กำเนิดพุทธศาสนาในทิเบต


กำเนิดพุทธศาสนาในทิเบต
กำเนิดพุทธศาสนาในทิเบต
       พุทธศาสนาได้เข้าสู่ทิเบตในสมัยกษัตริย์สองซันกัมโปเรืองอำนาจ ด้วยความสนพระทัยอันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพร้อมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพระมเหสี ชาวจีนและเนปาลซึ่งเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะถูกขัดขวางจากลัทธิบอนอันเป็นลัทธิดั้งเดิม พุทธศาสนาเข้าสู่ทิเบตทั้งจากอินเดียและจีน ได้มี บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของทิเบตว่าได้เกิดการสังคายนาพุทธศาสนา ณ กรุงลาซา เป็นการสังคายนาระหว่างนิกายเซ็นของจีนและวัชรยานจากอินเดีย ในรัชสมัย พระเจ้าทิซองเด็ตเชน ชาวทิเบตเลื่อมใสในวัชรยานมากกว่า ดังนั้นพุทธศาสนาวัชรยานจึงลงรากฐานมั่นคงในทิเบตสืบมา

       พระเจ้าทิซองเด็ตเชนได้ทรงนิมนต์พระศานตรักษิต ภิกษุชาวอินเดีย และคุรุปัทมสมภพเข้ามาเพื่อเผยแผ่ธรรม โดยเฉพาะคุรุปัทมสมภพได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมากจนได้ยกย่องท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 และขนานนามท่านว่ากูรูรินโปเช่ หรือแปลว่าพระอาจารย์ผู้ประเสริฐ

       กูรูรินโปเช่ ได้ร่วมกับพระศานตรักษิตสร้างวัดชัมเย่ขึ้นในปีค.ศ.787 และได้เริ่มมีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าทิซองเด็ตเชน ทั้งนี้ยังได้จัดนักปราชญ์ชาวทิเบตเข้าร่วมในการแปลพระพุทธธรรมเป็นภาษาทิเบตด้วยอย่างมากมาย

       วัชรยาน (Vajrayana) เป็นชื่อหนึ่งของลัทธิพุทธตันตระ ซึ่งถือว่ามีหลักปรัชญา สูงเหนือธรรมชาติ มีความแข็งเหมือนเพชร ใสเหมือนอากาศ ไม่มีใครต้านได้เหมือน สายฟ้า จึงเรียกปรัชญานั้นว่า ‘วัชระ’ และเรียกลัทธิว่า ‘วัชรยาน’ พุทธศาสนาแบบวัชรยาน มีนิกายย่อยสำคัญ 4 นิกาย ซึ่งแต่ละนิกายล้วนมีสังฆราช หรือผู้ปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ในแต่ละนิกายนั้นๆ ได้แก่

       นิกายณยิงมาปะ เป็นนิกายแรกและเก่าแก่ดั้งเดิมและยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยถือว่ากำเนิดจากท่านคุรุปัทมสมภพ ณยิงมาปะ

       นิกายคากิว เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในต้นศตวรรษที่11 ผู้ก่อตั้งคือมาร์ปะ ผู้สืบสายคำสอนมาจากนาโรปะ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา

       นิกายสักกยะ ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 11 ผู้ก่อตั้งนิกายคือผู้สืบเชื้อสายขุนนางเก่าตระกูล คอน คอนโซก เกียวโป

       นิกายกาดัมและเกลูปะ จุดเริ่มของทั้ง 2 นิกายมาจากอติษะและศิษย์ของท่านชื่อดอมทอนปะ อติษะได้เน้นมากในเรื่องคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาและเน้นใน การปฏิบัติพระธรรมวินัยที่เคร่งครัดโดยไม่เน้นในคำสอนตันตระ ศิษย์ของอติษะได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปกาดัมปะได้สูญเอกลักษณ์ของตนเองไปบ้างด้วยแรงดึงดูดใจจากตันตระ ต่อมาในศตวรรษที่14 ซองคาปาพระภิกษุที่มีชื่อเสียงได้ปฏิวัตินิกายกาดัมปะขึ้นมาใหม่ให้คงเอกลักษณ์เดิม และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายเกลูปะ เอกลักษณ์ของนิกายคือสวมหมวกสีเหลือง หรือนิกายหมวกเหลือง ซึ่งเป็นนิกายในสังกัดขององค์ทะไล ลามะ
      
       (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยบุญสิตา)
ที่มา : http://all-your-think.com/index.php/2009-08-26-06-51-53/137-2010-01-04-05-32-44
คำสำคัญ (Tags): #ทิเบต#พุทธศาสนา
หมายเลขบันทึก: 454458เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท