สื่อโทรทัศน์ในสังคมไทย ปัญหาเดิมที่ต้องการระบบใหม่ในการจัดการ


เพื่อทำให้เกิดการทำงานต่อไปข้างหน้า ในการพัฒนารายการโทรทัศน์ ต้องการระบบอย่างน้อย ๔ ระบบ กล่าวคือ (๑) ระบบการส่งเสริมการพัฒนารายการโทรทัศน์ในรูปแบบของกองทุน และ มาตรการทางภาษี และการต่อยอดเชิงคุณค่า (๒)ระบบการพัฒนาองค์ความรู้การพัฒนารายการโทรทัศน์ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนา (๓) ระบบการติดตาม ประเมินผล รายการโทรทัศน์ ในรูปของเครือข่ายสภาผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน และ (๔) การปรับเปลี่ยนแนวคิด วิถีของการใช้และเข้าถึงสื่อ จากเดิมในฐานะตกเป็นผู้รับสื่อ แต่ต้องพัฒนา “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อ”

ปัญหาเดิมของรายการโทรทัศน์ในสังคมไทย 

อีกครั้งและอีกครั้งสำหรับการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนารายการโทรทัศน์ให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้ชม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ครอบครัว ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันมีการหารือถึง “บทบาทของสื่อโทรทัศน์ต่อการสร้างสังคมน่าอยู่” ของคณะกรรมิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส จัดขึ้นในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่อาคารรัฐสภา

ในครั้งนี้ได้ตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาร่วมพูดคุย พบว่า สถานการณ์ของการสนับสนุนรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสปอนเซอร์และเวลาในการออกอากาศ เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน รายการคนค้นคน กบนอกกะลา ในขณะที่ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน แทบจะไม่ปรากฏในหน้าจอโทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีเชิงพาณิชย์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่า รายการโทรทัศน์ในหน้าจอโทรทัศน์ส่วนใหญ่มีเนื้อหารุนแรงมากขึ้น กรณีนี้ยังไม่นับรวมถึง การโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ที่นับวันจะสร้างความรำคาญให้กับผู้บริโภคสื่อมากขึ้นทุกขณะ

แต่ความน่าสนใจของเนื้อหาสาระในการพูดคุย พบว่า บางสถานี เช่น โมเดิร์นไนน์ หรือช่อง ๙ ได้แสดงให้เห็นว่า การให้รายการคนค้นคนซึ่งมีเวลาออกอากาศในเวลาเดียวกับชิงร้อยชิงล้าน โดยที่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขในด้านระดับความนิยมเชิงปริมาณ หรือ เรตติ้งเชิงปริมาณว่ารายการคนค้นคน ต้องมีเรตติ้งเชิงปริมาณเท่ากับ รายการชิงร้อยชิงล้าน ย่อมแสดงให้เห็นถึงนัยของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของสถานีโทรทัศน์ หรือ แม้แต่ทางสถานีช่อง ๕ กองทัพบก ที่มีรายการอย่างสานรักคนแก่งหัวใจแกร่ง ของป่าใหญ่ครีเอชั่น มากว่า๑๐ ปี ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายหลัก อย่างเด็กๆ จะได้ดู แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดี

ต้องปรับรูปแบบในการจัดการใหม่

            อันที่จริงแล้ว ในการพูดถึงการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ได้มีการพูดและจัดทำนโยบายของรัฐอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ ในรูปของประกาศกรมประชาสัมพันธ์ในการกำหนดให้มีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก จำนวน ๓๐ นาที  ในช่วง ๑๖.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ก็มีมติ คณะรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีการกำหนดให้มีเวลาสำหรับการออกอากาศสำหรับรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวในช่วงเวลา ๑๖.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น. อย่างน้อย ๑ ชั่วโมง ถึง ๑.๕ ชั่วโมง หากตีความตรมนัยของระเบียบฯและ มติ ครม ฉบับดังกล่าวแล้ว เท่ากับว่า ในช่วงเวลา ๑๖.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น. ควรมีรายการเด็ก ๓๐ นาที รายการเยาวชน ๓๐ นาที รายการสำหรับครอบครัว ๓๐ นาที

            ซึ่งหากยกอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยไปเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ก็จะพบว่า ประเทศไทยอาจละเลยหรือเพิกเฉยต่อข้อ ๑๗ ที่มีการกำหนดให้ ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงสื่อหรือวัสดุที่มุ่งส่งเสริมความผาสุก ทั้งทางสังคม จิตใจ และศีลธรรม ตลอดจนสุขภาพกายและจิตของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและวัสดุ ที่จะมีประโยชน์ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมแก่เด็ก

            อันที่จริงแล้ว รัฐไทยก็พยายามในการดำเนินการ เช่น การจัดทำระเบียบฯและ มติ ครม ฉบับข้างต้น อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการภายใต้พันธะกรณีตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี หลังจากมี มติ ครม ฉบับดังกล่าวแล้ว ได้มีการศึกษาในชุดโครงการ TV4Kids รับผิดชอบโดย มูลนิธิศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอหลักใน ๖ เรื่อง คือ การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก การพัฒนารูปแบบของรายการแบบสาระบันเทิง การพัฒนาระบบกองทุน และ มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนารายการ รวมทั้ง การพัฒนาระบบการสื่อสารความรู้เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว

ต่อจากนั้น ได้มีการเริ่มต้นขยับงานวิจัยสู่การทำงานจริง หลังจากที่มีการดำเนินการต่อยอดระบบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการเด็ก มาสู่การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์แล้ว ต่อมา มีการขยายผลการทำงานเรื่องระบบกองทุน ในรูปของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ความน่าสนใจของแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของรายการโทรทัศน์ที่ควรขยับออกไปจากจุดเดิมก็คือ (๑) การใช้ระบบการสนับสนุนและการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนารายการโทรทัศน์ โดยอาศัยมาตรการทางภาษีเข้ามาช่วย ซึ่งสามารถมองได้ ๒ ลักษณะ คือ การใช้มาตรการทางภาษีให้กับผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน และ มาตรการทางภาษีให้กับผู้ผลิตหรือสถานีโทรทัศน์ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และ การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน หรือ อาจจะใช้ระบบการสร้างบรรยากาศชองการส่งเสริมการลงทุนรายการเด็กด้วยกฎหมายการส่งเสริมการลงทุนและใช้ระบบมาตรการทางภาษีลดหย่อน หรือ ยกเว้นให้กับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก คู่ขนานไปกับ ระบบการส่งเสริมการลงทุน (๒) การขยายผลต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว แนวทางนี้เน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และ การพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างคุณค่าในรายการเหล่านั้น ใน ๒ ทิศทาง คือ คุณค่าในทางสังคม เพื่อให้สังคมตระหนัก และ เกิดกระแสสังคม และ คุณค่าในทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนารายการเหล่านั้นให้กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ แล้ว นำเงินรายได้จากการประกอบการเหล่านั้น กลับมาเป็นเงินในกองทุนเพื่อพัฒนารายการโทรทัศน์

รวมไปถึง (๓) การสร้างมาตรวัดในการจัดระดับความนิยมเชิงปริมาณของรายการเด็ก เยาวชน ครอบครัว โดยกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ที่ต้องคำนึงถึงทั้ง คุณค่าเนื้อหารายการ และ ปริมาณของผู้ชม แต่ต้องเน้นว่า ต้องให้กลุ่มเป้าหมายของรายการเป็นกลุ่มประชากรในการวัดเชิงปริมาณ เพราะในปัจจุบัน อาจมีความลักลั่น ให้ผู้ใหญ่ประเมินว่าชอบรายการเด็กหรือไม่ ทำให้ค่าประเมินมีความผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง นั่นหมายความว่า ต้องการการพัฒนาระบบการวัดระดับคุณค่าและปริมาณจากภาคประชาชนเองมากกว่าการพึ่งแค่เพียงจากบริษัทที่อาจมีระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของคุณค่าที่แท้จริง

ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเสียที

            เมื่อย้อนกลับมาพิจารณา กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ พบว่า ในส่วนของการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ เพื่อการคุ้มครองเด็ก เยาวชน ต่ำกว่า ๑๘ ปี กสทช อาจกำหนดช่วงเวลาในการออกอากาศได้ แต่การบัญญัติในลักษณะนี้เป็นการเปิดช่องให้ กสทช จะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น หากพิจารณาประกอบกับ มาตรา ๖๑ กฎหมาย รธน เกี่ยวกับ องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และ ดูต้นแบบจาก สภาผู้ชมผู้ฟัง ของสถานีทีวีไทย ภายใต้ พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๑  ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จำเป็นที่จะต้องพัฒนาสภาผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน เพื่อทำหน้าที่หลักในการร่วมพิจารณาและจัดทำข้อเสนอแนะในนามของประชาชนในการจัดทำกฎหมาย นโยบายที่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ทั้งนี้ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศไทยควรดำเนินการภายใต้พันธะกรณีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในการคุ้มครองสื่อที่ไม่เหมาะหรือเป็นอันตรายต่อเด็ก

            ไม่นับรวมถึง การจัดการปัญหาการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ และ ในอนาคตอันใกล้ เรายังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการโฆษณาเกินเวลา การโฆษณาเกินจริง หรือ การไม่บอกข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญทั้งหมดของสินค้าในการโฆษณา โดยเฉพาะ สินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ และ วิถีชีวิต ทั้งหมดต้องการเครือข่ายติดตามเฝ้าระวังสื่อ เครือข่ายที่จะทำหน้าที่ในการร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมาย นโยบายที่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ในรูปของสภาผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ซึ่งสามารถจัดตั้งภายใต้ พรบ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค โดยอาศัย มาตรา ๖๑ กฎหมาย รธน พ.ศ.๒๕๕๐

ระบบที่ยังต้องการการเพิ่มเติม

            ในที่สุด เพื่อมิให้กลับมานั่งถกเถียงกันถึงปัญหาคุณภาพของรายการโทรทัศน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องเดิมๆ วันนี้ จึงต้องการระบบและเครื่องไม่เครื่องมือในการทำงานอย่างน้อย ๔ ระบบ คือ (๑) ระบบการส่งเสริมการพัฒนารายการโทรทัศน์ในรูปแบบของกองทุน และ มาตรการทางภาษี ถ้าจะให้ดี เน้นระบบการร่วมทุนทางสังคมเข้ามาประกอบด้วย อีกทั้ง ระบบการต่อยอดเชิงคุณค่าของรายการที่มีอยู่ (๒) ระบบการพัฒนาองค์ความรู้การพัฒนารายการโทรทัศน์ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันเดียว แต่ทำงานร่วมระหว่างกันได้ระหว่างสถาบันวิชาการ สถาบันวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการพัฒนารายการอย่าง “นอกกรอบ” (๓) ระบบการติดตาม ประเมินผล รายการโทรทัศน์ ในรูปของเครือข่ายสภาผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน นำไปสู่ เรตติ้งภาคประชาชน และ กลไกการคุ้มครองผู็บริโภคสื่อภาคประชาชน เพื่อทำให้เกิดระบบสามเส้า คือ ภาคนโยบาย ภาควิชาชีพ และ ภาคประชาชน (๔) การปรับเปลี่ยนแนวคิด วิถีของการใช้และเข้าถึงสื่อ จากเดิมในฐานะตกเป็นผู้รับสื่อ แต่ต้องพัฒนา “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อ” เพื่อใช้สื่อในฐานะเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และ สังคม

หมายเลขบันทึก: 454706เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท