สังคมแห่งการเรียนรู้” หรือ “Knowledge-based Society


Journal  ครั้งที่ 8

เรื่อง “สังคมแห่งการเรียนรู้” หรือ “Knowledge-based Society”

 

@กราบเรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

 

                        ครั้งนี้ขอเปิดประเด็นในสิ่งที่หนูสนใจที่ว่า..ในปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธรูปแบบการแข่งขันที่ไม่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออุตสาหกรรมหนักหากแต่เป็นอาวุธทางปัญญาที่ต่างจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อเป็นอาวุธต่อสู้ในยุคปัจจุบันหรือยุคที่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งจากการที่หนูได้ทำความรู้จักและศึกษาเอกสารต่างๆ ผู้ที่ตระหนักในการเตรียมคนในประเทศเข้าสู่ยุคนี้คือประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวคิด “สังคมแห่งการเรียนรู้” หรือ “Knowledge-based Society” ก็เปรียบเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการนำหลักคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริง จึงทำให้เกิดคำที่ตามมาคือ KM :  Knowledge Management หรือการจัดการความรู้ เนื่องจากความรู้จากบุคคลหนึ่งควรจะได้รับการถ่ายทอดไปยังอีกรุ่นหนึ่งภายใต้บริบทที่ใกล้เคียงกันเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนรุ่นใหม่ก็ควรจะมีฐานความรู้รุ่นก่อนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ ความรู้ในโลกยุคสังคมแห่งการเรียนรู้นี้ ได้เปลี่ยนบทบาทจากปัจจัยภายนอกมาเป็นปัจจัยการผลิต (Production Factor) อย่างหนึ่ง ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เนื่องจากความรู้เกิดจากการกลั่นกรองโดยสมองของมนุษย์ และถ่ายโอน เผยแพร่โดยมนุษย์ จึงมีคำที่อาจจะได้ยินกันบ่อยขึ้น นั่นคือ “ทุนมนุษย์” หรือ Human Capital ซึ่งหมายถึงความรู้ ความสามารถของทรัพยากรบุคคลขององค์กร

                   ทั้งนี้ในวงการศึกษาเองยิ่งต้องคำนึงถึงนวัตกรรมหรือรูปแบบในการที่จะถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้เรียนและควรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้เรียนพึงจะได้รับและนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้ยิ่งน่าสนใจว่า แล้วสังคมภายหลังยุคแห่งการเรียนรู้ (Post-Knowledge based Society) ควรจะมีหน้าตาอย่างไร หนูก็ได้พบกับบทความที่อ้างอิงจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเขียนหนังสือ โลกหลังสังคมฐานความรู้ : ความมั่งคั่งในนิยามใหม่  โดยมองเห็นโลกยุคต่อไปว่าจะเป็นสังคมแห่งกัลยาณมิตร มีการอนุวัตจากการแข่งขันเพื่อสร้างความได้เปรียบ และเอาชนะกันทางธุรกิจ ไปสู่การ “ร่วมกันสร้างสรรค์” คนในสังคมจะคิดถึงส่วนรวมมากขึ้น มีจิตสำนึกสาธารณะ (Public Mindedness) มากกว่าจิตสำนึกที่เอาประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง มีการสื่อสารแบบเปิด (Open Communication) ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ตรงกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:H.Ed.) ที่ต่างผลิตผู้เรียนโดยมุ่งเน้นทางด้านคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะหรือจิตอาสา และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งทักษะทางการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องทำความคุ้นเคยกับ โลกยุคสังคมเครือข่าย หรือ Network-based Society เครือข่ายที่ว่านี้เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงความรู้ต่างๆซึ่งเกิดขึ้นมากมายอันเป็นผลมาจากการจัดการความรู้ (Knowledge Management) อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิชาการ องค์กรภาครัฐ หรือเอกชน ทักษะทางด้าน ICT จึงจำเป็นอย่างยิ่งของผู้สอนที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่จะต้องเรียนรู้เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ที่รวดเร็วและสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และจากที่ได้กล่าวข้างต้นก็เพื่อให้ผู้สอนได้รับรู้และตระหนักถึงบทบาทของตนเอง แก้ไข ปรับพฤติกรรมมากไปกว่านั้นคือแสวงหาความรู้รอบตัวเพื่อนำมาออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของตัวเองเพื่อ output หรือ  product ของเราภายหลังจากผ่านกระบวนการจัดการศึกษาของประเทศไปแล้วได้รับการรับรองคุณภาพตามที่ตั้งไว้

                       

 

                                                           ด้วยความเคารพรักอาจารย์อย่างสูง

น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910

ศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 453354เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท