ภูมิปัญญาที่ไม่ธรรมดา


ความรู้ที่ไม่ธรรมดาของนายสนิท

 

                        บันทึกองค์ความรู้

 
   

 

  ชื่อ               นางวาสนา                  นามสกุล         ซาตะนัย

  ตำแหน่ง      นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

  สังกัด           สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสามโคก   จังหวัดปทุมธานี  12160 

  โทรศัพท์      089-1188032   / 089-982-5035 

  ชื่อเรื่อง        แหล่งเรียนรู้ที่ไม่ธรรมดา 

  เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ   การถ่ายทอดแหล่งเรียนรู้

  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ      4  มีนาคม  2554

  สถานที่เกิดเหตุการณ์     67 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านงิ้ว   อำเภอ สามโคก   จังหวัดปทุมธานี

 ในชุมชนไทยมีการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ที่จะอยู่รอด ไปสู่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ จนพัฒนาเป็นวิถึชีวิตที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมภูมิปัญญาของผู้คนในชุมชน จนเป็นแบบอย่างสามารถให้คนอื่นเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของเขาได้                                การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ทุกสถานที่ ไม่ใช่แต่ห้องเรียน การเรียนรู้ที่เกิดจากการ ที่คนได้พูดคุยกัน เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ความรู้ที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเรียกว่าแหล่งเรียนรู้ สิ่งที่อยู่ในสังคมรอบๆ ตัวเรา ที่เป็นทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น วัฒนธรรม ประเพณี พิพิธภัณฑ์ หรือแม้นกระทั่งภูมิปัญญาท้องถิ่น  ในที่นี้ข้าพเจ้าได้พบกับแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ธรรมดา ที่จะนำมาถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต นั่นก็คือแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น  กับชีวิตจริงของนายสนิท  พวงผกา  อายุ 78 ปี อาชีพ รับจ้าง และลูกผักสวนครัวขาย พิธีกรทางด้านศาสนา ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนบ้านงิ้ว  อาศัย อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี  เป็นบุตรคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คน ของคุณพ่อเอียง และคุณแม่ห่วง พวงผกา ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว เหลือแต่คุณลุงสนิท เพียงคนเดียว  สมัยวัยเด็กจวบเข้าสู่วัยหนุ่ม อาศัยอยู่กับคุณพ่อและคุณแม่  มีอาชีพทำนา แต่ชีวิตลำเค็ญ ไม่ร่ำไม่รวย ทำให้ชีวิตหักเห มีอันต้องขายที่ทำนา เหลือแต่ที่อาศัยติดแม่น้ำเจ้าพระยาบนเนื้อที่ประมาณ ๑  งาน ในหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี  สมัยวัยหนุ่มได้สมรสกับนางจวน ช่างเหล็ก สาวราชบุรี       คุณลุงบอกว่าคนสวยโพธาราม คนงามบ้านโปร่ง ภรรยาแกก็เป็นคนสวย  มีบุตรด้วยกัน 4 คน ชาย ๑ หญิง ๓ ปัจจุบันแยกครอบครัวไปหมดแล้ว เหลือแต่ นางสาวจำเนียร พวงผกา บุตรคนเล็กของคุณลุงทีอาศัยอยู่ด้วยกัน

 ชีวิตของคุณลุงสนิท มีภูมิหลัง และความเป็นมาที่น่าศึกษา แฝงไปด้วยแง่คิด คติสอนใจทุกคำพูดที่คุณลุงสนิท เล่าให้ฟัง จนกระทั่งข้าพเจ้าอดไม่ไหวที่จะต้องถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ศึกษา และนำไปเป็นแบบอย่างในชีวิตของตน 

          ชีวิตที่ลำเค็ญ สมัยวัยเด็กสู่วัยหนุ่ม ลำบากมาตลอด จวบจนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัว มีอาชีพค้าขาย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขาดทุน ลูกค้าซื้อเชื่อ จ่ายทีหลัง ทำให้ต้องเลิกอาชีพค้าขาย แต่ก่อนจะเลิกอาชีพ ได้ยกหนี้สินให้ลูกค้าหมด ไม่เก็บเงินจากลูกค้าซักบาทเดียว คุณลุงบอกว่าเพื่อที่จะได้ส่งผลให้คุณลุงและครอบครัวมีอันจะกิน ร่ำรวย เหมือนคนอื่นเขาบ้าง หลังจากนั้นก็ปฎิญาณตนว่า จะหันมาประกอบอาชีพรับจ้างทุกอย่างไม่เลือก รับจ้างทำนา ขุดดิน ขุดร่องสวน  พร้อมกับภรรยา เพื่อเลี้ยงชีพ และครอบครัว จนกระทั่งลูกๆ โต ต่างมีครอบครัว คุณลุงบอกว่า ได้เห็น ฟัง และดูข่าว  เกี่ยวกับเศรษฐกิจ 

พอเพียง ตนเองมีที่บริเวณรอบๆ บ้าน ก็มีความคิดที่จะปลูกผักสวนครัวไว้กินและเหลือขาย บริเวณบ้านคุณลุง ได้ปลูกถั่วฝักยาวหวาน ผักบุ้งจีน  ใบกระเจี๊ยบ ยอดฟักทอง  นอกจากนี้คุณลุงยังเป็นที่รู้จักของคนในตำบลบ้านงิ้ว ในฐานะคนเก่าคนแก่ที่รู้เรื่องราวตำนานประวัติศาสตร์ของตำบลบ้านงิ้ว เป็นอย่างดี และยังเป็นที่รู้จักของทุกคนในฐานะพิธีกรทางศาสนา (มัคคทายกวัด) งานแต่ง งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ฯลฯ คุณลุงจะเป็นพิธีกรทางศาสนาประจำหมู่บ้าน  เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน ผู้สนใจในการดำรงชีวิตของคุณลุง  เคยประกวดมัคทายกวัด ได้รับรางวัลดีเด่นด้วย

    ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปบ้านคุณลุงสนิท สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นและอยากจะนำมาบันทึกเป็นความรู้ให้ผู้สนใจได้ศึกษา ก็คือ 

            ถังหมักเศษพืชผักไว้ใต้ถุนบ้าน เป็นถังน้ำหมักชีวภาพซึ่งคุณลุงทำเองตามประสาชาวบ้าน มีส่วนประกอบไปด้วยเศษพืชผัก สะเดา หนอนตายหยาก ขี้เหล็ก ฯลฯ เป็นสารใส่แมลง เพื่อนำไปหมักใส่น้ำ เก็บไว้รดผักสวนครัว เป็นการทุ่นค่าปุ๋ย/ยาไล่แมลง  และคนกินก็ปลอดภัย หันไปเห็นเครื่องมือทำฝนเทียมของคุณลุง สงสัยใช่ไหมล่ะ? คุณลุงบอกว่ามันเป็นเครื่องมือทำมาหากินของคุณลุง  กว่า ๔๘  ใบ     ได้ถูกตั้งเรียงรายอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีน้ำเต็มทุกใบ     (บัวรดน้ำ)  บริเวณใต้ถุนบ้าน  คุณลุงสนิทบอกว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก  เพราะบริเวณบ้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พอน้ำขึ้นก็ต้องรีบตักเก็บไว้เพื่อใช้รดน้ำผักที่ปลูกไว้ ถ้าน้ำลงแกก็จะตักน้ำไม่ถึง  วิธีรดน้ำผัก จะนำบัวรดน้ำไปวางไว้ตามร่องผัก ก่อน ถึงเวลาก็จะรดน้ำผักไปพร้อมกันทุกร่องผักจนหมดน้ำ เป็นการออกกำลังกายไปด้วยสายตาของข้าพเจ้ามองไปรอบๆ บ้าน ยังพบสิ่งที่ไม่คาดฝันอีก นั่นก็คือ พั่ว วางเรียงเป็นระเบียบผูกมัดติดกันกว่า ๑๐๐ อัน ด้วยความสงสัย ก็ถามอีกว่า มีไว้ทำไมมากมาย ได้รับคำตอบว่า เป็นเครื่องมือทำมาหากินสมัยก่อน ที่มีอาชีพรับจ้างขุดดินเลี้ยงชีวิตและครอบครัว เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานได้รู้ว่า คุณลุงมีอาชีพอะไรในอดีต  ที่มีมากก็เพราะว่าสมัยก่อนลำบาก ไม่มีเงินซื้อพั่ว มี ๒ อัน ภรรยา อัน ตนเองอัน ก็เลยปฎิณานตนว่า ถ้าเสร็จงานแรกจะซื้อพั่ว ๒๐ อัน  หลังจากนั้นก็ให้สัญญากับตนเอง ว่าถ้ารับจ้างเสร็จงานหนึ่งก็จะซื้อพั่วเก็บไว้ ๑ อัน ไว้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ ก็เลยมีพั่วมากมายเต็มบ้านตามที่เห็น (พั่วทุกอันคุณลุงใช้ทุกอันไม่มีอันไหนไม่ใช้)   ไม่หมดเท่านี้สำหรับแหล่งเรียนรู้ที่บ้านคุณลุง

   ข้าพเจ้าได้มีโอกาสขึ้นไปบนบ้าน  สิ่งที่เห็นคือนาฬิกาติดฝาผนัง  จำนวนมากมายเต็มบ้านกว่า ๑๐๐ เรือน ทุกเรือนเดินตรงกันหมด ตามปกติแล้วบ้านหนึ่งจะมีนาฬิกาเพียง 4-5 เรือนเท่านั้น    คุณลุงสนิท บอกว่า มีโรคประจำตัวอยู่ ๕ โรค คือ โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง   โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด     โรคหอบ และโรคเก๊า    พอโรคใดโรคหนึ่งกำเริบ คุณลุงก็จะเข้าห้องพระนั่งสมาธิฟังเสียง นาฬิกาเดิน ติ๊กๆๆๆๆ  โรคที่กำเริบของคุณลุงก็จะทุเราลง นี่ก็คือสาเหตุที่นาฬิกาเต็มบ้าน

 เป็นไงบ้างค่ะสำหรับแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ธรรมดา ที่ข้าพเจ้าได้รวบรวมจากชีวิตและประสบการณ์ที่สั่งสมภูมิปัญญาของคุณลุงสนิท พวงผกา มาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง น่าจะมีคติ แง่คิด และสามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

 บันทึกขุมความรู้   (Knowledge Assets)

  1. แหล่งเรียนรู้มีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่แต่ห้องเรียน ในสังคมรอบๆ ตัวเรา ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้
  2. แหล่งเรียนรู้เกิดจากการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ
  3. แหล่งเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมภูมิปัญญาของคนในชุมชน
  4. แหล่งเรียนรู้แฝงไปด้วยแง่คิด และภูมิหลังของที่มาในแหล่งเรียนรู้นั้นๆ

แก่นความรู้   (Core Compentency)

  1. การสืบค้นหาแหล่งเรียนรู้ ในหมู่บ้าน/ตำบล
  2. การพูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์ เก็บภาพ จดบันทึก
  3. การจัดเก็บองค์ความรู้ รวบรวมเป็นหมวดหมู่ บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
  4. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ที่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้สนใจนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

กลยุทธ์ในการทำงาน

  1. ค้นหาแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้รับการถ่ายทอด
  2. ความต้องกาที่จะสืบค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อจัดทำทะเบียนฐานข้อมูลในการทำงาน
  3. ค้นหาแหล่งเรียนรู้จากเวทีประชาคมในหมู่บ้าน/ตำบล ด้วยการสอบถามผู้ที่ชาวบ้านให้การนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชน
  4. ประสานภาคีพัฒนาเพื่อให้ได้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
  5. จัดเก็บองค์ความรู้ บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อไม่ให้แหล่งเรียนรู้ได้สูญหายไปจากปัจจุบัน
  6. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ที่ได้แก่สาธารณะชน

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฏี  ที่เกี่ยวข้อง

          ฐานข้อมูลผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ตามทะเบียนระบบข้อมูลกลางเพื่อการบริหารการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ กรมการพัฒนาชุมชน สำหนังสือสั่งการจังหวัด ที่ ปท 0018/ว2820 โครงการยุทธศาตร์จังหวัดปทุมธานี ปี 2554 โครงการปราชญ์ชุมชน เพื่อทำฐานข้อมูลปราชญ์ชุมชน จัดเก็บ และจัดการเผยแพร่ผ่านระบบสารสนเทศ รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาของปราชญ์ชุมชนเพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา และหนังสือสั่งการจังหวัดปทุมธานี ที่ ปท 0018/ว4552 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2554 ให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน จัดการความรู้ในงานพัฒนาชุมชน คนละ 1 เรื่อง 

***********

 

 

หมายเลขบันทึก: 454924เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

*** แหล่งเรียนรู้แฝงไปด้วยแง่คิด และภูมิหลังของที่มาในแหล่งเรียนรู้นั้นๆ ยังรอการส่งเสริมและต่อยอด..มีอยู่อีกมากมายนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท