การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในต่างประเทศ


การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในต่างประเทศ

          การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในต่างประเทศ

          1. ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เริ่มปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2532 แรงกดดันสำคัญที่ทำให้ต้องปฏิรูประบบการศึกษา คือ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของนิวซีแลนด์ ประชาชนมีรายได้น้อย การว่างงานสูง ประกอบกับระบบการบริหารและการจัดการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ขณะนั้นก็มี ปัญหาเหมือนกับประเทศไทย คือ   มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง เขตการศึกษา และโรงเรียน ทำให้ระบบการจัดการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ ห่างไกลจากผู้เรียนและผู้มีส่วนร่วม มีความล่าช้าใน การปฏิบัติงาน งบประมาณไปไม่ถึงโรงเรียน เนื่องจากถูกนำไปใช้เพื่อการบริหารในส่วนกลาง โรงเรียนไม่มีอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษา คุณภาพการศึกษาต่ำ ประชาชนในท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาของนิวซีแลนด์จึงเริ่มต้นขึ้นโดย ลดบทบาทอำนาจของกระทรวงการศึกษาให้เป็นหน่วยงานขนาดเล็กและได้ยุบเลิกหน่วย งานในส่วนภูมิภาคลงทั้งสิ้น เพื่อให้เหลือเพียง 2 ระดับ คือ กระทรวง กับสถานศึกษา เท่านั้น
           กระทรวงการศึกษาทำหน้าที่ดูแลนโยบาย หรือ “แนวการจัดการศึกษาของชาติ” เสนอแนะรัฐบาลด้านนโยบายการศึกษาทุกระดับ จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนส่งเสริม ประสานงาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน รวมทั้งมีสำนักงานว่าด้วยการประเมินคุณภาพและการศึกษา  ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก
          สถานศึกษาทุกแห่งตั้งแต่ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัยมี อิสระในการจัดการศึกษาของตนเอง ทั้งในเรื่องบุคลากร งบประมาณ หลักสูตรและ การจัดการเรียนการสอนมี “คณะกรรมการบริหารโรงเรียน” (board of trustees) ให้ทำหน้าที่จัดทำธรรมนูญโรงเรียน กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายและนโยบายของโรงเรียน โดยความร่วมมือของผู้บริหาร บุคลากร และชุมชน และเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะถือเป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐกับโรงเรียน และระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และโรงเรียนจะใช้ธรรมนูญ ในการประเมิน กำกับ ติดตาม และให้ความสำคัญกับการอบรมผู้บริหารโรงเรียน และคณะกรรมการโรงเรียนอย่างต่อเนื่องโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยยึดปรัชญา “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และยึดหลักการเรียนรู้โดยการกระทำ (learning by doing) ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติมากที่สุด ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก(facilitator) คอยกระตุ้น ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น รู้จักใช้เหตุผล และฝึกทักษะการปฏิบัติงาน
          เมื่อมีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาเช่นนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับโรงเรียนจึงอยู่ที่ “ธรรมนูญโรงเรียน” ซึ่งเป็นข้อตกลง (contract) ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างโรงเรียนกับรัฐบาล โรงเรียนทุกแห่งต้องส่งธรรมนูญโรงเรียนให้กระทรวงเป็นผู้ตรวจสอบ และอนุมัติเมื่ออนุมัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงก็จะจัดสรรเงินงบประมาณให้การดำเนินการตามธรรมนูญโรงเรียนทั้งหมด เป็นเรื่องของ คณะกรรมการบริหารโรงเรียน โดยผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะผู้นำทางการศึกษาและผู้จัดการมีหน้าที่นำนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานที่คณะกรรมการสถานศึกษากำหนดไปสู่การปฏิบัติ การปฏิรูปการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงแรกประสบปัญหามาก เนื่องจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียนไม่เข้าใจในบทบาทของตน ต้องมีการอบรมกันอย่างจริงจัง แต่ในที่สุดนิวซีแลนด์ก็สามารถปฏิรูปการศึกษาสำเร็จในระยะเวลาสิบปีเท่านั้น แม้ว่าจะมีการต่อต้านเกิดขึ้นบ้าง แต่ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ได้ให้การสนับสนุนจนการดำเนิน งานต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
          2. ประเทศมาเลเซีย กระบวนการปฏิรูปการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่สำคัญของมาเลเซีย คือ การจัดตั้งโรงเรียนแบบใหม่ที่เรียกว่า Smart School ขึ้นในทุกโรงเรียนนำร่อง ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ทางการศึกษาเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่น ๆใช้เป็นแบบในการพัฒนา และเพื่อให้นักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โรงเรียน Smart School จะใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัย ห้องสมุดของศูนย์การศึกษาทางไกลศูนย์การฝึกอบรมครู และศูนย์การผลิตสื่อการสอนสำหรับคอมพิวเตอร์
          การนำ Smart School เข้ามาใช้ มีผลให้กลุ่มบุคคล 4 กลุ่ม เปลี่ยนแปลงบทบาทไป คือกลุ่มบิดา มารดา ผู้ปกครอง จะมีความใกล้ชิดกับโรงเรียน และการเรียนของเด็ก โดยใช้การดูแลมากขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น
          3. ประเทศเวียตนาม การปฏิรูปการศึกษาในเวียตนาม เริ่มในปี ค.ศ. 1986 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างชัดเจน โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเป้าหมายหลักเพื่อลดอัตราการไม่รู้หนังสือของประชาชนให้เหลือน้อยกว่า ร้อยละ 10 แนวคิด และวิธีการใหม่ทางสังคม เดิมยึดถือระบบสังคมนิยม ที่รัฐต้องกำหนดแนวทางทุกอย่างของสังคม ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผสมผสานที่รัฐมีบทบาทส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นของเอกชน ต้องการทรัพยากรใหม่ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์ เวียตนามได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) ที่การจัดการศึกษาที่ไม่ใช่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลอย่างเดียวอย่างที่เป็น มา แต่เปิดโอกาสให้ชุมชน เอกชน และบุคคลได้มีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีอิสระที่จะเลือกการศึกษาของตนเองมากขึ้น และให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการจัดการศึกษาได้เอง ด้านงบประมาณ รัฐได้ลงทุนให้ส่วนหนึ่ง และผู้ปกครองต้องเสียค่าเล่าเรียนด้วยส่วนหนึ่ง

          4.   ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1990 สหรัฐอเมริกามีเขตการศึกษาประมาณ 15,500 เขต ในจำนวนนี้มีโรงเรียนจำนวนไม่มากนักที่ได้นำการบริหารแบบกระจายอำนาจไปใช้ อย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบ (Neal, 1991, p.1) มีเขตพื้นที่ที่นำการบริหารรูปแบบนี้ไปใช้ จำนวน 1 ใน 4 ของเขตพื้นที่ทั้งหมด (Brooks, 1991, p. 117) แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานได้รับความสนใจจากเขตพื้นที่การ ศึกษามากขึ้นโดยลำดับ ปัจจุบันมีในเกือบครบทุกมลรัฐแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ (Herman & Herman อ้างถึงใน อุทัย  บุญประเสริฐ, 2546, หน้า 57)
          จากประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกา พบว่า การรวมอำนาจทำให้ระบบการศึกษาเคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้า เป็นระบบที่มีขนาดใหญ่โต เฉื่อยชา ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับการตำหนิจากฝ่ายอื่น ๆ ที่อยู่นอกวงการศึกษาเพราะมีการตัดสินใจที่เชื่องช้าแม้ในเรื่องเล็กน้อย จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของการรวมอำนาจคือไม่สามารถโน้มน้าวให้บุคลากรใน โรงเรียนมีทัศนคติ และพฤติกรรมที่จะปรับปรุงการศึกษา แรงผลักดันและอำนาจจากภายนอกที่กดดันให้มีการปรับปรุงโรงเรียนไม่ทำให้ โรงเรียนมีความผูกพันที่จะปรับปรุงโรงเรียนอย่างยั่งยืน สภาพการณ์เช่นนี้ นักวิชาการในขณะนั้นเชื่อว่า สามารถแก้ไขด้วยการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การบริหาร (SBM) ของสหรัฐอเมริกามีหลายรูปแบบแต่ละโรงเรียนมี “คณะกรรมการบริหารโรงเรียน” (school council หรือ school board) ประกอบด้วยผู้แทนครู ผู้บริหาร พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน คณะกรรมการมีอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาแตกต่างกันไปแล้วแต่บริบทของ โรงเรียนแต่ละแห่ง บางโรงเรียนคณะกรรมการมีอำนาจตั้งแต่การจัดทำหลักสูตรไปจนถึงการบริหารงบ ประมาณ การจ้างและเลิกจ้างครูและผู้บริหารโรงเรียน แต่บางแห่งก็มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารโรงเรียนเท่านั้น ประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งการปกครองเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น การจัดการศึกษาและการบริการทางการศึกษาเป็นความรับผิดชอบของรัฐและท้องถิ่น โรงเรียนในระดับท้องถิ่นจะบริหารจัดการตนเอง เป็นรูปคณะกรรมการ มีสิทธิ์ระดมทุนมีอำนาจเต็มในการบริหารหลักสูตรและการแต่งตั้งครู อาจารย์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวการปฏิรูปการศึกษาหลายวิธีในประเทศ สหรัฐอเมริกา แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ประเทศสหรัฐอเมริกามีการปฏิรูปโรงเรียนอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้น เป็นโรงเรียนตามข้อตกลง (Charter Schools) ระหว่างกลุ่มครูผู้สอนกับผู้ปกครอง และโรงเรียนเพื่อจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อความต้องการของนัก เรียนโรงเรียนประเภท (Charter Schools) จะต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ คือ
          4.1 โรงเรียนกำหนดข้อตกลง (charter) กับครูและผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาที่เริ่มจากความคิดและประสบการณ์ ของครูและผู้ปกครอง
          4.2 โรงเรียนกำหนดเป้าหมาย (goals) ของการดำเนินงานที่ชัดเจนและให้มีการตรวจสอบและการควบคุมที่เชื่อมโยงกัน
          4.3 โรงเรียนกำหนดกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไว้ในข้อตกลง (charter) เพื่อเร่งรัดให้เกิดนวัตกรรม และการทดสอบของการใช้นวัตกรรมพัฒนาให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นเลิศ
          ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดการศึกษาที่เน้นการการกระจายอำนาจชัดเจน เน้นการพัฒนาองค์การเขตพื้นที่ให้มีคุณภาพ คณะกรรมการชุมชนมีบทบาทชัดเจนในการนำ (SBM) มาใช้ในการจัดการศึกษา เพื่อเน้นการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

 5. ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ เป็นระบบการศึกษาเพื่อการมุ่งสู่ยุคสารสนเทศ และโลกาภิวัตน์ โดยมีพื้นฐานความคิดอยู่ที่การสร้าง “สังคมการศึกษาแบบเปิดและตลอดชีวิต” มีจุดเน้นสำคัญที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการศึกษา  ทั้งนี้เพื่อให้สถานศึกษาในท้องถิ่นมีบทบาทตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ ของชุมชนมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาหรือคณะกรรมการโรงเรียน (school council) ประกอบ ด้วยผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ศิษย์เก่าและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษามีหน้าที่ (1) พิจารณางบประมาณ (2) วางระบบบัญชี (3) เสนอแนะเรื่องหลักสูตร (4) สร้างธรรมนูญโรงเรียน และ (5) คัดเลือกครู และผู้บริหารโรงเรียน
           การจัดการศึกษาของเกาหลีเป็นบทเรียนตัวอย่างความสำเร็จที่มีปัจจัยสำคัญ คือ มีการเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาใน โรงเรียน

          6. ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนปี ค.ศ. 1980 การจัดการศึกษาของจีนเป็นลักษณะของการรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง (centralization) กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบงานการศึกษาทุกระดับทำให้ไม่สามารถกระจาย โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ยุทธศาสตร์ในการบูรณาการการใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้ โรงเรียนเป็นฐานโดย บูรณาการการใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในพื้นที่ชนบท ประชาชนร้อยละ 80 ของประเทศจะอยู่ในเขตชนบท การจัดการศึกษาในเขตชนบทจะประสบปัญหาอุปสรรค มากที่สุด ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1994 เทศบาลเมือง 30 แห่ง ใน 27 จังหวัด และเขตปกครองตนเอง ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐให้เซ็นสัญญาในการดำเนินการ ปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบบูรณาการ ส่วนการบูรณาการการใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในเขตเมืองผสม กับ เขตชนบทโดยมีโครงการนำร่อง เช่นโครงการที่จัดตั้งระบบการให้เงินอุดหนุนในเขตเมือง กับการจัดการศึกษาในระดับเทศบาลและอำเภอ ทำให้มีผลต่อการขยายพื้นฐานการศึกษามากขึ้นทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อ สิทธิเท่าเทียม และความเสมอภาคในการได้รับการศึกษาภาคบังคับ
           การกระจายอำนาจโดยสภาประชาชนแห่งชาติจีนตัดสินใจให้ยุบกระทรวง ศึกษาธิการและแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีดูแลคณะกรรมการศึกษาแห่งรัฐ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การวางแผน การจัดองค์กร และประสานงานการจัดระบบบริหารเพื่อให้มีเอกภาพในการปฏิรูปการศึกษา และเมื่อการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จในหลายเรื่องแล้วในเดือน มีนาคม ค.ศ. 1998 ได้ประกาศยุบคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและให้กระทรวง ศึกษาธิการกลับมารับผิดชอบนโยบายเช่นเดิมโดยให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ มณฑล จังหวัด เทศบาลนคร สามารถตัดสินใจหรือแต่งตั้งคณะกรรมการการศึกษาในระดับของตนได้ โดยจะต้องนำนโยบาย ระบบ แผนการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไปสู่การปฏิบัติ

          7. ประเทศสิงคโปร์ ก่อนปี พ.ศ. 2502 สิงคโปร์ต้องประสบปัญหารอบด้านทั้งปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างชนชาติ ปัญหาการว่างงาน ขาดแคลนที่อยู่อาศัย อัตราการเกิดสูง ฐานะยากจน สิงคโปร์ ต้องฝ่าฟันปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ เป็นเวลาค่อนข้างยาวนาน จากเริ่มแรกที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และมาเลเซีย มาในวันนี้ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความเป็นเลิศซึ่งเป็นผลมาจาก ความเชื่อมั่นว่า ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพคือกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผู้นำสิงคโปร์ได้ทุ่มเทงบประมาณ โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานดังนี้ สิงคโปร์มีการกระจายอำนาจให้กับโรงเรียน โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมครูใหญ่ เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการโรงเรียนเป็นอิสระมากขึ้น โดยเน้นวิธีการจากข้างล่างไปสู่ข้างบน (bottom up approach) ที่ความคิดริเริ่มจะมาจากครูใหญ่ และครูมากกว่าจากกระทรวง
           การมีส่วนร่วม ในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านพัฒนา หลักสูตรในระดับชาติ (Advisory Committee on Curriculum Development--ACCD) มีคณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิกที่ไม่ใช่มาจากกระทรวงฯ แต่เพียงแห่งเดียว แต่มาจากวิทยาลัยครู ครูใหญ่ และครู คณะกรรมการได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับ   การเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ภาษา สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน และการประเมินผล โดยเฉพาะเกี่ยวกับนโยบายการใช้ภาษาสองภาษาควบคู่กัน
           พ.ศ. 2524 สิงคโปร์ กระจายอำนาจการศึกษา โดยจัดตั้งสภาการศึกษา หรือสภาโรงเรียน (school council) มีข้อสังเกตว่าสิงคโปร์ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชุมชน และผู้ปกครองจะเข้ามาเป็นกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตรง แต่โรงเรียนจะมีชมรมผู้ปกครองที่ทำหน้าที่ ให้คำแนะนำ และสนับสนุนช่วยเหลือในโรงเรียนโดยตลอด การจัดการศึกษาของสิงคโปร์ ได้ทุ่มเทพัฒนาการศึกษา และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการส่งเสริมภูมิปัญญา และมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ส่งผลให้สิงคโปร์สามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้น นำของโลกอย่างมีศักดิ์ศรี และยืนหยัดได้อย่างมั่นคง บทเรียน และประสบการณ์ความสำเร็จของสิงคโปร์จึงเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษา และนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของไทยต่อไป

          8. ประเทศอังกฤษ การศึกษาของประเทศอังกฤษ เคยได้ชื่อว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกเป็นต้นแบบที่แพร่หลายไป เกือบทุกทวีป นานาประเทศแต่ต่อมาความเป็นผู้นำทางการศึกษาของอังกฤษได้ตกต่ำลงพร้อมกับ ความถดถอยทางเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อังกฤษได้พยายามดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้การศึกษาของประเทศกลับมามีมาตรฐานระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีจุดเด่น 2 ประประการดังนี้
                  8.1 จุดเด่นของการปฏิรูปการศึกษาของอังกฤษ คือ การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา แต่เดิมมากระทรวงเป็นผู้กำหนดนโยบาย และให้สำนักงานบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่น (local education authority) เป็นผู้จัดการศึกษา แต่การปฏิรูปครั้งนี้ ได้เน้นการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนให้แต่ละโรงเรียนมี “คณะกรรมการบริหารโรงเรียน” (school governors) เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษา กระทรวงจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการเรียนการสอนไปยังโรงเรียนโดยตรงถึงร้อยละ 95 และลดค่าใช้จ่ายสำหรับงานสนับสนุนในส่วนท้องถิ่นที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง การกระจายอำนาจดังกล่าว ทำให้โรงเรียนมีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น  มีโรงเรียนที่บริหารอย่างอิสระคล้ายโรงเรียนในกำกับของรัฐ (grant-maintained schools)
                  8.2 จุดเด่นของการบริหารการศึกษา คือ การมีส่วนร่วมจากทุกส่วนของสังคมในการจัดการศึกษา และการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา โดยมีผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมทั้งชุมชนท้องถิ่น เอกชนและผู้ปกครองร่วมเป็นกรรมการในการบริหารการศึกษาทุกระดับ การบริหารการศึกษาจะมีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นและ สถานศึกษา มีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกลาง องค์กรท้องถิ่น สถานศึกษา ชุมชนและครูทั้งในด้าน (1) การบริหารทั่วไป (2) การบริหารงบประมาณ และ (3) การบริหารงานวิชาการ
               ในการบริหารระดับโรงเรียน School-Based Management ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาโดยการเป็นตัวแทนในคณะกรรมการบริหาร โรงเรียน ซึ่งในอังกฤษและเวลส์เรียกว่า School Board คณะกรรมการของโรงเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจ และดูแลในเรื่องต่อไปนี้ (1) แนวทางการดำเนินงานของโรงเรียน(2) การปฏิบัติตามหลักสูตรแห่งชาติ (3) งบประมาณของโรงเรียน (4) จำนวนบุคลากรการคัดเลือกครู และครูใหญ่ (5) การจัดทำรายงานประจำปี และ (6) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน (สุรางค์  โพธิ์พฤกษาวงศ์, 2542, หน้า 24)
9.ประเทศออสเตรเลีย การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังโรงเรียน เพื่อเพิ่มอำนาจและอิสระในการบริหารให้โรงเรียนเป็นประเด็นสำคัญของการ ปฏิรูปการศึกษาออสเตรเลีย
          วิคตอเรียเป็นรัฐที่มีการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษามากที่สุด รัฐวิคตอเรียเริ่มให้อิสระแก่โรงเรียน และมีคณะกรรมการสถานศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 การพัฒนารูปแบบการบริหารฐานโรงเรียนของรัฐวิคตอเรียใช้คำว่า “โรงเรียนบริหารตนเอง” (self-managing school) โดยมีคณะกรรมการบริหารโรงเรียน (school council) ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนผู้ปกครอง ครู และชุมชน การปฏิรูปการศึกษาของรัฐวิคตอเรียมีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อมีนโยบาย “โรงเรียนแห่งอนาคต” (school  of the future) ซึ่งให้อิสระแก่โรงเรียนมากขึ้นโดยยึดมาตรฐานและนโยบายของรัฐให้โรงเรียนมี ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountability) และจุดประสงค์ของ  การบริหารรูปแบบนี้ คือ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โรงเรียนทุกแห่งมีการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน School Charter ระยะ 3 ปี จัดทำรายงานการประเมินคุณภาพภายในทุกปี และเมื่อใกล้สิ้นปีที่ 3 จะรับการตรวจจากคณะผู้ประเมินภายนอกการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาของรัฐวิคตอ เรียมีความโดดเด่นเป็นที่สนใจของหลายประเทศ จนกล่าวได้ว่าเป็น “รูปแบบที่ดีที่สุดในโลก” (world best practice) เพราะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ มีการสนับสนุนทางการเมืองที่เข้มแข็งและการทุ่มงบประมาณให้กับการพัฒนาผู้ บริหารและครู
          ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เป็นผู้นำของโลก (world leader) ในการบริหาร โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานการดำเนินงานในเรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ของประเทศออสเตรเลียเน้นหลัก “การกระจายอำนาจ” (decentralizing) และ “การใช้อำนาจตัดสินใจ (decision making)” เกี่ยวกับการจัดหลักสูตร การใช้ทรัพยากร การกำหนดนโยบาย การจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนา รวมทั้งการกำหนดกรอบงานสำหรับการตรวจสอบ กำหนดระยะเวลาของแผนพัฒนา การจัดระบบการดำเนินงานของโรงเรียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงงานตามแผน งานที่กำหนด การกำหนดกระบวนการประเมินผลการทำงานตามตัวชี้วัดคุณภาพ การกำหนดการรายงานผลการดำเนินงานเพื่อแสดงผลการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบ ได้ การกำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนในภาพรวมทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นระบบ School Development Plan หรือ School Action Plan และการกำหนดคุณภาพของผลผลิต (quality and outcomes) อย่างชัดเจน

          10. เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้รูปแบบการ บริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ฮ่องกงได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและการแข่งขันในสังคม โลก โดยในปี พ.ศ. 2534 กระทรวงการศึกษาของฮ่องกงในสมัยนั้นได้มี โครงการความริเริ่มในการบริหารสถานศึกษา (School Management Initiative--SMI) และเสนอแนวคิดเรื่อง School-Based Management  สำหรับปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนประถมและมัธยม กำหนดแผนให้โรงเรียนทุกแห่งในฮ่องกงเป็นโรงเรียน (SBM) ภายในปี พ.ศ. 2543 หรือภายใน 10 ปี นับแต่เริ่มโครงการ
                  10.1 ในระยะแรกคือปี พ.ศ. 2534 กระทรวงการศึกษาฮ่องกงได้ประกาศให้โรงเรียนทั่วไปเข้าร่วมโครงการนำร่อง (SMI) โดยความสมัครใจก่อน ปรากฏว่ามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพียง 21 โรงและผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์และคณะกรรมการโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจ ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของ (SBM) และวิธีการพัฒนาโรงเรียน จึงเลือกโรงเรียน 12 โรงมาเป็นกรณีศึกษา ผลการวิจัยครั้งนั้นทำให้ทราบจุดอ่อนและข้อดีของโครงการจนสามารถแก้ปัญหาได้ บางโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนตัวอย่าง และผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ดังนั้น
                  10.2 ในระยะที่ 2 จึงมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของโรงเรียนทั้งหมด หลังจากมีความมั่นใจในผลการนำร่องแล้ว ในปี พ.ศ. 2543 กระทรวงการศึกษาฮ่องกงได้ประกาศให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นโรงเรียนที่บริหารแบบ (School-Based Management--SBM) ในความหมายของฮ่องกง หมายถึง การถ่ายโอนความรับผิดชอบไปยังโรงเรียน ให้อิสระและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาโรงเรียน ให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ รวมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หลักการของ (SBM) มี 2 ข้อ คือ ประการแรก (SBM)ทำให้โรงเรียน มีความคล่องตัวและความเป็นอิสระในการบริหารตนเองและการจัดการทรัพยากร ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ประการที่สอง (SBM) เพิ่ม  ความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ในการใช้งบประมาณของรัฐ และ  การบริหารโรงเรียนโดยจัดให้มีกลไกการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วน เกี่ยวข้องหลัก
          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 กระทรวงการศึกษาฮ่องกงได้เตรียมความพร้อมให้โรงเรียนสามารถบริหารแบบ (SBM) ได้ เช่น การปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การกระจายความรับผิดชอบให้กับโรงเรียนในด้านการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และการจัดทำหลักสูตร มาตรการเหล่านี้ทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพเหมาะกับลักษณะ บริบทของตัวเองและมีความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณของรัฐ

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ฮ่องกงได้จัดทำกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ เพื่อให้อำนาจความเป็นอิสระแก่สถานศึกษา รวมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบ และความโปร่งใส  ในการบริหารงาน โดยให้มีคณะกรรมการสถานศึกษา (Incorporated Management Committees--IMC) เพื่อสนับสนุนให้ โรงเรียนมีการบริหารแบบ (SBM) ที่เป็นระบบยิ่งขึ้นเป้าหมายสูงสุดของการบริหารฐานโรงเรียน (SBM) ของฮ่องกงก็คือ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอนโดยผ่านกระบวนการบริหารที่มีส่วนร่วมของ ผู้เกี่ยวข้อง การบริหารแบบ (SBM) ทำให้ระบบการศึกษาของฮ่องกงก้าวทันกับการพัฒนาของโลก ช่วยการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล สร้างกำลังคนที่มีคุณภาพให้ฮ่องกงสามารถพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ฮ่องกงมีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติมากขึ้น ความสำเร็จในการบริหารโรงเรียนแบบ (SBM) ของฮ่องกง เกิดจากกรณี ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

                  1. การกำหนดเป้าหมายและการพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพ
                  2. การจัดให้มีกลไกการประกันคุณภาพ
                  3. การใช้ระบบการจัดการด้านการเงินและงบประมาณที่มีความยืดหยุ่นสูง
                  4. การให้รางวัลที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมโรงเรียนคุณภาพ
                  5. การยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของผู้บริหารโรงเรียน และครูอาจารย์
                  6. การดำเนินงานปฏิรูปด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ
บรรณานุกรม

อ่อง จิต  เมธยะประภาส(2550) การพัฒนาตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานด้วยวิธีการ วิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (บริหารการศึกษา), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุทัย  บุญประเสริฐ. (2546). การบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Brooks, R. (1991). Contemporary debates in education: An historical perspective. London: Longman.

Neal, R. G. (1991). School-based management: A detailed guide for successful implementation. Bloomington, IN: National Education Service.


หมายเลขบันทึก: 454885เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท