดี โดยใช้หลัก 6 Es

       2.2 เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียน

       2.3 เพื่อให้ผู้ใช้บริการห้องสมุดรู้สึกพึงพอใจต่อห้องสมุดและการให้บริการ

หมายเลขบันทึก: 455300เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อันนี้น่าจะขอนำไปเป็นความรู้ที่ดีค่ะ เพราะตอนนี้กะลังจำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ค่ะ เดี๋ยวจะมาปรึกษาข้อมูลนะคะ

ด้วยความยินดีค่ะ *___*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท