เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจ


เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจ

                                เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจ

    แม้ว่าในข้อเท็จจริงแล้วเกือบทั้งหมดของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นโดยผู้ประกอบการในปัจจุบัน จะถูกใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบการขอวงเงินสินเชื่อแทบทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันถ้าได้มีการลองสอบถามผู้ประกอบการ เกี่ยวกับเหตุผลในเรื่องเหตุผลว่าทำไมถึงต้องการจัดทำแผนธุรกิจ ก็มักจะได้รับคำตอบว่า เพราะธนาคารให้ทำหรือให้เขียน มิฉะนั้นจะกู้เงินไม่ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้มีผู้ประกอบการบางราย ที่ไม่เข้าใจถึงเหตุผลเกี่ยวกับการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง จะไม่สามารถเขียนแผนธุรกิจที่ดีได้ เพราะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนธุรกิจ โดยคิดเพียงแต่ว่าเป็นเพียงเอกสารที่ต้องมีประกอบการขอกู้ เช่นเดียวกับเอกสารอื่นๆเท่านั้น เช่น หนังสือรับรองบริษัท สำเนาบัตรประชาชน สำเนารายการทางการเงินจากทางธนาคารย้อนหลัง (Bank Statement) ซงเมื่อส่งแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นจากความเข้าใจดังกล่าว ไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็จะกลายเป็นผลเสียกับตนเองเนื่องจากข้อมูลต่างๆ ก็มักจะไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะนับว่าเป็นแผนธุรกิจได้ รวมถึงเมื่อต้องถูกร้องขอให้จัดทำเป็นแผนธุรกิจตามรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ผู้ประกอบการก็มักจะไม่สามารถจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้องได้ ซึ่งอาจมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน ก็คือเรื่องของเหตุผลว่าทำไมหรือเพราะเหตุผลใดจึงต้องมีการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ โดยนอกจากที่เกี่ยวกับเหตุผล อันมาจากข้อกำหนดของทางทางธนาคารหรือสถาบันการเงินแล้ว ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจในวัตถุประสงค์อื่นๆไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลในการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจ ที่นอกเหนือจากการไว้สำหรับเพื่อการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน

    โดยทั่วไปถ้าจะแบ่งเหตุผลของการเขียนแผนธุรกิจ ทั้งจากผู้ประกอบการหรือผู้ที่มิได้เป็นผู้ประกอบการ มีเพียง 2 ประเด็นหลักๆ เท่านั้นก็คือ 1. ผู้ประกอบการหรือธุรกิจต้องการเขียนหรือจัดทำแผนธุรกิจขึ้นเอง กับ 2. ผู้ประกอบการหรือธุรกิจมีความจำเป็นต้องเขียนหรือจัดทำแผนธุรกิจขึ้น หรือถ้าจะกล่าวแบบง่ายๆก็คือ ต้องการเขียนขึ้นมาเอง หรือถูกบังคับให้เขียน หรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียน ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรกล่าวถึงดังนี้คือ

           ## กรณีที่ต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาเอง

การที่ผู้ประกอบการหรือตัวธุรกิจต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาเองนั้น เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจก็คือ

    » เพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้ประกอบการใหม่ เห็นช่องทางหรือโอกาสในการตลาด หรือมีความประสงค์จะเริ่มต้นธุรกิจ หรือมีความต้องการเป็นผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur) จึงเริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนธุรกิจขึ้น เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ ประมาณการรายได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งมาจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆของธุรกิจ เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายต่างๆในการผลิตสินค้าและบริการ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เงินเดือนหรือค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าธุรกิจมีผลกำไรจากการดำเนินงานหรือไม่ ซึ่งถ้ามีผลกำไร ผู้ประกอบการก็จะได้เริ่มดำเนินการจริง โดยส่วนใหญ่แล้วแผนธุรกิจในลักษณะดังกล่าวนี้ มักจะมีรูปแบบใกล้เคียงกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) มากกว่าที่จะเป็นแผนธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นคำตอบของการจัดทำในเรื่องของ กำไรหรือขาดทุน จะทำหรือไม่ทำธุรกิจ โดยสาระสำคัญมักจะอยู่ที่ผลการคำนวณจากตัวเลขประมาณการต่างๆที่กำหนดขึ้น และประมาณการต่างๆนั้นมักเป็นประมาณการโดยสังเขปเท่านั้น ตามการคาดคะเนของผู้ประกอบการ ซึ่งมีเพียงน้อยรายที่จะจัดทำแผนธุรกิจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีการวิเคราะห์หรือการวางแผนในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง

   » เพื่อการบริหารจัดการ เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการที่ได้ดำเนินธุรกิจมาช่วงเวลาหนึ่ง และต้องการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งเท่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรุ่นที่ 2 หรือรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจเดิมของครอบครัว ให้เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น หรืออาจเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับรับการอบรม ในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจที่มีมาตรฐาน เช่น โครงการผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation – NEC) หรือการอบรมด้านแผนธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ และเล็งเห็นว่าการจัดทำแผนธุรกิจถือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเอง ในการกำหนดทิศทางในการวางแผนการบริหารจัดการ เพราะถือเป็นเครื่องมือในการการวิเคราะห์ การวางแผนในด้านการตลาด การผลิตหรือบริการ การบริหารจัดการ การเงิน และการดำเนินการต่างๆของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมาตรฐานต่างๆที่สำคัญและจำเป็นสำหรับแผนธุรกิจที่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกอบการว่ามีความรู้ความเข้าใจเพียงใด ในกระบวนการการในการวางแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง แต่ในส่วนของบริษัทหรือองค์กรต่างประเทศโดยเฉพาะบริษัทหรือองค์กรชั้นนำ แผนธุรกิจขององค์กรถือเป็นขั้นตอนมาตรฐานหรือเอกสารสำคัญที่องค์กรจะต้องมีการจัดทำขึ้น และทบทวนปรับปรุงตามรอบระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง และยังอาจแยกย่อยตามลักษณะของแผน หรือวัตถุประสงค์ต่างๆออกไปอีก ตั้งแต่แผนธุรกิจ (Business Plan) แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) แผนการตลาด (Marketing Plan) แผนปฏิบัติการ (Action Plan) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) เป็นต้น ซึ่งแผนแต่ละชนิดนั้นจะมีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป

    » เพื่อการระดมทุนจากหุ้นส่วนหรือแหล่งทุนภายนอก เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวส่วนใหญ่ของการจัดทำแผนธุรกิจนี้ จะมาจากการที่ผู้ประกอบการรู้ว่าเงินทุนที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการเริ่มต้น หรือการขยายธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งทุนภายนอก ไม่ว่าจะมาจากการกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมา ก่อนนำไปเสนอกับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยมิได้เกี่ยวกับการถูกบังคับจากข้อกำหนดของธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือต่อกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) เป็นต้น นอกจากนี้การจัดทำแผนธุรกิจอาจเพื่อเป็นการระดมทุนเพื่อหาหุ้นส่วน โดยเป็นการเชิญชวนให้บุคคลภายนอกเหล่านั้น สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจของตน ซึ่งอาจเป็นในลักษณะหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือเป็นการกู้ยืมแล้วแต่กรณี โดยแผนธุรกิจประเภทนี้ มักแสดงรายละเอียดต่างๆของธุรกิจและรูปแบบการลงทุน รวมถึงมักเน้นการแสดงให้เห็นประโยชน์ หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เช่น อตราผลกำไร ระยะเวลาคืนทุน เงินปันผล มูลค่าหุ้น หรือผลตอบแทนอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏแผนธุรกิจดังกล่าวมักพบว่า มีประมาณการเกี่ยวกับรายได้สูงเกินจริง หรือคิดในแง่ดีกว่าความเป็นจริง (Optimistic) ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง (Pessimistic) อยู่เสมอ ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจของแผนธุรกิจในลักษณะนี้ดูดี หรือมีผลประกอบการที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆโดยปกติทั่วไปในภาวะอุตสาหกรรมเดียวกัน

        ## กรณีถูกบังคับให้เขียนหรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียน

    การที่ผู้ประกอบการหรือตัวธุรกิจต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้น ที่มาจากการถูกบังคับให้เขียนหรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียนหรือต้องจัดทำนั้น เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจในรูปแบบนี้ก็คือ

    » เพื่อการขอกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่องที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงแล้วในตอนที่ผ่านมาในเรื่องของที่มาของแผนธุรกิจ ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนดให้หรือออกข้อกำหนด ให้ผู้ประกอบการที่ต้องขอการขอวงเงินสินเชื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องจัดทำแผนธุรกิจประกอบการขอสินเชื่อทุกครั้ง โดยเหตุผลสำคัญที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินออกข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ผู้ประกอบการ ว่ามีความสามารถในการวางแผนในการดำเนินธุรกิจในระดับใด มีการศึกษาวิเคราะห์สภาวะตลาดและอุตสาหกรรมหรือไม่ผลกระทบต่างๆจากสภาวะตลาดและอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการได้ทำการวิเคราะห์นั้น ส่งผลกระทบเช่นใดต่อธุรกิจ สภาวะการแข่งขัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ของธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันเป็นเช่นใด และผู้ประกอบการหรือผู้ขอกู้ได้มีกระบวนการวางแผน และดำเนินธุรกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในด้านการตลาด การผลิตหรือการให้บริการ การบริหารจัดการภายใน การบริหารการเงิน อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมเพียงใดต่อการวิเคราะห์นั้น มีการศึกษาข้อกำหนด กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ที่ถูกต้องเพียงใด รวมถึงการคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ และการกำหนดแผนฉุกเฉินสำหรับตัวธุรกิจ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการคาดคะเน หรือแผนฉุกเฉินของธุรกิจหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของแผนการเงิน ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระแสเงินสดของกิจการเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญ ถ้าธุรกิจเกิดปัญหาการบริหารจัดการเงินสดที่ถูกต้อง รวมทั้งในด้านของการชำระคืนเงินกู้ให้กับทางธนาคาร ที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย และระยะเวลาต่างๆของกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ที่ต้องสัมพันธ์กับการชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจากแผนธุรกิจดังกล่าวถ้าผู้ประกอบการมีความเข้าใจและจัดทำแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน เนื่องจากถือได้ว่าผู้กู้มีความสามารถ และศักยภาพเพียงพอในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากในส่วนที่เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับทางธนาคาร การที่ผู้ประกอบการมีการวางแผน และการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง ย่อมช่วยให้เป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินการของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนและสามารถเจริญเติบโตภายใต้ภาวะการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแทบทั้งสิ้น

    ส่วนใหญ่แล้วในประเทศผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการขอกู้เงิน หรือระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน และจากข้อกำหนดที่ผู้ขอกู้เงินต้องยื่นเสนอแผนธุรกิจ กับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทำให้อาจกล่าวได้เลยว่ามากกว่า 99% ของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นนั้น นำไปใช้เพื่อยื่นเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน มากกว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ที่เห็นความสำคัญในประโยชน์ของการจัดทำแผนธุรกิจดังกล่าว โดยกลับมองเห็นว่าถือเป็นภาระหรือความยุ่งยากสำหรับตนเอง ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนดให้ต้องมีการเขียนแผนธุรกิจ จึงไม่ใส่ใจหรือละเลยในการจัดทำแผนธุรกิจ โดยจัดทำแผนธุรกิจแบบขอไปที โดยเพียงแต่หาโครงสร้างของแผนธุรกิจ แล้วกรอกรายละเอียดไปตามหัวข้อต่างๆ ในโครงสร้างของแผนธุรกิจนั้นให้ครบ หรือไปคัดลอกแผนธุรกิจของธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน แล้วแก้ไขรายละเอียดให้เป็นของธุรกิจตนเอง เช่น ข้อมูลกิจการ หรือข้อมูลการเงิน ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำเสนอไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการปฏิเสธ หรือรวมถึงการว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการเขียนแทน โดยคิดว่าบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพหรือที่ปรึกษานั้น สามารถจัดทำแผนธุรกิจได้ดีกว่าตนเอง และน่าที่จะได้รับการอนุมัติจากทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยไม่สนใจศึกษารายละเอียดในแผนธุรกิจ ที่ว่าจ้างมืออาชีพหรือที่ปรึกษาให้เขียนขึ้นนั้นเลย สุดท้ายแล้วก็มักจะได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุดังกล่าวจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป

     เพื่อใช้ประกอบการศึกษาหรือการอบรม เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่องที่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาเริ่มให้ความสำคัญและบรรจุเนื้อหาเกี่ยวการเขียนแผนธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนสำหรับนักศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ หรือภาควิชาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยเฉพาะในส่วนระดับปริญญาโทบางมหาวิทยาลัย ที่กำหนดให้การเขียนแผนธุรกิจเป็นหัวข้อวิชาในการศึกษา เทียบเท่าหรือทดแทนการศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent Study) ทำให้มีนักศึกษาบางคนเลือกที่จะเขียนแผนธุรกิจ เพราะคิดว่าสามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่เสียเวลาที่ต้องทำแบบสอบถาม หรือทำการวิจัย และอาจสามารถหาตัวอย่างต่างๆ ของแผนธุรกิจประเภทเดียวกันได้โดยง่าย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง นอกจากในส่วนสถาบันการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการก็อาจต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจ ในกรณีที่เข้าโครงการอบรมจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์บ่มเพาะ (Incubation Center) หรือโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur – NEC) ที่ผู้ประกอบการต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจ ต่อทางโครงการหรือคณะกรรมการ โดยถือเป็นหัวข้อสุดท้ายในการผ่านหรือการจบหลักสูตร แต่สิ่งที่พบสำหรับแผนธุรกิจที่มาจากนักศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของลักษณะแผนที่นำเสนอหรือเขียนขึ้น จะไม่ใช่ลักษณะหรือมีองค์ประกอบที่ถูกต้องของแผนธุรกิจ แต่จะอยู่ในลักษณะของ แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) หรือแผนการตลาด (Marketing Plan) มากกว่าที่จะเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) และมักจะมีรายละเอียดของข้อมูลต่างๆของธุรกิจ ที่มีมากมายโดยไม่จำเป็น หรือไม่ใช่ข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้สำหรับแผนธุรกิจ รวมถึงการที่ไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง ทำให้รายละเอียดที่นำเสนอในแผนธุรกิจไม่เป็นความจริง และถ้าเป็นในส่วนของผู้ประกอบการจากโครงการต่างๆ มักจะเป็นเรื่องของแผนธุรกิจที่นำเสนอ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่ข้อมูลการลงทุนจะไม่ค่อยผิดพลาดนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการคุ้นเคย หรือทราบรายละเอียดอยู่เดิม แต่มักจะขาดความชัดเจนด้านการดำเนินการทางการตลาด รวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับประมาณการทางการเงินที่ถูกต้อง และเมื่อทั้งนักศึกษาหรือผู้ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจในลักษณะดังกล่าว ที่ได้จากการศึกษาหรือการอบรมกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็มักจะประสบปัญหาที่ต้องกลับมาแก้ไข หรือขาดรายละเอียดสำคัญไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองศึกษาหรือได้รับการอบรมมา เป็นแผนธุรกิจที่ถูกต้องเพียงพอและสามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเรื่องของความแตกต่างของแผน หรือเอกสารแต่ละแบบ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแผนธุรกิจในโอกาสต่อไป

    » เพื่อการประกวดหรือการแข่งขัน เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่องที่มีการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจ โดยในปัจจุบันได้มีการจัดประกวดแข่งขันในการเขียนแผนธุรกิจ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดประกวดแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจภายในมหาวิทยาลัย โดยมีทั้งการแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจที่เป็นภาษาไทย แผนธุรกิจที่เป็นภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น โครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ สำหรับนักศึกษาปริญญาโท โครงการ HSBC Young Entrepreneur Award ที่ประกวดเขียนแผนธุรกิจภาษาอังกฤษ ในระดับปริญญาตรี รวมถึงการประกวดแข่งขันแผนบางรายการ เช่น โครงการประกวดแผนการตลาด J-MAT Award เป็นต้น ซึ่งอาจมีลักษณะของการกำหนดตัวธุรกิจ หรือไม่กำหนดธุรกิจในการเขียน แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นการประกวดหรือการแข่งขันแผนธุรกิจ ผู้จัดประกวดหรือแข่งขันมักจะให้ผู้เข้าประกวดเลือกธุรกิจที่จะเขียนหรือนำเสนอเอง ส่วนการประกวดแผนอื่นๆ เช่นแผนการตลาด ผู้จัดมักจะมีโจทย์หรือมีข้อกำหนดมาก่อนเพื่อให้ผู้เข้าประกวดเขียนแผนนำเสนอ โดยส่วนใหญ่แล้วแผนธุรกิจสำหรับประกวดหรือเพื่อการแข่งขันนี้ มักมีข้อกำหนดในโครงร่าง หรือหัวข้อต่างๆจากผู้จัดกำหนดไว้ก่อนแล้ว



http://www.ksmecare.com/Article/63/7208/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88


หมายเลขบันทึก: 455278เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท