ต่อต้านสังคมปมซึมเศร้า...แม่ฟื้นพลังชีวิตลูก


ขอบคุณกรณีศึกษาสู้ชีวิตมะเร็งด้วยจิตอาสา แต่ปรึกษากิจกรรมบำบัดเพื่อหาวิธีให้ลูกที่มีอาการซึมเศร้า "ยิ้มและคุยกับแม่" บ้าง

กรณีศึกษา อายุ 68 ปี: ขอบคุณ ดร.ป๊อป มากที่ได้นัดเวลามาพูดคุยกับป้า อยากทราบวิธีการให้ลูกพูดกับแม่ ตอนนี้ลูกอายุ 27 ปี แต่ไม่ยอมพูดคุยกับพ่อแม่เลย ชอบแยกตัว เก็บตัวอยู่ในห้อง เรียนเก่งจนจบด้วยตนเอง ทำงานได้แต่ไม่ชอบพูดคุยกับเพื่อน ไปหาจิตแพทย์เองและรู้จักทานยาลดอาการซึมเศร้า โดยแม่ต้องสืบค้นข้อมูลการรักษาพยาบาลของลูกโดยไม่ให้ลูกรู้ ก่อนหน้านี้ได้บวชให้แม่ และขอสึกก่อนกำหนดเพราะมีอาการทางจิต (ขาดยา) แต่ไม่บอกให้แม่ทราบว่าลูกป่วย เคยขอเงินไปซื้อยาเพื่อคิดฆ่าตัวตาย 1 ครั้งแต่เพื่อนช่วยไว้ทัน

ดร.ป๊อป: ลองทบทวนในช่วง 6 ปีแรกของลูก ว่ามีบุคลิกภาพที่บกพร่องต่อการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง และความบกพร่องนั้นน่าจะมาจากสาเหตุใด

กรณีศึกษา: อืม...จำได้ว่าตอนเด็กอายุ 2 ปี แม่บังคับลูกให้กินข้าวเร็วๆ จนลูกสำลักและไม่ยอมกินข้าวกับแม่อีกเลย แต่แม่รู้ว่าลูกชอบทานอะไร ก็จะทำให้ทาน วางบนโต๊ะ ลูกก็ยกข้าวไปทานในห้องนอน ไม่เคยได้ทานข้าวกันเลย ทานด้วยกันแต่นั่งหันหน้าหนีไม่สบตาพูดคุยกับแม่เลย [ร้องไห้...] อย่างนี้แม่ผิดใช่ไหม ดร.ป๊อป จากนั้นพออยู่โรงเรียน ก็โดนคุณครูเพื่อนคุณแม่ (จบครูด้วยกัน) ดุด่าเรื่องรังแกเพื่อนนักเรียน ลูกเรียนเก่งแต่ไม่ยอมไปเรียน ไม่พูดกับใคร แม่ก็ช่วยลูกด้วยการลาออก จนลูกหาทางเรียนการศึกษานอกโรงเรียนและสอบเข้ามหาวิทยาลัยจนทำงานด้วยตนเอง หลายครั้งแม่จัดห้องลูกให้เป็นระเบียบ หรือโกหกลูกว่า ห้องเลอเทอะเลยเข้ามาช่วย ไม่ได้บอกตรงๆ ว่าแม่รู้สึกรักลูก หลายครั้งต้องถามเพื่อนของลูกที่ลูกออกจากบ้านไปอยู่ด้วยเพราะอยู่ใกล้ที่เรียน

ดร.ป๊อป: ผมแปรความว่า "ลูกขาดความไว้วางใจในการเลี้ยงดูของคุณแม่ ทำให้เกิดบุคลิกภาพต่อต้านสังคม และเก็บสะสมความคิดทางลบไว้มากๆ จนแยกตัวอยู่อย่างซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ตาม ลูกของคุณแม่รู้จักปรึกษาจิตแพทย์และดูแลรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าดีมีความสามารถ" ดังนั้นเป้าหมายทางกิจกรรมบำบัดคือ การเพิ่มความไว้วางใจในความรักระหว่างแม่ลูก และทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยพลังชีวิตที่มีสุข 

กรณีศึกษา: ขอแค่ให้ลูกยิ้มกับแม่ แม่ก็นอนตายตาหลับแล้ว แม่เป็นมะเร็งแต่ใจสู้ด้วยการทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น ชอบค้นคว้าหาความรู้เพื่อช่วยเหลือลูกแต่วันนี้ได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการทางจิตสังคมของลูกและขอคำแนะนำกับดร.ป๊อป ด้วยค่ะ

ดร.ป๊อป: นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะช่วยเหลือคุณแม่และลูกของคุณแม่ใน 3 ประเด็น โดยขอติดตามผลการทำกิจกรรมบำบัดใน 6 สัปดาห์ คือ

  • คุณแม่ต้องฝึกฝนตนเองในเรื่อง "การวางแผนคิดสื่อสารกับลูก" โดยไม่คาดหวังผล เริ่มจาก การพูดสั้นๆ + การสัมผัส + การสบตา ด้วยความรู้สึกรักความห่วงใยลึกๆ และความเป็นจริงในชีวิต เพื่อสร้างความไว้วางใจกับลูกขณะอยู่ที่บ้าน เริ่มจากการชวนทานข้าว การทำความสะอาดห้อง การทำกิจกรรมครอบครัว หากลูกนิ่งเฉย ก็สัมผัสและสบตาพร้อมพูดด้วยน้ำเสียงสงบ เช่น "แม่รักลูก เลยชวนทานข้าว ลูกทานให้อร่อยนะ (แล้วไม่สนใจ ไม่เดือดร้อนใจ ถ้าลูกทานข้าวในห้องเหมือนเดิม ก็วางอาหารไว้ข้างลูกและสัมผัสมือ/ไหล่ลูกด้วยความห่วงใย)
  • คุณแม่ต้องฝึกฝนตนเองในเรื่อง "ไม่ซักถามลูก ไม่สงสัยลูก ไม่ติดตามลูก ไม่โกหกลูก จนลูกไม่ไว้วางใจ" แต่คอยหากิจกรรมครอบครัวที่แม่คิดทำขึ้นมาในแบบที่หลากหลาย เช่น แม่ร้องเพลงกับพ่อแล้วชวนลูกให้เห็นภาพครอบครัวมีสุข แม่ชวนลูกเดินชมสวน เป็นต้น
  • คุณแม่ต้องฝึกฝนตนเองในเรื่อง "การสงวนพลังงานเพื่อจัดการตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง" และ ดร. ป๊อป ได้แนะนำให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนจิตอาสาที่สามารถจัดการโรคซึมเศร้าของตนเองได้

   

หมายเลขบันทึก: 455257เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ท่านผู้สนใจ เชิญศึกษาโปรแกรมฟื้นพลังชีวิตด้วยกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ที่ http://www.gotoknow.org/ask/supalakpop/7780

จำได้ว่าตอนเด็กอายุ 2 ปี แม่บังคับลูกให้กินข้าวเร็วๆ จนลูกสำลักและไม่ยอมกินข้าวกับแม่อีกเลย แต่แม่รู้ว่าลูกชอบทานอะไร ก็จะทำให้ทาน วางบนโต๊ะ ลูกก็ยกข้าวไปทานในห้องนอน ไม่เคยได้ทานข้าวกันเลย ทานด้วยกันแต่นั่งหันหน้าหนีไม่สบตาพูดคุยกับแม่เลย [ร้องไห้...]

กรณีศึกษาน่าสนใจคะ ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน
แต่ชักเป็นห่วงคุณแม่..ว่ากำลังคิดโทษตัวเอง รู้สึกผิด เลยจำเหตุการณ์ลูกสำลักข้าวแล้วตีความว่าตัวเองเป็นฝ่ายทำไม่ดีกับลูก..
จริงๆแล้วลูก อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท จนมีผลต่อบุคลิกภาพเขาเองจริงๆ ก็ได้..

ไม่ได้เชี่ยวชาญทางจิตเวช..เป็นแค่ความเห็นหนึ่งที่อยากแลกเปลี่ยนนะคะ :-)

ขอบคุณคุณหมอ CUMPal

เป็นไปได้ครับ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ตรวจระบบประสาทของลูกที่เป็นซึมเศร้าครับ คิดว่า ประสบการณ์ระหว่างครอบครัวที่เกิดปมร่วมกับประสาทพัฒนาการทางสารเคมีในสมอง และ/หรือกรรมพันธุ์ด้านการปรับพฤติกรรมเชิงบุคลิกภาพ

โปรดติดตามความก้าวหน้าของการสานพลังชีวิตในครอบครัวกรณีศึกษาที่ http://www.gotoknow.org/blog/otpop/455487

ขอบคุณอาจารย์ป๊อปที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากค่ะ ซึ่งกรณีศึกษานี้เป็นปัญหาที่ใกล้ตัว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆวันของสังคมไทยปัจจุบัน ทำให้ดิฉันได้ตระหนักถึงในอนาคตข้างหน้าว่า ถ้าวันใดวันหนึ่ง ถ้าฉันได้เจอกับบุคคลประเภทนี้จริงๆ ฉันจะสามารถปรับตัว และจะเข้าใจ กับเขาได้หรือไม่ และในฐานะที่ฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัด อาจารย์ก็เป็นตัวอย่าง หรือแนวทางในการที่จะแนะนำ และช่วยเหลือผู้รับบริการในการรักษาทางกิจกรรมบำบัดที่เข้ามาหาดิฉันได้ค่ะ ^____^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท