การแพร่ กับ ระบบการช่วยเหลือวิกฤติการณ์


แบบจำลองคณิตศาสตร์อย่างง่ายสำหรับอธิบายระบบการช่วยเหลือวิกฤติการณ์

ผมตั้งข้อสังเกตว่า เราสามารถใช้อุปมาทางฟิสิกส์มาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้หลายเรื่อง

หนึ่งในนั้นคือการนำเอาปรากฎการณ์การแพร่ มาอธิบายการช่วยเหลือวิกฤติสาธารณะ เช่น น้ำท่วม

ที่ผมมองเช่นนี้ เพราะมุมมองของผม หน่วยช่วยเหลือ ก็ทำตัวเสมือนโมเลกุล ที่แพร่เชิงสุ่ม รุดเข้าไปในโซนที่ต้องการความช่วยเหลือ มักมีขีดจำกัดเรื่องมีสิ่งกีดขวาง สมรรถนะของยานพาหนะ ฯลฯ คล้าย ๆ กับการที่โมเลกุลแพร่ผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน

สมมติว่ามีน้ำท่วมในเขตพื้นที่หย่อมหนึ่ง ที่กว้างพอสมควร เป็นรูปวงกลม

และความช่วยเหลือก็มาถึงโดยรอบ อยู่ตามชายขอบ

ความช่วยเหลือจะค่อย ๆ แพร่ตามชายขอบ แล้วค่อย ๆ เข้าไปลึกขึ้น ๆ อย่างช้า ๆ คล้ายกับการที่เกิดการ'แพร่'ของโมเลกุลสีเข้าไปในตัวกลา่งต่างชนิดที่ข้นหนืดสูง

เมื่อเวลาผ่านไป ระยะเฉลี่ยที่โมเลกุลสีจะเดินทางเข้าไปได้ <X> เมื่ออธิบายโดยแบบจำลองของการแพร่ จะได้

              <X> ยกกำลัง 2 = 2 D t

เมื่อ D เป็นค่าคงที่การแพร่ และ t เป็นเวลา

สมการนี้เป็นสมการในการยื่นขอปริญญาเอกของไอน์สไตน์เมื่อราวร้อยปีก่อน

สิ่งที่สมการนี้บอกเราก็คือ ยิ่งเข้าไปลึกมากขึ้น ยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นแบบไม่ได้เป็นสัดส่วนกันธรรมดา

เช่น ในการแพร่ หากเดิมแพร่เข้าไปได้โดยเฉลี่ย 1 ซม ใช้เวลา 1 นาที หากจะให้แพร่ได้ไกลเฉลี่ย 2 ซม เวลาที่ใช้ จะแปรผันตรงกับระยะทางยกกำลังสอง นั่นคือ ต้องใช้เวลา 4 นาที และหากแพร่ให้ไกล เฉลี่ย 3 ซม ก็ต้องใช้เวลา 9 นาที เป็นต้น

หากการช่วยเหลือน้ำท่วม มีอุปมาที่เหมือนกับการแพร่จริง สิ่งที่เราจะคาดหมายไว้ได้ก็คือ คนที่รอความช่วยเหลืออยู่ตรงกลาง กว่าความช่วยเหลือจะเข้าไปถึง จะช้ามากแบบผิดปรกติ เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่บริเวณชายขอบ

ขอให้นึกถึงภาพไข่ดาว โซนที่การช่วยเหลือไปถึง อุปมาเหมือนโซนไข่ขาวรอบ ๆ โซนไข่แดงอยู่ตรงกลาง โซนไข่ขาวจะค่อย ๆ ลามเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างช้า ๆ

ถ้าโมเดลการแพร่ใช้ได้จริงในกรณีนี้ ยิ่งใกล้ศูนย์กลาง ก็ยิ่งต้องรอนานผิดปรกติ

หากจะแย้ง ก็คงเป็นประเด็นว่า เป็นการแพร่เข้าทรงกลม ซึ่งจะประสานกับการช่วยเหลือทางอื่นด้วย ดังนั้น เวลา อาจไม่ได้แปรผันกับระยะทางยกกำลังสอง แต่แปรผันกับระยะทางยกกำลังหนึ่ง

ในกรณีเมืองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่มาก เช่น หาดใหญ่ การขับรถผ่ากลางเมือง จะต้องขับราว 10 กม. นั่นคือ รัศมีจากขอบเมืองเข้าไปถึงศูนย์กลางคือ 5 กม.

ถ้าดูรูปแบบการช่วยเหลือ อาจมองว่าการช่วยเหลือรุกเข้าไปได้(แบบโอบจากนอกเข้าข้างใน) วันละไม่ไกล กว่าการช่วยเหลือจะสม่ำเสมอไปถึงศูนย์กลางได้ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน (จะแย้งแบบโกงว่าดิ่งไปตรง ๆ ที่ไหนก็ได้ทุกเมื่อ ก็มีส่วนจริง แต่แบบนั้นคือเจาะจงไปช่วยแต่พรรคพวกเพื่อนฝูงคนรู้จัก ไม่ใช่ระบบที่ช่วยแบบเป็นกลางที่ช่วยดะทุกแห่ง)

คำถามที่น่าห่วงก็คือ หากการท่วมเกิดกับเมืองที่ใหญ่กว่าหาดใหญ่หลายเท่าเป็นวงกว้าง จะเกิดมุมอับความช่วยเหลือที่จุดศูนย์กลางหรือไม่ ? (ช่วงพระจันทร์เต็มดวงยิ่งน่ากลัว มีมนุษย์หมาป่า..เอ๊ย..น้ำทะเลหนุนด้วย ถ้าอยู่ติดทะเลและมีแม่น้ำไหลผ่านเมือง)

และหากการท่วมยืดเยื้อเกิน 7 วันโดยความช่วยเหลือเข้าไปยังไม่ถึง ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ไม่สามารถซื้ออะไรได้ หรือไม่สามารถเบิกเงินจากตู้ ATM ได้ ไม่มีอาหารและน้ำดื่มพอ จะเกิดอะไรขึ้น ? ผมไม่อยากนึก

ใครเป็นเบาหวานก็คงอาการหนักหน่อย เป็นกลุ่มแรกที่น่าช่วยเหลือเร่งด่วน

แต่คนธรรมดาอด 7 วัน ก็คงอยูได้...มั้ง?

(ในลิเกการเมือง อดเป็นเดือนยังอยู่ได้เลย)

ทางแก้ คงเป็นเรื่องของการทำให้ประชาชนทั่วไปตระหนักว่า

1. ตัวเองก็อาจเจอเข้าซักวัน

2. อย่ารอจนเกิดแล้วค่อยดิ้นรน ควรดิ้นรนเตรียมให้พร้อม ถ้ามันเกิดขึ้นจริง จะได้ถือโอกาสหยุดยาวพักผ่อนอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรอน 

เหมือนเรารู้ว่าคืนนี้ไฟดับแน ตอนกลางวันมีเวลาถมไปที่จะจัดการ แต่อย่าคิดทำกลางคืนเชียว

หมายเลขบันทึก: 45495เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"คนที่รอความช่วยเหลืออยู่ตรงกลาง กว่าความช่วยเหลือจะเข้าไปถึง จะช้ามากแบบผิดปรกติ เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่บริเวณชายขอบ"

นี่เป็นโชคดีที่มีอยู่น้อยมากของคนชายขอบ ซึ่งปกติไม่ค่อยได้รับการดูแล ค่ะ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท