การศึกษาไทย...การแข่งขันในระดับเอเชีย


Journal  ครั้งที่ 9

เรื่อง “การศึกษาไทย...การแข่งขันในระดับเอเชีย”

 

@กราบเรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

                        ครั้งนี้ขออภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระดับเอเชียของเราซึ่งหลายๆ  คนก็จะนึกถึงระบบการศึกษาที่ดีๆ และผู้ปกครองหลายคนก็พยายามที่จะให้ลูกหลานได้รับการศึกษาจากประเทศเหล่านี้ หรือแม้แต่การได้รับการยอมรับระดับโลก ...เรากำลังพูดถึงการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้,สิงคโปร์และอีกหลายประเทศในแถบเอเชียเรา ซึ่งนับได้ว่ามีความแกร่งและเข้มข้นมากทางการศึกษา

เราคงไม่ปฏิเสธว่ายุคสมัยนี้การศึกษาคืออาวุธชั้นดีที่มนุษย์โลกพึงมี และประเทศนั้นก็มี

หน้าที่ในการจัดการศึกษาให้กับคนในประเทศของตน  หนูได้มีโอกาสอ่านรายงานการวิจัย ของนิรมล กิตติวิบูลย์ และภัทณิดา พันธุมเสน (2549) ซึ่งน่าสนใจและมีประเด็นน่าคิดที่แสดงในการเปรียบเทียบความก้าวหน้าในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวสู่สังคมฐานความรู้ของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย   ทั้งนี้แต่ละประเทศต่างก็มีจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาประชากรของประเทศ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  โดยเน้นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวสู่ สังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกประเทศให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นหลากหลาย และมีทางเลือก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ได้สูงสุด ยุทธศาสตร์ที่เห็นได้ชัดมีความคล้ายคลึงกัน อาจเปรียบได้กับประเทศไทยที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะจำเป็นต่อสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ความเข้มข้นทางการศึกษาทั้งสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ICT และภาษาอังกฤษ ซึ่งเราจะเห็นว่าโรงเรียนนำร่องหลายโรงมีครูต่างประเทศสอนคู่กับครูคนไทยในวิชาหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดทักษะการอ่านและสื่อสารกับสังคมโลก

ในเอกสารหรือวารสารต่างๆ  ก็ได้จัดลำดับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูป

การศึกษามีศักยภาพอย่างสูงในการแข่งขันก็คงจะเดาได้ว่ามีประเทศใดบ้าง แน่นอนได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์   ถือเป็นประเทศที่สามารถก้าวสู่สังคมฐานความรู้ได้อย่างมั่นคง เพราะให้ความสำคัญกับการมองอนาคตหรือการกำหนดวิสัยทัศน์ เพื่อวางรากฐานและเตรียมประชากรให้พร้อมสำหรับอนาคต ในงานวิจัยได้พูดถึงจุดเด่นของแต่ละประเทศขอยกตัวอย่างที่สำคัญ คือญี่ปุ่น มีจุดเด่นในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดี (Character Building) ให้กับเด็กและเยาวชน เน้นการปลูกฝังความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย จิตสำนึกต่อส่วนรวม ความรักชาติ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลิต  คนเก่งยอดเยี่ยม  เกาหลีใต้ มีจุดเด่นในการปลูกฝังนักเรียนให้เป็นพลโลก (Global Citizen) มีโลกทัศน์ที่กว้าง มีทัศนคติที่เปิดรับต่อความแตกต่าง ส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมความเป็นเลิศทางการศึกษา (Elite Education) สาธารณรัฐประชาชนจีน มีจุดเด่นในการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ดี (Well-to-do Society) เน้นการอนุรักษ์มรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีของชาติ  สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีจุดเด่นในการส่งเสริมโรงเรียนนักคิด(Thinking School) เพื่อผลิตผู้นำที่มีความคิดใหม่ ๆ สามารถแก้ปัญหาใหม่ ๆ โดยใช้การศึกษาพัฒนาศักยภาพของประเทศ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและความสมานฉันท์ของคนในชาติ  

                        จะเห็นว่าในแต่ละประเทศได้สร้างความเป็นจุดเด่นของชาติ ในทัศนะของหนูเองจะขอวิเคราะห์และจัดกลุ่มดังนี้ กลุ่มแรกคือญี่ปุ่นกับจีนจะเห็นว่าจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้ความสำคัญกับความเป็นชาติ ความมีระเบียบวินัยในตนเอง เพราะพวกเขาได้ผ่านจุดวิกฤติของประเทศไปแล้วและได้นำพาประเทศไปสู่จุดสูงสุด ไม่ว่าด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในหลายๆ  ด้าน จึงต้องหันกลับไปสู่การรับใช้และสร้างสังคมและสร้างชาติที่ดีให้คงอยู่ต่อไป กลุ่มที่สองเกาหลีใต้และสิงคโปร์เปรียบเป็นกลุ่มเลือดใหม่ (young blood)ต่างมุ่งเน้นให้คนในชาติได้รับการพัฒนา ส่งเสริมศักยภาพอย่างหลากหลาย จะเห็นว่ารัฐพยายามขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน ยุคหลังๆ มาเราก็จะได้ยินชื่อเสียงจากสองประเทศนี้อยู่เสมอไม่ว่าจะทางด้าน ICT ที่กำลังมาแรงและการประชาสัมพันธ์ประเทศเพื่อให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกทั้งนโยบายการเปิดประเทศและการเป็นมิตรกับอารยประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นสองประเทศที่ได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากล ส่วนประเทศไทยเราก็ยังคงหาจุดที่ต้องพัฒนาหลายๆ ด้านแต่เรามุ่งเน้นการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งอารมณ์ สังคม การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาสติปัญญาดังที่รัฐให้การสนับสนุนและจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กอัจฉริยะทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยผิดหวังสามารถสร้างความทัดเทียมกับนานาประเทศ ศักยภาพเหล่านี้จึงเป็นกำลังที่สำคัญที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวสู่สากลในหลากหลายมิติก็ขอชื่นชมและร่วมสนับสนุนค่ะ

 

 

                                                           ด้วยความเคารพรักอาจารย์อย่างสูง

น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910

ศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาเอเชีย
หมายเลขบันทึก: 453355เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท