วิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง


ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน: Uncertainty is certain

ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน: Uncertainty is certain  เป็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่เรารู้กันทั่ว จะว่าไปความไม่แน่นอนก็คือการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ทุกเวลาที่หมุนไปเป็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งแบบที่เราสังเกตรับรู้ได้และที่เราไม่ทันสังเกต จึงกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ

                สำหรับตัวดิฉันใช้ทักษะพื้นฐาน 4 อย่างที่จะช่วยเราในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คือ

                 1) ทัศนคติในการมองปัญหา

                ปัญหามาจากการเปลี่ยนแปลง เราอาจจะไม่มีความสามารถเป็นเลิศในการคิดวิธีการหรือคิดค้นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่การมองปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติ มองเชิงบวก มองอย่างเข้าใจ จะช่วยให้เราสามารถเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีสติ คิดวิเคราะห์หาทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราได้แต่ตีโพยตีพาย พร่ำบ่นประชดประชันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือซ่อนปัญหาเอาไว้ ทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น รังแต่จะสร้างความเครียดเข้าตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ปัญหานั้นๆ ยังคงอยู่ หลายคนอาจตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการ ‘รอ ให้เวลาช่วยคลี่คลาย’ ก็ถือได้ว่าคนนั้นได้ตัดสินใจเผชิญหน้าแก้ปัญหาไปแล้ว นั่นคือได้ใส่มิติของ ‘ความรู้ตัว’ ลงไปแล้ว  ปัญหาถือเป็นการเรียนรู้ เป็นครู เป็นบททดสอบ เป็นโอกาส เป็นความท้าทาย ขอยกตัวอย่างคติประจำใจของนักบริหารที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน คือ ‘โลกนี้ไม่มีปัญหา มีแต่ความท้าทายเท่านั้น’ หรือ ‘ปัญหาเป็นบ่อเกิดของปัญญา’ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นมุมมองและการตอบรับเชิงบวกต่อปัญหา

                2) ความยืดหยุ่นของตัวเรา

                ความยืดหยุ่นนี้ หมายถึงความสามารถในการปรับตัว สามารถก้าวข้ามออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของเรา หรือสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นชิน (Comfort Zone) ไปสู่พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยและคาดการณ์ไม่ได้ เมื่อมีวิกฤตการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แล้วเราทำเป็นหวังลมๆ แล้งๆ ว่า เดี๋ยวสิ่งต่างๆ คงกลับสู่สภาพเดิมได้เอง เราดำเนินชีวิตแบบปกติที่เคยทำ เรียกได้ว่าเราไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมที่จะยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ เมื่อลมพายุของวิกฤตพัดแรงขึ้น เราอาจเป็นไม้หักล้มได้ง่ายๆ บางครั้ง เราอาจเลือกสิ่งที่เราพอใจได้ และบางครั้ง เราก็เลือกสิ่งที่เราพอใจไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ เราสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อสิ่งนั้น แล้วทำใจยอมรับมันได้

                3) การสื่อสาร

                การสื่อสารในที่นี้ เป็นความสามารถในการแบ่งปัน ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบ หรือสิ่งที่เราเป็นกังวลให้ผู้อื่นรับรู้ บางคนอาจรู้สึกลำบากใจหรือไม่ชอบเล่าปัญหาให้ผู้อื่นฟัง จึงเลือกที่จะเก็บไว้กับตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เราหมกมุ่น จมอยู่กับปัญหานั้นๆ ยิ่งสะสมนาน ยิ่งเครียด แต่กับการหาที่ปรึกษา หาเพื่อนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังเรื่องราว สร้างโอกาสที่เราจะได้รับแนวความคิดใหม่ๆ จากการปรึกษาหารือกัน

                อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ คนที่เราจะพูดคุย ปรึกษาปัญหา ควรเป็นคนที่เราเลือกแล้วว่าเหมาะสม ไว้ใจได้ มีทัศนคติต่อปัญหาที่ดี และตัวเราเองก็ไม่ควรปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น เช่นว่า เมื่อปรึกษาปัญหาให้เพื่อนฟังแล้ว คาดหวังว่าเพื่อนจะคล้อยตามและเห็นด้วยกับเราหรือคาดหวังที่จะได้คำพูดจากเพื่อนที่ ‘ถูกใจ’ เรา เมื่อไม่ได้ตามนั้น เราอาจโกรธขึ้งเพื่อน ว่าไม่เข้าใจเรา ไม่เข้าข้างเรา เป็นต้น

                4) มนุษยสัมพันธ์ที่ดี

                การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สร้างเครือข่ายมิตรให้เรา เมื่อมีวิกฤตการณ์ขึ้นกับเรา เครือมิตรสัมพันธ์นี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ หรืออย่างน้อยเราก็มีคนที่จริงใจกับเรา ช่วยเหลือเกื้อกูล ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ คอยชี้แนะแนวทางออกใหม่ๆ ให้เรา

                ทั้ง 4 ทักษะนี้เป็นแนวทางพื้นฐาน ที่เราสามารถไปต่อยอด ปรับใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกเรื่อง ผ่อนเรื่องหนักเป็นเรื่องเบา ผ่อนเรื่องยากให้เป็น

หมายเลขบันทึก: 452601เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2011 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท