การจัดลำดับงานของแผนปฏิบัติการ


การจัดลำดับงานของแผนปฏิบัติการและลักษณะผังงานแบบเครือข่าย

 

การจัดลำดับงานของแผนปฏิบัติการ
          แผนปฏิบัติการที่ได้มีการจัดในรูปแบบของแผนภูมิทั้งแบบเมตริกซ์และแบบแกนต์ ถือเป็นรูปแบบที่อธิบายรายละเอียดของงาน เวลา และผู้รับผิดชอบอย่างดียิ่ง แต่หากต้องการที่จะเห็นถึงการลำดับขั้นตอนของการทำงานที่เป็นภาพรวมทั้งหมด ว่ามีวิธีการดำเนินการไปในทิศทางใด หรือจากจุดการทำงานหนึ่งแล้วไปยังจุดการทำงานหนึ่ง เราจะต้องมาจัดแผนปฏิบัติการนั้นให้อยู่ในรูปแบบของผังงานแบบเครือข่าย

ลักษณะผังงานแบบเครือข่าย
          ผังงานแบบเครือข่าย เป็นผังงานที่ใช้ในการแสดงการจัดระบบของการปฏิบัติงาน บอกให้ทราบถึงขั้นตอนจากงานหนึ่งไปสู่งานหนึ่ง หรือหลาย ๆ งาน รูปแบบที่ใช้กันโดยทั่วไป แบ่งเป็น
          1. ผังงานเครือข่ายแบบกล่อง
          2. ผังงานเครือข่ายแบบลูกศร

          * ผังงานเครือข่ายแบบกล่อง
           รูปแบบผังงานเครือข่ายแบบกล่อง จะเป็นการระบุถึงกิจกรรมหรืองานที่ต้องปฏิบัติในกรอบสี่เหลี่ยมดังรูป

          ลักษณะของข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในกล่องจะต้องประกอบไปด้วย คำอธิบายลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือ "การรวบรวมสมาชิก" ส่วนตัวเลขที่อยู่ในกรอบเล็ก จะบอกให้ทราบถึงลำดับขั้นของการปฏิบัติงาน เป็นลำดับที่ 7 โดยที่กล่อง 1 กล่องจะเป็นการเก็บข้อมูลของการปฏิบัติงานเพียง 1 งานเท่านั้น แต่หากมีงานที่ต้องปฏิบัติอีกหลาย ๆ งาน ก็จะใช้การเขียนรายละเอียดของงานและลำดับการทำงานเป็นแต่ละส่วน หากงานนั้นมีความสัมพันธ์กัน ก็จะใช้การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้วยลูกศร เช่น เริ่มต้นการทำงานด้วยการล้างรถ แต่งานจะสำเร็จหรือสิ้นสุดก็ต่อเมื่อได้มีการเช็ดรถให้แห้ง ดังรูป

          นอกจากนี้หากมีกิจกรรมหรืองานที่ต้องปฏิบัติควบคู่กัน เราก็สามารถเขียนผังงานเครือข่ายแบบกล่องที่ควบคู่กันไป ซึ่งจะหมายความว่า ก่อนที่จะเกิดงานต่อไปจะต้องปฏิบัติงานนี้ก่อน หรืองานนี้จะสำเร็จได้ต้องปฏิบัติงานทั้งคู่ก่อน ดังรูป

          จากผังงานเครือข่ายแบบกล่อง  จะแสดงให้เราทราบถึงการปฏิบัติงานในการออกร้านหรือจัดบูธสินค้า โดยเริ่มจากการรวบรวมสมาชิก และจัดซื้ออุปกรณ์ จากนั้นจึงจะสามารถสร้างบูธ แล้วดำเนินการตกแต่ง และงานจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อได้มีการรื้อถอนบูธและจัดการเก็บกวาดทำความสะอาดพื้นที่

* ผังงานเครือข่ายแบบลูกศร
          รูปแบบของผังงานเครือข่ายแบบลูกศร จะแสดงรูปแบบของการปฏิบัติงานโดยใช้ลูกศรเป็นเครื่องมือในการชี้ทิศทางของการทำงาน และเขียนกิจกรรมหรืองานกำกับไว้ที่เส้น ดังรูป

          ลักษณะของลูกศร 1 เส้น จะใช้ในการแสดงกิจกรรมหรืองาน เพียง 1 อย่าง โดยกำหนดจุดเริ่มต้นที่ท้ายลูกศร, จุดสิ้นสุดหรือการทำงานต่อไปที่ตำแหน่งการชี้ของหัวลูกศร สำหรับการกำหนดความลาดเอียงหรือความยาวของลูกศรนั้นไม่มีผลหรือบ่งบอกถึงระยะเวลาดังเช่น แผนภูมิแกนต์ เป็นเพียงแค่การเชื่อมโยงให้เหมาะสมกับทิศทางหรือสายงานเท่านั้น

          ในกรณีที่มีกิจกรรมหรืองานที่มากกว่าหนึ่ง จะต้องมีการเพิ่มลำดับของการทำงานขึ้นมาโดยจะจัดการเขียนให้อยู่ในรูปแบบของตัวเลขภายในเส้นวงกลม จัดวางไว้ที่ตำแหน่งเริ่มหรือทางด้านเส้นของลูกศรที่ไม่ใช่หัวลูกศร ตัวเลขที่ระบุนั้นจะบอกให้ทราบว่าเป็นงานในลำดับที่เท่าไหร่ แต่ไม่ได้หมายถึงจำนวนของกิจกรรมหรืองาน เช่น จากการทำงานเช็ดและล้างรถ เป็นการทำงานแบบลำดับและมีความสัมพันธ์กันในงานทั้งคู่ หากเขียนในรูปแบบของผังงานเครือข่ายแบบลูกศร แสดงได้ดังนี้

          การเริ่มต้นของงานจะเริ่มจากจุดด้านปลายลูกศร ซึ่งเรียกว่า เป็นงานก่อนหน้า และจุดด้านหัวลูกศร จะเป็นการเสร็จสิ้นของงาน เช่น การทำงานก่อนหน้าการล้างรถ ที่เริ่มจากจุดของหมายเลข 1 นั้นไม่มี แต่จะจบการทำงานนี้ในจุดที่ 2 จากนั้นเริ่มการทำงาน เช็ดรถ ซึ่งเริ่มจากจุดที่ 2 และเสร็จสิ้นในจุดที่ 3  ซึ่งหมายความว่า การล้างรถคืองานก่อนหน้าของการเช็ดรถ ซึ่งต้องปฏิบัติให้เสร็จก่อนมิฉะนั้นจะไม่สามารถปฏิบัติงานในการเช็ดรถได้
 และจากการทำงานของการออกบูธสินค้า เราสามารถนำมาเขียนในรูปแบบผังงานเครือข่ายแบบลูกศรได้ดังรูป

 และจากตัวอย่างของโครงการเราสามารถที่จะแสดงถึงรูปแบบของการวางแผนให้กับผังงานเครือข่ายแบบกล่องและแบบลูกศรได้ดังนี้

รูป   ผังงานระบบเครือข่ายของโครงการสำรวจความคิดเห็นของสุภาพสตรีต่อผลิตภัณฑ์ความงาม (แสดงในรูปแบบกล่อง)

          จากรูป  เป็นการเขียนงานหรือกิจกรรมของโครงการให้อยู่ในรูปแบบของผังงานที่มีการเพิ่มลำดับงานและผู้รับผิดชอบเข้าไปเพื่อระบุรายละเอียดที่ชัดเจนและจำเป็นต่อการติดตามงาน

รูป  ผังงานระบบเครือข่ายของโครงการสำรวจความคิดเห็นของสุภาพสตรีต่อผลิตภัณฑ์ความงาม (แสดงในรูปแบบลูกศร)

          จากรูป  แสดงถึงการจัดวางระบบในรูปแบบเครือข่ายที่ใช้การนำเสนอแบบลูกศร ในจุดที่มีการแสดงแบบเส้นประ จะหมายถึงการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ จะต้องมีการทำงานที่ควบคู่กันของงานก่อนหน้า เช่น ก่อนที่จะออกไปเก็บข้อมูลนั้น จะต้องมีการตระเตรียมเอกสาร หรือแบบสำรวจให้พร้อมร่วมกับการระบุกลุ่มตัวอย่าง หรือ สถานที่ๆ ต้องการไปเก็บข้อมูลให้แน่ชัดก่อนนั่นเอง

          จากแนวทางและเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการวางแผนการปฏิบัติงานของโครงการนั้น มีหลากหลายรูปแบบโดยที่ผู้วางแผนสามารถเลือกหรือนำเอาเทคนิคต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานหรือโครงการได้ เพราะโครงการแต่ละโครงการนั้นมีรายละเอียดของการปฏิบัติงานที่แตกต่างกันไป อันเนื่องมาจากข้อจำกัดขององค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านงบประมาณ ด้านบุคลากร ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการ

เพราะฉะนั้นการเลือกเอาเทคนิคทั้งหมดไปใช้ในการวางแผนให้กับโครงการ หรือเลือกเอาเฉพาะบางจุดที่เหมาะกับโครงการไปใช้ในการออกแบบการวางแผนก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างไร เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการวางแผนนั้นหากมีการวางแผนโดยใช้เทคนิคที่มากมายแต่ขาดการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ก็เป็นการยากที่จะให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ

อมร มุสิกสาร
บริษัท เทอร์มัลเวอร์ค จำกัด, [email protected]

หมายเลขบันทึก: 453896เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท