วิเคราะห์นโยบายเพื่อไทย


ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

               โดยภาพรวมของแนวนโยบายพรรคเพื่อไทยนั้นจะเห็นได้ว่ามีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้คือ ประการแรกมีลักษณะเป็นการวางแผนในเชิงกลยุทธ์หรือเรียกว่ายุทธศาสตร์ (Strategic plan) กล่าวคือมีการวางแผนทิศทางระยะยาวดูได้จากวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2020 และมีแผนระยะกลางตลอดจนแนวนโยบายระยะสั้นรวมถึงแนวโนบายเร่งด่วน 6 ประการ เป้าหมายของแผนก็คือต้องการที่จะเอาใจกลุ่มรากหญ้าป็นหลักใหญ่อันดูได้จากนโยบายประชานิยมที่มีอยู่มากมาย ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะกำหนดเป้าหมายพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของไทยเห็นได้จากแนวนโยบายสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชนและอื่น ๆ รวมทั้งแนวนโยบายในด้านการให้คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน นอกจากนั้นยังตั้งเป้าหมายในทางการต่างประเทศที่จะให้ประเทศไทยมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ประการที่สองเป็นแนวนโยบายที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการเน้นในด้านสวัสดิการและการบริโภคของรากหญ้าโดยหวังที่จะให้เป็นฐานเสียงและฐานกำลังนอกสภาเป็นหลักใหญ่และเป็นกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อรักษาอำนาจให้ยาวนานที่สุด

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะพยายามอธิบายในเชิงนโยบายว่ามีดุลยภาพระหว่างแนวนโยบายทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการใช้จ่ายซึ่งหวังว่าจะได้รับการชดเชยจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากแนวนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและจากการปรับโครงสร้างการแข่งขัน อย่างไรก็ตามถ้าเราจะวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายอย่างละเอียดก็จะพบประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายดังกล่าวดังนี้

 ประการแรก นโยบายพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยมีวัตถุประสงค์ที่ขัดแย้งกันในตัวเองกล่าวคือในด้านหนึ่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท นโยบายดังกล่าวก็คือการเพิ่มต้นทุนค่าแรงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตโดยมุ่งหวังเป้าหมายทางสังคมคือยกระดับรายได้และในทางเศรษฐกิจก็หวังชดเชยจากนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แนวนโยบายนี้สามารถเกิดความขัดแย้งในตัวเองในทางปฏิบัติได้กล่าวคือแม้จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงแต่มิได้หมายความว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นบนพื้นฐานที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศและธุรกิจไทยก็ได้รับอานิสงค์จากต้นทุนทางด้านภาษีที่ลดลง อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างประเทศไอร์แลนด์ที่มีระดับอัตราภาษีเงินได้ต่ำกว่ามากประมาณร้อยละ 12 แต่ทุกวันนี้กลายเป็นประเทศที่มีวิกฤตเนื่องจากการเป็นหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณสูงมาก กรณีดังกล่าวย่อมเป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดว่าการจะกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นองค์ประกอบสำคัญคือความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ การลดภาษีอย่างเดียวยังไม่ใช่องค์ประกอบตัดสิน สินค้าของไทยทุกวันนี้ยังต้องอาศัยแรงงานและวัตถุดิบเป็นหลัก กำไรต่ำมาก ดังเห็นได้จากค่าอัตราแลกเปลี่ยนแข็งขึ้นเอกชนจะต้องออกมาโวยวายทุกครั้ง โครงสร้างการแข่งขันของไทยตราบใดที่ยังพึ่งแรงงานและวัตถุดิบเป็นหลักการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และเพิ่มอัตราเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ค่าแรงโดยทั่วไปสูงขึ้นเป็นลูกโซ่และยังไม่ต้องพูดถึงแรงกดดันจากเงินเฟ้อย่อมทำธุรกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะในอาเซียนในบริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การขึ้นค่าแรงจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการแข่งขันต่อเมื่อปรับขีดความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจซึ่งต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นการดำเนินนโยบายที่กล่าวถึงข้างต้นย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางการคลังในอนาคตและยิ่งกว่านั้นรายได้ของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรก็นับวันจะหดหายไปจากการดำเนินนโยบายเขตการค้าเสรีอาเซียน อาเซียนบวก อาเซียนบวกหก ในขณะที่ปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายของไทยมีเพียงร้อยละ 16 ที่เป็นงบประมาณการลงทุน การเพิ่มรายจ่ายของรัฐจากแนวนโยบายประชานิยมผนวกกับรายรับที่หายไปจากแนวนโยบายทางด้านการลดภาษีย่อมทำให้รัฐมีปัญหาทางการคลังในอนาคต ทางออกย่อมหมายถึงการเพิ่มภาษีอื่น ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขยายประเภทของภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินซึ่งก็จะเป็นการท้าทายรัฐบาลที่ประกอบด้วยกลุ่มคนค่อนข้างมีฐานะและได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ทางออกในเชิงนโยบายคือเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีซึ่งก็ไม่เพียงพอตราบเท่าที่ระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยปรับให้เป็นระดับกลางได้

     ประการที่สอง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลลึก ๆ แล้วเป็นเพียงองค์ประกอบภายใต้วาระทางการเมืองกล่าวคือใช้นโยบายในการสร้างฐานอำนาจทั้งนอกสภาและในสภาเพื่อให้รัฐบาลสามารถอยู่ได้ยาวและเป็นเครื่องมือในการลดเสียงค้านไม่ว่าทั้งในและนอกสภา เป้าหมายดังกล่าวเห็นได้ชัดจากแนวนโยบายประชานิยมในด้านต่าง ๆ และถ้าหากว่าในอนาคตรัฐบาลไม่สามารถที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดังที่หวังไว้ รัฐบาลจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเห็นนโยบายรากหญ้าและเศรษฐกิจที่มีปัญหาอัตราการเติบโตต่ำลงหรือมีหนี้สาธารณะสูงขึ้นดังเช่นที่เคยเดินในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาโดยเฉพาะอาร์เจนตินายุคของประธานาธิบดีเปรอง ที่เรียกว่าลัทธิเปรอง (Peronism) นั่นเอง รัฐบาลมีทางเลือกไม่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวคือลดนโยบายรากหญ้าและคุมเข้มแต่ก็จะทำให้รากหญ้าไม่พอใจโดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจฟื้นตัวถ้ามองเป้าหมายทั้ง 2 รัฐบาลคงใช้ทางเลือกแรกเพื่อความอยู่รอดผลก็จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจมีปัญหาแต่รัฐบาลอยู่รอดได้เนื่องจากฐานเสียงจะปกป้องรัฐบาลทั้งในและนอกสภา

     ประการที่สาม ความหวังจะเป็นผู้นำอาเซียนนั้นบอกได้ว่าเป็นความฝัน ประเทศที่จะเป็นผู้นำอาเซียนจะต้องมีประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพและมีความรู้ความสามารถสูงดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นประเทศที่มีองค์ประกอบเด่นชัดในการมีบทบาทระหว่างประเทศเช่น อินโดนีเซีย อินเดีย จีน บราซิล เป็นต้น องค์ประกอบดังกล่าวหมายถึงมีประชาชนที่นิยมศาสนาอิสลามสายกลางจำนวนมากและมีเสถียรภาพทางการเมืองตลอดจนมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่สูงเช่นอินโดนีเซีย หรือมีขนาดประชากรมากและมีทรัพยากรสูงเช่น จีน อินเดีย บราซิล ประชาสังคมไทยนั้นแม้จะมีคนเข้าสู่การศึกษาก็ตามถ้าคิดจากคุณภาพยังอยู่ในระดับต่ำสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของนักการเมืองซึ่งยังเป็นลักษณะมองโลกในกรอบท้องถิ่นขณะที่โลกก้าวไปสู่โลกาภิวัฒน์ ส่วนหนึ่งเป็นลักษณะนักการเมืองปนนักเลงและยังชื่นชอบหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ประเทศไทยนอกจากจะไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนในอนาคตจะมีระบบการพัฒนาช้ากว่าประเทศอาเซียนอื่น ๆ โดยไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียซึ่งนำหน้าเราไป ไทยในที่สุดจะถูกทิ้งแม้กระทั่งโดยประเทศที่เคยอยู่หลังเราแต่มีอัตราการฟื้นตัวและการแข่งขันที่เร็วโดยเฉพาะเวียดนาม

     โดยสรุปถ้าพิจารณาจากนโยบายพรรคเพื่อไทยจะมีการดำเนินการ(ซึ่งเชื่อว่าจะมีการดำเนินการ)โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับฐานเสียงรากหญ้าในระยะสั้นจะไม่เป็นปัญหากับประเทศเพราะสถานการณ์ทางการคลังยังเข้มแข็งหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ร้อยละ 42 ต่อ GDP แต่ในระยะกลางและระยะยาวจะนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพและถ้าไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากรัฐบาลจะต้องยึดทางใดทางหนึ่งกล่าวคือถ้าแก้ไขย่อมเจ็บปวดต่อภาคประชาสังคม อีกทางหนึ่งเศรษฐกิจมีปัญหาแต่การเมืองรอดบนต้นทุนปัญหาเศรษฐกิจ หมายความว่าจะเป็นรูปแบบเดียวกับละตินอเมริกาโดยเฉพาะอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตามสิ่งที่พูดนั้นยังเป็นแค่ความเสี่ยงที่มองเห็นลาง ๆ ในอนาคตแต่ทั้งนี้ย่อมไม่ควรที่จะลงความเห็นอย่างเด่นชัดไปก่อนจึงเป็นเพียงข้อสังเกตในเบื้องต้นและจะต้องไม่ประมาท รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งอาจจะมีลูกเล่นทำได้เกินความคาดหมายดังดูได้จากบางนโยบายในอดีต เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นความสำเร็จนโยบายในอดีตนั้นจำกัดนโยบายรากหญ้าบางส่วนขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในลักษณะไม่เพียงพอดังเห็นได้จากว่าตลอดช่วงอายุพรรคไทยรักไทยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 – 5 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าไทยเฉลี่ยในช่วงปี 1985 – 1990 อยู่ที่ ร้อยละ 9 – 10 และต่ำกว่าการเติบโตของประเทศในอาเซียนหลายประเทศ

จากสำนักข่าวเจ้าพระยา

http://www.chaoprayanews.com/2011/07/08/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%97/

หมายเลขบันทึก: 452930เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2011 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท