การประเมินผลโครงการ


การประเมินผลโครงการ การประเมิน หมายถึง การแสวงหาคำตอบรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ทราบคุณค่าและสิ่งที่ถูกประเมิน โดยอาศัยเกณฑ์และมาตรฐาน ในขั้นตอนการวิจัยประเมินผลนั้น เมื่อเรากำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจะต้องทำการระบุเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อวัดความสำเร็จของโครงการ หลังจากนั้นจึงทำการวางแผนและออกแบบการวิจัยประเมินผล ลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แปลผลและตีความผลการวิเคราะห์ จนนำไปสู่การสรุปผลการประเมิน การอภิปรายผล และการเสนอแนะเพื่อการตัดสินใจต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการระบุว่า เกณฑ์ที่จะใช้วัดคุณค่าของโครงการนั้นคืออะไร และต้องใช้ตัวชี้วัดอะไรที่จะสามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม การประเมินผลโครงการในช่วงแรกนั้น มักเน้นที่การประเมินความพยายาม (Effort Evaluation) ว่าได้ทำอะไรในโครงการนั้นไปแล้วบ้าง แต่ไม่ได้สนใจในผลของความพยายามนั้น ในระยะถัดมาเมื่อประชาชนชนมีปัญหาและความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในขณะที่งบประมาณมีจำกัด จึงเริ่มเห็นความสำคัญของการประเมินผลลัพธ์ (Effect Evaluation) และในปัจจุบัน การประเมินผลโครงการได้พัฒนามาเป็นการประเมินภาพรวม (Comprehensive Evaluation) ซึ่งเป็นการประเมินโครงการทั้งหมดในภาพรวม ตั้งแต่การประเมินบริบทของโครงการ (Context) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) การประเมินกระบวนการ (Process) การประเมินผลลัพธ์ (Product) และการประเมินผลกระทบ (Impact) การประเมินควรจะกระทำตั้งแต่ก่อนที่จะมีโครงการ จนกระทั่งทำการประเมินถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการ ลำดับขั้นของการประเมิน ประกอบด้วย 1.การประเมินความจำเป็นต้องมีโครงการ (Assessment of Need for the Program) 2.การประเมินการออกแบบและทฤษฎีของโครงการ (Assessment of Program Design and Theory) 3.การประเมินกระบวนการดำเนินงานและการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Assessment of Program Process and Implementation) 4.การประเมินผลลัพธ์/ผลกระทบของโครงการ (Assessment of Program Outcome/Impact) 5.การประเมินค่าใช้จ่ายของโปรแกรมและประสิทธิภาพ (Assessment of Program Cost and Efficiency) เกณฑ์เพื่อการประเมินคุณค่าของโครงการ ประกอบด้วย เกณฑ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ •ประสิทธิผล (Effectiveness) •ประสิทธิภาพ (Efficiency) •ความเท่าเทียมกัน (Equity) •ความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice) •ความพอเพียง (Adequacy) •ความครอบคลุม (Coverage) •ความเสียหายที่โครงการทำให้เกิดขึ้น (Damage) •ความก้าวหน้าของโครงการ (Progress) •ความสอดคล้องกับปัญหา (Relevance) •ต้นทุนทางสังคม (Social Cost) •ความพึงพอใจ (Satisfaction) •ความยั่งยืน (Sustainability) •ผลกระทบ (Impact) ต่อคำถามที่ว่า แล้วเราจะกำหนดเป้าหมายของโครงการอย่างไร จึงจะถือได้ว่าโครงการนั้นสำเร็จจริง มีเกณฑ์การประเมินมาตรฐานผลการดำเนินโครงการ ดังนี้ 1.ความจำเป็นหรือความต้องการของกลุ่มประชาชนเป้าหมาย 2.เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ 3.มาตรฐานทางวิชาชีพ 4.วิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานที่ได้จากโครงการอื่น 5.ข้อกำหนดตามกำหมายหรือกฎระเบียบ 6.คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรม ความยุติธรรมทางสังคม ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 7.ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ 8.เป้าหมายที่ผู้จัดการโครงการตั้งไว้ 9.ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 10.ระดับเส้นฐานก่อนการดำเนินโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย 11.สภาพที่คาดคิดว่าจะเป็นหากไม่มีการดำเนินงานโครงการ 12.ค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยเปรียบเทียบ -------------------------------------------------------------------------------- ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2529) ได้สรุปเกณฑ์การวิจัยประเมินผล 5 ประการ พร้อมทั้งยกตัวอย่างคำถามไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอนำเสนอตัวอย่างตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ของแต่ละเกณฑ์ โดยอาศัยโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลปัจจุบันมาเป็นกรณีศึกษาไปควบคู่ด้วย เกณฑ์ทั้ง 5 เกณฑ์ได้แก่ 1.ประสิทธิผล เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการกับวัตถุประสงค์ของโครงการ เกณฑ์ประสิทธิผลจะช่วยให้เราทราบว่าโครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี สมมติว่ามีวัตถุประสงค์ของโครงการ “เพื่อเพิ่มจำนวนเด็กไทยทั้งประเทศที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบจากจำนวนในปี 2552 ภายในปี 2555” หากมีวัตถุประสงค์ของโครงการเช่นนี้ ตัวชี้วัดของโครงการนี้ก็จะต้องเป็น “จำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อเทียบกับปี 2552” และโครงการนี้จะมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2555 แล้วพบว่า มีจำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลายเพิ่มขึ้นจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 80 หรือมากกว่า 2.ประสิทธิภาพ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยนำเข้า กับผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่าผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการที่ได้มาคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวอย่างตัวชี้วัดของโครงการที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพของโครงการ เช่น จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นต่องบประมาณที่ให้แต่ละโรงเรียน สมมติว่ามีเกณฑ์มาตรฐานจากประเทศอื่นๆ อยู่ว่า ในหนึ่งรร.หากให้งบประมาณไปหนึ่งแสนบาท จะช่วยให้มีเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้น 50 คน หากทำการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว รร.ต่างๆ ในประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น 55 คนต่องบประมาณที่ได้รับไปหนึ่งแสนบาท ลักษณะนี้ถือว่าโครงการนี้มีประสิทธิภาพ 3.ความพอเพียง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการกับความต้องการทั้งหมดของสังคม ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่าโครงการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้มากน้อยเพียงใด สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวอย่างตัวชี้วัดของโครงการที่สะท้อนถึงความพอเพียง เช่น จำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เข้าโครงการเทียบกับจำนวนเด็กไทยที่มีความต้องการทั้งหมด ซึ่งหากในการสำรวจความต้องการของประชาชนก่อนเริ่มต้นทำโครงการพบว่า มีเด็กไทยที่ต้องการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้ขาดโอกาสที่จะเรียนต่อ จำนวนทั้งสิ้น 100,000 คนต่อปี แต่เมื่อจัดสรรงบประมาณแล้วพบว่ามีงบประมาณเพียงพอสำหรับเด็กไทยแค่ 30,000 คนต่อปี โครงการนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่ประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ของความพอเพียงของโครงการ 4.ความเสมอภาค เป็นการเปรียบเทียบโอกาสในการที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับบริการสาธารณะตามโครงการว่ามีความเท่าเทียมกันทางโอกาสหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี หากสมมติตามตัวอย่างที่แล้วว่า มีความต้องการทั้งหมด 100,000 คนต่อปี แต่มีงบประมาณสำหรับเพียง 30,000 คนต่อปี ตัวชี้วัดสำหรับเกณฑ์ความเสมอภาค เช่น อัตราส่วนเด็กที่ได้เข้าโครงการต่อเด็กที่มีความต้องการทั้งหมด เปรียบเทียบกันในแต่ละภูมิภาค หากพบว่าทุกภูมิภาคมีอัตราส่วนเด็กที่ได้เข้าโครงการต่อเด็กที่มีความต้องการทั้งหมดในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ก็สามารถกล่าวได้ว่า โครงการนี้ผ่านเกณฑ์ความเสมอภาค (ที่จำเป็นต้องคิดเป็นอัตราส่วนเนื่องจากในแต่ละภูมิภาคอาจมีจำนวนเด็กที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่เท่ากัน การกระจายสิทธิ์โดยการแบ่งไปแต่ละภูมิภาคเท่าๆ กันจึงไม่เหมาะสม) 5.ความเป็นธรรม เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผู้ที่ได้รับผลลัพธ์และผลกระทบจากโครงการซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบในสังคม กับผู้ได้เปรียบในสังคม สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวชี้วัดที่สะท้อนเกณฑ์ความเป็นธรรม เช่น จำนวนที่ลดลงของเด็กที่ขาดโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการให้ความช่วยเหลือกับผู้เสียเปรียบในสังคม ทำให้อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ผ่านเกณฑ์ความเป็นธรรมได้
หมายเลขบันทึก: 455233เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท