ถุงบุญศีล๕ ; (๖) ญาติผู้ป่วยจิตเวช


และแล้วการอบรมศีลห้าก็ผ่านพ้นไปเป็นบทธรรมบทใหญ่ที่ได้เรียนรู้อีกครั้ง

เมื่อผ่านไปแล้วสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในใจข้าพเจ้าก็คือ ความอิ่มอกอิ่มใจ เกิดเป็นปิติสุข มีกำลังใจมากมายต่อการสงเคราะห์ผู้คน การทำอันปราศจากความคาดหวัง

“การเริ่มต้นนั้นอาจดูยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับการสานต่อ”

โครงการอบรมศีลห้าที่จัดมีขึ้นที่วัดหนองไคร้เองก็เช่นเดียวกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ ที่เป็นการพิสูจน์ความตั้งมั่นของเราว่าเรามีความมั่นคงมากน้อยเพียงใดต่อการดำเนินชีวิตและวิถีการงาน และสิ่งที่เราทำ

การอบรมศีล ๕ มีขึ้นด้วยเจตนาของข้าพเจ้าเองที่เห็นกัลยาณมิตรหลายคนไปเข้าคอร์สอบรมศีล ๕ ตามแนวทางบ้านเกื้อรัก สิ่งที่ข้าพเจ้าได้สังเกตคือ องค์หลวงปู่ท่านจะถามตลอดว่า “ปฏิบัติได้หรือยัง”... ข้าพเจ้าจึงอยากใช้โอกาสเพื่อการบ่มเพาะร่วมกับเพื่อนๆ และเหล่ากัลยาณมิตรทั้งหลายใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งการฝึกฝนทบทวนใคร่ครวญในตนเองต่อสภาวะแห่งใจที่มีศีล...

ครั้งแรกจัดขึ้นในวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ คนเข้าร่วมประมาณ ๘๐ คน

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ สมาชิกทั้งหมดที่เข้าร่วม ๕๒ คนถือว่ามีจำนวนรองลงมาจากครั้งแรกเป็นลำดับสอง

เจตนาของข้าพเจ้าคือ อยากให้เป็นโรงบุญอันยิ่งใหญ่ แม่ออกมาร่วมกันทำกับข้าว ชาวบ้านมาร่วมบ่มเพาะศีล ๕ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไปอบรมศีล ๕ บ้านเกื้อรักได้มีสนามฝึกฝนตนเอง คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มาร่วมแต่ได้มีโอกาสร่วมทำโรงทานเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร นี่คือ ภาพแห่งจินตนาการ

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ...ประโยคหนึ่งของหลวงปู่ที่ท่านเอ่ยคือ “อย่าหยุดทำนะ”...

เหมือนเป็นเสียงคอยเตือนในยามที่ท้อ ทำให้เกิดเป็นพลังในการลงมือทำ ในแต่ละครั้งการเรียนรู้ก็แตกต่างกัน มีโจทย์เข้ามาให้ขบคิดและแก้ปัญหา เมื่อผ่านไปสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราก็คือ การเรียนรู้และปัญญา

ข้าพเจ้าได้วางแผนไว้ว่าอย่างน้อยให้มีจัดโครงการเดือนละครั้ง ซึ่งเลือกเป็นสัปดาห์ที่สองของทุกเดือน ในหลายคนก็มาเพียรถาม และก็อีกหลายๆ คนก็เริ่มหายไป ความไม่คงทนเริ่มเป็นเหตุให้ถอยออกห่างไปทีละคนสองคน แต่ก็มีเหมือนกันที่ยังมีความมั่นคงคอยเกื้อกูล เช่น น้องหนุ่ย เภสัช’ติ๋ว หรือแม้แต่แม่กุล ทุกวันนี้ก็มีแม่อารีย์ที่ดูเหมือนจะมาเป็นเจ้าภาพร่วมไปแล้ว

ครั้งนี้...มีโจทย์ที่ท้าทาย เพราะผู้ที่ริเริ่มทำด้วยกันในตอนต้นๆ เริ่มมีภารกิจเข้ามาแทรกทำให้เป็นผู้มีกิจธุระมากมาย แต่...ข้าพเจ้าก็ยังคงมีความมั่นคงอยู่เช่นเดิม ล็อควันไว้เลยประจำเดือน สำหรับวันแห่งการงานนี้

แม้ทำคนเดียวก็จะทำ

แต่...ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากพระอาจารย์ต้อที่ท่านเมตตาและกรุณาผลักดันให้เกิดการทำต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยน จากเดิมที่อบรมศีล๕ ใน อสม. และชาวบ้านเริ่มขยับขยาย มาเป็นกลุ่มญาติผู้ป่วยจิตเวชและชาวบ้าน

หากทุกคนมีศีลและมีธรรม...ใจนี้จะร่มเย็น

นี่คือ ความคิดความเชื่อของข้าพเจ้า ...

ในครั้งที่ ๖ นี้ข้าพเจ้าจึงตั้งชื่อว่า “บ่มเพาะศีล๕ สู่รักเหนือรัก” โดยเน้นไปในเรื่อง “อยู่อย่างไรใจร่มเย็นและเป็นสุข” กระบวนการเรียนรู้ก็ปรับใหม่... เน้นการนำ KM (Knowledge Management; การจัดการความรู้) มาปรับใช้ในการอบรมครั้งนี้

  • กระบวนการเริ่มต้นด้วยให้คนต้นแบบออกมาเล่าถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ...ซึ่งถือได้ว่าเป็นสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง กับความกดดันในการดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนไข้อาการดีขึ้นความรู้สึกที่ดีต่อผู้ป่วยก็เปลี่ยนไป อีกรายหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ความทุกข์ของตนเอง “ตอนเสียลูกใจนี้มันเป็นแสบๆ มันอ้างว้าง ต้องไปทานยาที่โรงพยาบาลจิตเวช แต่เมื่อได้มาอบรมศีล๕ ใจที่แสบๆ นี้ก็หายไป เพราะเมื่อได้มาอบรมได้นำไปลองใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ได้ผลดีมากใจมันเต็มขึ้นมา” นี่คือ คำบอกเล่าของแม่อารีย์ ส่วนแม่มณฑา ที่ไม่เคยขาดการอบรมเลย เล่าว่า “จากการสูญเสียสามีและอยู่กับความหวาดกลัวต่างๆ หลังจากที่เข้าวัด และมาอบรมศีล ๕ ทุกวันนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น อาการหวาดกลัวน้อยลง และอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น”
  • หลังจากคัดเลือกคนต้นแบบมาเล่าถึงความทุกข์และวิธีการจัดการกับทุกข์ของตนเองเสร็จแล้ว จากนั้นข้าพเจ้าจึงได้พูดถึงเป้าหมายการเรียนรู้และเชื่อมโยงให้เห็นว่า “ศีล๕ ช่วยคลายทุกข์ ได้อย่างไร”

พระอาจารย์ต้อ...เมตตาเป็นพระวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ศีล๕ กับชีวิตประจำวัน”

ท่านชี้ให้เห็นและยกเป็นตัวอย่างให้ดูว่าศีล๕ กับชีวิตประจำวันนั้นเป็นเช่นไร ...ทำให้หลายๆ คนเข้าใจมากขึ้นที่ศีลไม่ได้ขีดวงจำกัดเพียงแค่การอาราธนาหรือสมาทานศีลเท่านั้น...

นับตั้งแต่ศีลข้อแรกที่ไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร ไม่ทำร้ายใครเพียงเท่านี้ก็พอทำให้ใจเราร่มเย็นเป็นสุขแล้ว แล้วเชื่อมโยงต่อกับน้องหนุ่ย (คุณสุภาพร จันทร์สาม) ในเรื่องโรคทางอารมณ์ ดั่งเช่น โรคซึมเศร้า ... ที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนที่เกิดขึ้นกับคนเราที่ขาดศีลและขาดธรรม

จากนั้นองค์หลวงปู่ประสาร สุมโนเมตตามาอบรมธรรมให้พวกเราได้ฟัง

ท่านเล่าว่า “ความทุกข์” ของเรานั้นมาจากความคิด เกิดเป็นอารมณ์ของใจ ... นำมาซึ่งความทุกข์ใจเมื่อเราคิดไม่ดีและเกิดเป็นอารมณ์ไม่ดี... พวกเรานั้นประกอบไปด้วย “ขันธ์ห้าขันธ์” พวกเรานั้นต่างแบกขันธ์ ที่ประกอบไปด้วยรูปและนาม ... เราป่วยทางใจนี่คือ ป่วยที่นาม ส่วนทางกายคือ ป่วยที่รูป ... เราคิดไปต่างๆ นานาไปในเรื่องไม่ดี อารมณ์ของใจก็จะเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี จึงทำให้เราเจ็บป่วยทางจิตใจ แล้วท่านก็เมตตาเล่านิทานอันเป็นเรื่องราวในสมัยพุทธกาลให้ฟังที่นางปัจจาตารา สูญเสียลูกและสามี เสียใจจนแทบเสียสติ แต่เมื่อได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าความทุกข์ในใจก็เริ่มเบาบางลง และเต็มตื้นขึ้น

หลวงปู่ชี้ทางให้ทุกคน “เข้าวัดฟังธรรม จำศีล กินทาน ประหารกิเลส”... เพื่อเป็นการสั่งสมบุญบารมีในใจให้มีขึ้น

ท่านเมตตาเทศน์อบรมนานมาก...เกือบหนึ่งชั่วโมง

ข้าพเจ้ารู้สึกปิติและซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน ทุกคนที่นั่งอยู่ด้วยกันได้รับโอกาส...ฟังธรรม

จากนั้นเมื่อท่านเทศน์อบรมเสร็จ ข้าพเจ้าได้แบ่งให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่อง

“ศีล๕ ช่วยให้ชีวิตเราอยู่อย่างร่มเย็นและใจเป็นสุขได้อย่างไร”...

การแลกเปลี่ยนกันครั้งนี้ถือ โอกาสได้เชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของชาวบ้านและเด็กที่มาฟื้นฟูฯ ที่วัดได้ฝึกทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้ฝึกวิธีคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงในเรื่องศีลธรรมนำมาเชื่อมใช้ในชีวิตประจำวัน และสุดท้ายได้ฝึกฝนการกล้าแสดงออก...

บรรยากาศวันนี้ดีมากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ การมานำเสนอเรื่องราวบทสรุปที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บางท่านก็ถูกเชียร์ให้ร้องเพลง...ข้าพเจ้ามองว่าทุกคนใจอิ่มเอม อิ่มอกอิ่มใจ สบายอกสบายใจจึงอยากร้องเพลงให้คนอื่นๆ ฟัง...

ท้ายสุดเราได้ร่วมกันถอดบทเรียน...และสำรวมกายใจร่วมกัน ด้วยการนั่งสมาธิภาวนาประมาณสิบห้านาที และตั้งใจระลึกมั่นว่า ... จะรักษาศีลในชีวิตประจำวัน

โอกาส...

  • ฟังเทศนาธรรม จากองค์หลวงปู่ประสาร สุมโน
  • ฟังธรรมบรรยาย “ศีล๕ ในชีวิตประจำวัน” จากพระอาจารย์ต้อ (พระพิทยา ทินนาโภ)
  • โรคอันสืบเนื่องจากทางอารมณ์ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าจากน้องหนุ่ย
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้...ได้บ่มเพาะการคิดและผ่องถ่ายออกมา ก่อให้เกิดเป็นความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องศีลห้า “ศีล๕ ช่วยให้ชีวิตเราอยู่อย่างร่มเย็นและใจเป็นสุขได้อย่างไร”

สุดท้ายอิ่มใจแล้ว...เติมเต็มด้วยอิ่มบุญที่กายด้วยอาหารเที่ยงอนุเคราะห์โดยน้าเถียรและเครือญาติพระอาจารย์ต้อทำให้และแม่กุล...ช่วยดูแลให้ทุกท่านได้ทานอย่างอิ่มหนำสำราญกายและใจ

...

๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔

เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว...เดือนที่หก

 

 

Large_p1160074_resize

 

 

หมายเลขบันทึก: 453661เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท