ทะเล เปลี่ยนสี


   “เขาเพิ่งมาสร้างได้ประมาณ 3-4 ปีนี้เองค่ะ” หญิงสาววัยรุ่น ตอบกลับมาด้วยสีหน้าราบเรียบ หลังจากที่มีชายหนุ่มแปลกหน้าถามเรื่อง การสร้างแนวกำแพงกั้นคลื่นทะเลกระทับฝั่ง ตามแนวชายหาดพลา อำบ้านฉาง “เมื่อก่อนชายหาดแห่งนี้ยาวเข้าไปในทะเลถึงโน้นค่ะ” พร้อมกับชี้นิ้วตรงไปที่เรือประมงหาปลา 2-3 ลำลอยอยู่ “แล้วทำไมตอนนี้มันเหลือแค่นี้ละครับ” ชายหนุ่มยังไม่ลดละความยากรู้ในเรื่องดังกล่าว หญิงสาวคนเดิมทำท่าครุ่นคิด และตอบกลับว่า “คงเป็นเพราะภาวะโลกร้อนมั้งค่ะ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายทำให้น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น” ชายหนุ่ม มีคำถามมากมายที่อยากจะถามต่อ แต่ก็ต้องจบการสนทนาลงเมื่อหญิงสาว วางจานเสร็จและเดินกลับเข้าไปในครัว เพื่อเตรียมอาหารสำหรับแขกที่กำลังเดินเข้าร้าน

        หาดพลา ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 40 กิโลเมตร หากยืนอยู่ชายฝั่งบริเวณนี้จะสามารถมองเห็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกลางทะเลไกลลิบๆ มองโดยผิวเผินแล้วจะรู้สึกเหมือนว่า เป็นเกาะเล็กๆ อยู่กลางทะเล หากเพียงแต่มันมีเสาไฟฟ้าแรงสูงโผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นย่อมๆ ดูแล้วเหมือนไม่มีพิษภัยใดๆ แนวกำแพงกั้นการกัดเซาะของคลื่นทะเลนั้น เป็นโครงการที่เทศบาลบ้านฉางได้ดำเนินการก่อสร้าง เป็นแนวทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีการเว้นเป็นระยะห่างในบางช่วง หากวัดจากแนวกำแพงดังกล่าว ไปถึงถนนเลียบชายหาดที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาในปัจจุบัน คงมีระยะทางประมาณ 30 เมตร น่าจะได้สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากไม่มีการสร้างกำแพงดังกล่าวแล้ว ถนนแห่งนี้คงไม่เหลือร่องรอย อย่างแน่นอน “หนูไม่เข้าใจว่าทำไม เขาไม่เข้าใจเลยรึงัยว่า มันเกิดอะไรขึ้น ” ภาพแห่งความทรงจำเริ่มฉายขึ้นมาทันที เมื่อเพ่งมองโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ไกลลิบๆ “พวกเราทำมาถึงขั้นนี้ แต่คนกลับมองว่าเป็นตัวขัดขวางความเจริญของประเทศชาติ” เป็นการนั่งพูดคุยกับรุ่นน้องที่ทำงานอาสาในพื้นที่ตอนเย็น หลังจากที่การประชุมหารือการทำงานจบลง เจ้าตัวพูดด้วยความคับแค้นใจ สีหน้าและแววตาเอาจริงเอาจังมากกว่าทุกครั้งที่คุยกัน เพราะปัจจุบันกระแสการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนมีแรงเสียดทานมากขึ้นตามลำดับ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ชาวบ้านและเครือข่ายภาคเอกชนได้เข้ามาทำการปิดทางเข้าออก โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แรงเสียเสียดทานดังกล่าวแม้ไม่ถึงกับทำให้คนทำงานหมดกำลังใจ แต่รู้สึกผิดหวังกับการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดนั้น ดำเนินมายาวนานแม้จะมีการเรียกร้อง และพยายามหาแนวทางแก้ไขจากทุกฝ่ายก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลการลงทุนแล้วก็จะพบว่า พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นครองแชมป์การลงทุนมากที่สุดในบรรดาประเทศที่กระเป๋าหนักทั้งหลาย หากจะกล่าวแบบกำปั้นทุบดินคงต้องบอกว่า “ปัญหาคงไม่ลุกลามใหญ่ขึ้นหากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองรู้จักคำว่าพอดี” ปัจจุบันการก่อสร้างโรงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายจอคิวเสนอขอใบอนุญาตการจัดสร้างโรงงานเพิ่ม นักวิชาการหลายคนที่ขาดสำนึกชั่วดีเข้าแถวยื่นมือรับเงินจากผู้ประกอบการ เพื่อศึกษาวิจัยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ขณะที่คนส่วนใหญ่เรียกร้องให้คนมาบตาพุดเสียสละเพื่อส่วนรวม แม้กระทั่งการที่รัฐบาลให้มีคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่แท้จริง พร้อมค้นหาแนวทางแก้ไขแล้วนำเสนอต่อรัฐบาล แต่กลไกดังกล่าวก็ทำได้เพียงลดความร้อนแรงในขณะนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในการออกประกาศประเภทกิจกรรม หรือ กิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

       ลุงน้อย ใจตั้ง อายุ 71 ปี ซึ่งมีบ้านห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมเพียงกิโลเมตรกว่าๆ ต้องหอบสังขารเดินทางไปร่วมเวทีต่างๆ ออกรายงานวิทยุ โทรทัศน์ เป็นภาพที่ปรากฏตามสื่อ แม้ว่าจะมีโอกาสได้พูดที่ไหนลุงน้อยก็ย้ำเสมอว่า “ คนระยอง มีอาชีพทำสวนผลไม้ และอาชีพประมง มาตั้งแต่บรรพบุรุษ” แม้ว่าภาพแห่งอดีตได้เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับลุงน้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังตอกย้ำในใจเสมอ แม้ว่าความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียคนรักในครอบครัวไปถึง 3 คน จากโรคมะเร็งก่อนวัยอันสมควร แต่คงไม่เท่ากับเห็นสิ่งแวดล้อมที่บรรพบุรุษรักและหวงแหนเท่าชีวิตเริ่มหายนะลงเรื่อยๆ น้ำทะเลเริ่มเปลี่ยนจากสีน้ำเงิน กลายเป็นสีแดง และขยายวงกว้างมากขึ้น จากชายหาดกลายเป็นชายฝั่ง เพราะทิศทางลม และกระแสคลื่นทะเลเปลี่ยนแปลง จากการถมดินก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมรุกคืบเข้าไปกลางทะเล วันนี้ลุงน้อยยืนมองความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ พร้อมพระอาทิตย์ค่อย ๆ หย่อนตัวลงในทะเลทีละนิดๆ และเฝ้ารอความมืดมาปกคลุมเพื่อลบภาพที่บาดใจเหล่านั้น

หมายเลขบันทึก: 452266เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านแล้วเสียดายธรรมชาติ เวลาไปเที่ยวแถวนั้นก็หวั่นๆไหวๆ

สวัสดีค่ะคุณ'ธวัชชัย'

นอกจาก“ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองรู้จักคำว่าพอดี” แล้ว'ยังต้องมีความรู้ดี และมีจิตสำนึกที่ดี'ด้วยนะคะ ...หลายปีมาแล้วเคยไปพักที่รีสอร์ทหรูชายทะเลจังหวัดระยอง น้ำประปาที่ไหลออกมาเป็นสีสนิม...ทำให้ต้องรีบกลับ

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.พจนา

สภาพแวดล้อมแถวนั้นเหลวร้ายมากครับ ผมเคยลงพื้นที่ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ รศ.ดร.เรณู ลงพื้นที่ตรวจสอบ รอบๆ โรงงานอุตสาหกรรม เราพบว่า บอน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้กลายเป็นสีนิม (ตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้) ใบไม้กลายเป็นสีดำ (คล้ายๆ กับสีน้ำมัน) สัตว์ทะเลที่โตแถวนั้นมีลักษณะแคระแกร๊น รศ.ดร.เรณู ได้นำสัตว์ทะเล เช่น หอย ปู กุ้ง เข้าห้องทดลองตรวจ DNA พบว่ามากกว่า 80 เปอร์เซนต์ มี DNA ที่ผิดปกติ สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้นรู้มั้ยครับว่าคืออะไร ชาวบ้านในแถบนั้น (ส่วนใหญ่เ่ป็นผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นมาทำงานในโรงงาน) มาจับหอยแมลงภู่ ซึ่งวันที่เราเจอ เราก็ถามว่าจะเอาไปทำอะไร เขาก็ตอบว่าจะเอาหอยแลงภู่เหล่านี้ไปขาย ซึ่งนั้นก็หมายความว่า คนที่จะได้รับผลจากการบริโภคสัตว์เหล่านั้นก็คือ เราๆ ท่าน ๆทั้งหลาย จากนั้นมาผมก็เลิกทานหอยแมลงภู่ครับ (จากเดิมที่ทานน้อยอยู่แล้ว)

...เมื่อห้าสิบปี..ที่แล้วมา...ระยอง..ถูกประกาศ..ให้เป็น..พื้นที่..รีสอรท...แผ่นดิน..แพงขึ้นๆๆ..ทะเล..เริ่มเปลี่ยนสี...เป็นสี (...)....ปะการัง..ปลาหลากสี...ชีวิต..หายไป..เกาะเสม็ดที่เห็น..ว่าเป็น.อุทธยานแห่งชาติ..กลายเป็นเกาะ..ขยะ..ฝั่งเล..ชาวเล.หายไป...สวนผลไม้ หายไป..ภูเขากำลังจะเลื่อน..ละลายหายลง..ทะเล...และทุกสิ่งที่เห็นๆ...อยู่ตาม..ริมทะเล...เขาเรียกมันว่า..อุตสาหกรรมนำความเจริญมาให้ แต่..มันกลับนำพามาให้..แต่ความยากจน..และโรคภัย..ไข้เจ็บ.ดิน น้ำ ลม ไฟ ถูกจับมาทารุณ...ท้ายสุด...ก็กลับคืนไป...กับ..กฏ..ของ..ธรรมชาติ...ที่อยู่เหนือความต้องการ..ของ มนุษย์...อย่างที่เห็น..ไม่นานเกิน..รอ....

เราต้องช่วยกันนะคะ ช่วยกันบอก ช่วยกันสอน คนรอบตัว คนในสังคมให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ร่วมกันสร้างจิตสำนึกใหม่โดยเฉพาะกับเยาวชน (ไม้อ่อนดัดง่าย) สู้ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท