มาเรียนต่อ..อาชีวะ กันเถอะ


Journal  ครั้งที่ 6

เรื่อง มาเรียนต่อ..อาชีวะ กันเถอะ

 

 

@กราบเรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  มงคลที่เคารพรัก

                       

                        กระแสของการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อจะเข้าไปศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างใฝ่ฝันให้ลูกของตนเองได้เข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับต้นๆ  ของประเทศซึ่งก็ยังคงเป็นการแข่งขันกันด้วยความเหน็ดเหนื่อยทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียน  ซึ่งช่วงหนึ่งกระแสการศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดการศึกษาต่อเลยก็ว่าได้เพราะคนอาจจะมองว่าดูหมดหนทางในการเรียนต่อแล้วหรือ ? หรือไม่ก็แสดงว่าภูมิปัญญาของลูกหลานของตนไม่แข็งแรงพอจะไปสู้เขาในมหาวิทยาลัยได้ เหล่านี้คือกระแสสังคมที่ทำให้ทางเลือกในการประกอบวิชาชีพโดยตรงลดลง ความนิยมน้อยมาก นักเรียนที่จบไปน้อยรายที่จะได้รับการตอบรับให้ทำงานในตำแหน่งที่สูงๆ หนูมองได้ 2 ประเด็นคือ 1) กระแสสังคมทำให้นักเรียนที่มีความสามารถหรือความรักในสาขาวิชาชีพเริ่มลังเลใจในการตัดสินใจของตนเอง และอาจจะหันกลับไปสู่เส้นทางที่สังคมยอมรับ เช่น การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย  2) นักเรียนที่ศึกษาในสายอาชีพถูกมองว่าเป็นเด็กด้อยคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากบริษัทห้างร้าน หรือองค์กรน้อย  จากประเด็นข้างต้นทำให้ประเทศไทยขาดแคลนทรัพยากรที่มีฝีมือหรือว่าทำให้การพัฒนาทางด้านวิชาชีพช้าลง เหตุเพราะแทนที่จะสามารถจบ ปวช. หรือ ปวส.แล้วประกอบอาชีพที่เรียนมาได้ ต้องรอให้เด็กสายอาชีพที่จบจากมหาวิทยาลัยซึ่งจบพร้อมๆ  กันหลายคน หลายสถาบัน ปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ งานมีน้อยกว่าคน คนตกงาน ผลิตกำลังคนมากเกินความต้องการ เหล่านี้คือผลเสียที่ตามมา

                        ปัจจุบันนี้แนวโน้มการเรียนต่อสายอาชีวศึกษาได้รับการส่งเสริม สนับสนุน จาก แนวการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.2552-2561) มีการพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็น 1 ใน 7 ประเด็นหลักของการพัฒนาการศึกษาไทย เพื่อทำให้การอาชีวศึกษามีเอกลักษณ์ (uniqueness) ของการศึกษาสายอาชีพที่มุ่งสร้างสัมมา อาชีวะ ให้แก่เยาวชนของประเทศและผลิตกำลังคนที่มีความเป็นเฉพาะทาง จากนโยบายของรัฐจึงนำไปสู่การกระตุ้นให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้พัฒนาหลักสูตรให้น่าสนใจ ทันสมัยเหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าสายอาชีพแบ่งประเภทวิชาออกเป็น  10 กลุ่ม    ดังนี้ 1) ประเภทวิชาพณิชยกรรม เช่น การบัญชี  เลขานุการ  คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นต้น 2) ประเภทช่างอุตสาหกรรม เช่น ช่างยนต์ ช่างเครื่องมือกล โลหะต่างๆ  3) ประเภทศิลปกรรม เช่น ออกแบบ ประยุกต์ศิลป์ มัลติมีเดีย 4)ประเภทบริหารธุรกิจ 5) ประเภทคหกรรม 6) ประเภทวิชาเกษตรกรรม 7) วิชาประมง 8) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 9) อุตสาหกรรมสิ่งทอ 10) ประเภทวิชาสารสนเทศและการสื่อสาร  ทั้ง 10 ประเภทวิชาต่างก็ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะกับสภาพสังคมและการนำไปใช้ได้จริงในชีวิต หากตามข่าวในสื่อต่างๆ ก็จะเห็นว่าจำนวนคนสอบเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษานี้ มีเยอะมากขึ้นกว่าเดิมสาขาที่เด็กม.3 สนใจสมัครมากที่สุดมี 5 สาขา ได้แก่ สาขาพาณิชย์นาวี สาขาโลจิสติกส์ สาขามาตรวิทยา สาขาช่างเชื่อม/ช่างยนต์ และสาขาอาหารและการเกษตร  ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการอาชีวศึกษาที่ตั้งไว้ คือการปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ ให้เป็น 60:40  ตามความต้องการของประเทศซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอันใหญ่หลวง เพราะปัจจุบันสัดส่วน อยู่ที่ 40:60 หนูคิดว่าเหล่านี้ถือเป็นการพลิกขั้วการเลือกเรียนต่อของนักเรียน ชั้น ม.3 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการอาชีวศึกษา อย่างไรก็ดีนะคะสำหรับผู้ปกครองก็ขอให้ศึกษา สังเกตความชอบความต้องการของลูกหลานเพื่อจะให้เขารู้ตัวให้เร็วที่สุดว่าสิ่งที่เขาชอบ ที่เขาถนัดคืออะไรเพื่อจะได้มุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างมีทิศทาง

 

                                                           ด้วยความเคารพรักอาจารย์อย่างสูง

น.ส.สุจิตรา ปันดี  54253910

ศิษย์สาขาหลักสูตรและการนิเทศ 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อาชีวศึกษา
หมายเลขบันทึก: 453352เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท