พัฒนาบุคลากรด้วยหลัก ปัญญา 3 ฐาน


พัฒนาบุคลากรด้วยหลัก ปัญญา 3 ฐาน

              ในกระบวนการดำเนินชีวิตของเรานั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงในเรื่องปัญญา 3 ฐาน ได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นถึงความสำคัญของปัญญา 3 ฐาน ที่จะมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ความสามารถหรือสมรรถนะ มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพ

ปัญญา 3 ฐาน คืออะไร ?

              ปัญญาทั้ง 3 ด้าน หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า "ไตรสิกขา" นั้น เป็นการระลึกรู้ นึกรู้ในตนเอง โดยมองเป็น 3 สภาวะ คือ กาย (กายกรรม) ใจ (มโนกรรม) ความคิด (วจีกรรม)

              ไตรสิกขา แปลว่า สิกขา 3 หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับศึกษา, การศึกษาข้อปฏิบัติที่พึงศึกษา, การฝึกฝนอบรมตนในเรื่องที่พึงศึกษา 3 อย่าง คือ
   1. อธิสีลสิกขา คือ ศึกษาเรื่องศีล อบรมปฏิบัติให้ถูกต้องดีงาม
   2. อธิจิตตสิกขา คือ ศึกษาเรื่องจิต อบรมจิตให้สงบมั่นคงเป็นสมาธิ
   3. อธิปัญญาสิกขา คือ ศึกษาเรื่องปัญญา  อบรมตนให้เกิดปัญญาแจ่มแจ้ง

              พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ชีวิตที่สร้างสรรค์ สดใสและสุขสันต์ ว่า "ชีวิตนั้นเป็นอันเดียวกันกับการศึกษา" เพราะชีวิตคือ การเป็นอยู่ และการที่ชีวิตเป็นอยู่ดำเนินไป ก็คือ การที่ต้องเคลื่อนไหว พบประสบการณ์ใหม่ๆ และเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องคิด ต้องปฏิบัติ หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหาทางแก้ไขให้ผ่านพ้นหรือลุล่วงไป ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ มีการพิจารณาแก้ปัญหาตลอดเวลา สรุปคือ สิกขา คือ การศึกษา

              สิกขา คือ การพัฒนาตัวเองของมนุษย์ ให้ดำเนินชีวิตได้ดีงามถูกต้อง ทำให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค

               ส่วนมรรค ก็คือ ทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนคือ สิกขา

              มรรค กับ สิกขา จึงประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

สิกขาคือการศึกษา ที่ฝึกอบรมพัฒนาชีวิต 3 ด้าน มีดังนี้

  1.  สิกขา/ การฝึกศึกษา ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ เพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ตาม ด้วยอินทรีย์ 5 หรือด้วยกาย วาจา ก็ตาม เรียกว่า ศีล (คำเต็มเรียกว่า อธิสีลสิกขา)
  2.  สิกขา/ การฝึกศึกษา ด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ (คำเต็มเรียกว่า อธิจิตตสิกขา)
  3.  สิกขา/ การฝึกศึกษา ด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา (คำเต็มเรียกว่า อธิปัญญาสิกขา)

ศีล คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านความสัมพันธ์ ติดต่อ ปฏิบัติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคม ทั้งด้วยอินทรีย์ต่างๆ และด้วยพฤติกรรมทางกาย -วาจา

               ศีลเป็นเหมือนการจัดปรับพื้นที่และบริเวณแวดล้อมให้สะอาดหมดจด เรียบร้อย ราบรื่น แน่นหนามั่งคง มีสภาพที่พร้อมจะทำงานได้สะดวก คล่องแคล่ว

สมาธิ คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่ การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต คือ

  • ด้านคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา ความมีไมตรี ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ สุภาพอ่อนโยน ความเคารพ ความซื่อสัตย์ กตัญญู
  • ด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความกล้าหาญ ขยัน ความอดทน รับผิดชอบ ความมีสติ สมาธิ
  • ด้านความสุข เช่น ปิติยินดี ร่าเริงเบิกบานใจ พอใจ

     สมาธิเปรียบเหมือนการเตรียมตัวของผู้ทำงานให้มีเรี่ยวแรงกำลัง ความถนัดจัดเจนที่พร้อมจะลงมือทำงาน

ปัญญา คือ สิกขาหรือการศึกษาที่ฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่มีเหตุผล ความเห็นที่เข้าสู่แนวทางของความเป็นจริง การรู้จักหาความรู้ รู้คิดพิจารณา ไตร่ตรอง ทดลอง ตรวจสอบ ความรู้เข้าใจ นำความรู้มาใช้แก้ไขปัญหาและคิดการต่างๆ

ปัญญาเป็นเหมือนอุปกรณ์ที่จะใช้ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ

              ตัวอย่างเช่น จะตัดต้นไม้ ได้พื้นที่เหยียบยัน แน่นหนามั่นคง (ศีล) + มีกำลังแขนแข็งแรงจับมีดหรือขวานได้ถนัดมั่น (สมาธิ) + อุปกรณ์คือ มีดหรือขวานที่ใช้ตัดนั้นได้ขนาดมีคุณภาพดีและลับไว้คมกริบ (ปัญญา) = ได้ผลคือ ตัดไม้สำเร็จโดยไม่ยาก

              ดังนั้น การจะเข้าใจปัญญา 3 ฐานหรือไตรสิกขา เริ่มจาก

              ฐานที่หนึ่งคือ "ฐานกาย" เป็นการออกกำลังกายหรือดูแลร่างกายของตนเองให้ถูกต้อง  เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย
              ในฐานนี้ เป็นการฝึกสติ ด้วยการเลือกใช้การออกกำลังกายที่ทำให้จิตอยู่กับกายให้ได้ และในขณะที่การออกกำลังกายร่วมกันจะช่วยเชื่อมโยงจิตใจคนในองค์กรได้
              เพราะฉะนั้น การทำกิจกรรมในฐานกายนี้จะทำให้คนในองค์กรมีร่างกายแข็งแรง เกิดความสนิทสนมกัน และเป็นการพักผ่อนสมอง ซึ่งหากพนักงานทำส่วนนี้ได้จะส่งผลดีต่อองค์กรในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลาป่วยที่ลดลง การสื่อสารกันในองค์กรดีขึ้น การได้พูดคุยเรื่องงานเล็กๆ น้อยๆ และเป็นการประหยัดเงินให้องค์กร

              ฐานที่สองคือ "ฐานใจ" ซึ่งจำเป็นต้องฝึกให้แข็งแรงเช่นกัน เพราะมนุษย์ที่ไม่มีใจ จะไม่รักคนอื่น และที่ผ่านมามนุษย์ถูกสอนหรือทำให้มองแต่ตัวเอง
               ในหลาย ครั้งที่ผู้บริหารในองค์กรใหญ่นำไปใช้ได้ผลทันที เช่น ทำให้เกิดความเมตตากับลูกน้อง ในขณะที่ ในด้านของพนักงานก็ได้ผลทันทีเช่นกัน เช่น ทำให้อัตราการหมุนเวียนต่ำลง เกิดความรักความภักดีต่อองค์กรมากขึ้น ลูกน้องเกิดความเห็นใจลูกพี่ พนักงานสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น ทำให้การทะเลาะกันลดลง ฯลฯ   
  
              ฐานที่สามคือ"ฐานคิด" เป็นการคิดในตอนที่"กายผ่อนคลาย จิตว่างหรือจิตสงบ แล้วจึงคิด" ดังนั้น ต้องฝึกฐานกายและฐานใจให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้น หากไม่ได้ฝึกมา การคิดจะเป็นการคิดแบบเครียดหรือที่เรียกว่า "คิดเฉโก" ทั้งหมด
              อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นขององค์กรที่จะนำหลักปัญญา 3 ฐานนี้ไปใช้ ส่วนสำคัญที่สุดคือ "ผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอ" ต้องเข้าใจ และยอมเสียเวลาส่วนหนึ่งของงานมาทำในเรื่องนี้ คือ "การมาเล่นกัน" ซึ่งในระยะเวลาประมาณ 4-5 ปีที่ทำมาอย่างต่อเนื่องในองค์กรใหญ่ที่ให้ความสำคัญ เช่น เอสซีจี และทรูคอร์เปอเรชั่น เห็นได้ชัดว่า ผลผลิต (Productivity) เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

หมายเลขบันทึก: 453176เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2011 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท